เซดริก อาร์โนลด์ : ช่างภาพเบื้องหลังชัตเตอร์ สะกดร่าง/สักลาย กับลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย
Faces

เซดริก อาร์โนลด์ : ช่างภาพเบื้องหลังชัตเตอร์ สะกดร่าง/สักลาย กับลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย

Focus
  • เซดริก อาร์โนลด์ (Cedric Arnold) ศิลปินเชื้อสายอังกฤษ-ฝรั่งเศส ผู้ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตพำนักอยู่ประเทศไทยและผลิตผลงานศิลปะภาพถ่ายเกี่ยวกับการสัก
  • TRANCE/FIGURATION, Tattoos from Birth to Death (สะกดร่าง/สักลาย : ลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย) เป็นงานนิทรรศการล่าสุดของเขาเล่าเรื่องการสักที่เกี่ยวพันกับผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย

“ทำไมคนต้องสักยันต์ ทำไมคนต้องไปหาอาจารย์ และอาการของขึ้นในงานไหว้ครูมันบอกอะไร”

นี่คือคำถามจาก เซดริก อาร์โนลด์ (Cedric Arnold) ศิลปินเชื้อสายอังกฤษ-ฝรั่งเศส ผู้ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตพำนักอยู่ประเทศไทยและผลิตผลงานศิลปะภาพถ่ายเกี่ยวกับการสัก ลายสัก ซึ่งได้รับความสนใจจากแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกและกำลังจัดแสดงงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ในชื่อนิทรรศการ TRANCE/FIGURATION, Tattoos from Birth to Death (สะกดร่าง/สักลาย : ลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย) ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายเกี่ยวกับ ลายสัก หลากหลายรูปแบบของไทย ทั้งการสักแฟชั่น สักยันต์มนตรา การสักที่หมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากเด็กชายเป็นผู้ใหญ่ ไปจนถึงการสักยันต์เพื่อปกป้องคุ้มครอง และการสักที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดไปจนถึงตาย

สำหรับเซดริก เขาเริ่มต้นงานถ่ายภาพในอาชีพช่างภาพข่าวและช่างภาพแนวพอร์ตเทรตตั้งแต่ช่วงปีที่เกิดสึนามิในประเทศไทย (ธันวาคม พ.ศ.2547) จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่เขาลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากนิตยสาร Forbes เพื่อถ่ายภาพและเขียนสารคดีเกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าในธุรกิจนำเข้าและส่งออกที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ เขาเกิดสะดุดตากับชายไทยคนหนึ่งที่มี ลายสัก เต็มตัว เซดริกขอถ่ายภาพชายคนนั้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานศิลปะเกี่ยวกับ ลายสัก การสักยันต์ และกลายเป็นชุดงานศิลปะภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา

เซดริก
เซดริก อาร์โนลด์

เวลาผ่านไปนับสิบปีหลังจากการแสดงศิลปะภาพถ่ายชุดลายสักยันต์ครั้งแรกที่หอศิลป์จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2554 งานศิลปะภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการสักยันต์และลายสักของเซดริกที่บันทึกภาพการสักยันต์ในประเทศไทยยังคงเดินสายแสดงตามพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์และแกลเลอรีต่าง ๆ ทั่วโลก และล่าสุดกับนิทรรศการชุด Trance/Figuration, Tattoos from Birth to Death (สะกดร่าง/สักลาย : ลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย) จัดแสดงตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม พ.ศ. 2565 ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ โดยมี สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการจัดงาน และเป็นส่วนหนึ่งของงานกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมไทย-ฝรั่งเศสประจำปี ที่มีกิจกรรมหลากหลายและจัดต่อเนื่องตลอดปี พ.ศ. 2565 เพื่อส่งเสริมงานศิลปะและการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างศิลปินเชื้อสายฝรั่งเศสในประเทศไทยกับศิลปินไทย

Trance/Figuration, Tattoos from Birth to Death(สะกดร่าง/สักลาย : ลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย) ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการสักยันต์และการสักในลวดลายต่างๆ ผ่านภาพถ่ายและภาพยนตร์สั้นประกอบการออกแบบเสียง (Video and Sound Installations) เพื่อส่งประสบการณ์ “ร่วม” ของผู้ชมให้รู้สึกราวกับไปนั่งอยู่ใน “สำนัก” ของอาจารย์สักยันต์ด้วยตัวเอง

