เกร็ดประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญก่อนวาระสุดท้ายของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16
- พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประสูติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1754 ณ พระราชวังแวร์ซาย ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนม์เพียง 20 พรรษาต่อจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระราชบิดา
- 21 มกราคม ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ต่อหน้าสาธารณชนกลางจัตุรัสหลุยส์ที่ 15 หรือ กลางจัตุรัสกงกอร์ด ประเทสฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ประสูติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1754 ณ พระราชวังแวร์ซาย พระนามเดิมคือ Louis-Auguste, Duc de Berry พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนม์เพียง 20 พรรษาต่อจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระราชบิดา ซึ่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1774
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อภิเษกสมรสกับ พระนางมารีอ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย ขณะพระชนม์เพียง 16 พรรษา ส่วน พระนางมารีอ็องตัวแน็ต มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา (ได้ขึ้นเป็นพระราชินีเมื่อพระชนม์เพียง 19 พรรษา) ซึ่งงานฉลองการแต่งงานจัดที่รอยัล โอเปราเฮาส์ ในพระราชวังแวร์ซาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1770 ถือเป็นงานยิ่งใหญ่อลังการแห่งศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว เพราะนี่คือการแต่งงานเพื่อเชื่อมอำนาจของสองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งยุโรป แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็กลายเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์ จากข้อกล่าวหาถึงชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ นิยมความหรูหรา และการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลังจนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้น
การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบ “พลิกดินคว่ำฟ้า” ในฝรั่งเศส และภาพของการประหารชีวิตสายเลือดราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ที่สร้างความรุ่งเรืองที่สุดให้แก่อาณาจักรฝรั่งเศสได้กลายเป็นความสยดสยอง และเป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของยุโรปและของโลก โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ต่อหน้าสาธารณชน กลางจัตุรัสหลุยส์ที่ 15 หรือ กลางจัตุรัสกงกอร์ด (Place de la Concorde)
คำพูดสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ในจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ Thermomètre du jour เพื่อเล่าเหตุการณ์จริงในวันประหารโดย Charles-Henri Sanson เพชฌฆาตผู้สับกิโยตินในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ได้ระบุถึงวาทะสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่กล่าวกับประชาชนฝรั่งเศส และกล่าวกับบรรดาขุนนางและเจ้าหน้าที่ในลานประหาร ไว้ว่า
“ประชาชนเอ๋ย ข้าพเจ้าตายโดยไร้มลทิน
ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย ข้าพเจ้าบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินทุกข้อกล่าวหา
ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่า เลือดของข้าพเจ้าจะคืนความสุขแก่ฝรั่งเศสได้”
ลานประหาร Place de la Concorde
ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ต่อหน้าสาธารณชนที่ ปลาส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) ปัจจุบันได้กลายเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวเมื่อไปเยือนฝรั่งเศส จุดเด่นคือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัส มีความสูง 23 เมตร และหนักถึง 222 ตัน ชื่อเดิมของลานนี้ตั้งตามของพระราชบิดาของหลุยส์ที่ 16 จนเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่นี่ได้กลายเป็นลานประหารกษัตริย์ และผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) พระนางมารีอ็องตัวแน็ต และนักก่อการคนสำคัญอย่างด็องตง (Danton) รอแบ็สปีแยร์ (Robespière) รวมทั้งผู้คนที่เกี่ยวข้องกับฉาก ปฏิวัติฝรั่งเศส อีกมากกว่าหนึ่งพันคน
ความลับของเครื่องประหาร กิโยติน
กิโยติน เป็นเครื่องมือประหารนักโทษ ที่เรียกได้ว่า “ระดับพรีเมียม” ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เริ่มจากใช้เป็นเครื่องประหารสำหรับผู้ต้องโทษที่มีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นสูง
กิโยติน (Guillotine) เป็นเครื่องมือในการลงโทษผู้มีความผิดถึงขั้นประหารชีวิต อุปกรณ์เป็นเสาไม้ตั้งตรงสองอันที่ตั้งขวางคานที่ใส่ตัวบังคับใบมีดเอาไว้ สำหรับปล่อยลงเพื่อตัดลำคอผู้ถูกลงโทษ เดิมเครื่องประหารนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ลุยซง” หรือ “ลุยแซ็ต” ตามผู้คิดค้นกระบวนการทำงานโดยศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส “อ็องตวน หลุยส์“ ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ กิโยติน ตามผู้เสนอวิธีประหารนี้ในปี ค.ศ.1789 นั่นก็คือ “โจเซฟ-อีญัส กีโยติน” (Joseph-Ignace Guillotin) แพทย์ชาวฝรั่งเศสและสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
โจเซฟ-อีญัส กีโยติน ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันกฎหมายการใช้กิโยตินเพื่อความเท่าเทียม หมายถึงควรใช้กิโยตินกับนักโทษประหารทุกชนชั้น ไม่จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น ที่จะได้รับสิทธิตายแบบเจ็บปวดน้อยถึงน้อยมาก ขณะที่ชนชั้นล่างต้องถูกประหารด้วยดาบหรือขวานตัดคอที่เจ็บปวดมากกว่า
