เรื่องเซ็กซ์ ศีลธรรม และคนรุ่นใหม่ ในสายตา ลูกแก้ว โชติรส
Faces

เรื่องเซ็กซ์ ศีลธรรม และคนรุ่นใหม่ ในสายตา ลูกแก้ว โชติรส

Focus
  • ลูกแก้ว โชติรส น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันดีจากการที่ออกมาพูดในประเด็นเรื่องเพศ การเมือง สิทธิ ในสื่อสังคมออนไลน์ และล่าสุดกับผลงานหนังสือ Black Cherry ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด เรื่องสั้นกึ่งความเรียงที่พูดถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านเรื่องเซ็กซ์ สิทธิเสรีภาพ การเมือง
  • ครั้งหนึ่งเธอกล่าวไว้ว่าวาทกรรม “ผู้หญิงดี” ต้องแต่งตัวมิดชิด รักนวลสงวนตัว ชุดความคิดนี้อยู่ได้เพราะสังคมไม่ปลูกฝังให้เห็นถึงคุณค่าอื่นๆ นอกจากนี้ทำให้สังคมยังมองหน้าที่ของผู้หญิงว่ามีแบบปฏิบัติต่างๆ อยู่

ลูกแก้ว โชติรส น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันดีจากการที่เธอมักออกมาให้ทัศนะในประเด็นร้อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ การเมือง สิทธิ ในสื่อสังคมออนไลน์ ผลงานล่าสุดคือหนังสือ Black Cherry ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด เรื่องสั้นกึ่งความเรียงที่พูดถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านเรื่องเซ็กซ์ สิทธิเสรีภาพ การเมือง ที่แสดงออกจุดยืนของลูกแก้วได้ชัดเจนมาก นั่นก็การเปลือยเรื่องเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติที่คนธรรมดาพูดคุยกัน ไม่ซ่อนอยู่ในหลืบศีลธรรมอันดีงามอีกต่อไป 

และในวาระที่ “คนรุ่นใหม่” และ “เด็กสมัยนี้” ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก (โดยเฉพาะวงการเมือง) Sarakadee Lite จึงชวน ลูกแก้ว มาพูดคุยถึงประเด็นเรื่องเซ็กซ์ ศีลธรรม และคนรุ่นใหม่ ในฉบับ ลูกแก้ว โชติรส

ลูกแก้ว โชติรส

I เซ็กซ์-สิทธิ

“ถ้าถามว่าเขียนแต่เรื่องเซ็กซ์เบื่อไหมตอบได้เลยว่าไม่เคยเบื่อ อย่างพระยังเขียนแต่ธรรมะอย่างเดียวก็มี เรื่องเซ็กซ์ เรื่องของเพศ ก็เป็นชุดประเด็นย่อยหนึ่งที่มนุษย์จะเขียนจะอ่าน เป็นเรื่องธรรมดาที่จะสื่อสารกัน ต่อให้ไม่ใช่เราก็จะมีคนอื่นเขียนอยู่ดี ที่คนมาจ้องว่าเราเขียนเรื่องเซ็กซ์ก็เพราะว่ามีคนมองเรื่องนี้ไม่ปกติ พอมีผู้หญิงอายุน้อยหน่อยออกมาพูดในทิศทางที่ต่างออกไปจากสังคมกระแสหลัก ก็มีทั้งคนที่ชอบ มีคนด่า ว่าการที่เราเขียนเรื่องเซ็กซ์อย่างเปิดเผยเป็นเรื่องผิดปกติ”

“ที่ผ่านมาสังเกตว่าถ้าแสดงออกเรื่องเซ็กซ์เฉยๆ เสียงตอบรับจะไม่เท่าไร เซ็กซ์อย่างเดียวมันดูโรแมนติก แต่เมื่อเอาไปบวกรวมกับเรื่องสังคม เรื่องวัฒนธรรม จารีต เช่น พอพูดถึงการมีเซ็กซ์ในวันลอยกระทง ก็จะมีปัญหาทันที เพราะยังมีคนมองว่าจารีตหรือวัฒนธรรมบางอย่างเป็นสิ่งสูงส่งไม่ควรเอามารวมกับเรื่องเซ็กซ์หรือเรื่องคนเอากัน”

