นนทวัฒน์ กับเบื้องหลัง DOI BOY หนังสุดชายขอบความฝัน ของคนที่ถูกทำให้หาย
- นทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับสารคดีไทยที่มีผลงานสารคดีอย่างต่อเนื่อง อย่าง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) สายน้ำติดเชื้อ (By the River) และ ดินไร้แดน (Soil Without Land)
- ดอยบอย (DOI BOY) ภาพยนตร์ที่ส่งตรงจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน สตรีมแล้วใน Netflix
แค่เห็นชื่อผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องใหม่ส่งท้ายปลายปี 2566 อย่าง ดอยบอย DOI BOY จุดกระแสที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมานนทวัฒน์เป็นที่รู้จักในแวดวงนักทำสารคดีที่แน่วแน่ด้วยประเด็นจาก “ชายขอบ” ทั้งชายขอบในแง่ของภูมิประเทศ และชายขอบในแง่คนนอกของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง, สายน้ำติดเชื้อ, ดินไร้แดน และสำหรับ ดอยบอย นี่คือผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา ซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างมากในรอบ World Premiere ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (BUSAN International Film Festival) ประเทศเกาหลีใต้ และสามารถทำสถิติขายบัตรชมภาพยนตร์หมดภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที
จากดินไร้แดนสู่ ดอยบอย ( DOI BOY )
“โปรเจ็กต์ดอยบอยต่อยอดมาจากตอนทำสารคดีเรื่อง ดินไร้แดน ซึ่งทำให้ได้ลงไปรีเสิร์ชข้อมูลและทำงานในพื้นที่เชียงใหม่ ได้เข้าไปคลุกคลีกับคนไทใหญ่ ต้องบอกว่าก่อนที่จะทำงานสารคดี ผมเองซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวไทใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่มาก่อน แล้วก็ต้องประหลาดใจว่าในประเทศไทยมีชาวไทใหญ่อาศัยและทำงานอยู่เป็นล้าน ผมก็เลยเกิดคำถาม แล้วก็เริ่มหาคำตอบผ่านการทำงานสารคดี จนได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กๆ ไทใหญ่ ได้ถามถึงเรื่องความฝันว่าแต่ละคนมีความฝันสูงสุดอยากเป็นอะไร แล้วมันก็เกิดเดดแอร์ พร้อมคำถามกลับมาว่า ‘มนุษย์เราสามารถฝันได้ด้วยหรอ’ ก่อนหน้านี้เด็กๆ เขาอยู่ในที่พื้นที่รัฐฉาน พอเขาโตขึ้นมาสภาพการเมืองก็ทำให้เขามีความจำเป็นต้องเป็นทหาร สิ่งเดียวที่เขาจะฝันได้คือการได้ย้ายมาอยู่เมืองไทย ได้มาทำงานที่เชียงใหม่เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น”
นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับที่ใช้เวลาในการพัฒนาบทภาพยนตร์ดอยบอย DOI BOY กว่า 5 ปี เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานที่เริ่มแตกประเด็นมาจากตอนลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลสารคดี ดินไร้แดน ส่วนดอยบอยนั้นเจาะประเด็นไปถึงเรื่องความฝันของคนจากชายขอบเขตแดนไทย แล้วค่อยๆ ใส่สถานการณ์ของยุคสมัยลงไป เช่น อำนาจเทาๆ ของวงการตำรวจ คนไร้สัญชาติ การลักลอบเข้าเมือง ไปจนถึงการอุ้มหายโดยอำนาจรัฐ และการทำตัวเองให้หายไปเพื่อเลี่ยงอำนาจมืด
เมื่อฝันเกิดผิดที่ผิดทาง
