ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ : นักออกแบบ ห้องสมุด มือรางวัลระดับโลก
- ผลงานการออกแบบ ห้องสมุด ที่ TCDC และห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบประเภทห้องสมุดประจำปี 2017 และ 2019 ตามลำดับจาก Interior Design Magazine ของสหรัฐอเมริกา
- โจทย์ของทั้ง 2 โครงการคล้ายคลึงกันในแง่ที่ต้องปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นห้องสมุดเพื่อการออกแบบและพื้นที่สร้างสรรค์เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
- ห้องสมุดยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเงียบและทึบ อีกทั้งพื้นที่ต้องยืดหยุ่นตอบสนองฟังก์ชันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่พบปะพูดคุย จัดสัมมนา แสดงนิทรรศการ หรือฉายภาพยนตร์
ห้องสมุด ยังจำเป็นอยู่หรือไม่
ในยุคดิจิทัลที่การหาและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ง่ายแค่เพียงปลายนิ้วคลิก คำถามคือเรายังต้องเดินทางไปใช้บริการสืบค้นข้อมูลที่ ห้องสมุด อยู่หรือไม่ นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทีมสถาปนิกของบริษัท Department of Architecture นำโดย ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ เมื่อต้องปรับปรุง ห้องสมุดเก่าของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อดึงดูดให้นิสิตมาใช้บริการมากขึ้น
ภายหลังการปรับปรุงและเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ไม่เพียงแต่จำนวนนิสิตที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ห้องสมุดยุคใหม่ของคณะสถาปัตย์ฯยังคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบประเภทห้องสมุดประจำปี 2019 จากนิตยสารชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Interior Design Magazine มาได้อีกด้วย
“การได้รางวัลทำให้คนต่างชาติเห็นว่าวงการออกแบบไทยก็ทัดเทียมกับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะทางด้านสถาปัตย์ฯ” ทวิตีย์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
นี่ไม่ใช่รางวัลแรกด้านการออกแบบ ห้องสมุด ระดับนานาชาติของทวิตีย์และทีมสถาปนิกของเธอ เพราะอีกหนึ่งผลงานของพวกเขาที่ออกแบบให้กับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ที่ย้ายที่ทำการจากเอ็มโพเรียมมายังอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบห้องสมุดประจำปี 2017 จาก Interior Design Magazine มาได้เช่นกัน รวมทั้งอีก 2 รางวัลจาก 2 นิตยสารออกแบบตกแต่งของฝั่งอังกฤษในปีเดียวกันคือ Best Interior Project จากนิตยสาร Blueprint และ Best Workspace Environment จากนิตยสาร FX
ชื่อของทวิตีย์และทีมสถาปนิกของ Department of Architecture จึงขึ้นแท่นเป็นนักออกแบบห้องสมุดที่มีชื่อเสียงระดับโลก อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของการตีโจทย์แตกในการปรับปรุงและออกแบบ ห้องสมุด สถานที่ที่หลายคนคิดว่าน่าเบื่อและอาจจำไม่ได้แล้วว่าเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไร
นิยามใหม่ของห้องสมุดให้เข้ากับยุคสมัย
“เราต้องหาคำนิยามใหม่ว่าห้องสมุดคืออะไรในยุคที่ข้อมูลดิจิทัลมีมากมายและไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป ห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่เก็บหนังสือและคนเข้ามาอ่าน แต่ห้องสมุดโดยเฉพาะห้องสมุดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบต้องเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่ที่คนมาเจอกัน พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด เหมือน Co-working Space ไม่ใช่ที่ที่เงียบอย่างเดียว แต่ต้องมีฟังก์ชันหลากหลาย” ทวิตีย์อธิบายถึงการตีโจทย์การออกแบบของเธอ
ตึกห้องสมุด 4 ชั้น อายุ 30 ปีของคณะสถาปัตย์ฯ ที่มีพื้นที่ใช้งานทั้งหมด 1,290 ตารางเมตร จึงได้รับการแปลงโฉมและการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันให้เหมาะสมกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ลบภาพจำว่าห้องสมุดต้องเงียบและทึม ตัวอาคารเปลือยให้เห็นโครงสร้างเหล็กและปูนเสริมลุคดิบและเท่ พื้นที่แต่ละชั้นหุ้มด้วยโครงเหล็กโปร่งที่ไขว้กันเป็นตารางซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นที่โชว์ผลงานหรือวางหนังสือ นอกจากนี้ยังเจาะพื้นเพื่อใส่บันไดตรงกลางเพื่อเชื่อมการ flow ของแต่ละชั้นนอกเหนือจากบันไดด้านข้างอาคารโดยใช้โครงสร้างเหล็กโปร่งเป็นจุดนำสายตา
พื้นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะจัดแสดงนิทรรศการขนาดย่อม พรีเซนต์งาน สัมมนา หรือฉายภาพยนตร์เฟอร์นิเจอร์มีหลายแบบให้เลือกตั้งแต่โต๊ะขนาดใหญ่เอาใจเด็กสถาปัตย์ฯ ที่ต้องเขียนแบบหรือสร้างโมเดล เก้าอี้ที่วางซ้อนทับกันได้และโต๊ะติดล้อเลื่อนเพื่อสะดวกเวลาเคลื่อนย้าย เบาะรองนั่งกับโต๊ะเตี้ยแบบญี่ปุ่น โซฟานุ่มพร้อมหมอนอิง ที่นั่งแบบขั้นบันไดเหมาะกับเวลาฉายภาพยนตร์หรือจัดบรรยาย บีนแบ็กเมื่ออยากจะเอกเขนกอ่านหนังสือหรืองีบสะสมพลัง ส่วนคนที่ต้องการสมาธิอ่านหนังสือก็มี Quiet Zone หรือโซนเงียบที่แยกออกไปอีกปีกหนึ่งของอาคารในบรรยากาศแบบส่วนตัวมากๆ
การรีโนเวต ห้องสมุด ครั้งใหญ่นี้ได้งบสนับสนุนจำนวน 90 ล้านบาทจากเสริมสิน สมะลาภาซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะ ใช้เวลา 7 เดือนในการออกแบบและปรับปรุงอาคารอีกปีกว่า รวมแล้วเกือบ 2 ปีจึงเปิดให้บริการอีกครั้ง
ห้องสมุดที่ตอบโจทย์ความต้องการของนิวเจนเนอเรชัน
หนังสือทั้งหมดย้ายขึ้นไปบริเวณชั้น 3 และ 4 ส่วนทางเข้าบริเวณชั้น 2 เปิดเป็น Co-working Space และให้คนเดินตัดผ่านได้เพื่อเป็นทางเชื่อมระหว่างตึกหน้ากับตึกหลังเนื่องจากอาคารห้องสมุดอยู่ตรงกลาง โครงเหล็กรูปตารางที่ติดตั้งล้อมพื้นที่สามารถเสียบแผ่นกระดานเข้าไปได้เพื่อวางโมเดลโชว์ผลงานสำหรับจัดนิทรรศการขนาดย่อม มีบอร์ดแม่เหล็กขนาดใหญ่ และจอดิจิทัลสำหรับพรีเซนต์งาน โต๊ะขนาดใหญ่สำหรับเขียนแบบ ชั้นนี้ไม่เงียบเพราะเพลย์ลิสต์ที่เปิดมีจังหวะตื๊ดๆ พอไม่ให้ง่วง
“ก่อนออกแบบเราคุยกับทั้งนิสิตและอาจารย์เพื่อทราบว่าคนเจนเนอเรชันนี้เขาต้องการอะไรบ้าง นิสิตอยากได้ที่คุยกันได้ ปรึกษากันเรื่องโปรเจกต์ อยากได้โต๊ะขนาดใหญ่เวลาคิดแบบ อยากมีที่ดูหนังอาร์ต มีเพลงฟัง แต่ในขณะเดียวกันเวลาสอบก็อยากมีที่อ่านหนังสือเงียบๆ มีที่เอกเขนกได้ ที่นอนพองีบได้สัก 2-3 ชั่วโมง ห้องสมุดจึงต้องปรับให้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายให้เลือกไม่ว่าจะอยู่ใน Setting ไหน” ทวิตีย์เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ฯ เช่นกันจึงเข้าใจความต้องการของเด็กอาร์ตเป็นอย่างดี
ชั้น 3 มีที่นั่งอ่านหนังสือเป็นโต๊ะสีดำขนาดยาว ผนังด้านหนึ่งเจาะหน้าต่างกว้างใส่กระจกใสให้นั่งมองเห็นต้นไม้เพลินๆ ส่วนชั้นหนังสือสีดำออกแบบให้หันเอียงเล็กน้อยเพื่อติดป้ายหมวดหมู่หนังสือด้านข้างพร้อมแถบไฟขับเน้นให้หนังสือเด่นขึ้น มีพื้นที่ให้หันโชว์หน้าปกหนังสือแทนที่จะเห็นแค่สันปก การจัดวางไม่ต่างจากการเชิญชวนเข้ามาร้านหนังสือเท่ๆเพราะมีแผงหนังสือ New Arrival ทำเป็นบล็อกไม้พับขึ้นลงได้เพื่อใช้เป็นที่วางหนังสือได้หลายขนาด โครงเหล็กที่เชื่อมต่อกับบันไดชั้น 2 ทำเป็นช่องสามารถวางโชว์นิตยสารได้อีก นอกจากจะไม่มีป้าย “ห้ามส่งเสียงดัง” แล้ว เพลงจังหวะมันๆ ก็มีเปิดคลอให้บรรยากาศไม่เงียบเหงา
แสงไฟในห้องสมุดออกแบบโดยบริษัท APLD จำกัด โดยทวิตีย์กล่าวว่า โดยรวมเป็นแสงแบบอุ่นเหมาะกับการอ่านหนังสือ แต่ตรงบริเวณโครงเหล็กกลางที่เชื่อมต่อแต่ละชั้นเป็นสีอมฟ้านิดๆ เพื่อให้เกิดมิติของแสงแบบอุ่นและเย็น
ห้องสมุดของเด็กอาร์ตต้องไม่ธรรมดา
ส่วนชั้น 4 มี Auditorium ทำเป็นที่นั่งขั้นบันไดทำด้วยซีเมนต์บอร์ดหรือจะเสริมด้วยเบาะรองนั่งและโต๊ะเตี้ยได้แล้วแต่การใช้งาน ใช้เป็นที่เลคเชอร์หรือฉายภาพยนตร์ก็เหมาะ บนเพดานทำเป็นแผนที่กรุงเทพฯ ที่ไฮไลต์ 9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาจราจร น้ำท่วม และน้ำเสีย มุมโปรดของนิสิตคือบริเวณชั้นลอยใต้หลังคาที่มีโต๊ะเตี้ยแบบญี่ปุ่นและมีบีนแบ็กให้เอนนอน
