ความตายและรอยยิ้มบนแขนซ้าย ของดับเบิลซีไรต์ จเด็จ กำจรเดช
Faces

ความตายและรอยยิ้มบนแขนซ้าย ของดับเบิลซีไรต์ จเด็จ กำจรเดช

Focus
  • จเด็จ กำจรเดช นักเขียนดับเบิลซีไรต์ จาก คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ และ แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ
  • แดดเช้าฯ คือความฟุ้งฝันตามแบบของคนหนุ่มของจเด็จ ส่วน คืนปีเสือฯ กลับเต็มเปี่ยมด้วยกลิ่นอายความเศร้าหลังความตายของลูกชายคนเล็ก

คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ เป็นหนังสือเล่มที่ 2 ของ จเด็จ กำจรเดช ที่ได้รับการประทับตรารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ประจำปี 2563 หลังจากปี 2554 เขาเคยได้รับรางวัลซีไรต์จากเรื่อง แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ แต่ท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดี นักเขียนกลับซุกซ่อนความเศร้าไว้ในแววตา เขาเล่าถึงเชื้อไฟในการสร้างงานทั้งสองเล่มรางวัลนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แดดเช้าฯ คือความฟุ้งฝันตามแบบของคนหนุ่ม ส่วน คืนปีเสือฯ กลับเต็มเปี่ยมด้วยกลิ่นอายความเศร้า ซึ่งเก็บงำอยู่ในใจของนักเขียน หลังความตายของลูกชายคนเล็กได้พาเขาดำดิ่งเข้าใกล้การฆ่าตัวตายแบบไม่รู้ตัว จเด็จ กำจรเดช ยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังร้องไห้แทบทุกคืน แม้อยากย้อนคืนวันเก่ากลับมา แต่ทำได้แค่ในความทรงจำ… 

จเด็จ กำจรเดช

กลิ่นความตายในงานเขียน

รอยสักใบหน้าเด็กชายที่ส่งยิ้มบนแขนซ้ายของ จเด็จ กำจรเดช เป็นความทรงจำที่พอจะทำได้หลังการจากไปของลูกชายคนเล็ก และนี่คืออีกแรงผลักดันในการสร้างงานอันเข้มข้นในยุคหลังนี้ 

“ผมเคยแบ่งช่วงชีวิตตัวเองไว้ว่า ช่วงแรกเป็นช่วงเวลาของแดดเช้าฯ ที่เป็นคนธรรมดา ได้ทำงานศิลปะอย่างที่ตัวเองชอบ และช่วงที่ 2 เจอเพื่อน ๆ ได้ดูหนังฟังเพลงที่ชอบ ผมคิดว่าชีวิตจะมีแค่นั้น แต่ตอนนี้หลังลูกชายคนที่ 2 เสียชีวิต กลับกลายเป็นช่วงชีวิตที่ 3 คือช่วงที่ไม่มีลูก ช่วงที่เราจมกับความสูญเสียนี้ค่อนข้างมาก

“ความคิดก่อนหน้านั้นไม่ว่าประเทศจะแย่ ชีวิตเราจะแย่ขนาดไหน แต่มาถึงตอนนี้ มองย้อนกลับไปปัญหาตอนนั้นมันไม่แย่เลย คือถ้าให้ย้อนกลับไปโอเคเลย เพราะว่ามีลูก ในทุกนาทีที่มีลูก ไม่ว่าจะรัฐประหารกี่ครั้ง การเมืองเป็นยังไง ชีวิตโอเคมาก เมื่อลองมาเทียบกับตอนนี้ ตอนที่จมอยู่กับความเศร้า ผมเกือบจะตาย คือผมอาจตกไปอยู่ในกระบวนการฆ่าตัวตายได้ง่าย ๆ แต่ยังดีที่มีลูกชายคนโตมาเยียวยา แต่ตอนนั้นชีวิตก็ไม่ได้ดี งานการอะไรก็ไม่ทำ มีแต่ความยุ่งยากลำบากในชีวิต นอกจากนั้นชีวิตก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ พร้อมกับจิตใจที่ต่ำลง แล้วทุกอย่างก็แปรเปลี่ยนเป็นความเครียด 

จเด็จ กำจรเดช

“ห้วงเวลานั้นมีผลอย่างมากต่องานชุดคืนปีเสือฯ ถ้าผมไม่สูญเสีย เรื่องสั้น ‘มีเป็ดบนหลังคา’ จะไม่เกิดขึ้น ผมเข้าใจแล้วว่า งานเขียนมันต้องเขียนเกือบทั้งชีวิต เหมือนเอาชีวิตเข้าไปเขียน แต่มันไม่ได้บอกว่า นักเขียนเราต้องเอาตัวเองเข้าไปหาวัตถุดิบ หรือเข้าสู่สถานการณ์คับขันแบบผมทุกคนเพื่อจะเขียน แต่มันก็จำเป็นในการที่เราเจอประสบการณ์ที่คับขัน มันจะกลายเป็นแรงผลักดันอะไรบางอย่างให้เรานำมาเขียน ซึ่งในการเขียนหนังสือเราควรจะหาพลังหรือแรงขับอะไรแบบนี้ เช่น สมมติถ้ามีเหว เราควรจะไปให้ถึงขอบเหว แต่อย่าตกไปข้างล่าง เราต้องรู้จักผูกเชือกไว้กับตัวเพื่อป้องกันตกลงไป 

“แต่ตอนลูกเสียชีวิต ผมกลับตกลงไปในเหว เหมือนกับเราเล่นกับชีวิตของตัวเองมากเกินไป เราจะต้องปีนขึ้นมาให้ได้ ซึ่งอาจเป็นโชคดีที่ผมปีนขึ้นมาได้ คือถ้าผมขึ้นมาไม่ได้ผมก็จมอยู่กับความตาย และอาจหาวิธีการฆ่าตัวตาย เพราะตอนนั้นวัน ๆ ไม่ทำอะไร คิดวนอยู่แต่การหาวิธีฆ่าตัวตาย แต่ก็มีการโต้เถียงกันในความคิดว่า เราอุตส่าห์เขียนหนังสือเพื่อให้คนอ่านเกิดปัญญา แต่เรากลับต้องมาจมกับปัญหาเสียเอง เราจะต้องพยายามพาตัวเองขึ้นมาจากเหวให้ได้ เพื่อมาบอกคนอื่นว่า… ‘หนังสือมันช่วยผมไว้’ เลยพยายามหามุมเขียนจนเป็นเรื่องสั้นมีเป็ดบนหลังคา ที่เสมือนการระลึกถึง แต่ก็พยายามบอกตัวเองว่า อย่าเขียนแบบฟูมฟาย หรือเอาความทุกข์ไปถมทับบนตัวหนังสือให้กับคนอ่านอีก

“ผมก็เหมือนพ่อแม่คนอื่น ๆ ที่อยากให้ลูกอยู่กับเรานาน ๆ เลยบังคับเขาในสิ่งที่เราอยากให้เป็น แต่ถ้ารู้ว่าจะไม่มีเขาในวันนี้ ตอนนั้นลูกอยากจะกินอะไรผมจะไม่ห้าม สิ่งที่มันเจ็บคือ เขาเคยพูดว่า ทำไมพ่อต้องตีเขาแรงจนเป็นแผล ซึ่งตอนนั้นผมตีเขาด้วยสายไฟสุดแรง แล้วเราก็มาคิดเสียใจในตอนนี้ว่าไม่น่าทำลูกแบบนั้น

จเด็จ กำจรเดช

“แม้ทุกวันนี้ผลจากความบอบช้ำ จะแปลเปลี่ยนเป็นรางวัลแห่งงานเขียน แต่หลายคืนพอตื่นมากลางดึก ก็ได้แต่คว้ากอดลม เพราะถ้าเขาเป็นวิญญาณคงอยู่แถวนี้ เราคว้ากอดไปก็อาจจะติดมาในอ้อมกอด ทีวีที่บ้านทุกวันนี้ก็เสียเพราะไม่มีใครดู ตอนมีชีวิตอยู่เขาจะนั่งต่อเลโก้ แล้วดูทีวีไปด้วยทุกวัน ผมจะต้องนั่งอยู่เป็นเพื่อนเขา ตอนนี้พื้นที่หน้าทีวีผมต้องพยายามหลบหลีกไม่อยากเห็น เพราะคิดถึงเขา  การกลับมายืนและผลิตงานเขียนได้อีกครั้ง ผมจะปลุกปลอบตัวเองเสมอว่า ลูกมีอายุอยู่บนโลกนี้แค่ 11 ปี แต่ผมมีอายุ 45 ปี ต่อจากนี้การใช้ชีวิตแต่ละปีจะอยู่เพื่อใช้ชีวิตแทนเขา จะทุกข์หรือสนุกแทนเขา เพราะเขาเป็นคนสนุกเหมือนผม ถ้าผมจะฆ่าตัวตายก็เป็นการทรยศ หักหลังลูก คนที่ยังมีชีวิตอยู่ควรใช้ชีวิตแทนคนที่จากไปให้นานที่สุด”

ความต่างของ 2 หนังสือรางวัล 

บาดแผลแห่งขวบวัยและความคิดที่หล่อหลอมให้งานเขียนของ จเด็จ มีความแตกต่างอย่างชัดเจน เขามองว่า รวมเรื่องสั้นชุด “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” เกิดจากความคิด เจอหลาย ๆ เรื่องแล้วหยิบประเด็นนำมาเขียน ซึ่งแรงขับคือความอยากเขียน แต่ คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ แรงขับในการเขียนคือความอยากมีชีวิตต่อ อยากเล่าเรื่อง อยากจะเขียนโดยไม่แยแสว่าจะเล่าออกมาแบบไหน มันเหมือนโลกของเรา ที่ใครจะมาด่าว่าก็ไม่สนใจ เราคิดแค่ว่างานเขียนจะต้องปลุกตัวเองให้มีพลังอีกครั้ง 

เรื่องสั้นหลายชิ้นของเขา มีการระบุสถานที่ในการเขียน เพราะการเดินทางยังคงเป็นสายตาของนักเขียน แม้นักเขียนบางคนจะเน้นทำงานและค้นคว้าข้อมูลอยู่ที่บ้าน แต่สำหรับ จเด็จ เขาต้องออกเดินทางเพื่อไปในสถานที่จริง ที่จะทำให้งานเขียนมีความรู้สึกในอีกแบบ

“การทำงานศิลปะ ไม่ว่างานแบบไหน มีสิ่งที่เราต้องยึดเป็นหลักคือ ทัศนธาตุ ที่ประกอบด้วย เส้น สี แสง พื้นที่ ช่องว่าง การจัดองค์ประกอบ การเขียนก็ต้องใช้องค์ประกอบเหล่านี้เข้ามาช่วย แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีความสร้างสรรค์ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากจุดเดิมที่เคยยืน ให้เป็นงานใหม่ ๆ ที่ไม่ทำซ้ำแบบเดิม

“สุดท้ายนอกจากจะฝากให้คนอ่านชุดเรื่องสั้น คืนปีเสือฯ แล้ว อยากจะบอกคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย หรือคนรอบข้างที่มีคนเสี่ยงที่จะทำแบบนั้นว่า มันไม่ใช่ความคิดอ่านที่จะทำ แต่บางครั้งมันเกิดจากเคมีบางอย่างในร่างกาย ที่คนทำอาจไม่รู้ตัว เหมือนกับการขับรถ ที่เราเห็นความสวยงามสองข้างทาง แต่ไม่นึกว่าปลายทางเป็นเหวลึก ซึ่งคุณปล่อยใจขับไปต่อได้ แต่อย่าลืมมองหาทางแยกเล็ก ๆ ที่คุณจะต้องเลี้ยวให้ทัน เพื่อพบว่า เส้นทางเล็ก ๆ นี้มันพาให้เราผ่านพ้นความตายมาได้”

ท่ามกลางภาพแห่งความสูญเสียที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในห้วงความคิดของ จเด็จ กำจรเดช รอยยิ้มของเด็กชายบนแขนซ้ายนั้นคงแจ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนักอ่านได้พินิจไปยังบทแรกของหนังสือ คืนปีเสือฯ ที่ระหว่างบรรทัดนั้น ได้ซุกซ่อนรอยยิ้มของเขากับพ่อไว้ตลอดกาล 

ขอบคุณสถานที่ : โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ www.mandarinoriental.com/bangkok/chao-phraya-river/luxury-hotel

Fact File

  • คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ โดย จเด็จ กำจรเดช สำนักพิมพ์ผจญภัย ราคาเต็ม 520 บาท 567 หน้า

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"