“แม้เรื่องเซ็กซ์ในสังคมสมัยนี้จะค่อยๆ เปิดขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะเปิดหรือเปลี่ยนความคิดที่มีต่อเรื่องนี้จนถึงจุดที่หวังไว้คือ ‘การเคารพสิทธิ’ ความเข้าใจในเรื่องนี้สำคัญมากในการเข้าใจว่าอะไรเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่นและเรามีสิทธิที่จะทำอะไรได้บ้างโดยไม่ละเมิดคนอื่น ตอนเราพูดเรื่องโนบราก็มีคนมาแสดงความคิดเห็นประมาณว่า ‘อย่าเลยครับไม่อยากมอง’ ก็ไม่ต้องมองสิมันเรื่องของคุณ ส่วนจะโนบรามันก็เรื่องของเรา หรืออย่างบางคนพูดว่า ก็ผู้หญิงแต่งตัวเปิดเผยร่างกายมากเลยโดนลวนลาม คนจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้และควรตระหนักว่าตนเองมีขอบเขตอะไรในการแสดงออกที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น”

“สนุกในการเขียนเรื่องเซ็กซ์คู่ไปกับการเมือง มันเปรียบเทียบกันได้เพราะสองเรื่องนี้มี ‘ผู้กระทำ’ และ ‘ผู้ถูกกระทำ’ เช่นกันและเรามีคนอ่านที่เป็นทั้งวัยรุ่นและเด็กด้วย การเขียนเรื่องเซ็กซ์และการเมืองจึงท้าทายว่าจะสื่อสารผ่านเรื่องแต่ง ให้คนอ่านเข้าใจการบ้านการเมืองผ่านเรื่องเซ็กซ์ได้ไหม”

II ศีลธรรม

“ตอนปี พ.ศ.2552 เรียนอยู่ประมาณปี 1 การใส่บิกินีถ่ายรูปลงโซเชียลยังเป็นเรื่องที่แปลก บางคนดูแล้วคิดว่า มึงไม่ใช่ผู้หญิงดีๆ แน่ๆ แต่ทุกวันนี้คนก็ใส่บิกินีถ่ายรูปลงโซเชียลกันปกติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อของสังคมโดยรวมก็ยังมีวาทกรรม ‘ผู้หญิงดีๆ’ ผู้หญิงดีๆ ที่ว่าต้องแต่งตัวมิดชิด รักนวลสงวนตัว ชุดความคิดนี้อยู่ได้เพราะสังคมไม่ปลูกฝังให้เห็นถึงคุณค่าอื่นๆ ว่าอะไรคือความดี อะไรคือผู้หญิงดี ผู้หญิงเลยมีกรอบทางศีลธรรมนี้ ส่วนเด็กดีต้องมีบรรทัดฐานความดีแบบที่ผู้ใหญ่บอก ความดีที่จะทำให้ผู้ใหญ่ชื่นชม เช่น การเป็นเด็กดีต้องมีความสามารถที่ได้รับการยอมรับ เรียนเก่ง กีฬาเก่ง ความสามารถอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่าง การเขียนเรียงความก็ต้องเขียนตามโจทย์ ถ้าผิดแปลกไปก็จะไม่ได้รับการยอมรับชื่นชมเท่ากับการเขียนในกรอบนั้น บางครั้งเด็กก็ทำตามกรอบไปเพราะอยากถูกชื่นชม อยากถูกยอมรับ”

ลูกแก้ว โชติรส

“เราเคยโดนพ่อให้เรียนตำรวจด้วย เราทำตามและสอบจนได้เรียน พอเข้าไปเรียนได้สักพักถึงรู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ แต่ก็ฝืนไปสักพักเพราะก็อยากให้พ่อชื่นชมถือว่าเรียนให้พ่อ แต่ถึงจุดหนึ่งก็ทนไม่ไหวขอลาออกตอนนั้นพ่อผิดหวังกับเรามาก เหตุการณ์นั้นเราคิดขึ้นมาได้เลยอย่างแรกคือเรายอมทำเพื่อให้ครอบครัวเราชื่นชมจากการทำในสิ่งที่เป็นคุณค่าที่ดีในสายตาของเขา อย่างที่สองคือเราเข้าใจได้ว่าการที่ได้รับคำชื่นชมไม่รับการยอมรับแท้จริงนั้นมันไม่ใช่ตัวตนเรา ชีวิตเราควรได้เลือกเองไม่ว่าจะมารักหรือไม่รักเราก็ตาม วินาทีที่เราเข้าใจเรื่องพวกนี้ขึ้นมาได้เหมือน ‘นิพพาน’ เลย”

