เบื้องหลังความโรแมนติก Coming of Age ฉบับ แปลรักฉันด้วยใจเธอ โดย บอส นฤเบศ
Faces

เบื้องหลังความโรแมนติก Coming of Age ฉบับ แปลรักฉันด้วยใจเธอ โดย บอส นฤเบศ

Focus
  • แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I told sunset about you) LINE TV Original Series ซีรีส์เรื่องใหม่จาก นาดาว บางกอก กำกับโดย บอส-นฤเบศ กูโน
  • แปลรักฉันด้วยใจเธอ เล่าเรื่องราวของ เด็กผู้ชายสองคนที่เติบโตมาในบรรยากาศของเมืองภูเก็ต เพื่อนสนิทที่ห่างหายจากกันไป จนได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง 
  • ซีรีส์ไม่ได้โปรยแค่เคมีความจิ้น ความฟินระหว่างบิวกิ้น-พีพี หรือเต๋และโอ้เอ๋ว แต่ยังใส่ส่วนผสมของความฝัน ความมุ่งมั่น ความรัก ความผูกพัน มิตรภาพ การก้าวผ่าน และการเติบโต

กีดกั้นด้วยแผ่นฟ้าแม้ไกลฉันยินดีจะฝ่าไป

กีดกั้นด้วยภูผาสูงชันลับตาฉันไม่หวั่นไหว…

เราเชื่อว่านาทีนี้ กีดกัน และอีกหลาย ๆ เพลงประกอบซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I told sunset about you) LINE TV Original Series ซีรีส์เรื่องใหม่จาก นาดาว บางกอก น่าจะเข้าไปอยู่ในลิสต์เพลงโปรดในใจของทุกคนแล้ว รวมถึงเรื่องราวของ เต๋ (รับบทโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์) และ โอ้เอ๋ว (รับบทโดย พีพี-กฤษฏ์) เด็กผู้ชายสองคนที่เติบโตมาในบรรยากาศของเมืองภูเก็ต เพื่อนสนิทที่ห่างหายจากกันไป จนได้กลับมาเจอกันอีกครั้งที่โรงเรียนสอนพิเศษภาษาจีนในช่วงเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรื่องราวของความฝัน ความมุ่งมั่น ความรัก ความผูกพัน มิตรภาพ การก้าวผ่านและการเติบโต ส่วนผสมที่ลงตัวเหล่านี้ทำให้เราหลงรักตัวละครและตามลุ้นไปกับเรื่องราวได้ไม่ยาก ซึ่งนั่นคือความรู้สึกของเราในฐานะคนดู แต่หนึ่งในบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง บอส-นฤเบศ กูโน ในฐานะผู้กำกับ เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาปลุกปั้นความละเมียดละไมเหล่านี้ออกมาอย่างไร เราคงต้องไปถามและพูดคุยกับเขากัน

บอส นฤเบศ

ความรู้สึกหลังออกอากาศมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

ยังตื่นเต้นอยู่เลย ไม่ว่าจะกี่อีพีในวันที่ออนแอร์เราก็ยังตื่นเต้นอยู่ตลอด จะคอยเช็กทวิตเตอร์ อ่านฟีดแบ็กในเฟซบุ๊กแต่ด้วยกระแสตอบรับที่ออกมาเราก็ค่อนข้างแฮปปี้นะ รู้สึกว่าฟีดแบ็กที่ออกมามีหลาย ๆ ทาง มันไม่ใช่แค่กับตัวนักแสดง มีหลาย ๆ คนที่พูดถึงทีมงานด้วย ทั้งทีมเสื้อผ้า ทีมตากล้อง เรารู้สึกขอบคุณแฟน ๆ มาก แฮปปี้มากที่ผลตอบรับออกมาแล้วหลายคนชื่นชอบ เราก็หวังว่าใครที่ชื่นชอบจะไปแนะนำกันต่อ อยากให้มาดูกันเยอะ ๆ

