โคตรทหาร : ปฏิบัติการจัดแถว ประวัติศาสตร์ทหารไทย ผ่านคอลเล็กชันของสะสม
Faces

โคตรทหาร : ปฏิบัติการจัดแถว ประวัติศาสตร์ทหารไทย ผ่านคอลเล็กชันของสะสม

Focus
  • จ่ากองทัพ ชื่อเล่นของ จ่าอากาศโท ธีระ ศิริวัฒนกุล คือทหารหนุ่มเลือดใหม่ในวัย 23 ปี รองหัวหน้ากลุ่มโคตรทหารหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม
  • โคตรทหารไม่ได้สนใจเพียงแต่เครื่องแบบ แต่ยังลงลึกไปถึงประวัติบุคคลจากภาพที่สวมใส่เครื่องแบบนั้น ๆ ตามที่เสาะหาได้ ที่มาที่ไปของเหรียญตราหรือเครื่องหมายขั้นยศแต่ละชิ้น รวมถึงขั้นตอนการใช้อาวุธแต่ละชนิดอย่างถูกต้อง

หากใครได้ไปร่วมกิจกรรมย้อนอดีตสยามสมัยอยู่บ่อย ๆ ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา จะคุ้นตากับกลุ่มหนุ่มสาวคณะเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่ขะมักเขม้นกับการจัดเรียงยุทโธปกรณ์ขนาดเล็กบนโต๊ะขนาดกะทัดรัด ในชุดเครื่องแบบทหารต่างกรม ต่างกอง ที่พอดูออกว่าไม่ใช่ชุดที่สวมใส่จริงในปัจจุบัน โดยทุกคนต่างตั้งอกตั้งใจอธิบายกับแขกผู้มาเยือนมุมกิจกรรมของพวกเขาถึงวัตถุประสงค์ของการมาร่วม โคตรทหาร คือชื่อของกลุ่มสมาชิกในวัยสิบกว่าถึงยี่สิบกว่าปีราว 12 คนกลุ่มนี้ เกินครึ่งเป็นคนรุ่นใหม่สังกัดกรม กองจริง ๆ แต่ต่างหน่วยงาน และมาร่วมด้วยจิตอาสาในงานอดิเรกที่ทุกคนรักและมีเป้าประสงค์เดียวกัน นั่นคือบอกเล่า ประวัติศาสตร์การทหารและการรบของกองทัพไทย

โคตรทหาร

ท่ามกลางสภาวะที่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยตั้งคำถามถึงบทบาทและความสำคัญของอาชีพคนในเครื่องแบบในปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับมาสนใจอย่างเอาจริงเอาจังในด้านการอนุรักษ์เครื่องแบบ อาวุธ เครื่องยศ และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการทหารไทยในอดีต สาเหตุมาจากอะไร ความหมกมุ่นในการหางานอดิเรกที่ต่างจากกระแสนิยมหลักของคนรุ่นเดียวกัน ความคลั่งไคล้ในความเท่ของเครื่องแบบย้อนยุคที่มีการตัดเย็บอันประณีตและรายละเอียดที่พิถีพิถัน หรือด้วยเหตุใดกันแน่ Sarakadee Lite ชวนไปพูดคุยกับ จ่ากองทัพ ชื่อเล่นของ จ่าอากาศโท ธีระ ศิริวัฒนกุล ทหารหนุ่มเลือดใหม่ในวัย 23 ปี รองหัวหน้ากลุ่มโคตรทหาร ที่ดูแลด้านกิจกรรมภาคปฏิบัติ ถึงที่มาและความเอาจริงเอาจังต่องานอดิเรกของเขาและเพื่อนสมาชิกกลุ่มโคตรทหาร

โคตรทหาร
จ่าอากาศโท ธีระ ศิริวัฒนกุล

จากนักสะสมสู่นักประวัติศาสตร์ทหารไทย ที่ไม่ได้มากันแบบเล่น ๆ

ไม่ว่าใครต่อใครก็ต้องสะดุดตากับภาพเครื่องแบบแปลกตาที่กลุ่มโคตรทหารสวมใส่ตลอดเวลากิจกรรม แต่เมื่อได้พูดคุยอย่างลงลึก หรือตามต่อไปยังแฟนเพจของกลุ่ม จะพบว่าพวกเขาไม่ได้สนใจเพียงแต่เครื่องแบบ แต่ยังลงลึกไปถึงประวัติบุคคลจากภาพที่สวมใส่เครื่องแบบนั้น ๆ ตามที่เสาะหาได้ ที่มาที่ไปของเหรียญตราหรือเครื่องหมายขั้นยศแต่ละชิ้น รวมถึงขั้นตอนการใช้อาวุธแต่ละชนิดอย่างถูกต้อง และการจัดแถวเตรียมหน่วยเพื่อพร้อมรบในสนามรบจริงอีกด้วย visit

