ไจโกะ ศิลปินชายข้ามเพศกับศิลปะสัจนิยม เล่าความเลวร้ายของสงครามผ่านมิกกี้เมาส์
- ไจโกะ-วีรญา ยามันสะบีดีน ศิลปินคลื่นลูกใหม่ที่สร้างงานแนวสัจนิยม (Realistic) ในประเด็นเรื่องสงครามโดยใช้ตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงชาติมหาอำนาจ
- ผลงานของไจโกะได้รับความสนใจจากนักสะสมและจองตั้งแต่ยังเป็นเพียงภาพสเก็ตช์
- ความสนใจในประเด็นเรื่องสงครามและความรุนแรงมาจากประสบการณ์วัยเด็กที่ถูกบูลลีและล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ รวมถึงความพยายามพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวยอมรับในแนวทางที่เลือก
ไจโกะ หรือ วีรญา ยามันสะบีดีน เป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองจากผลงานแนวสัจนิยม (Realistic) ที่หยิบยกประเด็นเรื่องสงครามมาเล่าโดยใช้ตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์เป็นสัญลักษณ์หลักเพื่อสื่อถึงชาติมหาอำนาจ ภาพของไจโกะเป็นที่ต้องการของนักสะสมและถูกจองตั้งแต่ยังเป็นเพียงภาพสเก็ตช์ แต่ละภาพมีรายละเอียดที่สมจริงและใช้เวลาร่วม 3-4 เดือนกว่าจะแล้วเสร็จโดยราคาอยู่ที่ประมาณแสนต้น ๆ ต่อภาพ
ความสนใจในประเด็นเรื่องสงคราม ความรุนแรง และผลกระทบต่อผู้คนเกิดจากชีวิตวัยเด็กที่ถูกบูลลีอย่างหนัก การถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ และความพยายามพิสูจน์ตัวเองให้คนในครอบครัวยอมรับกับการตัดสินใจเป็นชายข้ามเพศ ซึ่งขณะนี้เขาเข้าสู่ขั้นตอนท้าย ๆ ของการแปลงเพศ
“ตอนอายุ 7 ขวบครอบครัวย้ายบ้านมาอยู่ในชุมชนหนึ่งในกรุงเทพฯ และผมมักโดนรังแกและทำร้ายร่างกายจากแก๊งเด็กเก่าในพื้นที่ เขาจะมาดักรออยู่แถวหน้าบ้านเลย พ่อแม่ก็คิดว่าเป็นเรื่องทะเลาะวิวาทของเด็ก ๆ แรก ๆ ผมก็พยายามเลี่ยง ๆ ไม่สู้แต่สุดท้ายไม่ไหวเพราะโดนรังแกแทบทุกวัน จนช่วงมัธยมผมต้องไปเรียนต่อยมวยเพื่อป้องกันตัว ผมไม่มีเพื่อนแถวบ้านจึงทำให้เป็นคนเก็บตัวอยู่ที่บ้านและใช้เวลานั้นวาดรูปเพื่อบรรเทาความทรมานในช่วงนั้น” ไจโกะ ในวัย 28 ปี เล่าย้อนถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำในวัยเด็ก
จากที่ใช้การวาดรูปเพื่อเยียวยาจิตใจ ไจโกะ ค้นพบว่าตนเองชอบศิลปะและเลือกเรียนสายศิลปกรรมเมื่อเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขามุ่งมั่นว่าต้องสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรให้ได้ และฝึกฝนตนเองอย่างหนักช่วงก่อนสอบเข้าโดยวาดรูปตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงตี 5 ในที่สุดเขาได้เรียนต่อในคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรสมความตั้งใจ
“ญาติผมเป็นครู เขาก็พูดตลอดว่ารับราชการดีที่สุดแล้ว เรียนศิลปะจบไปจะทำอะไร จะไปเป็นคนเขียนกำแพงวัดเหรอ ผมเลยมุ่งมั่นว่าต้องสอบเข้าศิลปากรให้ได้และจะพิสูจน์ให้เห็นว่าผมประสบความสำเร็จได้ในแนวทางที่ผมเลือก ถ้าไม่ติดนี่เสียหน้ามากเลยนะเพราะผมโพล่งขึ้นกลางวงญาติ ๆ เลย การเป็นเพศที่สามทำให้เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับว่าเราไม่ได้แย่และเราปกติ” ศิลปินหนุ่มรูปร่างสันทัดกล่าว
สงคราม ความรุนแรงและมิกกี้เมาส์
ไจโกะ สนใจเรื่องประวัติสงครามและสร้างสรรค์ภาพเขียนสีน้ำมันแนวสัจนิยม (Realistic) ตั้งแต่เรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผนวกเนื้อหากับประสบการณ์ความรุนแรงที่ตัวเองพบเจอในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น
“ผมศึกษาประวัติศาสตร์สงคราม ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น สงครามอิรัก สงครามกลางเมืองต่าง ๆ เช่นในซีเรีย และเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านเรา เช่น 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ แรก ๆ เราก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมชาติมหาอำนาจต้องเข้าไปแทรกแซงตลอด แต่พอศึกษาก็พบว่ามันมีรายละเอียดยิบย่อยมาก มีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งนั้น แต่วิถีชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบย่อมเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน สงครามไม่มีวันจบเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นสงครามเย็นทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่หนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น”
ก่อนลงมือวาดภาพ ไจโกะจะหารูปภาพต่าง ๆ มาเป็น Reference ไม่ว่าจะเป็นภาพเหตุการณ์จริง ยุทโธปกรณ์ เครื่องแบบทหารหน่วยต่าง ๆ ข้าวของเครื่องใช้และรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ จากนั้นเขาจะใช้โปรแกรม Photoshop จัดวางองค์ประกอบเหล่านี้ใหม่ตามคอนเซ็ปต์จนได้ภาพตามที่คิดไว้ นี่คือการทำภาพสเก็ตช์ของ ไจโกะ ที่มีความละเอียดสูงและนักสะสมจองตั้งแต่ยังเป็นเพียงภาพสเก็ตช์
“ผมใช้มิกกี้เมาส์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เนื่องจากเป็นตัวการ์ตูนที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก มีพาวเวอร์และเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นไอคอนของวงการการ์ตูน นอกจากนี้การใช้ตัวการ์ตูนทำให้ภาพดูเบาลงถึงแม้จะพูดเรื่องสงคราม เพราะในโลกการ์ตูนไม่มีการตายจริงเกิดขึ้นต่อให้มีฉากที่รุนแรงก็ดูไม่รุนแรง แต่ในความเป็นจริงความรุนแรงซ่อนอยู่ในหลายรูปแบบ”
The Last Supper อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของทหาร
The Last Supper เป็นชื่อซีรีส์ผลงานล่าสุดที่ ไจโกะ สร้างสรรค์ตั้งแต่พ.ศ.2563 และคาดหมายว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในพ.ศ.2565 โดยยังเป็นบริบทเกี่ยวกับสงคราม แต่มุ่งเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มากกว่าผลงานชิ้นก่อน ๆ แนวคิดมาจากภาพ The Last Supper ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ซึ่งเป็นเหตุการณ์จากพระคัมภีร์ไบเบิลเรื่องอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ไจโกะได้นำเรื่องการกินอาหารมื้อสุดท้ายมาเป็นคีย์เวิร์ดสำหรับผลงานที่พูดถึงการกินอาหารค่ำของทหารก่อนไปรบ โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อคือ การกินอาหารกับครอบครัว กับคนรัก กับเพื่อน และในสนามรบ
“ภาพแรกที่เสร็จไปแล้วและใช้เวลาร่วม 3 เดือนคือภาพ Last Christmas เป็นภาพมิกกี้เมาส์ในชุดทหารอเมริกันกำลังกินข้าวกับครอบครัวในวันคริสต์มาสก่อนที่เขาจะออกไปรบ ผมเลือกบรรยากาศวันคริสต์มาส เพราะเป็นวันรวมสมาชิกของคนในครอบครัวและเป็นวันพระประสูติ ผมจึงวาดรูปพระเยซูมาร่วมในมื้ออาหารด้วยรวมทั้งเพื่อนของมิกกี้เมาส์ คือ โดนัลด์ ดั๊ก และมินนี่เมาส์ การกินอาหารร่วมกันครั้งนี้ของพวกเขาอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ในภาพนี้สิ่งที่วาดให้เหมือนจริงยากที่สุดคือเมล็ดข้าวโพดสีเหลืองเพราะต้องวาดให้เป็นเมล็ดเล็ก ๆ ในโทนสีที่แทบจะกลืนกันและต้องให้ดูน่ากินด้วย”
อีกหนึ่งภาพที่เสร็จแล้วคือภาพชื่อ Heavy Meal เป็นภาพมิกกี้เมาส์ในชุดทหารอเมริกันกำลังกินข้าวกับเพื่อนทหารด้วยกันในสนามรบโดยมีฉากเป็นรถถังและระเบิด
“ในภาพผมให้มิกกี้เมาส์มียศจ่าและเป็นพลขับรถถังโดยอิงกับเหตุการณ์สงครามในอิรัก ผมต้องหา Reference รูปชุดยูนิฟอร์มทหารอเมริกันที่ใส่ในช่วงนั้น เครื่องหมายยศของหน่วยทหารที่ส่งไปรบจริง ๆ ในสงครามอิรัก รถถังที่ใช้และระเบิดต่าง ๆ ไซซ์ของมิกกี้เมาส์จะใหญ่กว่าคนปกติเพื่อให้เหมือนกับว่าเป็นคนใส่มาสคอตเป็นสัญลักษณ์ถึงการปิดซ่อนอะไรบางอย่างภายใต้มาสคอต ผมเคยวาดหัวมิกกี้เมาส์ใส่ในรูปทหารซีเรียเพราะผมคิดว่าท้ายสุดแล้วไม่ว่าทหารอเมริกันหรือซีเรียก็ทำร้ายประชาชนไม่ต่างกัน”
ส่วนภาพในซีรีส์นี้ที่ ไจโกะ กำลังวาดและเสร็จไปประมาณ 70% คือการกินอาหารค่ำของคู่รักในบรรยากาศที่แฝงไปด้วยความเศร้า ในภาพจะเห็นมิกกี้เมาส์ในชุดทหารอากาศและมีหญิงสาวชุดเหลืองกำลังเอนซบไหล่
“ผมอยากได้ภาพผู้หญิงโครงหน้าหวานแต่ตาเศร้าเพื่อสื่อให้เห็นถึงความวิตกกังวลเพราะไม่แน่ใจว่าคนรักของเธอจะได้กลับมาจากสมรภูมิหรือไม่ ผมไปเสิร์ชรูปในอินเทอร์เน็ตเจอดาราสาวชาวไอริชคนนี้จึงนำมาเป็นต้นแบบ การวาดภาพพอร์เทรตผู้หญิงสำหรับผมยากกว่าผู้ชายเพราะต้องดึงความรู้สึกที่หลากหลาย ความอ่อนโยนและความนุ่มนวล อาจเป็นเพราะผมไม่มีประสบการณ์วาดพอร์เทรตผู้หญิงมาก่อนเลย”
เพศสภาพกับความต้องการเป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง
ไจโกะ เล่าว่าตั้งแต่เด็กเขาชอบใส่กางเกงและเล่นฟุตบอลจึงมักโดนล้อเสมอว่าเป็นทอม ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองผิดปกติตรงไหนและทำไมคนรอบข้างถึงมองว่าไม่ปกติ
“ผมเกิดมาในครอบครัวมุสลิม ตั้งแต่ประถมผมก็เป็นอย่างนี้และคนรอบข้างก็พูดแต่ว่า เป็นอย่างนี้เป็นบาปและไม่มีอนาคต ผมก็ไม่เข้าใจว่าบาปอย่างไรและจะไม่มีอนาคตได้อย่างไรในเมื่อผมก็ตั้งใจเรียนหนังสือ จนจะขึ้น ม.1 แม่ก็เรียกคุยว่าอย่าเป็นทอมเลย ให้เปลี่ยนตัวเองและส่งผมไปเรียนโรงเรียนหญิงล้วน แต่กลับทำให้ผมรู้ตัวเองมากขึ้นว่าผมชอบผู้หญิง แต่ผมก็บอกที่บ้านไม่ได้เพราะเขามองว่าผิดปกติก็พยายามเรียนให้ดี ไม่เกเรเขาจะได้ไม่ว่า ผมกับที่บ้านเลยไม่พูดเรื่องนี้กันแม้จริง ๆ แล้วเขาจะรู้ว่าเรามีแฟนเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด
“ผมไม่ได้อยากเกิดมาเป็นผู้หญิงเลย จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ศึกษาเรื่องการแปลงเพศมาโดยตลอด จนกระทั่งเรียนจบและขายงานธีสิส (Thesis) ได้เงินเอามาปลดหนี้ให้แม่และถือโอกาสบอกแม่ว่าผมตัดสินใจจะแปลงเพศแน่นอนแล้ว แม่ก็ถามว่าจะทำจนถึงขั้นตอนสุดท้ายไหม เขาห่วงว่าเราจะอยู่ในสังคมไม่ได้ เราต้องพูดว่าเราดูแลตัวเองได้ แม่ก็เป็นสะพานไปคุยกับพ่อซึ่งเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมเข้าใจดีว่าสำหรับพ่อแม่นั้นยากที่จะให้เขายอมรับเพราะมีแรงกดดันจากคนรอบข้างและสังคมว่าเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นแบบนี้”
ไจโกะเล่าว่าเมื่อตัดสินใจจะแปลงเพศต้องพบจิตแพทย์ 2 ท่านก่อนเพื่อประเมินสภาพจิตใจว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนจริง ๆ และพบหมอเฉพาะทางเพื่ออธิบายขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียดเพราะเมื่อไปต่อแล้วจะแก้ไขอะไรไม่ได้
“ผมมีเพื่อนเป็นทอมเขาบอกว่าการแปลงเพศน่ากลัวและเขาไม่อยากเปลี่ยนเพศเป็นชาย หมอบอกว่าเราต้องแยกให้ออกระหว่าง รสนิยมทางเพศ กับ เพศสภาพ ตัวผมต้องการเปลี่ยนเพศสภาพเพราะผมทุกข์ที่อยู่ในร่างที่เราไม่ต้องการ ผมต้องฉีดฮอร์โมนเพศชายถึง 3 ปีก่อนที่จะผ่าเอาหน้าอกออก ผลข้างเคียงก็มีคือเสียงแตกเหมือนผู้ชาย ผิวหยาบและอารมณ์แปรปรวน ตอนนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือผ่ามดลูกออกและยืดท่อปัสสาวะ จริง ๆ ต้องผ่าแล้วแต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงต้องเลื่อนไปก่อน ผมจะทำจนถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งไม่อยากให้เกินภายใน 2 ปีนี้”
ไจโกะต้องฉีดฮอร์โมนเพศชายตลอดชีวิตและไม่ว่าผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร เขากล่าวหนักแน่นว่าไม่เคยลังเลที่จะไปจนสุดขั้นตอน
“ผมมีความสุขที่อยู่ในกระบวนการไปสู่สิ่งที่เราอยากเป็นคือเป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ปัญหาที่เจอคือเรื่องภายนอก เช่นเวลาทำธุรกรรมการเงินและเมื่อเห็นบัตรประชาชนที่ยังระบุเป็นนางสาว เขาไม่เชื่อว่าเป็นตัวผม หรือเวลาเดินทางไปต่างประเทศผมก็ต้องพกใบรับรองจากจิตแพทย์ไปด้วยว่าเราอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านทางเพศอยู่”
เส้นทางศิลปะที่ไม่มีขีดกั้นเรื่องเพศสภาพ
แม้ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นจะเป็นช่วงที่เขากล่าวว่าทุกข์ทรมานจากการโดนบูลลี แต่เมื่อได้ก้าวเข้าสู่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรจนกระทั่งทำงานในวงการศิลปะ ไจโกะกล่าวว่าเรื่องเพศสภาพไม่ได้เป็นประเด็นที่คนในวงการศิลปะหยิบยกมาบั่นทอนจิตใจเขาเลย