“ถ้าจะสรุปศีลธรรมสำหรับเราก็ย้อนไปที่ การเคารพสิทธิ คิดว่าเรื่องนี้สำคัญในหลายระดับตั้งแต่สิทธิที่จะกระทำอะไรของคน คือต้องไม่ไปทำร้ายผู้อื่น ไปจนถึงไม่จอดรถขวางทาง หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย เชื่อในมนุษย์ว่ามีสิทธิเท่าเทียมกันนี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าควรยึดไว้”

III เด็กสมัยนี้

เด็กยุคนี้ เด็กรุ่นใหม่ เด็กสมัยนี้ เวลาพูดว่า ‘เด็ก’ คือเด็กของใคร คำว่าเด็กรุ่นโน้นรุ่นนี้มันการเมืองมาก เพราะเป็นการจัดว่าใครอยู่ชั้นไหนโดยเอาอายุและการเกิดก่อนหลังมาวัด โดยบ่อยครั้งคนที่พูดเป็นคนอายุเยอะกว่าเป็น ‘ผู้ใหญ่’ กว่าและมาพร้อมอำนาจในการจัดการบางอย่างในระบบอาวุโส”

“ส่วนตัวคิดว่าบางเรื่องอายุก็ไม่ได้บ่งบอกอะไร เกิดยุคเดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะมีความคิดเป็นหนึ่งเดียว แน่นอนอาจมีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างในสมัยนี้ก็เป็นการรับรู้ข่าวสารฉับไว มีแนวโน้มที่จะค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง มีองค์ประกอบทางนิสัยบางอย่างคล้ายกัน แต่ก็มีปัจจัยสำคัญคือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้นจะเหมารวมคนรุ่นใหม่ว่ามีแบบเดียวไม่ได้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเสรีนิยม หัวก้าวหน้า สังเกตง่ายๆ อย่างในโรงเรียนที่มีกฎระเบียบอนุรักษ์นิยม ปกติตามสังคมอาจมีนักเรียนหัวขบถบ้างแต่คงจะส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่ก็ยังยอมอยู่ใต้อำนาจและกฎระเบียบอยู่ เด็กรุ่นใหม่ก็สามารถเป็นอนุรักษ์นิยมได้ เป็นสลิ่มได้ เช่นกัน”

“สิ่งสำคัญ คือ สังคมต้องให้มีสิทธิที่จะสงสัย ตั้งคำถามใหม่ได้ ในขณะที่ก็ต้องฟังทั้งคำถามและคำตอบของคนอื่นก่อนไปตัดสินว่าอะไรถูก อะไรใช่ ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่แค่ไม่ฟังคำตอบกัน แต่ยังไม่ฟังกันในระดับคำถาม อย่างถ้ามีเด็กนักเรียนถามอะไรที่ขัดกับอาจารย์หรือผู้ใหญ่ก็มักจะได้คำตอบที่ไม่ใช่คำตอบจริงๆ ของคำถาม แต่เป็นการตอบปัด ตอบว่าไม่ควรถามอย่างนี้คือตัดสินไปแล้วโดยไม่ฟังแม้กระทั่งคำถามด้วยซ้ำ ทำให้เด็กไม่กล้าถามไม่กล้าสงสัยเพราะเชื่อไปแล้วว่ามีเรื่องที่ไม่ควรถาม มีเรื่องที่แตะไม่ได้ ทั้งที่ความจริงควรช่วยกันถาม และสงสัยให้มากๆ อย่าหยุดถาม”

“ประชาชนไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ ทุกคนสำคัญเท่ากันหมดในการที่จะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นเรี่อยๆ ประชาชนมีค่าและสำคัญทุกคน”

Fact File

  • สามารถติดตาม ลูกแก้ว โชติรส เพิ่มเติมได้ที่เพจ เจ้าแม่
  • ผลงานหนังสือที่เล่าเรื่องเซ็กซ์ผ่านอำนาจรูปแบบต่างๆใน Black Cherry ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด สำนักพิมพ์ P.S. ราคา 220 บาท

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม