ตำนานศิลปินไส้แห้งกับหญิงสูงศักดิ์ ชีวิตยิ่งกว่านิยายรักของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ครูใหญ่แห่งศิลปะ
- เส้นทางชีวิตรักของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ กับหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร คือตำนานศิลปินไส้แห้งกับหญิงสูงศักดิ์ยิ่งกว่าพล็อตในนิยายรัก
- เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ.2453-2536) เป็นผู้ที่อุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆสิตารามได้รับการยอมรับว่าเป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด
- ธีระ วานิชธีระนนท์ แห่ง 333 Gallery ได้เก็บสะสมและรวบรวมสิ่งของ เอกสารและผลงานต่างๆของอาจารย์เฟื้อเป็นจำนวนมาก และได้นำบางส่วนมาจัดแสดงในรูปแบบ archive หรือแบบจดหมายเหตุ
ราชนิกุลสาวไทยผู้เกิดและเติบโตในวงสังคมชนชั้นสูงของยุโรปและมารดาหมายปองคู่ครองที่เพียบพร้อมทั้งฐานะและชาติตระกูลสูงศักดิ์ไว้ให้ แต่เธอกลับมีจิตปฏิพัทธ์กับศิลปินหนุ่มไทยไส้แห้ง แม้จะโดนกีดกันจากครอบครัวของฝ่ายหญิงถึงขนาดที่กักตัวเธอไว้ในคฤหาสน์เพื่อไม่ให้พบเจอกับชายหนุ่ม แต่เธอตัดสินใจเด็ดเดี่ยวหาทางหนีไปหาคนรักด้วยการฉีกผ้าปูที่นอนมาผูกต่อกันแทนเชือกและปีนออกทางหน้าต่าง แม้ครั้งนั้นเธอจะพลาดตกลงมาจนกระดูกข้อเท้าแตก แต่ท้ายที่สุดราชนิกุลสาวหอบเสื้อผ้ามาใช้ชีวิตแบบกัดก้อนเกลือกินกับคนรักในห้องเช่าเล็กๆ และมีทายาทด้วยกันในที่สุด
เรื่องราวข้างต้นประหนึ่งพล็อตนิยายรักต่างชนชั้น แต่นี่คือเส้นทางชีวิตรักของ เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ.2453-2536) หรือ อาจารย์เฟื้อ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ” กับ หม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร (พ.ศ. 2458-2547) ธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อดีตอัครราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส…ใช่แล้วนี่คือตำนานของศิลปินไส้แห้งกับหญิงสูงศักดิ์อย่างแท้จริง
เส้นทางชีวิต ความรักและการทำงานศิลปะของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ผู้อุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆสิตารามที่ใช้เวลาร่วม 20 ปี และยังเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อ พ.ศ. 2526 สาขาบริการชุมชน ได้ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของต่างๆ มากมายของท่าน อาทิ จดหมาย รูปถ่าย สมุดบันทึก สมุดสเกตช์ หนังสือ งานลอกลายจิตรกรรมฝาผนัง ฟิล์มสไลด์ โล่รางวัล เกียรติบัตร หลอดสี และพู่กันที่ ธีระ วานิชธีระนนท์ ผู้ก่อตั้ง 333 Gallery กรุงเทพฯ ได้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการเก็บสะสมและรวบรวมสิ่งของ เอกสารและผลงานต่างๆ ของอาจารย์เฟื้อ และเมื่อพ.ศ.2563 ธีระได้เปิดพื้นที่บริเวณชั้น 3 ของแกลเลอรีสาขาถนนสุรศักดิ์จัดแสดงสิ่งของเหล่านี้ในรูปแบบ archive หรือแบบจดหมายเหตุ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมแบบนัดหมายล่วงหน้า
