มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น กรกช ไทยศิริ ชีวิตเปลี่ยนด้วยหูกระจงแคระหลักร้อย
Faces

มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น กรกช ไทยศิริ ชีวิตเปลี่ยนด้วยหูกระจงแคระหลักร้อย

Focus
  • กรกช ไทยศิริ ใช้เวลาลองผิดลองถูกกว่า 15 ปี จนกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะบอนไซสายพันธุ์ญี่ปุ่น
  • พื้นที่ขนาด 1 ไร่บริเวณหลังบ้านย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ถูกปรับให้กลายเป็นสวนบอนไซญี่ปุ่นหลากหลายสายพันธุ์กว่า 5,000 ต้น
  • ต้นหูกระจงแคระราคาหลักร้อยที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากงานกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ศึกษาศิลปะและปรัชญาของบอนไซ

“บอนไซคือการสร้างต้นไม้เล็กในกระถางให้เหมือนต้นไม้ใหญ่ในธรรมชาติ เป็นการร่วมสร้างระหว่างคนกับธรรมชาติ ช่วยให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจธรรมชาติและเข้าถึงปรัชญาที่ว่าความไม่สมบูรณ์คือความงาม”

กรกช ไทยศิริ มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น กล่าวถึงหัวใจหลักของศิลปะบอนไซที่เขาใช้เวลาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกว่า 15 ปีจนกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญและก่อตั้งแกลลอรีในชื่อ Bonsai Hunter ที่เขาได้ปรับพื้นที่ขนาด 1 ไร่บริเวณหลังบ้านย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ให้กลายเป็นสวนบอนไซญี่ปุ่นหลากหลายสายพันธุ์กว่า 5,000 ต้น

กรกช ไทยศิริ

นับเป็นโอกาสดีที่กรกชได้คัดเลือกต้นไฮไลต์จำนวน 100 ต้น หลายขนาด ต่างสายพันธุ์และหลากหลายรูปทรงซึ่งมีอายุรวมกันกว่า 2,000 ปี นำมาจัดแสดงในใจกลางกรุงเทพฯ สำหรับนิทรรศการ The Living Art of Elegance: Japan Bonsai Exhibition by Bonsai Hunter ระหว่างวันที่ 15-25 สิงหาคม พ.ศ.2567 ที่ Living Hall ชั้น 3 สยามพารากอน กรุงเทพฯ

กรกช ไทยศิริ
บอนไซทรงตกกระถาง

ไฮไลต์บอนไซตั้งแต่ทรงตกกระถาง ทรงบัณฑิต และต้นประธาน

หนึ่งในบอนไซที่มีรูปทรงสวยเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทยคือ บอนไซ Itoigawa Shimpaku ทำจากต้นสนชิมปากุสายพันธุ์อิโตอิงาวะ ในรูปทรงที่เรียกว่า Cascading หรือในภาษาญี่ปุ่นว่า Kengai และภาษาไทยเรียกว่า ทรงตกกระถาง ซึ่งเป็นหนึ่งในสไตล์การจัดต้นบอนไซให้ลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ย้อยลงมาต่ำกว่าขอบกระถาง

“ทรงตกกระถางทำให้นึกถึงต้นไม้ที่เติบโตตามธรรมชาติบนหน้าผาและกิ่งก้านต้องห้อยลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อเอาชีวิตรอด สื่อถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของต้นไม้ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายจึงเป็นทรงที่เท่มาก ในประเทศไทยมีทรงที่สวยมากแบบนี้ไม่เกิน 3 ต้น” กรกชกล่าว

กรกช ไทยศิริ
บอนไซทรงบัณฑิต

อีกหนึ่งไฮไลต์คือ บอนไซสายพันธุ์ Kishu Shimpaku – Yamadori อายุ 120 ปีในรูปทรงที่เรียกว่า Literati หรือ Bunjingi หรือในภาษาไทยว่า ทรงบัณฑิต ซึ่งฐานของต้นไม้จะไม่ใหญ่แต่เติบโตในแนวสูงจึงมีลำต้นที่สูง บาง โค้งงอและบิดเบี้ยวเพราะต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก เช่น บนภูเขาหรือพื้นที่ที่มีลมแรง ทำให้มีกิ่งก้านไม่มากและใบจะกระจุกตัวอยู่ที่ปลายกิ่ง

“ต้นไม้นี้มีเสน่ห์ด้วยรูปทรงที่บ่งบอกเรื่องราวธรรมชาติและการฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อให้อยู่รอดได้ Kishu Yamadori คือบอนไซที่สร้างขึ้นจากต้นไม้ที่ถูกเก็บจากธรรมชาติ คำว่า Yama หมายถึง ภูเขา และ Dori หมายถึง การเก็บ จึงเป็นต้นไม้ที่มีแผลเป็นจากธรรมชาติมานับไม่ถ้วนตลอดอายุ 120 ปี เขาผ่านสงครามโลกมาแล้ว 2 ครั้ง ฝ่าพายุหิมะ พายุไต้ฝุ่น บาดแผลรอยฉีกขาดที่ปรากฎจึงเป็นคุณค่าของกาลเวลา”

บอนไซ
บอนไซสนดำทรง Chokkan ที่เรียกว่าต้นประธาน

ส่วนต้นที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้านิทรรศการคือ ต้นสนดำ (Japanese Black Pine) ในรูปทรงที่เรียกว่า Formal Upright Style หรือ Chokkan ซึ่งเป็นสไตล์คลาสสิกและเป็นที่นิยมในวงการบอนไซที่มีลักษณะตั้งตรงและสมดุล กิ่งก้านเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบตามแนวแกนตั้งฉากกับลำต้น

“เรารักษาอัตราส่วนให้กิ่งซ้ายและขวาสลับกันอย่างสมดุล ยอดอยู่ตรงกลาง และฐานรากแผ่ขยาย แสดงถึงความมั่นคงและแข็งแรงจึงเรียกลักษณะแบบนี้ว่า ต้นประธาน เรามักจะพบเห็นต้นสนดำสูงสง่าในภาพวาด และตามสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม สวนญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในพระราชวังซึ่งตามธรรมชาติจะสูงได้ถึง 10 เมตร  ดังนั้นการจะเลี้ยงให้กระชับทรงในกระถางและให้ได้รูปทรงตามธรรมชาตินั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย”

กรกช ไทยศิริ
ภาพ: สยามพารากอน

“ปรัชญาบอนไซ” ความไม่สมบูรณ์สู่การยอมรับในความผิดพลาด

การสร้างต้นไม้ขนาดเล็กในรูปทรงเลียนแบบธรรมชาติให้สมจริงและสวยงามต้องใช้เวลา ทักษะ และความอดทนตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง การดูแลรักษารากและใบ และการดัดแปลงรูปทรงให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ชนิดต่างๆ ซึ่ง กรกช ยอมรับว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นเขาเองก็เจ็บและผิดพลาดมาเยอะ

“ผมลองผิดลองถูกมาเยอะมาก 15 ปีที่แล้วไม่มี YouTube หรือ Facebook เป็นช่องทางเรียนรู้เหมือนสมัยนี้ ต้องลงมือลุยทำเอง ผิดพลาดก็เรียนรู้ทั้งน้ำตาว่าต้นไม้จะปรับให้รับแสงแดดอย่างไร ปุ๋ยแบบไหน ดัดทรงทำอย่างไร ผมเคยซื้อวัตถุดิบแพงมากราคา 3-4 แสนบาท แต่ด้วยยังขาดทักษะในตอนนั้นก็กลายเป็นแค่ตอไม้ธรรมดา ดังนั้นการเลี้ยงบอนไซเราต้องยืนระยะ เงินจม มีทักษะและอดทนเพราะต่อให้เราดูแลดีมา 2 ปี แต่หากพลาดไปแค่ 2 วันก็ทำให้ต้นไม้ตายได้”

มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น
กรกช ไทยศิริ มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น กับบอนไซทรงกึ่งตกกระถาง

กรกชทำงานประจำเป็นวิศวกรปิโตรเลียม และกล่าวว่าการเลี้ยงบอนไซเป็นงานอดิเรก (ที่จริงจัง) ที่เขาจะเดินทางเสาะแสวงหาต้นไม้ตามสวนต้นไม้ต่างๆ ในหลายประเทศ จึงเป็นที่มาของชื่อ Bonsai Hunter ที่เป็นทั้งแกลลอรีบอนไซและเวิร์คชอปสำหรับผู้ที่สนใจศาสตร์และศิลป์ด้านนี้ตั้งแต่การเลือกต้นบอนไซ การวางแผนวิเคราะห์รูปทรงเพื่อสร้างรูปทรงให้สวยงามตามธรรมชาติ ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู การฝึกทักษะจัดทรง การคัดกิ่งและเข้าลวด การตรวจสุขภาพ และการดูแลเพื่อป้องกันและรักษาโรคได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี

“ผมกล้าพูดได้เลยว่าเป็นคนแรกๆที่ทำบอนไซญี่ปุ่นแบบครบวงจรในประเทศไทยและสร้างคอมมูนิตี้กับคนรักบอนไซทั่วโลก หลังเลิกจากงานประจำตอน 5 โมงเย็น ผมจะใช้เวลาจนถึงตี 2 ดูแลบอนไซทำให้มีทักษะจนสามารถประเมินได้ว่ากิ่งนี้ถ้าดัดอีก 2 ปีจะทำให้มีมูลค่าได้ถึง 1 แสนบาทเลย ไม่ใช่ว่าเราเก่งนะแต่เป็นเพราะเราทำมาเยอะ ถ้าเพียงแค่มีเงินซื้อวัตถุดิบราคาแพงแต่สร้างต่อไม่ได้ก็จบ”

มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น
บอนไซ Kishu Yamadori

บอนไซล่าสุดของเขาที่ได้รับรางวัล Taikanten Prize 2023 จากการประกวดบอนไซระดับนานาชาติที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น คือ Kishu Yamadori ที่สร้างขึ้นจากต้นไม้อายุมากกว่า 100 ปีที่ถูกเก็บจากธรรมชาติและลำต้นมีลักษณะเป็นเกลียวคลื่น เติบโตในแนวดิ่งและมีซากต้นไม้อยู่บนยอดบ่งบอกการฟันฝ่าอุปสรรคจากธรรมชาติ

“ความไม่สมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้เราเข้าใจและยอมรับในความผิดพลาด เมื่อก่อนผมเป็นคนเพอร์เฟคชั่นนิสที่ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบทำให้คาดหวังกับตัวเองและคนรอบข้างสูงมาก แต่เมื่อได้เรียนรู้ปรัชญาจากศิลปะบอนไซทำให้กลายเป็นคนเข้าใจอะไรมากขึ้น ความผิดพลาดไม่กี่เปอร์เซนต์ไม่ใช่ความล้มเหลว ทำให้ยอมรับได้มากขึ้นและชีวิตก็ดีขึ้น ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป”

มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น
บอนไซทรงกึ่งตกกระถาง

จากต้นหูกระจงแคระราคาหลักร้อย ต่อยอดเป็นบอนไซญี่ปุ่นมูลค่าหลักแสน

การทำงานในตำแหน่งวิศวกรขุดเจาะน้ำมันตั้งแต่เรียนจบแม้จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือนสูงแต่แลกมาด้วยความรับผิดชอบสูงลิบและความเครียดสะสมขั้นสุด การค้นพบความชอบและหลงไหลในศิลปะบอนไซในเวลาต่อมาจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของกรกช ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นธุรกิจเสริมที่สร้างรายได้และชื่อเสียงในแวดวงนักสะสมบอนไซนานาชาติ

“ผมร่วมบุกเบิกการขุดเจาะน้ำมันกับบริษัทแห่งหนึ่งและทำงานในหลายประเทศในตะวันออกกลางร่วม 10 ปี อยู่ที่อิรักในช่วงหลังสงครามอิรักที่ยังคงมีการก่อการร้ายอยู่และต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุนไปทำงาน ตอนนั้นทำงานเครียดมากในสภาพแวดล้อมที่กดดันแต่ก็สามารถไต่เต้าไปสู่ระดับผู้บริหารตั้งแต่อายุ 27 และดูแลทรัพย์สินของบริษัทมูลค่า 2,000 กว่าล้าน เราใส่ทุกอย่างเต็ม 100% เราก้าวหน้าก็จริงแต่ก็เริ่มถามตัวเองว่าเราจะอยู่ในภาวะเครียดแบบนี้ไปจนตายเหรอ”

มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น
บอนไซดัดเป็นรูปทรงมังกรขาวด้วยสไตล์ Sharimiki ที่ลอกเปลือกลำต้นออกจนเห็นเนื้อไม้ข้างใน

กรกชตัดสินใจหักดิบตัวเองด้วยการลาออกทั้งที่ยังไม่มีงานอื่นรองรับ เขาเริ่มค้นหาตัวเองโดยการศึกษาธรรมะและบวชอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นหัดถ่ายรูปและเดินป่าแต่ก็ยังไม่พบคำตอบที่ทำให้ใจสงบอย่างแท้จริง จนกระทั่งไปเดินตลาดต้นไม้ที่สวนจตุจักรและพบต้นหูกระจงแคระในกระถางสีชมพูราคา 300 บาท จึงตัดสินใจซื้อมา

“ในตอนนั้นรู้สึกว่าต้นไม้ต้นนี้ทำไมน่ารักจัง อยากเลี้ยงดู ตื่นเช้ามารดน้ำ เอามารับแสงแดดและดัดกิ่ง รู้สึกว่าพอได้นั่งดูเฉยๆเราก็สงบ ไม่คิดมาก หลับสบายขึ้น แต่ต้นหูกระจงแคระตายตั้งแต่ 2 อาทิตย์แรกเพราะเราไปยุ่งกับเขามากเกินไป ใส่ปุ๋ยเยอะไป ดัดกิ่งมากไปจนหัก เราก็เริ่มเรียนรู้ว่าบางอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป โอนอ่อนบ้างอย่าหักดิบไปหมดซึ่งก็เอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการทำงานว่าการใช้ soft skill ในการบริหารทำให้ได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม”

หลังจากนั้นเขาเริ่มซื้อบอนไซทั้งสายพันธุ์ไทยและญี่ปุ่นมาเลี้ยงดู เริ่มแรกไม่ได้คิดจะขายแต่เมื่อพ่อกับแม่เริ่มไม่สบายใจที่เห็นเขาใช้เงินซื้อต้นไม้ราคาต้นละหลายพันบาท กรกชจึงเริ่มประกาศขายและมีคนมาซื้อจึงเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแพชชั่นและความสุข

มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น
กรกชสาธิตการตกแต่งบอนไซ (ภาพ: สยามพารากอน)

ปัจจุบัน กรกช ไทยศิริ กลับไปทำงานประจำในตำแหน่งผู้บริหารด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม เขาไม่ต้องการให้การสร้างสรรค์บอนไซเป็นธุรกิจหลักที่เน้นแต่การขายเพื่อทำกำไร

“บอนไซคือศิลปะถ้าเราไปเร่งรีบและกดดันเมื่อนั้นจะหมดความสนุกทันที บอนไซคือสิ่งสวยงามและทำให้ชีวิตผมดีขึ้น ผมทำงานดีกว่าเดิมไม่ใช่เพราะประสบการณ์เยอะ แต่เพราะเรามีมายเซ็ตดีขึ้น ตัดสินใจดีขึ้น ตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีสติ ไม่ได้ใช้พลังกายและพลังใจมากเหมือนเมื่อก่อนแต่ผลลัพธ์การทำงานดีขึ้นกว่าเดิม”

จากจุดเริ่มต้นที่ต้นหูกระจงแคระราคาหลักร้อย ปัจจุบันกรกชได้รับการยอมรับเป็น มาสเตอร์บอนไซญี่ปุ่น ทั้งยังสามารถสร้างสรรค์ศิลปะบอนไซที่มีมูลค่าถึงต้นละหลักแสนบาทโดยเน้นที่บอนไซสายพันธุ์ญี่ปุ่น

“ผมเคยเลี้ยงทั้งสายพันธุ์ไทยและญี่ปุ่น แต่สายพันธุ์ไทยโตเร็ว เช่น ถ้าเรามีต้นไม้ 20 ต้น แค่ตัดแต่งกิ่งต้นแรกไป 1-2 เดือนยอดก็พุ่งอีกแล้ว ทำให้เราใช้เวลาตกแต่งมากกว่าการสร้าง ในขณะที่สายพันธุ์ญี่ปุ่นตัดแต่งทรงแค่ปีละครั้งทำให้เรามีเวลาสร้างสรรค์มากกว่า บอนไซเป็นงานศิลปะที่ทำซ้ำและเลียนแบบไม่ได้เพราะมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องธรรมชาติและเวลาจึงมีคุณค่ามาก นอกจากนี้ยังเป็นสินทรัพย์ที่ราคาไม่ลดลงเลยมีแต่เพิ่มขึ้น” กรกชกล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • นิทรรศการ The Living Art of Elegance: Japan Bonsai Exhibition by Bonsai Hunter จัดแสดงระหว่างวันที่ 15-25 สิงหาคม พ.ศ.2567 ที่ Living Hall ชั้น 3 สยามพารากอน
  • ติดตามผลงานของ Bonsai Hunter เพิ่มเติมที่ https://www.bonsaihuntergallery.com/

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม