ลี ชาตะเมธีกุล : นักลำดับภาพมือรางวัล กับสารคดีที่มีคำว่า “รับผิดชอบ” อยู่เบื้องหลัง
- ภาพยนตร์สารคดี Hope Frozen: A Quest to Live Twice ฉบับเน็ตฟลิกซ์ ออริจินัลเป็นการร่วมงานครั้งที่ 2 ระหว่าง ลี ชาตะเมธีกุล กับเน็ตฟลิกซ์ หลังจากที่เคยฝากผลงานไว้ในซีรีส์ เคว้ง
- สำหรับ ลี ชาตะเมธีกุล งานตัดต่อภาพยนตร์สารคดีไม่ใช่แค่ความสวยงามหรือความเข้าใจ แต่งานสารคดีโดยเฉพาะสารคดีที่ท้าทายความตายของมนุษย์ ยังมีเส้นของความรับผิดชอบเข้ามาประกอบด้วย
ค.ศ.2015 เมื่อข่าวการแช่แข็งเซลล์สมองของน้องไอนส์ วัย 2 ขวบหลังจากเธอเสียชีวิต ได้ถูกเผยแพร่และถูกพูดถึงไปทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นการแช่แข็งร่างที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล (Pailin Wedel) ได้ตัดสินใจสร้างเรื่องนี้ออกมาเป็นภาพยนตร์ Hope Frozen จากงานสารคดีสำหรับงานเทศกาลสู่ ภาพยนตร์สารคดีทางระบบสตรีมมิง Netflix โดยมี ลี ชาตะเมธีกุล รับหน้าที่ลำดับภาพ
โดยในปี ค.ศ. 2020 หลังจาก Hope Frozen ตระเวนคว้ารางวัลในเวทีระดับโลกมามากมาย ก็กลับมาอยู่ในระบบสตรีมมิงในชื่อ Hope Frozen: A Quest to Live Twiceภาพยนตร์สารคดีผลงานคนไทยเรื่องแรก ที่เน็ตฟลิกซ์ลงทุนสร้าง พร้อมประทับตรา Netflix Original ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของครอบครัว ดร.สหธรณ์ และ ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ สองสามีภรรยานักธุรกิจสายวิทยาศาสตร์ ที่สู้กับความตายด้วยการตัดสินใจแช่แข็งร่างของลูกสาววัย 2 ขวบ หลังจากเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง ซึ่งนี่ไม่ใช่เพียงการตัดสินที่ท้าทายที่สุดของครอบครัวเธอ แต่กลับทำให้เกิดเป็นข้อถกเถียงหลากหลายมิติในสังคมไทย
Sarakadee Lite เจาะเบื้องหลังการทำงานลำดับภาพโดย ลี ชาตะเมธีกุล นักลำดับภาพหรือมือตัดต่อภาพยนตร์ไทย ที่มีผลงานในภาพยนตร์ไทยระดับรางวัลนานาชาติมามากมายรวมถึงภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำอย่าง ลุงบุญมีระลึกชาติ และภาพยนตร์ฮิตติดตลาดอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และ นาคี
มารับงานตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างไร
จริง ๆ ตอนเวอร์ชันที่ฉายในเทศกาล (ค.ศ.2019) ผมก็ทำโพสต์โปรดักชัน แต่ไม่ได้ตัดต่อ เราดูหนังแล้วก็ชอบ มารู้ตอนหลังว่าทางเน็ตฟลิกซ์สนใจที่จะเอามาฉายโดยที่มีการตัดต่อเพิ่มเติม ก็เลยคุยกับไพลิน (ผู้กำกับ) ว่าถ้าได้ทำงานด้วยจะสนุกมาก ทุกอย่างมันประจวบเหมาะก็เลยได้โอกาสทำโปรเจกต์(ฉบับเน็ตฟลิกซ์ ออริจินัล)นี้ด้วยกัน
Hope Frozen ฉบับเน็ตฟลิกซ์ ออริจินัล ปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