ตำนานรักของศิลปินไส้แห้งกับหญิงสูงศักดิ์
จิตรกรและกวีเอก อังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฟื้อและเคยติดตามช่วยงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ได้บันทึกชีวิตรักของอาจารย์เฟื้อกับหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคของความแตกต่างเรื่องฐานะและชาติตระกูลไว้ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์เฟื้อเมื่อ พ.ศ. 2537 และต้นฉบับกวีนิพนธ์จำนวน 83 บทที่ประพันธ์และเขียนด้วยลายมือของท่านอังคารเป็นส่วนหนึ่งของ archive ที่ธีระได้รับมอบมาจาก อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกสาวของท่านอังคาร โดยความตอนหนึ่งในกวีนิพนธ์เขียนว่า
ถนอมศักดิ์ถนอมจิตรเจ้า อะคร้าวสรวง
สกาว พร่างพราว ดาวดวง หยาดฟ้า
ครุวนา น่าแหนหวง ห้วงเสน่ห์ นั้นนา
เวียนว่าย ตายกี่หล้า ไป่แล้วละเมอหวาน
วัดเอ๋ย วัดโบสถ์แก้ว ปฐพี บุราณฤา
ปลูกโภชน์ ข้าวสาลี ย่อมแจ้ง
แม่ยาย พรากสาวหนี อเนจอนาถ นักนา
สวยเสน่ห์ เชี่ยวไฉนแห้ง เหตุแล้งเงินทอง
ใน archive ยังประกอบด้วยจดหมายที่อาจารย์เฟื้อและหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์เขียนถึงกันเมื่อครั้งที่อาจารย์เฟื้อเดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดียเมื่อปี 2484 ด้วยเงินสนับสนุนที่ภรรยาได้ส่วนแบ่งมาจากกองมรดก รูปถ่ายขาวดำของหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์กับลูกชายและแฟ้มบรรจุจดหมายรักของอาจารย์เฟื้อกับภรรยาคนที่ 2 (สมถวิล หริพิทักษ์)
“มีจดหมายต้นฉบับภาษาอังกฤษ 4 ฉบับ ที่หม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์เขียนไปหาอาจารย์เฟื้อที่อินเดียซึ่งจะขึ้นต้นจดหมายว่า ‘Dear Old Big Boy’ บ้าง ‘Dear Big Boy’ บ้าง และที่สำคัญคือจดหมายฉบับสุดท้ายของภรรยาท่านลงวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งคุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเขียนเล่าไว้ในงานเขียนเรื่อง เฟื้อ หริพิทักษ์ ว่าจดหมายฉบับนี้ ‘เฟื้อเก็บเอาไว้อย่างทะนุถนอม (โดยผนึกกาวไว้กับผืนผ้า และม้วนไว้ในกลักป้องกันแมลงกัดทำลาย)’ นอกจากนี้ยังมีสำเนาจดหมายสองฉบับที่อาจารย์เฟื้อเขียนถึงภรรยาท่านเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน อาจารย์เฟื้อท่านเป็นคนช่างเก็บและบันทึกทุกอย่างในแต่ละช่วงของชีวิต แม้แต่จดหมายที่ตัวเองเขียน ท่านยังทำสำเนาเอาไว้” ธีระกล่าว
หลังจากได้รับจดหมายฉบับที่ 4 จากภรรยาไม่นาน อาจารย์เฟื้อไม่คาดคิดว่านั่นจะเป็นฉบับสุดท้ายและตามมาด้วยข่าวร้ายสะเทือนใจเมื่อท่านได้รับโทรเลขจากเมืองไทยว่ายายผู้ประหนึ่งแม่บังเกิดเกล้าที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เกิดได้ถึงแก่กรรมเพียงแค่ 3 เดือนหลังเขาจากมา มิหนำซ้ำยังโดนซัดกระหน่ำด้วยข่าวร้ายว่าภรรยาที่รักได้กลายเป็นบุคคลเสียสติไปแล้วและถูกส่งตัวไปอยู่กับญาติที่เมืองพระตะบอง
’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้แปลจดหมายฉบับสุดท้ายของหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ในงานเขียนเรื่อง เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงสนับสนุนของเธอที่จะให้สามีได้เดินไปบนเส้นทางศิลปะอย่างที่ตั้งใจ ใจความบางส่วนในจดหมายเขียนว่า
“จำไว้นะ เฟื้อที่รัก ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงอันใดจะบังเกิดขึ้นแก่เรา ฉันจะไม่ยอมให้งานศิลปะของเธอเป็นอันตรายไปเป็นอันขาด งานจิตรกรรมของเธอเป็นทั้งชีวิตและอุดมคติของฉัน ฉะนั้นเธอต้องอุทิศจิตใจให้กับมัน มันเป็นสิ่งเดียวที่มีค่าสูงรองไปจากพระพุทธองค์”
อาจารย์เฟื้อยังเขียนถึง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ โดยระบุว่า “จ.ม.ฉบับนี้เป็น จ.ม.ฉบับสุดท้ายที่เธอมีมาถึงผมที่อินเดีย จากนั้นเธอก็ถึงความวิบัติและเสียสติ…..เธอเป็นผู้หญิงที่มีอุดมคติและเสียสละ เธอเป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ในแนวคิดต่างๆ ทำให้การศึกษาที่ผมกำลังเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และวิชาศิลปะกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ในสมัยนั้นแจ่มชัดยิ่งขึ้น”
จุดเริ่มต้นเส้นทางรักต่างชนชั้น
หม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์เกิดและเติบโตในปารีสจนกระทั่งเมื่อบิดาสิ้นพระชนม์จึงกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ ทั้งคู่เริ่มรู้จักกันเมื่อครั้งเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง แต่อาจารย์เฟื้อเรียนถึงปีที่ 5 แล้วไม่ยอมวาดรูปตามหลักสูตรของโรงเรียนจึงเรียนไม่จบ ท่านจึงออกมาเรียนเขียนรูปเองกับ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต ผู้เคยใช้ชีวิตในยุโรปกว่า 20 ปีและมีความรู้งานศิลปะตะวันตกมากที่สุดคนหนึ่งในขณะนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์เฟื้อเข้าใจเรื่องการใช้สีและการถ่ายทอดบรรยากาศซึ่งเป็นหัวใจของการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสต์จนกลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ในเมืองไทย
เมื่อ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (ต่อมาคือมหาวิทยาลัยศิลปากร) อาจารย์เฟื้อก็ได้มาสมัครเป็นศิษย์รุ่นแรกในปี พ.ศ.2476 โดยในรุ่นมีหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์รวมอยู่ด้วย และเข้าเรียนวิชาจิตรกรรมกับ พระสรลักษณ์ลิขิต แต่เรียนได้เพียงปีเดียวอาจารย์เฟื้อก็ลาออกมาขอเรียนพิเศษกับอาจารย์ศิลป์โดยตรง
เมื่อครั้งเรียนศิลปะด้วยกันหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์มักเป็นแบบให้อาจารย์เฟื้อวาดรูปทำให้ความรู้สึกของทั้งคู่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักแม้จะรู้ดีว่ามีอุปสรรคมากมายที่ต้องเผชิญ