“ผมโชคดีที่ได้เรียนที่คณะจิตรกรรมฯ ทั้งรุ่นพี่และทั้งอาจารย์บอกว่าอยากเป็นอะไรก็เป็น ในเอกจิตรกรรมที่ผมเรียนมีความหลากหลายทางเพศมาก ทุกคน Respect กันทำให้เราไม่รู้สึกแปลกแยก”
ปัจจุบันไจโกะเป็น 1 ใน 9 ศิลปินของกลุ่มที่ชื่อว่า 333 Avengersในสังกัดของแกลเลอรีร่วมสมัย 333 Anywhere ที่มีจุดมุ่งหมายบ่มเพาะและสนับสนุนศิลปินตามระบบแกลเลอรีแบบสากล
“นักสะสมส่วนใหญ่ยังเก็บแต่งานของ Old Masters ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ที่มีฝีมือดีไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจนบางคนต้องเลิกทำงานไป เราจึงมีการเซ็นสัญญา (Contract) กับศิลปินที่เราเห็นว่าเขามีความสามารถ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานศิลปะไปตลอด และมีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกับเรา โดยเราจะเป็นตัวแทนของเขา มีแผนการทำงานและแผนการตลาดที่ชัดเจน เราไม่ได้ให้เป็นเงินเดือนแต่ให้ความมั่นใจว่าแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน
“เป้าหมายของเราไม่ใช่ให้พวกเขาขายภาพได้มากขึ้น แต่เป็นการสร้างเครือข่ายและขยายฐานกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนมือซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่า (Value) ของงาน และตั้งเป้าว่าสุดท้ายแล้วงานของพวกเขาจะได้อยู่ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์” ธริศา วานิชธีระนนท์ ผู้บริหาร 333 Anywhere กล่าวถึงโครงการปลุกปั้นศิลปินในสังกัด
ไจโกะอยู่ในสังกัดของ 333 Anywhere มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เนื่องจากทั้งตนเองและผู้บริหารแกลเลอรีมีเป้าหมายร่วมกันคือให้ผลงานศิลปะเป็นที่ยอมรับจนเข้าไปอยู่ในคอลเลกชันสะสมของพิพิธภัณฑ์
“ข้อดีคือเราไม่ต้องกังวลมากเรื่องรายได้ งานมีลูกค้าจองตลอด แต่เรากดดันตัวเองพอสมควรเพราะเราอยากทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่อยากปล่อยงานที่ไม่ดีออกไป นักสะสมบางคนเขาสนับสนุนตั้งแต่เรายังเป็นนักศึกษา เขารู้ว่าคอนเซ็ปต์งานของเราคืออะไร เพียงเห็นแค่สเก็ตช์เขาก็จองแล้วแม้ว่างานเราไม่ใช่แนวจรรโลงจิตใจทุกชิ้น” ไจโกะกล่าว
ในการทำงานแบบสัจนิยม ไจโกะ ชื่นชมผลงานของ นอร์มัน ร็อกเวลล์ (Norman Rockwell) จนมีหลายคนอาจมองว่าสไตล์งานใกล้เคียงกัน
“ผมไม่ปฏิเสธว่าได้แรงบันดาลใจจากงานของนอร์มัน ร็อกเวลล์เพราะเขาเป็นศิลปินที่วางมุมมองและองค์ประกอบภาพสวยมาก ผมยังชอบผลงานของแวนโก๊ะ (Van Gogh) และปิกาโซ (Picasso) ถึงแม้จะไม่ใช่งานแนวเรียลิสติกเหมือนผมแต่อารมณ์และบรรยากาศในรูปภาพของพวกเขามีความพิเศษ
“การเขียนภาพแนวเรียลิสติกยากตรงการสื่อสารอารมณ์มากกว่าความเหมือนจริง คนเขียนภาพเหมือนเก่ง ๆ มีเยอะแต่ทำอย่างไรทำให้งานดูเป็นตัวเรา ผมไม่มีเทคนิคอะไรมากนอกจากฝึกฝนให้มาก ต้องมีความอดทนเพราะรายละเอียดบางจุดในภาพต้องใช้พู่กันเบอร์เล็กมาก ๆ ผมอยากเขียนพอร์เทรตคนให้เก่งกว่านี้ ผมไม่ใช่คนเก่ง แต่ผมมีความอดทน”
Fact File
- ติดตามผลงานของไจโกะได้ที่ Instagram: jaiko_wy