สำหรับเซดริกเสน่ห์ ความลี้ลับของการสักและลายสักนั้นลึกซึ้งกว่าความสวยงามของลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมการสักอันชวนตื่นตา บรรยากาศความลี้ลับของงานไหว้ครู กิจกรรมสักยันต์ในสำนักอาจารย์ และความพอปของลายยันต์ที่อยู่ในชีวิตคนไทยท่ามกลางบริบทสังคมที่ผสมผสานความเชื่อทั้งพุทธ ผี ฮินดู อีกทั้งการสักยันต์ยังเป็นเหมือนวิถีชีวิต ธรรมเนียมการปฏิบัติของผู้คนในชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งยังคงมีอยู่กลางป่าเขาเข้าถึงยาก และที่นั่นน้ำหมึกสำหรับสักยังคงมีค่ากับชายหนุ่มยิ่งกว่าสิ่งใด

Sarakadee Lite ชวนไปพูดคุยกับ เซดริก อาร์โนลด์ ฉบับเอกซ์คลูซีฟถึงเบื้องหลังความคิด และแนวทางการทำงานศิลปะอิงลายสักยันต์ที่ถือว่าเป็นผลงานศิลปะสร้างชื่อและประสบความสำเร็จมากที่สุดของเขา

เซดริก
นิทรรศการสะกดร่าง/สักลาย : ลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย

ลายสัก ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติอย่างคุณได้อย่างไร

เริ่มจากผมอยากรู้ว่าทำไมคนเขาถึงสักกันและทำไมคนที่สักยันต์ต้องไปหาอาจารย์สักยันต์ผมเห็นพิธีกรรมอย่างไหว้ครู (ชุมนุมศิษย์อาจารย์สักยันต์) และภาวะคนของขึ้นในงานพิธีกรรมนั้น มันน่าสนใจมาก โดยเฉพาะภาวะที่คนไม่รู้สึกตัวซึ่งแตกต่างจากภาวะปกติ ซึ่งตัวผมเองหลงใหลในเรื่องของประสาทวิทยาตั้งแต่เด็กจึงสนใจคนสักยันต์กับวัฒนธรรม รวมทั้งพิธีกรรมทั้งหมดทั้งมวลนี้ แต่เป็นความสนใจในแง่ของเหตุและผลมากกว่าจะเป็นเรื่องภาพอันชวนตื่นตาตื่นใจ ส่วนโปรเจกต์ศิลปะเกี่ยวกับการสักยันต์เริ่มต้นตอนที่ผมไปถ่ายงานที่ท่าเรือคลองเตยแล้วเจอผู้ชายที่สักยันต์เต็มตัวหัวจดเท้า ผมคิดในใจว่าคนนี้น่าสนใจมาก ผมตามไปเจอเขาที่นนทบุรี และขอเขามาเป็นแบบถ่ายภาพ ผมถ่ายภาพเขาบนฉากหลังสีขาวด้วยกล้องฟิล์ม เป็นฟิล์มฟอร์แมต 6 ´ 6 ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสชุดแรกที่ถ่ายไว้ 3 ภาพยังอยู่จนถึงทุกวันนี้

ผมเคยรู้เกี่ยวกับการสักยันต์มาบ้างและเคยไปร่วมงานไหว้ครูที่วัดบางพระ (จ. นครปฐม) มาแล้วด้วย ผมก็เลยค้นข้อมูลเพิ่มเติม หาวิธีนำเสนอเรื่องให้น่าสนใจและไม่ลบหลู่ใครด้วยและพอลงลึกเรื่องนี้ผมก็ได้รู้ว่ามันมีอะไรที่ผมไม่รู้เยอะมาก ผมสนใจพิธีกรรมไหว้ครูและอาการของขึ้นมากกว่าตัวลวดลายของลายสักยันต์ ตอนที่คนสักยันต์ของขึ้น แล้วกลายเป็นมีพลังอำนาจแสดงท่าทางน่าเกรงขาม แสดงท่าคล้าย ๆ คาแรกเตอร์สัตว์ที่เขาสักไว้บนผิวหนัง มันน่าสนใจมาก ภาพที่ถ่ายออกมาเป็นเซตภาพขาวดำเพราะส่วนใหญ่ลายสักยันต์จะเป็นโมโนโครมซึ่งก็คือขาว-ดำ ผมสนใจว่ามันคืออะไร ไม่ได้สนใจความอลังการของภาพที่เห็น และในแง่ภาพถ่ายโมโนโครมมันจะมีคอนทราสต์สูง ภาพถ่ายมันให้เอฟเฟกต์เหมือนจะกระโดดออกมาจากพื้นหลังเลย สำหรับผมแล้ว ตัวบุคคลน่าสนใจพอ ๆ กับลายสักและชัดเจนว่าลายสักมีความหมายต่อคนสัก และผมก็อยากจะเคารพในสิ่งนั้นและเข้าใจมันด้วย

เซดริก

เลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็นแบบเล่าเรื่องลายสักอย่างไร

ผมเลือกจากบุคลิกหรือคาแรกเตอร์ของคนคนนั้นเป็นหลัก โดยอาชีพแล้วผมเป็นช่างภาพแนวพอร์ตเทรตถ่ายภาพบุคคลซึ่งทำให้ผมเรียนรู้ที่จะมองออกว่าใครน่าจะขึ้นกล้อง มีความโฟโตจีนิก หรือคนไหนไม่ขึ้นกล้องเลย ยกตัวอย่าง ผมเคยเจอคนที่มีลายสักสวยงามประณีต มีรายละเอียดแบบสักทั้งตัวซึ่งมันน่าทึ่งมาก แต่มันมีลักษณะบางอย่างในบุคลิกของเขาที่ออกมาทางแววตาที่ดูเคร่งเครียด และก็ไม่สามารถสื่อสารอะไรออกมาได้ แต่อีกคนที่ลายสักมันดูมั่ว ๆ งง ๆ แบบลายสักยันต์ผสมลายสักแฟชั่น แต่เขากลับมีออร่าที่ดึงดูด ดูน่าสนใจมากกว่า อย่างภาพถ่ายของคนหนึ่งในชุดลายสักยันต์ของผม ที่ผมตั้งชื่อเล่นเขาว่าอิกกี (Iggy) เพราะบุคลิกและออร่าของเขาทำให้ผมนึกถึงร็อกสตาร์คนหนึ่งชื่ออิกกี พอป (Iggy Pop) ซึ่งคนนี้เขาไม่ใช่สเปกนายแบบอะไรเลย แต่เขากลับดูคูลมาก นั่นเป็นวิธีที่ผมเลือกคนมาเป็นแบบถ่ายภาพผมเลือกเพราะเขามีบุคลิกน่าสนใจซึ่งอิกกีคือคนแรกที่ผมถ่ายลายสัก และผมก็ได้ทำงานกับเขาอีก 2 ครั้งเลยนะ เป็นงานถ่ายหนังสั้นให้บริษัทกางเกงยีนส์เจ้าหนึ่ง หลังจากทางเอเจนซีที่อังกฤษเห็นภาพเขาในเซตสักยันต์ตีพิมพ์ลงในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่อังกฤษ

อีกคนที่น่าสนใจและผมชอบมาก คือเขามีลายสักยันต์คล้าย ๆ ลายพญานาค และก็มีลายเสือเผ่นคนนี้ผมเจอที่งานไหว้ครูที่วัดบางพระ จ. นครปฐม และผมก็รู้สึกว่าเขามีเสน่ห์กระตุกใจมาก และภาพถ่ายนี้ก็เป็นตัวจุดประกายวิธีการทำงานกับภาพถ่ายที่อยู่ในชุดสักยันต์ทั้งหมด

ครั้งแรกผมใช้ฟิล์มพิเศษของโพลารอยด์ รุ่น Polaroid Type 55 ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษมาก แต่เลิกผลิตไปแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. 2553) ตอนนี้กลายเป็นของหายากและแพงลิบลิ่วขายกันทางอีเบย์ (eBay) ราคาแพงมากตอนนี้ ในตอนที่ผมเริ่มถ่ายภาพคนสักยันต์ผมมีฟิล์ม Polaroid Type 55 ในสต็อกอยู่ 2-3 กล่อง แบบเก่าเก็บมา 15 ปีผมก็ลองถ่ายภาพของคนที่เหมือนอิกกีด้วยฟิล์มโพลารอยด์ และถ่ายด้วยกล้องตัวใหญ่ภาพขนาด 4´5 บันทึกลงบนฟิล์มอินสแตนต์เนกาทีฟ ซึ่งผมว่าฟิล์มอินสแตนต์เนกาทีฟนี่มันเป็นผลงานประดิษฐ์ที่สุดยอดแล้วในประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพ น่าเศร้ามากที่เขาหยุดผลิตแล้ว