“ในประเด็นความฝัน พอเราลงศึกษาข้อมูลก็พบว่า อาชีพที่เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่นิยมทำมากๆ ในไทยก็คือการทำงานที่บาร์เกย์ ร้านนวดเกย์ แต่ลึกไปกว่านั้นก็คือเกือบทั้งหมดเป็น Straight มีแฟนเป็นผู้หญิง มีลูก มีครอบครัว เขาบอกว่าตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ แต่ทำไปก็เกิดความเคยชินและเป็นงานที่ทำให้เขามีรายได้เหมือนคนทั่วๆ ไป เขาคิดว่าก็เหมือนคนไทยที่บางคนก็ต้องทำงานที่เขาไม่ชอบ พวกเขาก็เหมือนกัน”
นนทวัฒน์ ย้อนเล่าถึงการวางตัวละครหลักของเรื่อง ศร (รับบทโดย อัด-อวัช รัตนปิณฑะ) เด็กหนุ่มวัย 21 ปีที่เลือกลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย และได้เข้ามาทำงานค้าประเวณีในบาร์เกย์จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะถูกผลักเข้าไปอยู่ในวงปัญหาการเมืองไทยโดยมีตำรวจ อำนาจมืด และนักกิจกรรมที่มักจะมีข่าวการหายตัวไป
“ประเด็นหลักที่อยากเล่าใน ดอยบอย คือ ความฝันที่ไม่ปลอดภัย ทุกคนมีความฝัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าความฝันนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศที่เราอยู่ด้วยว่าจะสามารถทำให้เราไปถึงฝันได้มากน้อยแค่ไหน พระเอกของเราเขาจึงเริ่มจากการมีฝันที่ไม่อยากเป็นทหารอยู่ท่ามกลางการสู้รบ ความฝันที่อยากข้ามเส้นเขตแดนมาทำงานในเมืองไทย แต่ฝันมันก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าการอยู่ที่เดิมสักเท่าไหร่”
ในภาพยนตร์ ความฝันยิ่งใหญ่ของศรคือการได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างสมศักดิ์ศรีที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมีและควรจะได้รับ ต่อด้วยความฝันรองลงมาที่ดูไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ค่อนข้างจี้ใจหลายๆ คน เพราะปลายทางการทำงานในบาร์เกย์แลกเงินของศรคือการได้พาสปอร์ตอย่างถูกกฎหมายเพื่อที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวทะเลภาคใต้ ซึ่งเขาบังเอิญเห็นในโปสเตอร์โฆษณาท่องเที่ยวสีซีดๆ ข้างฝาบริษัทรับทำพาสปอร์ต (สำหรับคนไร้สัญชาติ) แห่งหนึ่ง แน่นอนว่าสำหรับหลายคน ความฝันนี้มันช่างเล็กน้อย แต่สำหรับศร หรืออีกหลายคนบนโลกใบนี้ที่ไม่ได้เกิดอยู่บนพื้นที่ที่จะสามารถทำให้พวกเขาฝันได้อย่างปลอดภัย การแค่ได้ออกจากพื้นที่ทีถูกคนอื่นขีดวงไว้เพื่อออกไปท่องเที่ยวจึงเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่มากที่อาจต้องแลกด้วยชีวิตของพวกเขา
นอกจากความฝันที่เกิดขึ้นผิดที่ผิดทางแล้ว การถูก “ทำให้หาย” และการ “ทำตัวเองให้หายไป” คืออีกประเด็นที่ถูกนำมาเชื่อมโยงอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งผู้กำกับได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการหาพื้นที่ในสังคมที่ใช่สำหรับตัวเรา ให้เรารู้สึกเป็นส่วนร่วมกับพื้นที่นั้นๆ เป็นอีกประเด็นที่ตัวละคร ศร ต้องเผชิญ และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างร่วมสมัย ศรอยากจะก้าวออกไปสู่พื้นที่ที่เขาคิดว่าเป็นพื้นที่ของเขามากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นการอยากจะหาพื้นที่เพื่อให้ตัวเองดีขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าพื้นที่ที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นอาจทำให้ตัวเราเองต้องสูญหาย ทั้งการทำให้หายไปโดยคนอื่น และการที่ตัวเราต้องทำให้ตัวเราหายไปตลอดกาล
“อวัช” กับการแสดงทำให้เชื่อว่า “ศร” มีตัวตนจริง
จากนักทำสารคดีสู่การกำกับภาพยนตร์ สิ่งที่แตกต่างอย่างหนึ่งคือวิธีการทำงาน สารคดีในมุมมองของนนทวัฒน์ คือการเฝ้ามอง ส่วนภาพยนตร์นั้นเดินเรื่องด้วยนักแสดง และความยากหนึ่งคือ “ศร” ที่ในเรื่องคือหนุ่มชาวไทใหญ่ที่ลักลอบข้ามแดน การคัดเลือกนักแสดงหลักที่ถ่ายทอดความเป็นไทใหญ่ออกมาได้ครบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และ อัด – อวัช รัตนปิณฑะ ก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่าเขาสามารถถ่ายทอดความฝันของศรออกมาได้ รวมทั้งความกลัว ความกล้า ความใสซื่อ ความไม่มั่นใจในชีวิต จนสามารถคว้ารางวัล Rising Star Award ในงานประกาศรางวัล Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 มาได้เป็นรางวัลแรกในชีวิต
“ประเด็นเรื่องนักแสดงที่มารับบทศร เป็นสิ่งที่เราคิดกันหลายรอบว่าจะใช้นักแสดงไทใหญ่จริงๆ หรือนักแสดงไทย เรามีการลองแคสต์นักแสดงไทใหญ่ด้วย สำหรับอัด เขาไม่ใช่คนที่เล่นเป็นศรได้ดีที่สุดตอนแคสต์ แต่เขาเป็นคนที่ให้ใจผมมากที่สุด เพราะตัวละครตัวนี้ต้องใช้เวลาและให้เวลา ทั้งเรียนภาษาไทใหญ่ เรียนเต้น เวิร์คช็อปการแสดง ซึ่งอัดเขารู้สึกว่าเขาอินกับตัวละคร และเขาไปคลุกคลีกับคนไทใหญ่ แล้วสุดท้ายเขาก็ได้รางวัลกลับมาจากบทบาทนี้”
คนทำสารคดีที่ไม่ได้อยากเปลี่ยนโลก
อย่างที่เกริ่นไปว่าชื่อ นนทวัฒน์ นำเบญจพล เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนที่ชื่นชอบแนวทางสารคดี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ นิทรรศการ โดยประเด็นที่นนทวัฒน์เลือกนำเสนอมักจะเป็นเกี่ยวกับ “คนนอก” ทั้งนอกกระแสสังคมเมือง ไปจนถึงคนชายขอบตามตะเข็บชายแดน ซึ่งนนทวัฒน์กล่าวว่าเขาเองเป็นคนกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่เริ่มต้นสนใจศึกษาประเด็นเหล่านี้จากการที่ไม่ได้สนใจเรื่องสังคมการเมืองสักเท่าไร จนวันที่มีม็อบการเมืองเกิดขึ้นและก็เริ่มรู้สึกว่าส่งผลกับชีวิตประจำวัน
“ทั้งรถติด คนด่ากันไปมา เหลืองแดง เพื่อนเริ่มพูดคุยประเด็นนี้กันมากขึ้น จนตัวเราเองก็เริ่มสนใจว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็เริ่มหาข้อมูล เหมือนการทำงานสารคดีหรือภาพยนตร์ของผมตอนนี้ที่เริ่มจากการตั้งคำถามแล้วก็หาข้อมูล รีเสิร์ชเพื่อที่จะหาคำตอบ และการหาคำตอบก็ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์มากขึ้น ที่ผ่านมาบังเอิญว่าสิ่งที่เราอยากรู้มันไม่สามารถหาคำตอบได้ตามสื่อปกติ มันเลยต้องลงพื้นที่ไปหาคำตอบเองผ่านสารคดี แต่สุดท้ายแล้วผมก็ไม่ได้ทำสารคดีเพื่อที่จะเปลี่ยนโลกหรอกนะ มันเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นและอยากไปหาคำตอบ เมื่อทำเป็นหนังหรือสารคดีหรือนิทรรศการก็อยากให้บทสนทนามันเกิดขึ้น นี่คือความหวังลึกๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นตลอดการทำงาน กับดอยบอยก็เช่นกัน”
Fact File
ดอยบอย DOI BOY ผลงานความร่วมมือระหว่าง Netflix และ เนรมิตรหนังฟิล์ม กำกับและเขียนบทโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล