
หมอบรัดเลย์ และความสำเร็จของการปลูกฝี ไข้ทรพิษ ครั้งแรกในสยาม
- ทรพิษ หรือ ฝีดาษ (smallpox) เป็นโรคติดต่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ และปรากฏบันทึกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
- การปลูกฝีกันไข้ทรพิษในสยาม เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับยุคที่หมอบรัดเลย์ และเหล่ามิชชันนารี เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมความรู้ด้านการแพทย์แบบตะวันตก
- ประเทศจีนเคยนำเอาสะเก็ดของผู้ป่วยไข้ทรพิษมาบดเป็นผงแล้วฉีดพ่นเข้าจมูก แต่ก็เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าป้องกัน จนกระทั่งมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Vaccination ค้นพบโดย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษ วิธีแบบเดิมจึงยกเลิกไป
ก่อนที่ชาวไทยจะรู้จักวัคซีน ในอดีตชาวสยามเริ่มรู้จักการปลูกฝีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับยุคที่ ไข้ทรพิษ ระบาดอย่างหนัก และความหวังในตอนนั้นก็คือเทคโนโลยีการแพทย์แผนตะวันตกที่เข้าสู่สยามพร้อมการเดินทางเข้ามาของ หมอบรัดเลย์ และเหล่ามิชชันนารี

สำหรับโรค ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ (smallpox) เป็นโรคติดต่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ ทางภาคใต้เรียก “ไข้น้ำ” ส่วนในภาคเหนือเรียก “ตุ่มสุก” หรือ “เป็นตุ่ม” ตามลักษณะอาการที่จะมีตุ่มเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นดาษตามตัวเต็มไปหมด โรคนี้มีบันทึกในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ล้วนประชวรด้วยไข้ทรพิษและเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์ ส่วนหมอบรัดเลย์เองเมื่อครั้งที่ย้ายมาอยู่สยามใหม่ ๆ ก็ต้องสูญเสียบุตรสาววัย 8 เดือน ด้วยไข้ทรพิษเช่นกัน

ภาพ : Science Museum
โครงการปลูกฝีกันไข้ทรพิษในสยามเกิดจากคำถามของ เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งถามหมอบรัดเลย์เมื่อแรกพบกันว่า หมอบรัดเลย์สามารถรักษาไข้ทรพิษได้ไหม เพราะในตอนนั้นเป็นที่รู้กันว่าหมอบรัดเลย์และเหล่ามิชชันนารีอเมริกัน ต่างนำความรู้และการรักษาโรคตามศาสตร์การแพทย์ตะวันตกเข้ามาในสยาม ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้ทรพิษชุกชุม และหลังจากคำถามนั้นก็ทำให้หมอบรัดเลย์ศึกษาวิธีการรักษาไข้ทรพิษอย่างจริงจังจนเป็นที่มาของการปลูกฝี สร้างภูมิคุ้มกันไข้ทรพิษ ซึ่งไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน
ตามหลักฐานในบันทึกของหมอบรัดเลย์ระบุว่า วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2379 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี เป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการทดลองปลูกฝีกันไข้ทรพิษขึ้นในสยาม โดยหมอบรัดเลย์ใช้วิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในแขนของเด็ก ๆ ประมาณ 15 คน โดยเจ้าพระยาพระคลัง บอกว่าถ้าหมอบรัดเลย์ปลูกฝีกันไข้ทรพิษได้สำเร็จ หรือเรียกว่า ปลูกฝีขึ้น และป้องกันการเกิดโรคฝีดาษได้จริง ก็จะอนุญาตให้หมอเรียกเก็บค่าตอบแทน หรือ เรียกค่าขวัญข้าวจากคนที่ปลูกฝีขึ้นแล้ว คนละ 1 บาท

(ภาพ : Institute of the History of Medicine )
การปลูกฝีในระยะแรกใช้สะเก็ดจากคนเป็นฝีดาษมาปลูกในคนปกติ ส่วนที่ประเทศจีนนำเอาสะเก็ดของผู้ป่วยไข้ทรพิษมาบดเป็นผงแล้วฉีดพ่นเข้าจมูก แต่ก็เป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าป้องกัน จนกระทั่งมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Vaccination ค้นพบโดย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษ ที่พบว่าหญิงรีดนมวัวซึ่งเป็นวัวที่ติดเชื้อฝีดาษกลับไม่ติดโรคฝีดาษจากวัว จึงสกัดหนองฝีจากวัวมาปลูกฝีกันไข้ทรพิษในคน และเมื่อวิธีการของนายแพทย์เจนเนอร์ได้รับการรับรองแล้ว วิธีการปลูกฝีแบบเดิมที่ใช้สะเก็ดหรือหนองของผู้ป่วยไข้ทรพิษมาปลูกฝีก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามรวมทั้งในประเทศไทย

(ภาพ : WELLCOME TRUST )
มีหลักฐานจากบันทึกหมอบรัดเลย์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2381 เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ขณะที่ไข้ทรพิษชุกชุมอย่างมากในสยาม เหล่ามิชชันนารีก็ได้หาวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในตัววัวเพื่อรีดเอาหนองเชื้อนั้นมาปลูกฝีกันไข้ทรพิษ แต่กว่าจะสำเร็จก็ต้องใช้เวลาทดลองถึง 5 ปี และเมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบถึงความสำเร็จของการปลูกฝีป้องกันโรค จึงโปรดให้แพทย์ประจำราชสำนัก หรือ หมอหลวงทุกคนมาฝึกการปลูกฝี และออกไปปฏิบัติการทั้งในและนอกวัง เริ่มตั้งแต่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2380 โดยหมอหลวงที่ผ่านการฝึกหัดและปฏิบัติการปลูกผี ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระเจ้าแผ่นดินคนละ 200-400 บาท
ในช่วงแรกของการปลูกฝีนั้นใช้หนองฝีที่มาจากเมืองไทย มีบันทึกว่า 30 มกราคม พ.ศ. 2383 หมอบรัดเลย์ใช้หนองฝีที่ส่งมาจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา มาปลูกฝีในสยามเป็นครั้งแรก และก็มีการบันทึกด้วยว่าเคยมีเหตุการณ์ที่พันธุ์หนองฝีจากสหรัฐอเมริกาหมดจนทำให้ต้องหยุดปลูกฝีกันไข้ทรพิษไปนานถึง 4 ปี
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์ได้เขียน “ตำราปลูกฝีโค” ถวายรัชกาลที่ 3 และตีพิมพ์เผยแพร่ใน หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ (หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสยาม) ต่อมาในปี พ.ศ.2387 ตำราปลูกฝี โดย หมอบรัดเลย์ ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มครั้งแรก จำนวน 500 เล่ม และพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 อีก 1,000 เล่ม ในปีเดียวกันโดยมี โรงพิมพ์อเมริกันบอร์ด เป็นผู้จัดพิมพ์ และจากความสำเร็จของการปลูกฝีไข้ทรพิษทำให้หมอบรัดเลย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่ม “วิชาเวชศาสตร์ป้องกัน” ในประเทศไทย (อ้างอิงจาก หนังสือ 50 ปี โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เขียนโดย นายแพทย์คทาวุธโลกาพัฒนา)
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี กรกฎาคม 2547
- www.sciencemuseum.org.uk/objects-and-stories/medicine/smallpox-and-story-vaccination