สำหรับอิกกีผมถ่ายที่บ้านหรือบ้านเพื่อนเขา มันมีคานไม้ และผมก็ขอให้เขายกแขนขึ้น เพราะคิดว่าเขาน่าจะโพสท่าในสไตล์ของอิกกี พอปร็อกสตาร์คนนั้นได้ จากบุคลิกและท่าทางที่เขาแสดงออก พอเขายกแขนขึ้นแตะคานไม้ ผมก็เซตกล้องแล้วมีฟิล์ม Polaroid Type 55 เหลืออยู่แผ่นเดียวด้วยนะ ผมถ่ายไปช็อตเดียว แล้วกลับมาปรับแต่งภาพต่อที่บ้าน

เซดริก
ภาพหญิงสาวที่เป็นภาพเปิดนิทรรศการชุดนี้

หลังจากที่ถ่ายภาพคนแรก ผมก็เริ่มมองหาคนที่มีลายสักคนอื่น ๆ อย่างคนนี้ที่มีรอยสักพญาครุฑบนหน้าอก เขาบอกผมว่าเขาเคยทำงานรับใช้ในวัง เขาก็เลยมีลายสักครุฑ แล้วเขาก็ภูมิใจมากและยินดีที่ถูกถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มตัวใหญ่ หรือหญิงสาวที่เป็นภาพเปิดนิทรรศการชุดนี้ ตอนที่ผมขอถ่ายภาพตอนนั้นเธอยังเป็นนักศึกษาอยู่เห็นได้ชัดว่าเธอสักตามกระแสของแอนเจลีนา โจลี (Angelina Jolie) ดาราฮอลลีวูดที่มาสักที่ไทย และอีกคนที่เป็นคนขับแท็กซี่ อีกคนเป็นนักมวยไทย คือมีคนจากหลากหลายพื้นเพ ที่ผมถ่ายไว้ในเซตสักยันต์ โดยก่อนถ่ายผมจะพูดคุยสอบถามเรื่องเขาว่าได้รอยสักมาอย่างไร หลายคนบอกผมว่าเขาจะเริ่มจากสักยันต์เก้ายอดก่อน ตรงช่วงใต้ท้ายทอยแล้วด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาก็เริ่มรู้สึกอยากจะสักยันต์ลายอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ลายสัก

ช่างภาพที่สนใจเรื่องการสักอย่างคุณมีลายสักไหม

ผมสักแค่จุดเดียว ผมไม่ใช่คนอินกับลายสักนะ ไม่เคยเลย เพราะไม่อยากเปลี่ยนใจทีหลัง ลายสักมันอยู่ถาวรน่ะ ผมก็เลยสักแค่จุดเดียว ความสนใจเรื่องสักยันต์ไม่ได้มาจากความสนใจในลายสักหรือการสักนะ แต่เป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์มากกว่า ผมตั้งคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น หรืออะไรทำให้คนเกิดอาการของขึ้นแบบนั้นเหมือนมีบางอย่างสิงร่างพวกเขา และผมก็เคยคุยกับคนที่เกิดของขึ้น หลังจากเขาคืนสู่สภาวะปกติ เขาบอกผมว่าจำอะไรไม่ได้เลย หรือไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้น และเหตุผลของการเกิดภาวะของขึ้นก็ยังมีหลายทฤษฎีถกเถียงกันอยู่ในหลายระดับเลย เพราะอย่างนั้นมันก็เลยน่าหลงใหลและเปิดกว้างให้มีการตีความไปแตกต่างหลากหลายแง่มุม

ลายสัก

มีหลายคนโยงเรื่องการสักกับเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ คุณคิดเห็นอย่างไร

ผมเคยเห็นบางอย่างในงานไหว้ครูที่วัดบางพระ มันก็น่าจะเป็นองค์ประกอบที่เป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ แต่ผมก็ไม่ได้เพ่งความสนใจในเรื่องนั้นนะ ผมสนใจที่จะหาคำตอบในเชิงสังคมวิทยามากกว่า ในแง่ว่าคนรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ ยกตัวอย่าง ผมเห็นพิธีไหว้ครู แล้วนึกถึงคอนเสิร์ตดนตรีพังก์ร็อก หรือมิวสิกเฟสแนวร็อกที่ไหนสักแห่ง มันคล้าย ๆ กันเลย มันอาจจะเป็นการจับแพะชนแกะไปหน่อย แต่พอมองแบบนี้มันก็เห็นว่า วัฒนธรรมและบริบทมันต่างกันไป