“คุณเสริมสิน (สมะลาภา) อยากให้ออกแบบเพื่อระลึกถึงและเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะตรงชั้นนี้ถือเป็นยอดสูงสุดของคณะสถาปัตย์ฯ ภาพจำของทุกคนคือพระองค์ท่านจะมีแผนที่ติดตัวตลอดเวลาเสด็จไปยังที่ต่างๆ เราจึงนึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กรุงเทพฯ จึงทำงานร่วมกับอาจารย์ภาควิชาผังเมืองที่ตั้งทีมทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ หากเราลากตำแหน่งของโครงการทั้ง 9 โครงการจะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกัน พระองค์ท่านมองการแก้ปัญหาเป็นภาพใหญ่และสร้างแรงบันดาลใจทั้งทางด้านการออกแบบสถาปัตย์ฯ และการวางผังเมือง”
โซนเงียบ หรือ Quiet Zone อยู่ชั้น 4 เช่นกัน แต่แยกออกไปอีกปีกหนึ่งซึ่งเป็นด้านหน้าของตึกคณะ โซนนี้ทาสีเขียวเข้มซึ่งเป็นสีเดียวกับประตูตึกของคณะเพื่อเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของอาคาร พื้นที่ตรงนี้ถูกใจผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวแน่นอนเพราะที่นั่งอ่านหนังสือ 20 ที่นั่งจัดวางเป็นบล็อกๆ และเรียงคล้ายเขาวงกต แต่ละบล็อกกั้นด้วยกระจกขุ่นเรืองแสงค่อยๆ ไล่ระดับความสูงตามความเป็นส่วนตัวที่แต่ละคนต้องการ ทางเดินหลักและตำแหน่งการเดินเข้าออกของแต่ละที่นั่งออกแบบมาไม่ให้รบกวนกัน มุมด้านหน้าที่ติดกับทางเข้าทำเป็นที่ดิสเพลย์หนังสือ และทั่วบริเวณรายรอบด้วยชั้นหนังสือ
“โจทย์ที่ยากคือเมื่อเป็นห้องสมุด สำหรับคณะสถาปัตย์ฯ ต้องมีดีไซน์ที่ดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้นิสิตได้ ต้องพิถีพิถันตั้งแต่ระดับ Conceptual การให้นิยาม จนถึงการลงรายละเอียดต่างๆ ความที่เป็นศิษย์เก่าทำให้เราเข้าใจพื้นที่และเข้าใจความต้องการของคนเรียนสายนี้มากขึ้น”
ปรับปรุงอาคารเก่าในบริบทสมัยใหม่
ผลงานการออกแบบคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และ TCDC คล้ายกันในประเด็นที่เป็นการออกแบบและปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ อีกทั้งพื้นที่ต้องมีความยืดหยุ่นสำหรับการจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้ การตกแต่งมีความทันสมัยแต่เผยโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารเก่าเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่
“ประสบการณ์ที่เราเคยทำให้ TCDC ช่วยให้เรามาประยุกต์ใช้กับการออกแบบห้องสมุดคณะสถาปัตย์ฯ เช่นวิธีการจัดเรียงหนังสือ การนับจำนวนหนังสือและคำนวณว่าสิ่งที่เราออกแบบจะใส่หนังสือได้กี่เล่ม และเมื่อเป็นอาคารเก่าทั้งคู่เราต้องคำนวณทางวิศวกรรมว่าจะรับแรงได้แค่ไหนเพราะห้องสมุดมีน้ำหนักมาก”
โครงการ TCDC เป็นงานสเกลใหญ่ขนาด 9,820 ตารางเมตรในอาคารรูปตัว T แต่พื้นที่ที่ TCDC เช่าจากไปรษณีย์อยู่ตรงบริเวณด้านซ้ายหัวตัว T และหางตัว T ทำให้พื้นที่แบ่งแยกย่อยไม่เชื่อมติดกัน โจทย์ที่ท้าทายคือการแก้ปัญหาให้เส้นทางการเดินง่าย
“ทาง TCDC กำหนดมาละเอียดว่าเขาต้องการอะไรบ้าง เช่น ห้องสมุด ออฟฟิศ แกลเลอรี Co-working Space, Maker Space และ Material Library และแต่ละที่มีกี่ที่นั่ง โจทย์ยากคือการสร้าง Circulation ของพื้นที่ในแนวตั้ง แต่ละชั้นเราจึงหุ้มด้วยกระจกและใส่บันไดเลื่อน อีกเรื่องคือเราต้องใส่ของใหม่เข้าไปในอาคารเก่า เราจึงเปิดให้เห็นตัวอาคารเดิม ผนังและเสาเก่า ขณะเดียวกันก็เพิ่มโครงเหล็กและวัสดุโปร่งแสงเป็นเลเยอร์ที่เจอกันระหว่างของเก่ากับใหม่ บริเวณชั้น 5 ส่วนบนของตึกเราสร้างอาคารครอบเพื่อให้ได้พื้นที่เพิ่ม” ทวิตีย์อธิบายถึงโครงการที่มีเวลาออกแบบเพียงแค่ 5 เดือนครึ่ง
ห้องสมุด ของดีไซน์เซ็นเตอร์และซิกเนเจอร์แบบนามธรรม
เมื่อเป็นดีไซน์เซ็นเตอร์ พื้นที่ต้องยืดหยุ่นให้เกิดนิทรรศการย่อยๆ ได้ทั่วบริเวณจึงหุ้มพื้นที่ด้วยโครงเหล็กโปร่งเป็นชั้นๆ และเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว ห้องสมุด มี 2 โซนคือ บริเวณชั้น 5 ที่คุยได้และมีคาเฟ่ และโซนเงียบที่ชั้น 4 โดยออกแบบให้ล้อมรอบด้วยชั้นหนังสือที่ทำเป็นโครงเหล็กโปร่งสีขาว โครงเหล็กที่ช่วยสร้างวอลลุมให้พื้นที่นี้ภายหลังต่อยอดมาใช้กับห้องสมุดคณะสถาปัตย์ฯ ชั้นหนังสือโครงเหล็กยังจัดเรียงเป็นแถวๆเสริมด้วยวัสดุโปร่งแสงและแต่ละแถวมีพื้นที่กว้างพอให้ผู้ใช้บริการเดินเข้าไปเลือกหาหนังสือได้
เมื่อถามว่าอะไรคือซิกเนเจอร์ในการออกแบบของเธอ ทวิตีย์กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “ตั้งใจไม่ให้มีซิกเนอเจอร์ เราอยากเป็นแก้วเปล่า เมื่อได้ทำโครงการใดๆ เราจะเรียนรู้ความต้องการและบริบทของผู้ใช้ ประวัติศาสตร์ของตัวอาคารสถานที่ เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจากตัวโครงการนั้นจริงๆ แทนที่จะใส่ความเป็นตัวเราเข้าไป แต่ถ้าเป็นซิกเนเจอร์ในทางนามธรรม เราว่าคือการคิดสิ่งใหม่ให้เหมาะกับโจทย์ของแต่ละโครงการ”
ส่วนคำถามสุดท้ายว่ามีห้องสมุดที่ไหนหรือแบบไหนบ้างที่เธออยากลองออกแบบ เธอตอบทันทีว่า “ห้องสมุดแห่งชาติเพราะเป็นสถานที่สำคัญของประเทศ หรือไม่ก็ห้องสมุดประชาชนสักที่หนึ่ง”
ถ้าเธอมีโอกาสได้ทำจริง แค่คิดตามก็สนุกแล้วว่าทวิตีย์จะต้องแปลงโฉมออกมาได้อย่างน่าทึ่งแน่
Fact File
- ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการสำหรับนิสิตและบุคลากรของคณะ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-18.00 น. วันเสาร์เวลา 10.00-16.00 น. พื้นที่ชั้น 2 วันธรรมดาเปิดให้บริการถึง 22.00 น. นิสิตและบุคลากรคณะอื่นใช้บริการได้ในวันพุธ ส่วนบุคคลทั่วไปใช้บริการได้ในวันเสาร์ รายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-218-4335
- TCDC เปิดให้บริการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.30-21.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://web.tcdc.or.th/th หรือโทร. 02-105-7400 ต่อ 213, 214
- ขอบคุณภาพ : ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TCDC : บริษัท W Workspace