“ตอนนั้นผมเช่าห้องแถวอยู่ในซอยโรงเลี้ยงเด็ก บ้านเขาอยู่ไม่ไกลคือยศเส ตรงที่เป็นโรงพยาบาลหัวเฉียวในปัจจุบันก็ที่ของเขาทั้งนั้น วันไหนที่เราไม่เจอกัน เราจะนัดกันที่ซอยข้างโรงพยาบาลโรคปอด แถวนั้นเป็นบ้านของฝรั่ง ลึกเข้าไปเป็นสุสานมุสลิม และมีทางเข้าหลังบ้านถนอมศักดิ์ เรามาเจอกันแถวนั้น ไม่ได้เห็นหน้ากันมันจะตาย” อาจารย์เฟื้อเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2533 เกี่ยวกับความรักร้อนแรงในวัยหนุ่ม
แม้จะโดนกีดกันอย่างหนักแต่ในที่สุดทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้านเช่าเล็กๆ หลังหนึ่ง เรียนหนังสือและทำงานศิลปะด้วยกัน และเป็นช่วงที่อาจารย์เฟื้อปั้นรูปและเขียนภาพพอร์เทรตของภรรยาจำนวนมากซึ่งเป็นหนึ่งในชุดผลงานที่ดีที่สุดของท่าน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบ้านที่เคยอยู่ถูกระเบิดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้รูปภาพหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ถูกไฟไหม้ไปจนหมด ทั้งคู่มีพยานรักเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวชื่อ ทำนุ
จดหมายฉบับสุดท้ายและการลาจาก
อุปสรรคในชีวิตคู่กระหน่ำเข้ามาอีกครั้งจนทำให้อาจารย์เฟื้อตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เริ่มแรกท่านตั้งใจจะไปศึกษาศิลปะเพิ่มเติมที่ประเทศอิตาลีบ้านเกิดของอาจารย์ศิลป์ แต่ระหว่างนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ศิลป์จึงแนะนำให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดยปราชญ์และมหากวี รพินทรนาถ ฐากุร
“ผมจากเมืองไทยไปด้วยความเสียใจ เราทุกข์มาก เขาก็ทุกข์มาก” อาจารย์เฟื้อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2533
ท่านออกเดินทางใน พ.ศ. 2484 ด้วยเงินสนับสนุนจากภรรยาที่ได้มาจากกองมรดก และนั่นคือการเดินทางจากกันอย่างถาวรโดยไม่ได้พบหน้ากันอีกเลย อาจารย์เฟื้อไปอินเดียโดยไม่มีประกาศนียบัตรใดๆ นอกจากจดหมายรับรองที่อาจารย์ศิลป์ช่วยเขียนให้ถึง นันทลาล โบส (Nandalal Bose) ผู้อำนวยการศานตินิเกตันในขณะนั้นเพื่อแนะนำตัวอาจารย์เฟื้อ ใน archive ที่ธีระจัดแสดงมีสำเนาจดหมายฉบับนั้นของอาจารย์ศิลป์ที่อาจารย์เฟื้อคัดลอกและเก็บรักษาไว้ ใบตอบรับอย่างเป็นทางการลงนามโดยนันทลาล โบสให้เฟื้อ ทองอยู่ (นามสกุลในขณะนั้น) เข้าเรียนที่นั่นรวมไปถึงสมุดโน้ต ภาพสเกตช์ หนังสือและเอกสารอื่นอีกมากมายขณะท่านอยู่ที่อินเดีย
อาจารย์เฟื้อใช้ชีวิตในอินเดียในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484-2489 แต่เป็นการใช้ชีวิตนักศึกษาเพียงไม่กี่เดือน ส่วนที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในค่ายกักกันเนื่องจากเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แผ่ขยายมายังทวีปเอเชียรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามสัญญากับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้นักเรียนไทยในอินเดียโดนจับกุมคุมขังในฐานะเชลยสงครามเพราะอินเดียเป็นประเทศในกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตร
เริ่มรักครั้งใหม่กับภรรยาคนที่ 2
หลังจากกลับเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.2489 อาจารย์ศิลป์ช่วยเหลือให้อาจารย์เฟื้อรับราชการตำแหน่งครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2490 และเป็นช่วงเวลาที่ท่านได้พบรักครั้งใหม่กับ คุณสมถวิล หริพิทักษ์ ภรรยาคนที่ 2
“จริงๆ แล้วอาจารย์เฟื้อกับคุณสมถวิลรู้จักกันมานานเกิน 10 ปี ในสมุดฉีกเล่มเล็กที่ อาจารย์เฟื้อ สเกตช์ภาพผู้คนและทิวทัศน์ขณะอยู่ที่อินเดียก็มีสำเนาจดหมายที่ท่านเขียนถึงคุณสมถวิลด้วย” ธีระกล่าว
จนกระทั่ง พ.ศ.2497 อาจารย์เฟื้อ ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลี ให้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถาน (Accademia de Belle Arti di Roma) ที่กรุงโรม เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่มีประกาศนียบัตรใดๆ ติดตัวนอกจากจดหมายรับรองจากอาจารย์ศิลป์ ในช่วงที่อยู่อิตาลีท่านเขียนจดหมายถึงคุณสมถวิลจำนวนมากเล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และพรรณนาความคิดถึง
ธีระนำจดหมายบางส่วนมาให้ชมและฉบับที่สำคัญคือที่ท่านเขียนถึงคุณสมถวิลระบุว่าได้เดินทางจากเมืองไทยมาถึงกรุงโรมแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 และด้านหลังกระดาษจดหมายยังวาดแผนที่ของประเทศอิตาลีประกอบและอธิบายการเดินทางว่าได้ขึ้นบกที่เนเปิลส์และจับรถไฟไปกรุงโรม
“ในขณะที่อยู่อิตาลี ท่านเขียนจดหมายถึงคุณสมถวิลเยอะมาก เขียนอาทิตย์ละ 1-2 ฉบับและทุกฉบับจะมีคำขึ้นต้นหวานหยด เช่น น้องรักของพี่ หรือ ถวิลที่รักของพี่ และพรรณนาความคิดถึงไปพร้อมๆ กับต่อว่าโชคชะตาอาภัพของตัวเองจนน่าสงสาร สำนวนของอาจารย์เฟื้อนี่ละครไทยสู้ไม่ได้เลยนะ เช่น ท่านเขียนว่า ‘พี่จากมาด้วยความรันทดอย่างสาหัส พี่ต้องแอบร้องไห้เมื่อถึงที่พัก’ เป็นต้น และยังมีจดหมายก่อนแต่งงานคุยกันเรื่องสินสอดทองหมั้นเชิงตัดพ้อว่าตัวเองไม่มีเงิน ต้องค่อยๆ เก็บเงินมาแต่งงาน” ธีระกล่าวถึงสำนวนภาษาอันคมคายของอาจารย์เฟื้อ
ใน archive มีภาพถ่ายคู่ของ เฟื้อ หริพิทักษ์ และคุณสมถวิลและด้านหลังเขียนฤกษ์แต่งงานและจดหมายรักหลายฉบับ ทั้งคู่ครองรักกันจนกระทั่ง อาจารย์เฟื้อเสียชีวิตในวัย 83 ปีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536 และปีถัดมาคุณสมถวิลจากโลกนี้ไปเช่นกัน ในหนังสืออนุสรณ์ในงานศพของคุณสมถวิลนั้นท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ได้ประพันธ์กวีนิพนธ์เขียนด้วยลายมือ ชื่อ “สุมาลัยปรโลก แด่คุณแม่สมถวิล หริพิทักษ์” และอ้อมแก้ว ลูกสาวของท่านอังคารได้มอบต้นฉบับบทกวีให้ธีระเพื่อจัดแสดงเช่นกันโดยความตอนหนึ่งในกวีนิพนธ์เขียนว่า
สมถวิลโศกไป่สิ้น ถวิลหา เฟื้อเอย
แบบปิ่นเพชรภริยา เลิศแก้ว
ประเสริฐแห่งใจหา ยากยิ่ง นักนา
โลกหนึ่งน้อยนางแก้ว กี่ฟ้า ผวาถวิล
ตั้งเป้าสร้างหอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์ เต็มรูปแบบ