โคตรทหาร
โคตรทหาร

“เพจโคตรทหาร มีมาได้ราว 3 ปีกว่า โดยก่อนหน้าผมทำเพจ Siam Military Uniform เมื่อราว 4-5 ปีมาก่อนซึ่งเน้นค้นคว้าด้านเครื่องแบบทหารไทยเป็นหลัก และมาเลิกไปเมื่อตัดสินใจเข้ารับราชการทหารอากาศ และควบรวมเพจกับทางโคตรทหารของพันตรีปิยะเจตน์ มีเดช อดีตข้าราชการทหารกองทัพบก หัวหน้ากลุ่มโคตรทหารในปัจจุบัน” จ่ากองทัพเล่าถึงที่มา

“ส่วนเพื่อนในกลุ่มคนอื่น ๆ ก็แล้วแต่คนว่าเริ่มสนใจอันไหนก่อน ระหว่างเครื่องแบบกับประวัติศาสตร์การทหาร แต่พวกเราต่างมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือตั้งต้นจากการสะสมไปสู่ขั้นค้นคว้าวิจัย พยายามศึกษาว่าเครื่องแบบแต่ละชุด ยุทโธปกรณ์ หรือสิ่งของแต่ละชิ้นมีที่มาอย่างไร รวมถึงบริบทรอบข้าง ใช้ชีวิตอย่างไรภายใต้เครื่องแบบ หรือการใช้อาวุธเหล่านั้น จนถึงขั้นจำลองฉากหรือสถานการณ์จริงเมื่อเครื่องแบบและอาวุธเหล่านั้นถูกใช้ขณะปฏิบัติ ซึ่งเป็นบันไดไปสู่ข้อมูลต่าง ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวของทหารไทยในอดีต”

โคตรทหาร
ผู้ที่หลงใหลประวัติศาสตร์ทหารไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ชาย

จากฐานแหล่งข้อมูลแรกอย่างอินเทอร์เน็ตเป็นที่ใช้ในการสืบค้น สมาชิก โครตทหาร ก็เข้าห้องสมุดบ้าง พิพิธภัณฑ์บ้าง เพื่อให้ได้บริบทของเครื่องแบบ อาวุธเก่า และสิ่งของแต่ละชิ้น ไปจนถึงสืบหาบุคคลที่ยังมีชีวิตหรือสมาชิกครอบครัวของบุคคลในภาพเก่าที่สวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องยศที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอสัมภาษณ์ หรือดูข้าวของส่วนตัวที่ยังเหลือเก็บไว้อยู่ เหล่าทหารอาวุโสในวัยสูงอายุที่ยังมีชีวิต ทายาท หรือนักสะสมรุ่นพี่หลายท่านก็บริจาคมอบสิ่งของให้ จนทำให้คลังของสะสมของสมาชิกในกลุ่มรวมกันมีมูลค่ากว่าล้านบาทแล้วในขณะนี้

หลังจากรวมกลุ่มกันได้สักระยะ ประกอบกับมีของสะสมมากพอ เหล่าคณะโคตรทหารก็เริ่มอยากเปิดตัวสู่สาธารณะ เพื่อนำสิ่งของและความรู้ที่พวกเขาสั่งสมมาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ เพราะคนทั่วไปมีความรู้เกี่ยวกับงานประวัติศาสตร์การทหารไทยน้อยมาก “โดยพวกเราเริ่มจากเสนอตัวขอเข้าไปร่วม เอาของสะสมเข้าไปนำเสนอ เริ่มแรกอาจมีติดขัดบ้าง แต่พอดำเนินกิจกรรมได้สักระยะก็ค่อยเป็นที่รู้จัก และหน่วยงามเริ่มเห็นความเอาจริงเอาจังของเยาวชนกลุ่มเรา จนในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเอกชนเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับการยอมรับจากราชการ สามารถเข้าไปจัดกิจกรรมในกรม/กอง หรือหน่วยงานได้” จ่าธีระบอกเล่า

ด้วยหยดเหงื่อและหยาดน้ำตา (ลูกผู้ชาย)

กว่าสิบปีแล้วที่ทหารหนุ่มฝ่ายพัสดุของกองทัพไทยในปัจจุบันอย่างธีระเริ่มสะสมเสื้อผ้าและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับทหารไทยในอดีต เริ่มจากเห็นสมาชิกในครอบครัวแต่งชุดทหารไม่ซ้ำหน่วยกอง ด้วยหน้าที่และสังกัดที่ต่างกันไป ทำให้เด็กชายธีระเริ่มสนใจในรายละเอียดว่าแต่ละชุดเป็นของหน่วยไหน ตั้งต้นจากเจียดเงินค่าขนมมาตัดเครื่องแบบเหล่านี้ สะสมเครื่องทหารเก่าจากตลาดนัดแถวบ้านก่อน จนพัฒนาไปหาตามตลาดที่จตุจักร ไปจนถึงลงทุนไปต่างประเทศ

