จูลส์ เวิร์น นักเขียนไซไฟผู้มาก่อนกาล ผู้ใช้จินตนาการสร้างเทคโนโลยีล้ำยุค
- จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับยกย่องให้เป็น บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ ผู้บุกเบิกงานเขียนนิยายแนวไซไฟ พร้อมจิตนาการถึงสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมที่เทคโนโลยียังพัฒนาไปถึง
- นวนิยายเรื่อง 80 วันรอบโลก, ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ และ 5 สัปดาห์ในบอลลูนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์สร้างชื่อให้กับเขา
นวนิยายไซไฟ (sci-fi ย่อมาจาก science fiction) อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกยุคนี้ แต่ถ้าย้อนไปเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน ตอนที่พัฒนาการด้านเทคโนโลยียังไม่พัฒนา ตอนที่อวกาศและจักรวาลยังอยู่ไกลแสนไกล การจินตนาการถึงเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกลายเป็นความน่าทึ่ง และนั่นจึงทำให้ชื่อของ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้รับยกย่องให้เป็น บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ ผู้ซึ่งใช้จินตนาการสร้างสรรค์ คาดเดาเทคโนโลยีในโลกอนาคตได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นเรือดํานํ้า นิวเคลียร์ หรือแม้แต่การเดินทางไปดวงจันทร์
เมื่อนักกฎหมายมาเป็นนักเขียนวิทยาศาสตร์
จูลส์ เวิร์น เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2371 ที่เมืองนองส์ (Nantes) ประเทศฝรั่งเศส จากนักเรียนวิชากฎหมายในปารีสตามความตั้งใจของผู้เป็นพ่อที่คาดหวังให้ลูกชายเป็นนักกฎหมายตามรอยเขา แต่จูลส์ เวิร์น กลับตกหลุมรักงานวรรณกรรม โดยเฉพาะบทละคร บทกวี อันเป็นจุดเริ่มต้นในถนนสายนักเขียนของเขาตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษ พร้อมกันนั้นก็เขียนบทความวิทยาศาสตร์สั้นๆ ลงในนิตยสาร แต่ผลงานของเขาก็ยังไม่โดดเด่นพอที่จะยึดเป็นอาชีพหลักได้
แต่โชคยังคงเข้าข้างเขาอยู่บ้าง เมื่อตอนอายุ 30 ปี เขาได้พบกับ เฮตเซล (Pierre-Jules Hetzel) นักเขียน เจ้าของสำนักพิมพ์ที่ค่อนข้างดังในยุคนั้น และนั่นก็ทำให้นิยายชุดแนววิทยาศาสตร์เรื่องแรกของเขา ชื่อ 5 สัปดาห์ในบอลลูน (Five Weeks in a Balloon) ได้รับการตีพิมพ์ในเวลาต่อมา
ความตั้งใจของจูลส์ เวิร์น คือต้องการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์แบบที่ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ (Edgar Allan Poe) เคยเขียน แต่เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์แท้ๆ มีหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามารองรับมากกว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ตามใจนึก ซึ่งในยุคนั้นฝรั่งเศสถือได้ว่าเป็นอีกประเทศที่มีแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรือง ส่วนนิยายวิทยาศาสตร์ของจูลส์ เวิร์น ก็เข้าไปเติมเต็มทำให้เรื่องวิทยาศาสตร์ดูสนุก เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น เพราะเรื่องที่เขาเขียนมีความสมจริง สอดแทรกเรื่องราวการผจญภัยที่ใกล้ตัวคนอ่าน และไม่ลืมใส่ความรู้วิทยาศาสตร์ลงไป
เมื่อเห็นว่าอาชีพนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สามารถเลี้ยงชีพได้ เขาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในตลาดหุ้นมาเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เต็มตัว และผลิตนิยายวิทยาศาสตร์มากถึง 60 เรื่องตลอดระยะเวลา 40 ปี
ความโดดเด่นของนิยายจูลส์ เวิร์น ที่ทำให้คนในโลกอนาคตอีก 200 ปีถัดต้องทึ่งคือการจินตนาการถึงเทคโนโลยี สิ่งประดิษย์ต่างๆ ที่มนุษย์ ณ เวลานั้นยังจินตนาการไปไม่ถึง เช่นเรื่อง ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (Twenty Thousand Leagues under the Sea) และ 80วันรอบโลก (Around the World in Eighty Day) ก็ทำให้เครื่องบิน เรือดำน้ำ ปรากฏเป็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
อิทธิพลของ จูลส์ เวิร์น ในโลกวิทยาศาสตร์
อันที่จริงตำแหน่ง บิดานิยายวิทยาศาสตร์โลก มีด้วยกันถึง 2 คน หนึ่งคือ จูลส์ เวิร์น อีกคนคือ เอช.จี. เวลส์ (H.G. Wells) นักเขียนชาวอังกฤษที่เกิดหลังจูลส์ เวิร์น ถึง 35 ปี โดยนิยายวิทยาศาสตร์ของเอช.จี. เวลส์ไม่ได้เน้นสิ่งประดิษฐ์อันน่าทึ่ง หรือเทคโนโลยีแปลกใหม่แบบจูลส์ เวิร์น แต่จะเน้นไปที่ความตื่นเต้น ซับซ้อนของโครงเรื่อง ซึ่งได้กลายมาเป็นต้นแบบนิยายวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และนั่นก็ทำให้ทั้งสองคนได้รับการยอมรับในฐานะตำแหน่งบิดานิยายวิทยาศาสตร์
แม้จูลส์ เวิร์น จะไม่ใช่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนแรกของโลก แต่เขาเป็นคนแรกที่ยึดอาชีพนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่เลี้ยงชีพ นิยายแต่ละเล่มของเขาไม่ได้ให้แค่ความสนุกบันเทิง แต่ยังมีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ อย่าง การเกิดขึ้นของนิตยสารวิทยาศาตร์ Amazing Stories โดย Hugo Gernsback ก็มีจูลส์ เวิร์น เป็นนักเขียนคนแรก
เสน่ห์ของงานเขียนจูลส์ เวิร์น คือแม้เขาจะจินตนาการถึงเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ยังมาไม่ถึง แต่เขาก็ต้องเข้าไปศึกษาข้อมูลวิทยาศาตร์พื้นฐาน ศึกษาหลักการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งประดิษฐ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในนิยายของเขา ดังนั้นแม้สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นเพียงนิยาย แต่ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสมจริง อย่างเรือดำน้ำลำแรกของโลกก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือดำน้ำ Nautilus ในนิยายใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ หรืออย่างในงานเขียน Verne’s Paris In The Twentieth Century ก็มีการจินตนาการถึงตึกระฟ้า ลิฟท์ รถยนต์ ระบบไฟฟ้าของเมือง อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์
อีกประเด็นที่น่าสนใจในนิยายของจูลส์ เวิร์นคือมุมมองต่อวิทยาศาสตร์ที่จากแรกเริ่มคือความอัศจรรย์ของสิ่งประดิษฐ์ ยุคต่อมาก็ปรับมุมมองเป็นผลกระทบด้านมืดของเทคโนโลยีที่เขาย้ำหนักหนาว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ได้มีแต่แง่บวก ผู้ครอบครองสามารถใช้เทคโนโลยีสร้างอำนาจเหนือคนอื่นๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีมารุกรานเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งนี่ก็เป็นแง่มุมด้านวิทยาศาสตร์ที่ จูลส์ เวิร์น ห่วงใย และก็เป็นอีกคำทำนายที่เห็นได้จริงในปัจจุบัน
อ้างอิง