“คนอื่นเขาเก็บงานจิตรกรรมแต่ผมเก็บพวกเอกสารกระดาษ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จากคนที่ไม่รู้จักท่านมากแต่เมื่อได้อ่านจดหมาย สมุดโน้ตหรือเอกสารต่างๆ ที่ท่านเก็บไว้ทำให้รู้จักตัวตนของท่านมากขึ้น ท่านเป็นคนเอาจริงเอาจัง ละเอียดลออ และเป็นคนจริงใจมากกับลูกศิษย์ทุกคน เป็นผู้มีแต่ให้” ธีระกล่าวถึงความตั้งใจของเขากับการเก็บงาน archive ของอาจารย์เฟื้อ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประจำปี 2528
เริ่มแรกธีระได้ตู้เหล็กใหญ่ 2 ตู้ที่เก็บเอกสารและผลงานต่างๆของอาจารย์เฟื้อจำนวนมาก หลายอย่างอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยเฉพาะงานชุดภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ที่ อาจารย์เฟื้อ ใช้กระดาษแก้วในการคัดลอกจนต้องนำไปอนุรักษ์เพื่อให้กลับฟื้นคืนสภาพแข็งแรงขึ้น หลังจากนั้นเขาได้รับการติดต่อจากญาติของคุณสมถวิลและได้ข้าวของของอาจารย์มาเพิ่มอีกมากมาย ที่สำคัญคือมีชุดงานสเกตช์จำนวน 80 ภาพที่ท่านคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆในภาคเหนือรวมถึงงานสเกตช์โบราณสถานต่างๆ นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ชาวอินเดีย Sushobhan Adhikary ยังได้มอบเอกสารและผลงานของอาจารย์เฟื้อขณะที่ท่านอยู่ที่ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ให้ธีระเก็บรักษาไว้ด้วย
ธีระจึงเป็นผู้ที่เก็บผลงาน archive ของอาจารย์เฟื้อไว้มากที่สุดและหนึ่งในเรื่องที่เขาค้นพบว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนนามสกุลของอาจารย์เฟื้อ จาก “ทองอยู่” เป็น “หริพิทักษ์”
“ตามที่คนส่วนใหญ่ได้ยินมาคือท่านเสียใจมากเมื่อได้ข่าวว่ายายตาย (ปี 2484) และเดินไปตามท้องถนนท่ามกลางฝนที่ตกกระหน่ำอย่างหมดอาลัยกับชีวิต แต่พอแหงนหน้ามองฟ้าอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครอง ฟ้าพลันสว่างขึ้นมาทำให้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าจนเปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘หริพิทักษ์’ (แปลว่าพระนารายณ์คุ้มครอง) แต่ตามเอกสารที่ผมมีปรากฏว่าหลังจากกลับมาจากอินเดีย ท่านก็ยังคงใช้นามสกุล ‘ทองอยู่’ จนถึงปี 2496 ก่อนแต่งงาน มาเปลี่ยนตอนแต่งงานนั่นแหละ ทุกอย่างที่ผมพูดมีเอกสารอ้างอิงทั้งสิ้น”
ธีระกำลังปรับปรุง 333 Gallery สาขาถนนสุรศักดิ์ทั้งสามชั้นให้เป็น หอจดหมายเหตุ เฟื้อ หริพิทักษ์ อย่างเต็มรูปแบบโดยคาดหมายว่าจะเสร็จทันก่อนวันที่ 22 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 113 ปีชาตกาลของครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ พร้อมกันนี้เขายังได้รวบรวมผลงาน archive บางส่วนมาตีพิมพ์เป็นหนังสือจำนวนกว่า 400 หน้า สี่สีทั้งเล่ม เพื่อเตรียมเปิดตัวในงานด้วย
Fact File
งาน archive ของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ จัดแสดงที่ 333Gallery สาขาถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพฯ โดยการเข้าชมต้องนัดหมายล่วงหน้าทางโทร. 08-1845-1371
อ้างอิง
- นิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2533