ด้วยความที่อยากเป็นข้าราชการทหารตามที่สมาชิกครอบครัวทางสายคุณพ่อและคุณแม่เป็นกันหลายคน ธีระจึงมุ่งมั่นรอคอยวันที่ได้เข้าบรรจุทำงานในกรม กอง โดยยอมใช้วุฒิมัธยมสอบกองหนุนเข้าไปก่อน (โดยกำลังรอเรียนปริญญาตรีเพื่อปรับวุฒิในอนาคต) ท่าทีที่แสดงแต่เยาว์วัยในเครื่องแบบของเขาทำให้โดนล้อเลียนอยู่บ่อยครั้งจากเพื่อนในโรงเรียนสมัยมัธยม

“ผมไม่ได้ชอบทหารในแง่ของมิติความเป็นเผด็จการ แต่ชอบในเครื่องแบบ ประวัติศาสตร์ และความเป็นมาด้านความกล้าหาญในการสู้รบป้องกันประเทศ” ธีระเผย  “แม้กระทั่งจากครอบครัวเอง ก็โดนต่อว่าเรื่องการใช้เงินมาทุ่มกับสิ่งสะสมพวกนี้มากเกินไป คงอยากให้ผมไปใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปมากกว่า เพราะเขาเห็นผมถึงกับต้องไปทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาซื้อหาข้าวของที่หาไม่ได้ง่ายนักในยุคสมัยนี้”

จากการที่เป็นแกะดำในหมู่เพื่อนโรงเรียน โดนล้อบ้าง ร้องไห้บ้าง ว่างานอดิเรกของเขาถึงต้องโดนหมิ่นด้วย แต่ธีระก็พูดย้ำกับตัวเองว่า ถ้ามัวแต่ท้อแท้ก็จะไม่มีใครเห็นความสำคัญในสิ่งของที่เขาสะสม ในอนาคตคนรุ่นหลังก็อาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้อาศัยเรียนรู้ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทย ที่บางชิ้นในพิพิธภัณฑ์เองก็ยังไม่มี

แวดวงเล็ก ๆ ของคนใจรักษ์

สมาชิกจำนวนไม่น้อยของ โคตรทหาร และกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การทหารของชาติและยุคสมัยต่าง ๆ มักจะเริ่มการเข้าสู่แวดวงนักสะสมจากการเป็นนักคอสเพลย์ (คนที่รักการสวมใส่ชุดตัวละคร การ์ตูน หรือบุคคลหรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ฯลฯ เป็นงานอดิเรก โดยมักรวมกลุ่มกันเพื่อถ่ายรูปลงตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ) โดยเป็นสายด้านเครื่องแบบทหารธีระก็เช่นกัน เขาให้มุมมองว่าความแตกต่างระหว่างการเป็นนักคอสเพลย์กับนักจำลองประวัติศาสตร์ผ่านเครื่องแบบ (Re-Enactor) คือการดูแลรักษาชุดและข้าวของอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งขวางหรือยกให้คนอื่นยามเบื่อง่าย ๆ และเอาจริงเอาจังกับข้อมูลแวดล้อมของชุดที่สวมใส่ ไม่ติดยึดแต่เพียงความเท่

“หลัง ๆ มีตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนของสะสมด้านการทหารทางอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ซื้อขายง่ายขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยมูลค่าของสิ่งของที่สูงขึ้นด้วย” ธีระที่เริ่มมีคอลเล็กชันของตัวเองจำนวนไม่น้อยบอก

ของสะสมที่ไม่ได้มีเพียงสิ่งของ

ในแง่การดูแลรักษาของสะสมที่หลายชิ้นมีอายุ ทางกลุ่มโคตรทหารก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้วิธีในการดูแลรักษาจากผู้ชำนาญ ทั้งจากทางเจ้าหน้าที่ มิวเซียมสยาม (Museum Siam) องค์กรที่ทางกลุ่มได้มาร่วมกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง จากเพื่อนของกลุ่มที่ทำงานที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารรับผิดชอบในการดูแลสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์การสู้รบที่นั่นโดยตรงรวมถึงแหล่งอื่น ๆ โดยสิ่งที่ยากที่สุดคือเครื่องแบบ ที่จะต้องตัดเย็บและบางครั้งทำเครื่องหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะต้องทำให้ถูกต้องกับชุดในอดีตมากที่สุดโดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงเป็นลายลักษณ์อักษรในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นตัวช่วยที่สำคัญ โดยปกติประกาศในราชกิจจาฯจะแจกแจงรายละเอียดเหล่านี้ และสามารถสืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาเทียบกับรูปจริงที่ใส่ถ่ายหรือจากตอนที่ไปรบกัน