ผมหลงใหลสนใจการที่คนหมู่มากมารวมตัวกันอยู่ผมพบว่ามันแตกต่างกันมากเมื่อปัจเจกบุคคลหรือคนคนเดียวเข้าหาบางอย่าง เทียบกับเวลาที่หลายคนมารวมตัวเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวประท้วง หรือรวมตัวทำอย่างอื่น ผมรู้สึกทึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่คนมารวมตัวกันมาก ๆ มันได้เห็นคนหลากหลายพฤติกรรม ได้คุยกับพวกเขา คุณลองนึกถึงคอนเสิร์ตพอปไอดอลเกาหลีสิ หรือเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) หรือใครก็ได้ ที่คนดูคลั่งจนกรี๊ดเสียงหลง เวลาเห็นไอดอลของพวกเขาบนเวที แล้วในงานรวมตัวของคนสักยันต์งานไหว้ครูมันก็คล้าย ๆ อย่างนั้น แต่แน่นอนว่ามันมีเรื่องของความเชื่อและศรัทธาอยู่ด้วย ในโลกของสักยันต์มันมีหลายอย่างปะปนกันอยู่ อย่างในช่วงพิธีกรรมที่ลูกศิษย์ทุกคนพุ่งตัวไปหารูปปั้นของหลวงพ่อเปิ่นที่วัดบางพระ ผมรู้ว่ามันอาจจะฟังดูแปลก แต่ถ้าเทียบกับงานคอนเสิร์ต มันมีอะไรที่คล้ายกันอยู่ คือมันมีการแสดงออกที่ปกติคนไม่แสดงออก ด้วยความปลาบปลื้มที่ได้อยู่ในหมู่มวลตรงนั้น โดยเฉพาะในโลกของสักยันต์ จู่ ๆ อาการแบบของขึ้นก็เกิดขึ้น แต่ผมอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงเกิด

ลายสัก

ในสายตาคนที่มาจากต่างวัฒนธรรม มองอย่างไรกับการสักยันต์

ผมอยู่เมืองไทยมาพักใหญ่ก่อนจะสนใจเรื่องสักยันต์จริงจังซึ่งก็พอจะเห็นว่ามันมีองค์ประกอบที่เกี่ยวทั้งศาสนาพุทธ ความเชื่อสิ่งลี้ลับ พราหมณ์และฮินดู ปน ๆ กันอยู่อย่างในลายสักยันต์ของคนนั้น มีตัวละครจากรามเกียรติ์และอักขระขอมโบราณ เห็นชัดว่ามีหลายอย่างหลายความเชื่อปนกันอยู่ ซึ่งสำหรับผมมันสะท้อนวิถีชีวิตไทยโดยทั่วไปด้วยนะ สักยันต์อาจถือเป็นวัฒนธรรมย่อยเฉพาะกลุ่มคน แต่ผมมีเพื่อนหลายคนที่วันหนึ่ง ตอนเช้าเข้าวัดพุทธไปไหว้พระ และอีกวันไปไหว้ศาลเทพเจ้าฮินดูที่วัดแขก สีลม และก็ปิดท้ายด้วยการไปสวดภาวนาขอพรจากพระพิฆเนศที่หน้าตึกเซ็นทรัลเวิลด์ด้วย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ วิถีปฏิบัติที่เหมาทุกอย่างนี่แหละ และในแง่ทัศนศิลป์ มันมีความเป็นภาพที่ดึงดูดสำหรับคนเป็นช่างภาพและคนทำหนังด้วย เพราะไม่ใช่แค่ว่าผมจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร แต่ผมจะอธิบายมันออกมาอย่างไรด้วยในแง่ระบบความเชื่อความศรัทธาที่มาคู่กัน