กดดันไหมกับการทำซีรีส์เรื่องนี้

กดดันมาก เพราะว่าตั้งแต่ทำละคร รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (My Ambulance) จบ เราก็ทำโปรเจกต์บิวกิ้น-พีพีต่อเลย ซึ่งคนก็ค่อนข้างคาดหวัง อยากดูคู่นี้ต่อกันด้วย มันเลยเป็นความกดดันตั้งแต่ตอนที่เขียนบทเลยว่าเราจะทำได้ดีไหม จะเป็นบทที่เหมาะสมกับ บิวกิ้น-พีพี หรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่แฟน ๆ รอคอยอยากดูหรือเปล่า

เราพยายามทำการบ้านตั้งแต่ตอนเขียนบทหนักมาก แต่สุดท้ายแล้วความกดดันมันค่อย ๆ หายไปในตอนที่ถ่ายทำ เหมือนเราค่อย ๆ มั่นใจขึ้น ตัวเรารู้สึกชอบมากขึ้น เหมือนพอเขียนบทเสร็จ เราก็รู้สึกว่าเราชอบ เราอยากเห็นบิวกิ้น-พีพีเล่นแบบนี้แล้วก็คิดว่าแฟน ๆ น่าจะชอบแล้วพอไปถ่าย มีออกมาให้เห็นเป็นภาพ เป็นอะไรที่แปลกใหม่ ความกดดันก็ค่อย ๆ ลดลงไป แล้วกลับมากดดันอีกทีก็ตอนฉายนี่แหละ (หัวเราะ)

บอส นฤเบศ

คนดูบอกว่าทำเสียน้ำตาตั้งแต่ตอนแรก

ก็…นั่นแหละ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าพอเราเลือกหยิบประเด็นความสัมพันธ์ที่เป็นเรื่องเพื่อน แล้วเล่าถึงความลุ่มลึก ความดำดิ่งทางความรู้สึก เราก็ต้องไปแตะด้านที่เซนซิทีฟแน่นอน ทำให้น้ำตามันมาเองในตอนที่เราเล่าดีเทลของมัน

ฉากเรียกน้ำตาถือเป็นลายเซ็นของบอสเลยไหม

จะว่าใช่ไหมนะ (หัวเราะ) เพราะทุกเรื่องเลยใช่ไหม ก็อาจจะเป็นรสนิยมเราด้วย เหมือนพอจะเล่าความสัมพันธ์อะไร เราก็อยากจะเล่าในมุมที่ลึกซึ่งมันก็จะไปแตะในส่วนที่เซนซิทีฟ พอไปแตะส่วนนั้นยิ่งลึกก็ยิ่งเซนซิทีฟ ในหลาย ๆ เรื่องที่ทำมาก็เลยจะมีฉากดราม่าให้คนดูได้เห็นกัน

ปกติชอบดูหนังเศร้าหรือเปล่า

จริง ๆ เราดูหนังรักมากกว่า แต่รอมคอมก็ดู ตลกก็ดู หนังเศร้าก็ดู แต่หนังที่จะอยู่ในใจเราจะเป็นหนังที่ละเมียดละไมพูดถึงความรู้สึกหรือความเป็นมนุษย์ แบบนี้เราจะอิน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหนที่มันเกิดขึ้น พอเราเข้าใจเหตุผลของตัวละครว่าทำไมเขาเลือกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ พอดูแล้วเข้าใจ เราก็จะอินหมด ชอบหมด

บอส นฤเบศ

ภาพยนตร์ที่ชอบเป็นพิเศษคือเรื่องไหน

ถ้าสำหรับเราคือ เถียนมี่มี่ คือตอนเด็ก ๆ บ้านเราเป็นร้านเช่าวิดีโอก็จะมีหนังจีนเยอะ แล้วก็มีเรื่อง “เถียนมี่มี่ 3,650 วันรักเธอคนเดียว” คือตัวหนังพูดถึงความรักที่ละเอียดอ่อน ดูแล้วรู้สึกว่าความรักที่เขามีให้มันบริสุทธิ์มากเลย ต่อให้จะเจอเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ ตอนเด็ก ๆ เราดูแล้วก็ไม่เข้าใจหรอกว่าหนังจะเล่าอะไร เพราะคอนเทนต์มันค่อนข้างผู้ใหญ่ แต่เราสัมผัสได้ว่าตัวละครเขารักกัน แล้วมันก็เป็น Role Model ให้เรารู้สึกว่าอยากทำแบบนี้ อยากเล่าอะไรที่ลุ่มลึก ความเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราเลย แต่พอโตมาได้ดูเรื่องนี้อีกรอบในตอนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมา เราก็เห็นเรื่องนี้ไปในอีกทางหนึ่ง เหมือนเราเข้าใจชีวิตเขามากขึ้น ทำให้ไม่ว่าจะนึกถึงหนังเรื่องไหนที่เป็นแรงบันดาลใจ ก็จะนึกถึงเถียนมี่มี่ตลอด อยากทำเรื่องที่ทำให้คนรู้สึกอินแบบนี้ได้