“แค่ชุดพื้นฐานที่ใส่ ค่าผ้าก็ร่วมพัน ค่าตัดก็กว่าสามพัน เบ็ดเสร็จก็ต้องมีเงินห้าพันในมือสำหรับ 1 ชุด หลัง ๆ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี สมาชิกบางคนไร้งาน ทุนรอนที่มาใช้สอยในกิจกรรมก็น้อยลง ทำให้เข้าร่วมกิจกรรมได้น้อยลง เป็นอุปสรรคอยู่เหมือนกันในขณะนี้” รองหัวหน้ากลุ่มโคตรทหารบอกกล่าว

ก่อนเลิกแถว

มีการนิยามรูปแบบกิจกรรมที่ทางกลุ่มโคตรทหารทำอยู่ว่าเป็นการจำลองประวัติศาสตร์ผ่านการสวมใส่เครื่องแบบและเลียนแบบเหตุการณ์ในอดีต ตามศัพท์ภาษาอังกฤษที่เรียกกว่า Historical Reenactment ซึ่งเติบโตพอสมควรในกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในชุมชนเมืองของสังคมไทย โดยมีช่องทางการสื่อสารและนำเสนอผ่านทางโลกโซเชียลมีเดียบ้าง การพบปะพูดคุยระหว่างภายในกลุ่ม ระหว่างกลุ่ม และกับสาธารณะชน รวมถึงผลิตผลงานออกมาในรูปสารคดีและหนังสั้นบ้าง รวมถึงร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างการไปเป็นที่ปรึกษางานถ่ายภาพนิ่งหรือภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ที่มีตัวละครทหารหรือฉากสู้รบ

ผู้ที่ใช้เวลาในแวดวงนี้มาหลายปีอย่างธีระให้ข้อมูลว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่างรู้จักกันแทบหมด และต่างเป็นพันธมิตรกัน โดยแบ่งขอบเขตและเนื้อหาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ ถ้าเมื่อเอาทุกกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน จะเห็นได้ว่าต่างช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ทหารสมัยใหม่ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละช่วง ทำให้เกิดภาพรวมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ทางโคตรทหารจะรับผิดชอบส่วนของทหารไทยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือก่อนหน้าเล็กน้อยจนถึงยุคสงครามเกาหลี ในขณะที่กลุ่ม Pad 1968 จะเน้นหนักช่วงสงครามเวียดนามในยุคถัดมา โดยมี 2483 Reenactment Group เป็นกลุ่มใหญ่ที่จับกรอบกว้าง ๆ ของช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสงครามอินโดจีน รวมถึง Bankoku Kudou Butai ที่ว่าด้วยทหารญี่ปุ่นในช่วงประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มแนวนี้กลุ่มแรก ๆ ของไทย มีกลุ่ม Korat Reenactors ที่รวบรวมสมาชิกด้านนี้ในนครราชสีมา และWartime Asia ที่เน้นด้านค้นคว้าเนื้อหาเป็นหลักของสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยและเอเชีย

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามบทความและกิจกรรมของทางโคตรทหารได้ทางแฟนเพจเป็นช่องทางหลัก นอกจากนี้ทางกลุ่มมักจะมาร่วมงานเสาร์สนามไชย ที่มิวเซียมสยามซึ่งจัดทุกเสาร์ของทุกต้นเดือนในช่วงบ่าย หรือตามงานวาระวันสำคัญของเหล่าทหารผ่านศึก หรือตามกิจกรรมเสวนาประวัติศาสตร์การสงครามร่วมสมัยของไทยที่แจ้งไว้ก่อนในเพจ ทั้งนี้กลุ่มโคตรทหารยินดีที่จะรับสมาชิกใหม่ รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจ หรือประสงค์จะบริจาคสิ่งของ

ภาพในฝันของโคตรทหาร รวมถึงกลุ่มนักจำลองประวัติศาสตร์ทหารผ่านการสวมใส่เครื่องแบบ คือการมีการจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การรบอย่างเต็มรูปแบบ เหมือนที่ต่างประเทศมักทำกันในวันครบรอบเหตุการณ์สู้รบที่สำคัญ ๆ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน และต้องรอให้สังคมเกิดความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ และคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสังคมที่มีจำนวนผู้สนใจในกิจกรรมเช่นนี้ไม่ถึงครึ่งร้อย

“จริง ๆ ประวัติศาสตร์การทหารเป็นเรื่องใกล้ตัว มีอยู่ตามชื่อถนนหนทาง สถานที่หลายแห่งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเรื่องราวเหล่านี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก และพวกผมก็เชื่อว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่เป็นหนทางอันหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ว่า” จ่าธีระ กล่าวปิดท้าย

Fact File

ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่ม โคตรทหาร ได้ที่ www.facebook.com/KODETAHARN


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"