อันที่จริงผมก็ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่า ศรัทธาได้หรือเปล่า แต่มันมีวิธีคิดแบบการปฏิบัติเชิงประจักษ์ ที่ผมชื่นชมเสมอมาในประเทศไทย การที่คนไทยหยิบเอาสิ่งต่าง ๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อยมาผสม ๆ กัน แบบพุทธนิด ฮินดูหน่อย พราหมณ์ด้วย ไหว้ศาลเจ้า ศาลเจ้าที่ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีพราหมณ์มาทำพิธีปลุกเสกให้ รวม ๆ ทุกสิ่งอย่างที่มันต่างกันไว้ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ผมเห็นตลอด 20 ปีที่อยู่เมืองไทยผมก็เลยสนใจมาก ๆ กับคนที่มีลายสัก ความหมายต่าง ๆ แผ่นสักยันต์ที่ติดเหนือประตู หรือแขวนอยู่หน้ากระจกรถแท็กซี่ และก็เห็นลายสักที่คล้าย ๆ กันอาจไม่เหมือนกันเป๊ะ บนร่างกายของหลายคน ซึ่งลายสักพวกนั้นมันบ่งบอกความต่างทั้งระดับที่แตกต่างของความหมายและระดับของการปกป้องคนคนนั้นผมเลยมีคำถามว่า ทำไมคนคนหนึ่งต้องแสวงหาการปกป้องคุ้มครองผ่านการสักยันต์

แล้ววันหนึ่งกระแสลายสักยันต์ของ แอนเจลีนา โจลีก็มา และทำให้การสักยันต์เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นการสักยันต์ยังเป็นเรื่องแอบ ๆ ซ่อน ๆ ปกปิด โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีรอยสัก แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว และผมก็เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมทำโปรเจกต์งานภาพถ่ายและวิดีโออาร์ตสักยันต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แล้วก็ปล่อยให้งานเดินทางไป ไม่ได้มาทำอะไรอีกเลยโชคดีมากที่งานมันถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์หลาย ๆ แห่งทั่วโลกเลยปีนี้เป็นครั้งแรกที่ผมกลับมาทำอะไรเกี่ยวกับสักยันต์อีก เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับการสักยันต์(ฉายในนิทรรศการ Trance/Figuration เมษายน- 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565) ที่ทำขึ้นในบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน ทำขึ้นในตอนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 จัดแสดงในนิทรรศการล่าสุด Trance/Figuration, Tattoos from Birth to Death

ตอนแรกทางสถานทูตฝรั่งเศสติดต่อมาทูตวัฒนธรรมชอบงานภาพถ่ายชุดสักยันต์ของผมและอยากเอามาแสดง แต่ผมบอกว่างานมันเก่าแล้ว เคยแสดงมาหลายหนแล้ว ผมก็เลยขอทำหนังสั้นเวอร์ชันใหม่ที่มีภาพและเสียงให้คนดูได้สัมผัสบรรยากาศเหมือนได้ไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ตอนที่เขาสักยันต์ในสำนักอาจารย์สักยันต์และตอนที่คนของขึ้นในงานไหว้ครูเป็นงานอาร์ตอินสตอลเลชันให้คนที่อาจจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศงานสักยันต์จริง ๆ ได้มีประสบการณ์ร่วมกับบรรยากาศนั้นได้

ลายสัก
หนังสั้นในนิทรรศการ

หนังสั้นในนิทรรศการ Trance/Figuration, Tattoos from Birth to Death เล่าเรื่องอะไร

เป็นหนังฉายบนจอขนาด 7 เมตร ในห้องนิทรรศการ ฉายวนลูป อย่างที่บอกว่าผมตั้งใจให้คนได้มีประสบการณ์ร่วมซึมซับบรรยากาศ จากภาพและเสียงที่ผมใส่ลงไป แบบเซอร์ราวนด์รอบทิศทาง ให้คนดูได้เข้าไปในโลกของการสักยันต์เพราะคงมีไม่กี่คนที่ได้ไปร่วมงานไหว้ครูหรือเข้าไปในสำนักสักยันต์ โดยช่วง 5 นาทีแรกของหนัง (ความยาวทั้งหมด 20 กว่านาที แต่ฉายวนลูป) ผู้ชมจะไม่เห็นภาพลายสักยันต์เลย ผมไม่ได้ตั้งใจตัดมันออก แต่ผมพยายามจะสร้างบริบทและเรื่องราวในสำนักอาจารย์สักยันต์คนหนึ่ง ชื่ออาจารย์ต๋อย ใกล้ ๆ ย่านอ่อนนุช ซึ่งผมรู้จักมานานแล้ว และได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจนเก็บภาพบรรยากาศพวกนี้มาได้

ผมสนใจเรื่องเกี่ยวกับคนสักยันต์ ของขึ้น และมองในบริบทที่เป็นชีวิตประจำวันของคนที่เกี่ยวพันกัน ไม่ใช่พุ่งที่ศิลปะลายสักยันต์แต่สนใจว่า ทำไมคนถึงรู้สึกและต้องแสดงออกแบบนั้น ทำไมคนต้องไปหาอาจารย์สักยันต์ ทำไมต้องไปร่วมงานไหว้ครู และการที่ฝูงชนเบียดเสียดกันมหาศาล วิ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน พุ่งตัวไปหาอาจารย์สักยันต์ที่เขานับถือ แม้จะเป็นแค่รูปปั้น (หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ. นครปฐม) ก็ตามซึ่งอันนี้ผมสนใจในแง่จิตวิทยาและประสาทวิทยามากกว่าแค่ความอลังการหรือความน่าตื่นตาตื่นใจของภาพที่เห็นตรงหน้าเท่านั้น

เซดริก อาร์โนลด์ ในสตูดิโอของเขา

ชื่อนิทรรศการ Trance/Figuration, Tattoos from Birth to Death มีความหมายอย่างไร

ชื่อนิทรรศการมันเชื่อมโยงกับลายสักยันต์จากชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งทางภาคเหนือของไทย ที่เป็นการสักยันต์ลงบนขาทั้งขาเหมือนคนใส่กางเกง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ แต่มันมีองค์ประกอบของภาวะที่เรียกว่า ภวังค์ หรือ TRANCE การสักยันต์แบบลายลงอาคม หรือ ลายสักชนเผ่า มีพิธีกรรมบางอย่างคล้ายกัน มันก็เลยเชื่อมโยงกันได้ซึ่งผมก็สนใจเรื่องของภวังค์อยู่แล้ว เพราะ TRANCE หรือ ภวังค์ ในเชิงประสาทวิทยา มันคือภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เหมือนกึ่งฝันกึ่งจริงเป็นภาวะเหมือนตอนที่คนเป็นเวลา ของขึ้นในงานพิธีไหว้ครูสักยันต์

คำถามคือคนของขึ้นตกอยู่ในภาวะนั้นได้อย่างไรและทำไมซึ่งมันอลหม่านก็ตรงนี้แหละ เพราะเรายังพิสูจน์อะไรไม่ได้ผมเคยเห็นคนของขึ้นและก็วิ่งเร็วมาก ๆ จนล้ม บาดเจ็บเลือดไหล แต่เขาลุกขึ้นมาได้ทันทีและวิ่งต่อไปอีก อันนี้ผมไม่รู้เลยว่ามันเป็นเวทมนตร์ มายากล หรืออะไร และถ้าถามพวกเขา ส่วนใหญ่จะบอกว่าจำไม่ได้ว่าทำอะไรลงไป

ผมก็มีทฤษฎีส่วนตัวนะหลังจากสังเกตการณ์บริบทในประเทศไทยด้วย ตัวอย่างงานไหว้ครู หลวงพ่อเปิ่น ที่วัดบางพระ สิ่งที่ผมพบว่าน่าสนใจมากคือ มันเกิดขึ้นแค่ปีละครั้ง และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และที่ผมเห็นส่วนใหญ่คนที่ไปเป็นแรงงาน พนักงานโรงงานหรือคนขับแท็กซี่ที่ปกติไม่ได้เป็นคนมีตัวตน หรือแสดงตัวตน หรือมีโอกาสแสดงออกสักเท่าไร แต่เขามารวมกันในงานไหว้ครูและแสดงออกมาได้

การทำงานศิลปะเกี่ยวกับสักยันต์มีผลต่อตัวคุณเองบ้างไหม

อย่างที่บอกว่าความเชื่อ การใช้ยันต์ ลายสัก ของคนไทยมันลื่นไหลได้ไปหลายแบบมาก และนั่นคือเสน่ห์และความน่าสนใจที่ผมสังเกตและค่อย ๆ ผสมผสานเข้ามาในชีวิตตัวเองเหมือนกัน เมื่อก่อนผมอาจจะเรียกตัวเองเป็นพวกไร้ศาสนา แต่ตอนนี้ผมพูดได้ไม่เต็มปากแล้ว เพราะผมก็รับเอาแง่มุมหลายอย่างจากวิถีพุทธเข้ามาในชีวิต ผมอาจจะไม่ได้เป็นผู้ศรัทธาแรงกล้า หรือจำเพาะเจาะจงแต่ผมก็ได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้าง ที่มาจากหลากหลายวิถีชีวิต มีทั้งเพื่อนในสายครีเอทีฟ ช่างภาพ นักดนตรีคนขับรถที่ผมเคยทำงานด้วย แล้วก็ชวนผมไปเยี่ยมบ้านจนรู้จักลูก ๆ ของเขา อะไรแบบนี้ทำให้ผมหยิบเอาองค์ประกอบหลายอย่างมาใช้เวลาต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ที่ปกติคนตะวันตกที่ยังไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยมากนัก และอาจจะมองพิธีกรรมต่าง ๆ เหมือนเป็นเรื่องแปลกประหลาด

อย่างเวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิตคนส่วนใหญ่ก็อยากจะเดินหน้าต่อให้ได้อยู่แล้วซึ่งในโลกตะวันตก วิธีของเราก็แค่เดินไปเรื่อย ๆ แต่ที่เมืองไทยผมพบว่าคนไทยจะรับมือกับปัญหาด้วยสิ่งซึ่งคนตะวันตกอาจจะคิดว่ามันเป็นการเลี่ยงปัญหา แต่หลังจากที่ผมเฝ้าสังเกตมาหลายปี ผมพบว่าการเข้าหาสิ่งลี้ลับเหล่านี้มันช่วยให้คนไปข้างหน้าต่อและรับมือกับปัญหาใหญ่ ๆ ได้ เหมือนเขาไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรและแทนที่จะไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เขาเลือกไปหาหมอดูแทนคือผมไม่ได้ส่งเสริมความคิดนี้นะ แต่ผมเข้าใจว่าทำไมคนในประเทศไทยจึงไม่ค่อยพึ่งจิตบำบัด แต่เลือกไปทำพิธีกรรมความเชื่อแทน ผมไม่รู้หรอกนะว่ามันเวิร์กหรือเปล่าแต่ถ้ามันช่วยให้คนเดินหน้าต่อไปได้ มันก็คงไม่ถูกต้องหรอกนะที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์เพราะอย่างแรกเลย มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และอย่างที่สองคือ ผมก็เคยเห็นมันเวิร์กกับหลายคนหลายครั้งมาก ไม่ใช่ว่าเห็นปาฏิหาริย์ คนเหาะหรือบินได้อะไรนะ แต่เห็นว่าคนที่ไปหาสิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาก้าวเดินต่อไปได้และสะสางปัญหาได้จริง

ในบริบทของสักยันต์มันก็มีเรื่องของวินัย คนสักยันต์ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะได้ผล สักยันต์แล้วต้องมีหลักปฏิบัติมากมายซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะปฏิบัติได้ แต่ผมก็เห็นหลายคนเขาทำกันโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่เหมือนจะหลงทาง เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงอันตราย แต่สุดท้ายก็ตั้งตัวมีครอบครัวมีธุรกิจส่วนตัวได้ ผมอาจจะไม่เห็นรายละเอียดชีวิตพวกเขา แต่ผมเห็นว่าพวกเขาค่อนข้างโอเค เมื่อทำตามกฎหรือข้อปฏิบัติของคนสักยันต์

เรื่องการสักยันต์ในตอนนี้แต่ไม่ใช่แค่เด็กคลองเตยเด็กในค่ายมวย หรือชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว แต่ตอนนี้ลายสักยันต์มันเข้ามาในพื้นที่สาธารณะดาราดังอย่าง แอนเจลีนา โจลี ก็สักยันต์ คนมีฐานะดีหลายคนก็มาสักยันต์

Fact File

  • TRANCE/FIGURATION, Tattoos from Birth to Death (สะกดร่าง/สักลาย : ลายสักจากกำเนิดสู่ความตาย) นิทรรศการงานแสดงภาพถ่ายบุคคลกับลายสักยันต์ต่าง ๆ อุปกรณ์รวมทั้งเสื้อยันต์ที่เป็นวัตถุโบราณและไฮไลต์ภาพยนตร์สั้น“ยันต์” โดย เซดริก อาร์โนลด์ (YANTRA by Cedric ARNOLD) เป็นภาพยนตร์สั้นคมชัด 4K ความยาว 23.30 นาที
  • นิทรรศการ “TRANCE/FIGURATION, Tattoos from Birth to Death” เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ อาคารนิทรรศการ 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ ในวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์ วันอังคาร วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศของรัฐบาล)
  • ติดตามศิลปะและผลงานอื่นของ เซดริก อาร์โนลด์ เพิ่มเติมได้ที่ www.cedricarnold.com

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"