แม้ อ็องตวน หลุยส์ จะคิดค้นกระบวนการทำงานของกิโยติน แต่ผู้สร้างเครื่องกิโยตินจริงๆ คือ โทเบียส สมิดต์ (Tobias Schmidt) ช่างชาวเยอรมันผู้ทำเครื่องดนตรี ฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord) แต่หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสยุคนั้นเรียกเครื่องมือนี้ว่า กิโยติน ตามแพทย์กิโยตินที่เป็นผู้ผลักดันการพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมา
กิโยตินฝรั่งเศสรุ่นปฏิวัติฝรั่งเศส เริ่มใช้ครั้งแรกในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 ก่อนจะได้ใช้ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปีต่อมา และกลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) โดยในช่วงแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ยังมีการแย่งชิงอำนาจระหว่างนักเคลื่อนไหวและกับนักการเมืองหลายฝ่าย กิโยตินถูกใช้ประหารชีวิตบุคคลฝ่ายตรงข้ามนับพันตลอดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และหลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ยังใช้กิโยตินประหารนักโทษจนถึงนักโทษคนสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1977 ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ.1981 ฝรั่งเศส ออกกฎหมายยกเลิกการใช้กิโยตินอย่างถาวร
ปัญหาเศรษฐกิจหลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเข้าร่วม American Revolution
ระหว่างปี ค.ศ. 1777-1783 ในสงคราม The Revolutionary War หรือ American Revolutionเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามปลดแอกจากอาณานิคมอังกฤษ โดยหนึ่งในคนที่คอยให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางการทหารแก่อเมริการคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ได้ใจชาวอเมริกัน แต่ก็ทำให้เงินในท้องพระคลังฝรั่งเศสหมดไปไม่ใช่น้อย ซึ่งปัญหาเรื่องการบริหารการเงินนี่แหละที่ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส โดยใน ค.ศ. 1777 เบนจามิน แฟรงคลิน นำคณะทูตจากสหรัฐอเมริกามาเชื่อมสัมพันธไมตรีทางการทูตกับราชอาณาจักรฝรั่งเศส และการพบปะเจรจาครั้งนั้น ยังผลให้ฝรั่งเศสออกทุนออกแรงช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามปลดแอกจากอาณานิคมอังกฤษ
17 ตุลาคม ค.ศ.1781 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ส่งกองทัพฝรั่งเศส 6,000 คนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปช่วยอเมริกาทำสงครามปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และได้รับชัยชนะในศึกที่เมืองยอร์กทาวน์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการเจรจาหย่าศึก
3 กันยายน ค.ศ. 1783 ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในการเซ็นสัญญายุติสงครามระหว่างคู่กรณี สหรัฐอเมริกากับจักรวรรดิอังกฤษ ที่ Hôtel des Affaires Etrangères พระราชวังแวร์ซาย และทำให้สหรัฐอเมริกาได้อิสรภาพไม่ต้องขึ้นต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษอีกต่อไป
ค.ศ. 1789 George Rogers Clark หนึ่งในผู้เข้าร่วมสงครามปลดแอกอเมริกา ที่ซาบซึ้งและปลาบปลื้มกับความช่วยเหลือของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เมื่อเขาก่อตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ จึงตั้งชื่อเมืองนี้ว่า Louisville เพื่อเป็นเกียรติ และปีนั้นเองก็เป็นปีที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกขับไล่ออกจากแวร์ซายเมื่อประชาชนฝรั่งเศสก่อการปฏิวัติ
36 ปี หลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16ถูกประหาร เจ้าหญิงมารี-เตแรซ (Marie-Thérèse) ธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอ็องตัวแน็ต ซึ่งรอดคมกิโยตินมาได้จากการลี้ภัยไปอยู่บ้านเดิมของพระมารดาในออสเตรีย ได้มอบหมายให้ Achille-Joseph Valois ศิลปินชื่อดังคู่ราชสำนักฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 18 จัดทำรูปสลักหินอ่อนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่พระราชบิดา ตั้งไว้ที่เมือง มงต์เปลิเยร์ (Montpellier) ประเทศฝรั่งเศส ต่อจากนั้นในปี ค.ศ. 1967 ทางการ มงต์เปลิเยร์ ได้ส่งมอบรูปสลักหินอ่อนเต็มตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ความสูง 12 ฟุต หนัก 9 ตัน มาเป็นของขวัญแก่เมือง ลุยวิลล์ (Louisville) สหรัฐอเมริกา เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และนับแต่นั้นรูปปั้นหินอ่อนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ตั้งตระหง่านเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่มาของชื่อเมือง
กันยายน ค.ศ. 2020 แม้จะผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสมานับเกือบสองร้อยปี แต่ชะตากรรมรูปสลักหินอ่อนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยังเป็นปัญหา เมื่อเกิดกระแสต่อต้าน มีคนมาพ่นสีทำลายรูปสลักเสียหายจนทางการเมืองลุยวิลล์ ต้องถอดรูปสลักหินอ่อนไปเก็บเพื่อพิจารณาซ่อมแซมต่อไป เป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองและเปลี่ยนงานศิลปะที่เคยเป็นเหมือนไอโคนิกแห่งเมืองลุยวิลล์ มานานนับ 200 ปี
อ้างอิง
- https://www.britannica.com/event/French-Revolution/Events-of-1789
- https://www.britannica.com/topic/guillotine
- https://www.si.edu/object/execution-king-louis-x:chndm_1961-105-141
- https://louisville.cc/king-louis-xvi-of-france/
- https://www.courier-journal.com/story/news/local/2020/09/03/king-louis-xvi-statue-in-downtown-louisville-removed/5701120002/
- https://www.biography.com/royalty/louis-xvi
- http://en.chateauversailles.fr/node/5920/louis-xvi