สำหรับเรื่องนี้น่าจะเรียกว่าเป็นการเข้ามาคอลแลบบอเรชันน่าจะดีสุด มีบางประเด็นที่เราอยากจะทำให้ชัดขึ้น แล้วก็มีบางจังหวะการตัดสินใจของครอบครัว บางจังหวะที่เน็ตฟลิกซ์อยากจะให้เน้นมากขึ้น อยากขยายโมเมนต์นั้นออกมาหลัก ๆ ก็จะเอาภาพที่ครอบครัวถ่ายเก็บไว้ตอนที่น้องไอนส์ยังมีชีวิตอยู่มาใส่ในหนังเพิ่มเราอยากให้คนดูเข้าไปอยู่ในช่วงเวลานั้นกับครอบครัวในช่วงเวลาการตัดสินใจของเขา เหมือนเดินทางไปพร้อม ๆ กับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ด้วย
เวลาที่เป็นงานเน็ตฟลิกซ์ออริจินัลสิ่งที่แตกต่างจากคอนเทนต์ที่เน็ตฟลิกซ์ซื้อมาก็คือจะมีทีมครีเอททีฟของเน็ตฟลิกซ์เข้ามามีส่วนร่วม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขามีใบสั่งว่าต้องทำอย่างนี้แต่เป็นการตั้งประเด็นไว้มากกว่า แล้วก็ตั้งคำถามให้เรา (คนตัดต่อ) กับไพลิน (ผู้กำกับ) และมาคุยกัน เช่น มีคำถามในจุดนี้ในหนัง มันคือยังไง สามารถขยายตรงนี้ได้ไหม แล้วเราก็จะลองคิด กลับไปคิด คุยกันเสร็จก็ตอบคำถามทางเน็ตฟลิกซ์ไป และแก้คัตติง (ตัดต่อใหม่) ส่งให้เขาดู
การเอาเรื่องจริงของชีวิตคนจริง ๆ มาเล่าต้องระวังอะไรบ้าง
สำหรับผมในจังหวะแรกจะคิดในเชิงของตัวเรื่องไว้ก่อนว่าทำอย่างไรให้สิ่งที่เราอยากจะเล่าออกมาชัดที่สุด หรือความรู้สึกที่เราอยากสื่อให้มันออกมาชัดที่สุด พอคิดตรงนั้นเสร็จแล้วก็ต้องย้อนกลับมาดูว่ามันจริงไหม มันคือสิ่งที่เขาคิดแล้วทำจริงไหม ถ้ามันไม่ใช่เราก็ไม่สามารถไปทางนั้นได้ คือเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของครอบครัว เราต้องเคารพคำพูดของเขาหรือการกระทำของเขา แต่เราไม่สามารถจะforce (บีบคั้น) ให้มันไปทางไหนก็ได้
การทำงานระหว่างผู้กำกับหนังกับคนตัดต่อ เป็นอย่างไร
มันต้องคิดโครงสร้างด้วยกันก่อนว่าเราจะเล่าเป็นซีนอย่างไรบ้าง พอเป็นสารคดี ฟุตเทจมันกระจัดกระจาย เราก็ต้องเรียบเรียงเป็นซีนว่า ซีนนี้จะพูดถึงเรื่องนี้ ซีเควนซ์นี้จะพูดถึงประเด็นนี้ เสร็จแล้วพอมันเป็นเรื่องของดีเทลของซีเควนซ์ ความสั้น ยาว ช็อต คนตัดต่อจะมาควบคุม เพราะบางทีมันก็เป็นเรื่องข้อจำกัดว่า ช็อตนี้ก็ถ่ายมาแค่นี้ มันก็ยืดกว่านี้ไม่ได้ละ เราก็หาวิธีลดvoice over (เสียงตัวละคร) ให้สั้นลง บางทีก็ต้องตัด เสียงอื่ม ๆ อั้ม ๆ ออกไปบ้าง ตรงไหนที่ยืดได้ เราอยากจะหายใจหน่อยเราก็ถ่างdialogue (บทสนทนา) ที่เขาพูดกัน เพื่อให้มันมีสเปซได้หายใจจากตัวภาพได้มากขึ้น แต่ก็เหมือนการตัดหนังแบบที่มีบท ตัดที่เรารู้สึกก่อน เสร็จแล้วก็จะเอาฟีดแบ็กของผู้กำกับมาดูว่าเขาอยากให้แก้ตรงนี้ มีเบรกหายใจนิดหนึ่งแล้วค่อยไปต่อ หรือตรงนี้ต้องทิ้งช่วง ใส่เพลงบ้างอะไรบ้าง เอาตรงนั้นมาขยับ มาปรับต่อ
Hope Frozen อิมแพ็กต่อคุณลีอย่างไร
สำหรับผมมันอิมแพ็กเยอะมากเลย สมัยเป็นเด็ก ๆ อยู่ ม.ปลาย แม่ของเพื่อนสนิทของผมเสียชีวิต ครอบครัวเขาเป็นคาทอลิกและเคร่งศาสนามาก ด้วยความที่เรายังเด็ก ตอนนั้นผมก็ตั้งคำถามว่าเขาเคร่งศาสนาขนาดนี้ ทำไมพระเจ้ายังปล่อยให้แม่เขาเสียชีวิตไป พอมาดูคำถามที่เกิดขึ้นในเรื่อง Hope Frozen คือ ความที่ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์เชื่อในศาสนา(พุทธ) แล้วก็เชื่อในวิทยาศาสตร์ด้วยพอเขาเสียลูกสาวไป ก็ต้องมาบาลานซ์ความเชื่อสองอย่างนี้ ในการตัดสินใจว่าจะรักษาน้องอย่างไรมันก็ทำให้ผมกลับไปคิดถึงคำถามที่ผมเคยมีอยู่ตอนนั้น เรื่องศาสนา เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องชีวิต พอเราตายแล้วมันเกิดอะไรขึ้น ตายแล้วเราไปไหน คำถามพวกนี้มันอยู่ใน Hope Frozen แล้วมันเป็นหนังที่แบบไม่ได้มีโจทย์ไพลินเขาก็ไม่ได้ทำออกมาเพื่อผลักดันอะไร มันเป็นหนังที่ดูแล้วคนดูสามารถตั้งคำถามย้อนกลับมาคิดถึงชีวิตตัวเองว่า เราคิดอะไร เราเชื่ออะไร เราจะตัดสินอย่างไรเราจะมีความหวังหรือไม่มีความหวังอะไรอย่างนี้ครับ
ต้องส่งภาพยนตร์ที่ตัดต่อเสร็จแล้วให้ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ตรวจก่อนออกฉายไหม
เรื่องส่งตรวจต้องถามผู้กำกับ แต่ว่าสุดท้ายหนังทั้งเรื่องต้องผ่านกระบวนการ Fact Check (ตรวจสอบข้อเท็จจริง) เราต้องทำเอกสารออกมาทุกประโยคที่อยู่ในหนังว่ามันมีที่มาที่ไป สามารถยืนยันได้ว่าเขา(บุคคลในหนัง)เชื่อแบบนี้จริง ๆ นะ หรือสิ่งที่เขาเชื่อแบบนี้มันมีจริงในโลกนี้นะพอทำเรื่องนี้ ด้วยความที่ไพลินได้ติดตามครอบครัวนี้ค่อนข้างหลายปี คุยกัน(กับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์)หลายรอบ ไพลินก็จะเป็นตัววัดที่ดี ว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม หรืออะไรที่พูดได้ ไม่ควรจะพูดบ้าง อะไรอย่างนี้
การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีกระบวนการอย่างไร
เราจะจ้างบุคคลที่สามมาทำ มันก็จะเป็นงานเอกสารเชิงแฟกต์เช็ก อย่างเช่น คุณพ่อตั้งชื่อน้องว่า ไอนส์ (Einz) แปลว่าความรักในภาษาจีนและญี่ปุ่น (Ai) การแฟกต์เช็กก็ต้องหาข้อมูลสองอันว่า ไอนส์หมายความว่า รัก ในภาษาจีนและญี่ปุ่นจริงไหม อะไรแบบนี้ และมันก็มีแบบนี้ทุกประโยคที่ปรากฏในหนัง ส่วนถ้าสิ่งที่เป็นความเชื่อของเขาจริง ๆ ก็ปล่อยได้แต่ไม่ใช่ว่าเราเอาคำพูดเขามาเปลี่ยน และเสนอว่าเขาพูด หรือเราไปตัดต่อใหม่แล้วมันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคิด ทำแบบนั้นไม่ได้หรือถ้าเป็นคำพูดที่จะไปกล่าวหาว่าคนนั้นทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่จริง ๆ เขาไม่ได้ทำ อันนั้นต้องเอาออก สารคดีต้องมีการเช็กข้อมูล
การทำหนังเพื่อฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิงจอเล็ก มีผลกระทบต่อวิธีคิดในการตัดต่อหรือไม่
นิดหนึ่ง พอเป็นสตรีมมิงก็ต้องคิดว่า คนดูเขาอาจจะให้เวลา 10-15 นาที ในการดู แล้วถ้ามันไม่ฮุกเขา ไม่ทำให้เขาอยากดูต่อ เขาก็อาจจะปิดก็ได้ คือก็ต้องคิดตรงจุดนี้อยู่บ้าง แต่ว่าผมไม่ได้เอาตัวนั้นเป็นตัวตั้งขนาดนั้นในการตัดหนัง แต่ก็รู้สึกว่าจะทำอย่างไรให้ดึงคนดูไปอยู่ในตัวเนื้อหนังเพื่อที่จะค่อย ๆ ดึงคนดูเข้าไปอยู่ในโลกของครอบครัวนี้แล้วเขาจะดูต่อจนจบได้
การที่เน็ตฟลิกซ์เลือก Hope Frozen มาจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ แล้วพัฒนาต่อเป็นภาพยนตร์ออริจินัลของเขาเอง คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ผมว่ามันเป็นโอกาสนะ เพราะว่าผมว่าโมเดลธุรกิจสตรีมมิงมันเอื้อกับการที่จะมีหนังรางวัลอยู่ในนั้น เพราะว่าถ้าเราจะลองดูหนังสักเรื่องที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยได้ดูหนังแบบนี้ ผมว่ามันง่ายมากที่จะลองเข้าไปดูได้ แต่ถ้ามันเป็นโรงหนัง ซื้อแผ่นซื้ออะไร เหมือนมันเป็นการลงทุนใหม่กับสิ่งที่ไม่แน่นอน
ผมคิดว่าจริง ๆ แบบซีรีส์หลาย ๆ เรื่องที่ผมดูในเน็ตฟลิกซ์เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่ามันไม่น่าจะถูกสร้างในแพลตฟอร์มอื่นได้ง่ายขนาดนั้น และก็จะไม่ได้ถูกฉาย เข้าถึงง่าย อย่างเช่น สารคดีเรื่อง American Factory (โปรดิวซ์โดย บารัคและมิเชล โอบามา) ผมชอบมาก มันมีประเด็นที่ผมสนใจเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาติ แล้วก็คิดว่าถ้ามันไม่อยู่ในเน็ตฟลิกซ์ก็ไม่รู้จะหาดูได้อย่างไร
ปกติแล้วภาพยนตร์สารคดีแบบนี้มักจะไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์
ใช่ ด้วยโมเดลของโรงภาพยนตร์ ถ้าผมผลิตหนังในเมืองไทย ผมก็จะมีบริษัทขายทั่วโลก แล้วเขาก็ต้องไปขายให้ดิสทริบิวเตอร์ (ผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่) ในอีกประเทศหนึ่ง อย่างเช่น ดิสทริบิวเตอร์ที่เวียดนามมาซื้อเขาก็ต้องไปคุยกับโรงหนังอีกทอด ผมรู้สึกว่ามันมีตัวกลางเยอะกว่าหนังจะไปถึงคนดูแต่ในระบบสตรีมมิง ถ้าผมผลิตหนังในเมืองไทย แพลตฟอร์มนี้ซื้อ คนดูก็สามารถดูได้เลยมันเป็นแค่หนึ่งสเต็ป (จากคนทำถึงคนดู) ผมว่าการที่มันลดขั้นตอนกับคนที่เป็นคล้าย ๆ กับเป็น gatekeeper มีน้อยลง ผมว่ามันก็มีโอกาสที่คอนเทนต์จะเข้าถึงคนดูได้มากขึ้น
Hope Frozen ต่างจากสารคดีทั่วไปอย่างไร
มันอาจจะเป็นแค่สารคดีคนละแบบกัน สารคดีที่เราดูบ่อย ๆ บนโทรทัศน์เป็นแนวรายการมากกว่า เหมือนเราไปสัมภาษณ์เราไม่สามารถไปถ่ายภาพเหตุการณ์นั้นขึ้นมาใหม่ หรือจำลองเหตุการณ์ หรือเอาภาพมาอินเสิร์ชทีหลังได้สารคดีแบบ Hope Frozen มันก็เป็นสไตล์การทำสารคดีที่มีมานานแล้ว เป็นการถ่ายทอดความรู้สึก คนที่ถูกสัมภาษณ์พูดออกมาในสารคดีมันคือความรู้สึกจริง ๆ ที่เขามีอยู่ มันไม่ใช่การถ่ายเทคที่ 5-6 เพื่อพยายามเอาความรู้สึกนี้ออกมาจากปากนักแสดง แต่ว่าจะไม่ค่อยได้ฉายในเมืองไทยเท่าไรตอนนี้มี DocumentaryClub ที่เอาหนังแบบนี้เข้ามาฉายเลยเห็นบ่อยขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ผมว่าเราเห็นแค่รายการสารคดีบนโทรทัศน์
เน็ตฟลิกซ์หันมาลงทุนทำหนังกับประเทศต่างๆ เช่นนี้คิดว่าจะมีผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เราว่ามันน่าจะแข็งแรงขึ้นนะ อันนี้ไม่รู้เชิงลึกนะ เราเห็น เช่น โมเดล เน็ตฟลิกซ์กับเกาหลี เขาก็ไปทำสัญญากับค่ายซีเจ (CJ Entertainment–ผู้ผลิตภาพยนตร์ Parasite ได้รับรางวัลออสการ์) เพื่อผลิตคอนเทนต์ร่วมกัน เราก็จะเห็นคอนเทนต์ของบีบีซี(BBC)ร่วมสร้างกับเน็ตฟลิกซ์ค่อนข้างเยอะจริง ๆ มันไม่ได้เป็นการที่เน็ตฟลิกซ์เทคโอเวอร์อุตสาหกรรมหนัง แต่เป็นพาร์ตเนอร์กับโลคัลคอนเทนต์ (ผลงานภาพยนตร์จากคนท้องถิ่นประเทศต่างๆ) เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้ตลาดในประเทศนั้น ๆ ด้วย และถ้าคอนเทนต์นั้นดีพอ มันก็เดินทางไปสู่ประเทศอื่น เพราะว่าทุกคนก็เข้าถึงมันได้
ก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ค่อนข้างดีในอนาคต คอนเทนต์ที่จะอยู่ในสตรีมมิงน่าจะเวิร์กมันจะเป็นคอนเทนต์ที่คนรุ่นใหม่เก็ตด้วยนะ ก็เลยคิดว่าในระยะยาวมันก็น่าจะเปิดโอกาสให้คนทำหนังรุ่นใหม่ ๆ สร้างคอนเทนต์ขึ้นมาได้ จากที่มีอยู่เดิม
อัปเดตผลงานล่าสุดของคุณลี
ก็ตัด(ต่อ)หนังไปเรื่อย ๆ ยังไม่มีงานกำกับเพราะยังไม่มีเวลานั่งคิดบทหนังขนาดนั้นคือมีไอเดีย แต่มันยังอยู่แค่ในจุดเริ่มต้น มีตัวละครแล้ว แต่ยังไม่มีเนื้อเรื่อง มันอีกไกลกว่าเราจะหาตัวเส้นเรื่องได้ผมจะรู้สึกว่า ถ้าไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องนี้ก็คงไม่ได้สร้าง
ใจรักเราก็อยู่กับงานตัดต่ออยู่แล้ว การตัดต่อหนังมันก็ไม่ได้ขาดอะไรในชีวิตอยู่แล้ว ในเชิงความรู้สึกนะ แต่คนที่เป็นผู้กำกับเขาจะ (รู้สึก)ขาดไง พอไม่กำกับแล้วมันไม่ใช่ มันต้องเอา (งานกำกับ) ตรงนั้นมาเติมเต็มชีวิตจริง ๆ สำหรับผมการกำกับหนังมันเป็นเหมือนโบนัสมากกว่า
Fact File
- ลี ชาตะเมธีกุล จบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาปัจจุบันทำงานหลักเบื้องหลังทั้งงานตัดต่อภาพยนตร์ งานดูแลด้านโพสต์โปรดักชัน และงานกำกับภาพยนตร์และเป็นผู้ก่อตั้ง ฮูดินี สตูดิโอ (HoudiniStudio) บริษัทด้านโพสต์โปรดักชัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2545
- ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวของลีในชื่อภวังค์รัก (Concrete Clouds)ออกฉายเมื่อพ.ศ.2556คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมปีเดียวกันชมได้ทางทรูไอดี
- พ.ศ.2562 ลี ชาตะเมธีกุล เป็นคนไทยคนที่ 4(ต่อจาก อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อโนชา สุวิชากรพงศ์และ สยมภู มุกดีพร้อม)ที่ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกสถาบันศิลปะและศาสตร์แห่งภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Science) สถาบันผู้จัดงานออสการ์ทำให้เขามีสิทธิลงคะแนนตัดสินรางวัลออสการ์ร่วมกับบุคลากรในฮอลลีวูดกว่า 5,000 คน
- Hope Frozen: A Quest to Live Twice กลายเป็นภาพยนตร์สารคดีผลงานคนไทยเรื่องแรก ที่เน็ตฟลิกซ์ลงทุนสร้าง พร้อมประทับตรา Netflix Original กำกับโดย ไพลิน วีเด็ล มี 2 ฉบับ ฉบับแรกออกฉายปี ค.ศ. 2019 ได้สิทธิเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม โดยอัตโนมัติ หลังจากชนะรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดี Hot Docs ที่แคนาดา ส่วนภาพยนตร์ที่เป็นฉบับเน็ตฟลิกซ์ ออริจินัล รับชมได้ทางสตรีมมิง 15 กันยายน ค.ศ. 2020