เปิดใจผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมไรเดอร์ฯ กับเจตนารมณ์ในการผลักดันอาชีพ Rider ให้เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ
Faces

เปิดใจผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมไรเดอร์ฯ กับเจตนารมณ์ในการผลักดันอาชีพ Rider ให้เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ

Focus
  • เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่อาชีพ Rider และธุรกิจ Food Delivery เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมร้านอาหาร
  • การเติบโตของอาชีพ Rider และธุรกิจ Food Delivery ยืนยันได้จากตัวเลขการประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่าใน พ.ศ. 2563 -2565 รายได้จากค่าจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือ Food Delivery หมุนเวียนในระบบโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่อาชีพ Rider และธุรกิจ Food Delivery เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ซึ่ง Rider ถือกำเนิดจากอาชีพเสริม อาชีพที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะสามารถเลี้ยงชีพได้ในระยะยาว ตอนนี้ต้องยอมรับว่าคำว่า Rider ได้ก้าวมาสู่อาชีพหลักของใครหลาย ๆ คน และพวกเขากลายเป็นฮีโร่ด่านหน้ากับภารกิจจัดส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมทั้งขยายตัวสู่ฟากของการจัดส่งทั้งของใช้ซื้อของ เรียกได้ว่าอาชีพ Rider ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในวิถีสังคมคนเมืองยุคใหม่

การเติบโตของอาชีพ Rider และธุรกิจ Food Delivery ยืนยันได้จากตัวเลขการประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่าใน พ.ศ. 2563 -2565 รายได้จากค่าจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือ Food Delivery หมุนเวียนในระบบโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมทั้งจำนวน Rider เองก็เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าในปี 2565 ธุรกิจจัดส่งอาหารในไทยน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 – 5.0 จากปี 2564 หรือมีมูลค่าราว 7.7 – 8.0 หมื่นล้านบาท

Food Delivery

Rider จากอาชีพใหม่สู่เสียงเรียกร้องในการคุ้มครองสวัสดิภาพและสวัสดิการ

การเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบอาชีพ Rider รวมทั้งการขยายบริการ Food Delivery จากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วไทย มาพร้อมกับเสียงเรียกร้องให้ทบทวนเกี่ยวกับสวัสดิการ สวัสดิภาพของ Rider รวมทั้งสัดส่วนของรายได้ในฐานะ “พาร์ทเนอร์” ของแพลตฟอร์ม ยิ่งในปัจจุบันที่ Rider ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนน้ำมันแพงและจำนวน Rider ที่มากขึ้นแต่จำนวนงานกลับเท่าเดิมและมีแนวโน้มลดลงเพราะผู้คนกลับไปใช้ชีวิตปกติกันมากขึ้น ดังนั้นคำถามต่อมาคือ แล้วอะไรจะเป็นคำตอบของการสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพ Rider ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมร้านอาหารและ Food Delivery ในประเทศไทย

Sarakadee Lite จึงได้ชวน “พงศ์กรณ์ ชัยศยานันท์” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมไรเดอร์แห่งประเทศไทย มาถอดแจ็กเก็ต เปิดใจเล่าถึงเสียงสะท้อนจากRider ในฐานะที่เป็นผู้ที่คลุกคลีกับวงการ Rider และFood Delivery มาตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับพี่น้อง Rider เพื่อส่งเสียงสะท้อนไปยังแพลตฟอร์มและภาครัฐอีกด้วย สำหรับพงศ์กรณ์เขาเริ่มต้นอาชีพ Rider มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่เพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์ม Food Delivery ในไทยและลองทำมาแล้วแทบทุกค่าย เปลี่ยนรถมอเตอร์ไซด์มาแล้ว 7 คันตลอด 7 ปีที่ทำงาน จากยุครุ่งเรืองที่สามารถทำรายได้สูงถึงวันละ 1,500 บาท มาสู่ยุคที่คนล้นงานแถมยังต้องแบกต้นทุนด้านพลังงาน และการแข่งขันรับงานที่แทบจะเรียกได้ว่า ช่วงชิง

rider

“Food Delivery หรือแม้แต่ Rider คืออาชีพใหม่มากๆ ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เริ่มจากประมาณ 7 ปีก่อน ถึงตอนนี้ก็ยังคงใหม่อยู่ หลายคนรู้จักอาชีพนี้ก็ตอนช่วงโควิดที่ต้องใช้บริการ Rider ในการซื้ออาหาร จัดส่งยา ซื้อของใช้จากร้านค้าเข้าบ้าน หรือร้านอาหารเองหลายร้านก็เพิ่งมาร่วมบนแพลตฟอร์มส่งอาหารตอนช่วงโควิดที่ต้องปิดหน้าร้าน ขายอาหารในร้านไม่ได้ และที่ว่า Rider ยังเป็นอาชีพใหม่ เพราะในส่วนของระบบแพลตฟอร์มก็ยังมีการปรับระบบอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาครัฐเองก็อาจยังไม่ได้ตั้งตัวว่าจะมีคนสมัครมาเป็น Rider เยอะมากขึ้น หมายถึงเขาต้องเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิภาพของเหล่า Rider ด้วย เพราะสถานะของRider ไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่พนักงานประจำ บางแพลตฟอร์มบอกว่าเราเป็น พาร์ทเนอร์ แต่ด้วยพาร์ทเนอร์ที่มีจำนวนเยอะขึ้น ดังนั้นมันจึงต้องมีระบบที่เข้ามาดูแลอาชีพนี้อย่างจริงจัง”

เมื่อหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลRider ยังไม่เกิดขึ้น ชาวRider เองจึงมีการรวมกลุ่มก่อตั้ง สมาคมไรเดอร์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบอาชีพ Rider ซึ่งปัจจุบันมีผู้ขับขี่ทั่วประเทศหลากหลายแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นสมาชิกราวหนึ่งแสนคน

“การก่อตั้งสมาคมฯ ก็เพื่ออยากให้ทางแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่างๆ และส่วนของภาครัฐเองได้ยินเสียงของไรเดอร์มากขึ้น อยากให้คนได้รู้จักอาชีพนี้มากขึ้นและได้เห็นปัญหาจากการทำงานจริง เช่น ปัญหาเรื่องโปรแกรมโกง การประกันอุบัติเหตุ สวัสดิการ การคิดราคาค่ารอบที่เป็นธรรม การชดเชยรายได้ยามติดโควิดหรือเจ็บป่วย การช่วยเหลือในภาวะที่น้ำมันแพง ในมุมมองของผมสิ่งที่จะทำให้อาชีพ Rider ยั่งยืนมาจาก 3 อย่าง คือ ค่ารอบ สวัสดิการ และ ความยุติธรรม เช่น ขณะทำงานแล้วเกิดอุบัติเหตุใครจะช่วยเหลือเราหรือชดเชยรายได้ให้ครอบครัวเรา อย่างตัวผมเองทำเงินให้แพลตฟอร์มเฉลี่ยปีหนึ่งเป็นแสน แต่ถ้าผมทำงานแล้วเกิดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผมได้แค่ 5,000 บาทหรือพวงหรีดหนึ่งพวง ทั้งๆ ที่ทำมา 7 ปี นี่คือสวัสดิการที่ผมควรได้รับหรือ พวกผมก็แค่อยากให้มีสักหน่วยงานที่มาดูแลพวกเรา Rider จริงๆ ซึ่งตอนนี้ทาง Rider บางส่วนก็พยายามผลักดันให้มี พ.ร.บ. เกี่ยวกับFood Delivery ออกมา มันเป็นอะไรที่ใหม่มากและเกี่ยวเนื่องกับหลายหน่วยงานทั้งคมนาคม กระทรวงแรงงาน แต่เราก็อยากผลักดันให้มีสิ่งที่เข้ามารองรับดูแลอาชีพนี้จริงๆ เพราะก็ต้องยอมรับว่าอาชีพนี้ได้เข้ามาเป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่งแล้ว อย่างผมเองก็สร้างตัวเลี้ยงครอบครัวมาได้เพราะอาชีพ Rider”

Food Delivery

ค่ารอบตัวแปรสำคัญในอาชีพ Rider

ในส่วนของค่ารอบที่เป็นรายได้ของ Rider นั้น พงศ์กรณ์ขยายความต่อว่าค่อนข้างสวนทางกับค่าครองชีพและค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ นั้นก็จะมีการจ่ายค่ารอบที่แตกต่างกันออกไปตามปริมาณความต้องการของลูกค้าที่ใช้งานในแต่ละพื้นที่ โดยพงศ์กรณ์ระบุว่าค่ารอบต่างจังหวัดเฉลี่ยตกอยู่ที่ 19-27 บาท ส่วนค่ารอบในกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 53-54 บาท ยังไม่หักต้นทุนด้านน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต การดูแลรถ และหักความเสื่อมสภาพของรถซึ่ง Rider ที่ จะต้องลงทุนกับการดูแลรถเพื่อความปลอดภัยของตัวเองขณะขับขี่ด้วย

“อย่างผมจะวิ่งประมาณ 200-300 งานต่อเดือน แต่คนที่เขาหาเงินเก่งจริงๆ เดือนหนึ่งสามารถวิ่งถึง 400-600 งานต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 20 กว่างานซึ่งเป็นปริมาณการรับงานที่สูงมาก ถ้าตีเป็นกิโลเมตร Rider คนหนึ่งต้องวิ่งรถประมาณ 300-400 กิโลเมตรต่อวัน เฉลี่ยประมาณ 15 เดือนคุณต้องเปลี่ยนรถใหม่คันหนึ่งแล้ว นั่นคือต้นทุนที่ต้องแบกรับ ไม่รวมความแรงของโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้งานอยู่ตลอด เหล่านี้เป็นต้นทุนที่ Rider ทุกคนต้องแบกรับเช่นกัน ดังนั้นอยากจะส่งสารไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มทุกคนว่า อย่าลดค่ารอบพวกเราเลย พวกเราก็แบกต้นทุนเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน”

Food Delivery

เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น การปรับระบบยิงงานเพื่อความยุติธรรมจึงตามมา

อีกปัญหาที่พงศ์กรณ์อยากส่งเสียงดังๆ ไปถึงแพลตฟอร์มว่าควรจะต้องจัดการอย่างเร่งด่วนคือ ขบวนการใช้โปรแกรมโกง ที่ทำให้การกระจายงานผ่านระบบไม่เป็นไปตามระบบที่ควรจะเป็น และโปรแกรมเหล่านี้ก็มีการพัฒนาปรับรูปแบบแก้ไขโค้ดอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการจับได้ก็มีการสร้างโปรแกรมใหม่เข้ามาโกงอย่างต่อเนื่องทำให้ Rider ที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมโกงไม่สามารถกดรับงานได้ทัน และนั่นก็ทำให้หลายแพลตฟอร์มเริ่มปรับจากระบบกระจายงานแบบที่ Rider สามารถเลือกกดรับงานได้มาเป็นระบบยิงงานแบบอัตโนมัติแทนที่จะคอยวิ่งตามจับแบบแมวจับหนูที่ผู้พัฒนาโปรแกรมโกงสามารถปรับโปรแกรมไปได้เรื่อยๆ ซึ่งระบบการเลือกกดรับงานแบบเดิมมีข้อดีตรงที่ Rider สามารถวางแผนงาน เลือกทำเล เลือกร้าน เลือกการรับงานระยะทางใกล้ไกลได้ตามที่ตัวเองต้องการ ทว่าข้อเสียของระบบนี้คือทำให้เกิดการแย่งงานและมีช่องโหว่ในเรื่องโปรแกรมโกงที่เข้าถึงระบบได้ ส่วนการยิงงานแบบอัตโนมัติแน่นอนว่า Rider จะไม่สามารถเลือกระยะทางใกล้ไกล หรือร้านที่จะรับงานได้ ทว่าในอีกทางก็ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายงานกับ Rider ตามระบบที่ควรจะเป็น

Food Delivery

“สุดท้ายผมอยากให้แพลตฟอร์มมองเราเป็นพาร์ทเนอร์จริงๆ อย่างที่ครั้งแรกพวกคุณบอกกับเราและชวนเรามาทำงานตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีใครรู้จัก Food Delivery ซึ่งถ้าคุณมองเราเป็นพาร์ทเนอร์คุณจะอยากให้ค่ารอบที่เป็นธรรม มารับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดหน้างาน เช่น ทำไมเราถึงอยากให้ดูยอดเงินที่เราทำได้มากกว่ารอบงานเพื่อให้เราได้เซฟตัวเอง ไม่ต้องวิ่งงานกันไฟแลบวันละ 40 งานเพื่อทำยอดงานให้ถึงเป้าอย่างที่หลายคนทำ อย่าลืมว่าคนที่ยอดงานน้อยแต่ทำเงินเยอะก็มีซึ่งพวกเขาก็ควรที่จะได้รับการดูแล ในส่วนสวัสดิการตอนนี้หลายแอปฯ ก็เริ่มให้สวัสดิการที่มากขึ้นแม้เราไม่ได้เป็นพนักงานประจำ เช่น ประกันอุบัติเหตุ คูปองน้ำมัน ผ่อนโทรศัพท์ คูปองกินข้าว ซึ่งอย่างที่ผมบอก Rider ไม่ต้องการอะไรมาก แค่อย่าลดค่ารอบ ให้สวัสดิการ แล้วก็ความยุติธรรมซึ่งถ้าคุณย้อนกลับไปมองว่าเราเป็นพาร์ทเนอร์กันเหมือนตอนแรกที่คุณชวนเรามาร่วมงาน มันก็อาจจะทำให้การออกนโยบายพวกนี้โดยมีความเป็นพาร์ทเนอร์กันมากขึ้น…ผมว่าอันนี้สำคัญ”

และนี่ก็คือเสียงจากตัวแทนของ Rider ที่อยากสะท้อนไปถึงผู้ประกอบการทุกแพลตฟอร์มให้เห็นถึงความสำคัญของการเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน เพราะแน่นอนว่าต่อไปนี้อาชีพ Rider จะไม่ใช่อาชีพใหม่ แต่ Rider คือฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมFood Delivery ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ถ้า Rider เติบโตอย่างมั่นคงก็แน่นอนว่าอุตสาหกรรม Food Delivery ในเมืองไทยก็ย่อมเดิมหน้าอย่างมั่นคงเช่นกัน เหมือนอย่างที่ พงศ์กรณ์ ได้กล่าวย้ำกับเราก่อนจากกันว่า

“ที่เรา Rider ช่วยกันก่อตั้งสมาคมฯ ขึ้นไม่ใช่แค่เพื่ออยากให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งร้านค้า แพลตฟอร์ม คนใช้บริการได้ยินเสียงของเรา แต่เราอยากให้ให้ทั้ง Rider เองและสังคมได้เห็นว่า Rider คืออาชีพหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ สามารถทำให้เรามีกินมีใช้ เลี้ยงครอบครัว ส่งตัวเองเรียนจนจบได้ ซึ่งเมื่อทุกคนเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในอาชีพนี้ก็จะช่วยกันยกระดับอาชีพนี้ให้มั่นคงต่อไป”


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