เส้นทางสู่จักรวาล ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ตำนานนางงามรักเด็ก พร้อมนิยามงามอย่างมีคุณค่า
- 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก สร้างประวัติศาสตร์เป็นนางสาวไทยคนที่ 2 ที่ครองตำแหน่งนางงามจักรวาลต่อจาก อาภัสรา หงสกุล ที่คว้ามงกุฏจักรวาลแรกมาครองใน พ.ศ. 2508
- นอกจากเวทีแห่งความงามแล้ว ภรณ์ทิพย์ ยังได้สร้างค่านิยมใหม่ให้กับหญิงไทย ทั้งความเชื่อมั่น ความเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ให้เวทีประกวดนางงามว่าต้อง งามอย่างมีคุณค่า เป็นคุณค่าที่ต้องคิดและทำเพื่อสังคม
ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ชื่อนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2531
“เมืองไทยแม้จะสวยงามและเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม แต่เราก็มีปัญหาในเรื่องของเด็กๆ เมื่อปีที่แล้วมีเด็กไทยตายเพราะโรคขาดอาหารเป็นหมื่นคน และดิฉันก็หวังว่าการเป็นนางสาวไทยของดิฉันจะมีส่วนช่วยเด็กๆเหล่านี้ได้”
คำตอบในรอบตัดสินของตัวแทนสาวงามจากประเทศไทย และแล้ว มงกุฎนางงามจักรวาล (Miss Universe) ปี พศ.2531 ก็ลงที่ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม
เส้นทางสู่จักรวาลและหญิงไทยในยุคสมัยใหม่
ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ชื่อเล่น ปุ๋ย (ชื่อเดิมคือ พรทิพย์ แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น ภรณ์ทิพย์ อันหมายถึงเครื่องประดับอันวิเศษ) สร้างประวัติศาสตร์เป็นนางสาวไทยคนที่ 2 ที่สามารถครองตำแหน่งนางงามที่ถือว่าเป็นที่สุดในโลกของการประกวดนางงาม ต่อจากนางสาวไทยคนแรกที่คว้าตำแหน่งมงกุฎนางงามจักรวาล คือ อาภัสรา หงสกุล เมื่อปี พ.ศ.2508
ภรณ์ทิพย์ คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล ในเวทีประกวดที่ลินโข่ว สเตเดียม กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ครั้งนั้นมีนางงามจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 66 ประเทศ เข้าร่วมประกวด และชื่อ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ก็คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล (Miss Universe) ในเวทีประกวดที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ต่อสายตาผู้ชมที่มีการถ่ายทอดการประกวดทั่วโลก 69 ประเทศถึง 700 ล้านคน
สูง สวย รูปร่างดี และฉลาด คือ บุคลิกที่บรรดาผู้คร่ำหวอดวงการนางงามในยุคนั้นยกให้ ภรณ์ทิพย์ เป็นความหวังของการผงาดความงามของสาวไทยในเวทีประกวดระดับโลก ถึงกับมีการพูดกันว่าหากภรณ์ทิพย์ไม่ติดรอบ 5 คนสุดท้ายไทยควรเลิกส่งนางงามเข้าประกวดได้เลย ความงามของภรณ์ทิพย์มาพร้อมกับบุคลิกที่สง่า ภาษาเป็นเลิศ มีปฎิภาณไหวพริบในการสนทนา บ่งบอกถึงสติปัญญาอันชาญฉลาด และมีลักษณะเฉพาะที่ “เป็นตัวของตัวเอง” ซึ่งเธอเป็นมาตั้งแต่วัยเด็กไม่ใช่เพิ่งเกิดตอนเตรียมตัวประกวดนางงาม
บรรดาสื่อมวลชนไทยชื่นชมเธอมาก และมีภาพยืนยันเสน่ห์เฉพาะตัวตั้งแต่วัยเด็กของ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ เผยแพร่ให้ชาวไทยได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นรอบยิ้มพิมพ์ใจวัยเด็ก หรือภาพยิ้มหลังเวทีของเธอกับคุณแม่และน้องสาว เมื่อครั้งภรณ์ทิพย์ ได้ตำแหน่งรองธิดาโดมปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเวทีนั้นเป็นการประกวดนางงามของลูกหลานชาวไทยในสหรัฐอเมริกา และเป็นที่รู้กันว่าเวทีนี้เป็นฐานในการส่งสาวไทยในต่างแดนมาสู่เวทีประกวดนางสาวไทยในประเทศไทย และไปสู่เวทีนางงามจักรวาลระดับโลก
ด้วยความที่เธอเติบโตในอเมริกา ภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำให้เธอต่างจากคนอเมริกาคือ ความเป็นคนไทยซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ปุ๋ยไม่เคยลืมว่าปุ๋ยเป็นผู้หญิงไทย ทำตัวแบบผู้หญิงไทย คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ปุ๋ยโตขึ้นแบบฝรั่ง ภาษาไทยก็ลืมไม่ได้ ปุ๋ยต้องพูดภาษาไทยทุกวันที่บ้าน”
มากกว่านั้นเธอยังมีปฎิภาณไหวพริบในการพูดจา ตอบคำถามโดนใจกรรมการและได้ใจประชาชนในทุกเวที เช่นเดียวกับวาทะของเธอที่สะท้อนถึงหญิงไทยในยุคใหม่ที่ว่า
“ดิฉันไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันว่าสำคัญมาก การเป็นตัวของตัวเองจะพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จ และทำให้ชีวิตมีความสุข คนเราถ้าเป็นตัวของตัวเองไม่ได้…แล้วจะเป็นอะไรได้”
สำหรับเส้นทางสู่จักรวาลของผู้หญิงชื่อ ภรณ์ทิพย์ เริ่มจากเวทีนางสาวไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2531 โดยจัดการประกวดรอบสุดท้ายที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ชั้น 5
ผลปรากฏว่านางสาวไทยปีนั้น ได้แก่ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก สาวไทยที่ไปเติบโตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 2 ขวบ ส่วนรองนางสาวไทย มี 4 คน ได้แก่ ปรียานุช ปานประดับ, พิมพิไล ไชยโย, ศุภรานันท์ พันธ์ชูจิต และ อิสราภรณ์ จงเจริญ
เส้นทางสู่จักรวาลเริ่มชัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ในวันแรกของการประกวดนางงามจักรวาล ที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ภรณ์ทิพย์ ตัวแทนสาวงามจากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมไปครอง
เปิดตำนาน นางงามรักเด็ก
“…สิ่งหนึ่งที่ปุ๋ยคิดว่าทำให้ชีวิตปุ๋ยมีค่าคือ การที่ปุ๋ยได้มีโอกาสที่จะช่วยเด็กยากจนน่าสงสาร ได้มากกว่าคนอื่น เพราะใครๆอยากรู้จักนางสาวไทย ปุ๋ยก็ชวนให้ช่วยเหลือเด็กยากจนได้”
ก่อนได้ตำแหน่งนางสาวไทย ภรณ์ทิพย์ เป็นนักศึกษาที่พาซาดีนา คอลเลจ สหรัฐอเมริกา เธอทำงานด้านประชาสัมพันธ์ให้แก่มูลนิธิไทย-อเมริกัน ซึ่งรณรงค์หาทุนช่วยเหลือโครงการบ้านอุปถัมภ์เด็ก ร่วมกับ กีรติ ชนา ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวไทย
“ปุ๋ยเป็นนางสาวไทยคนแรกที่สนใจปัญหาสังคมจริงจัง” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย ผู้ประสานงานโครงการบ้านอุปถัมภ์เด็กในยุคนั้น ยืนยันพฤติกรรมที่เป็นมากกว่าการพูดเรียกคะแนนกรรมการบนเวทีนางงามของภรณ์ทิพย์
“การที่ปุ๋ยเป็นนางสาวไทยนี่ ปุ๋ยไม่ได้เป็นเพื่อตัวเองอีกแล้ว แต่ปุ๋ยเป็นเพื่อเด็กๆ ที่ปุ๋ยจะให้ความรัก ความสงสารเค้า และถ้าปุ๋ยเกิดได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลขึ้นมา ปุ๋ยก็จะไม่ได้เป็นเพื่อตัวเอง ปุ๋ยก็ต้องเป็นเพื่อประเทศชาติ”
นี่เป็นอีกมุมมองในการทำงานเพื่อเด็กหลังจากเธอคว้าตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี 2531
ครั้งหนึ่งภรณ์ทิพย์เคยโทรศัพท์ทางไกลมาหาครูหยุยว่า เธออยากมาช่วยเหลือมูลนิธิและบ้านอุปถัมภ์เด็ก อีกทั้งก่อนไปประกวดนางงามจักรวาล เธอยังได้หนีการออกงานของนางสาวไทยเพื่อไปเยี่ยมเด็กๆ ในบ้านอุปถัมภ์ตั้งแต่เช้ามืด เด็กๆ เรียกเธอว่า “พี่ปุ๋ย” และ เธอก็เรียกเด็กๆ ว่า “น้อง” เธอจำชื่อเด็กได้ทุกคน และระหว่างการประกวดนางงามจักรวาลที่ใต้หวันเธอก็ได้โทรศัพท์กลับมาหาเด็กๆ แทบทุกคืน และบนเวทีนางงามจักรวาลเธอก็ได้นำความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ไปประกาศให้ชาวโลกรู้
“เมืองไทยแม้จะสวยงามและเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม แต่เราก็มีปัญหาในเรื่องของเด็กๆ เมื่อปีที่แล้วมีเด็กไทยตายเพราะโรคขาดอาหารเป็นหมื่นคน และดิฉันก็หวังว่าการเป็นนางสาวไทยของดิฉันจะมีส่วนช่วยเด็กๆ เหล่านี้ได้”
มีรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายเดือนพฤษภาคม 2531 หลังจากที่ราคาหุ้นเซื่องซึมมาหลายวันก็กลับคึกคักขึ้นมา เมื่อทราบข่าวนางสาวไทยได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลอีกครั้งในรอบ 23 ปี ทั้งที่ข่าวนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจแต่อย่างใด
ด้วยคุณสมบัติสวย ฉลาด และใส่ใจสังคม ของ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นี่จึงกลายเป็นมาเป็นมาตรฐานใหม่ของเวทีประกวดนางงาม ที่ต้อง “งามอย่างมีคุณค่า” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2531 และ มิถุนายน 2531
ขอบคุณภาพ : www.facebook.com/BuiSimon