แปลรักฉันด้วยใจเธอเริ่มต้นมาได้อย่างไร

เริ่มต้นมาจาก รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (My Ambulance) ที่พอหมอเต่า (รับบทโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์) ตายในตอนที่ 15 ทั้งแฟนคลับของน้องและแฟน ๆ ที่ติดตามละคร เขาก็ส่งข้อความมาหาเราทั้งทวิตเตอร์และอินสตาแกรมว่า ยังอยากดูต่ออีก ซึ่งก็โน้มน้าวสำเร็จด้วยนะ เป็นการฉุดใจเล็ก ๆ ว่าหรือเราจะทำภาคต่อของเต่ากับทิวเขาดี ตอนแรกก็จะทำจริง ๆ ด้วย แต่พอตัวละครตายไปแล้ว มันหาไอเดียที่ทำให้รู้สึกว่าเอาเขากลับมาอย่างไรแล้วเรายังชอบพล็อตนี้อยู่ ก็ยังหาไม่เจอ เลยคิดว่าเราเองก็ยังอยากทำงานกับน้อง ๆ แล้วก็อยากสานต่อสิ่งที่แฟน ๆ อยากดู ถ้าอย่างนั้นเราเขียนเรื่องใหม่ขึ้นมากันดีกว่า

ตอนเขียนบทเรื่องนี้ เริ่มมาจากการสัมภาษณ์ บิวกิ้น-พีพี ก่อนใช่ไหม

ตอนเริ่มเราก็ยังไม่ค่อยมีไอเดียอะไรมาก คือเริ่มต้นมาจากว่าเราอินในประเด็นไหนก่อน เราอินในความสัมพันธ์ของเด็กผู้ชายสองคน ตอนจะเริ่มเขียนบทเราก็ค่อย ๆ ลองสัมภาษณ์น้อง ๆ ดูว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ยิ่งเป็นเด็กวัยรุ่นยุคนี้ด้วยว่าเขาเจอเรื่องราวอะไรมาบ้างที่ไม่เหมือนยุคเรา แล้วก็ค่อย ๆ เอาเรื่องต่าง ๆ มาแต่งเติมเขียนบทขึ้นมาเรื่อย ๆ

แปลรักฉันด้วยใจเธอ

บอสเห็นอะไรในตัวของ บิวกิ้น-พีพี

เสน่ห์ของเขาคือเขาสนิทกัน เราว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวด้วย เป็นเหมือนหลาย ๆ คนเลยเวลาแอบดูเขาลงสตอรีอินสตาแกรมหรือเห็นเขาคุยกัน เห็นเขาคอมเมนต์กัน ความสนิทของเขามันเหมือนมีเคมี เราเห็นความสนิทสนมของเขาแล้วมีเสน่ห์มาก ๆ เราว่าอันนี้คือส่วนสำคัญเลยที่เป็นคีย์เวิร์ดทำให้เราสานต่อมาทำเรื่องนี้ จับความเป็นเพื่อนสนิทของเขามาต่อเติมเรื่องราวให้เกิดขึ้นเป็น แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ตัวพีพีเขาก็จะมีเสน่ห์ส่วนตัวของเขา ความนิ่ง ๆ ของเขาที่ดูเหมือนดุแต่จริง ๆ ข้างในเขาแคร์ความรู้สึกของคนมาก เซนซิทีฟมาก บิวกิ้นที่ดูตลก สนุกสนาน ได้ยินเสียงหัวเราะเขาตลอดแต่จริง ๆ แล้วเขาเป็นคนจริงจังมาก เป็นคนที่มีแพสชัน เรารู้สึกว่าอะไรแบบนี้แหละที่ทำให้ตัวเขามีเสน่ห์ ภายนอกก็น่าสนใจ ภายในก็น่าสนใจ

สิ่งนั้นต่อยอดมาถึงคาแรกเตอร์ของ เต๋ และ โอ้เอ๋ว ในเรื่องด้วยใช่ไหม

ใช่ พอเราเริ่มเห็นว่าตัวน้องเขามีเสน่ห์อย่างไร เราก็หยิบยืมบางอย่างที่รู้สึกว่าพอมาทำเป็นบทแล้วให้เขาเล่นน่าจะเวิร์ก อย่างโอ้เอ๋วที่ภายนอกดูเหมือนนิ่ง ๆ แต่จริง ๆ ถ้าได้สนิทก็จะคุยเล่น เฮฮาได้ มีความเป็นกันเอง ก็จะมีพาร์ตของพีพีที่เป็นแบบนั้น บิวกิ้นตัวจริงที่เป็นคนจริงจังมาก ไม่ว่าจะทำอะไร เขาก็อยากจะทำมันให้ดี ความมุ่งมั่นตั้งใจ สายตาเขาค่อนข้างที่จะมีแพสชันมาก ๆ เราก็หยิบสิ่งนั้นมาอยู่ในตัวละครเต๋ ตัวละครก็เติบโตมาพร้อมกับตัวน้อง ๆ เอง

แปลรักฉันด้วยใจเธอ

สิ่งที่ให้ความสำคัญในการทำซีรีส์เรื่องนี้คืออะไร 

ส่วนตัวเราชอบเรื่องการก้าวผ่านอะไรบางอย่าง มันคือความรู้สึกของ Coming of Age จริง ๆ แล้ว Coming of Age มันมีหลายเรื่องมากในชีวิตของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องเพศ ฉะนั้นการจะหยิบจับขึ้นมาเล่า เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นกระบวนการไหนก็แล้วแต่ที่ผ่านการ Coming of Age เป็นการเรียนรู้ของตัวละครหมดเลย สิ่งที่เราคอนเซิร์นยิ่งกว่าคือซีนนั้นที่เข้าไปอยู่ในเรื่อง ทำให้ตัวละครเกิดการเรียนรู้ได้มากแค่ไหน เติบโตได้มากแค่ไหน ไม่ใช่ว่าซีนนี้เราทำเพื่ออยากให้เห็นภาพแรง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น แต่การเจอสิ่งนั้นจะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร จะเข้าใจความรู้สึกนั้นได้อย่างไร ต่อให้จะมีฉากจูบหรือฉากอะไรที่ต้องก้าวผ่านเรื่องเพศ จริง ๆ เป็นเรื่องการเติบโตของตัวละครหมดเลย เราจะคอนเซิร์นสิ่งนี้มากกว่าว่าถ้าตัวละครเจอเหตุการณ์นี้เขาจะเติบโตไปอย่างไรได้บ้าง เป็นทิศทางในเรื่องที่เราอยากเล่าหรือเปล่า

เรื่องราวในซีรีส์มาลงเอยที่พล็อตนี้ได้อย่างไร

เราเริ่มมาจากการสัมภาษณ์น้อง ๆ ก่อน เขาเจอกันที่โรงเรียนสอนพิเศษ เราก็รู้สึกว่า เห้ย เป็นฉากหลังที่พิเศษดี เราเคยเขียนบทฮอร์โมน เดอะซีรีส์มาก่อน เรารู้สึกว่าพอเป็นเรื่องราววัยรุ่นแล้วฉากหลังเป็นโรงเรียน เราเห็นบ่อยประมาณหนึ่งแล้ว ก็คิดว่าจะต่อยอดอย่างไรดีให้มีภาพใหม่ ๆ หรือการนำเสนอใหม่ ๆ ได้ ซึ่งโมเดลของโรงเรียนสอนพิเศษที่ฉากหลังเป็นการเรียนหนังสือ จริง ๆ แล้วมันเป็นที่ใหม่ คือเป็นสถานที่ที่นักเรียนหลายโรงเรียนมาเจอกัน เราก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นเอาเต๋กับโอ้เอ๋วอยู่กันคนละโรงเรียน แล้วมาเจอกันที่โรงเรียนสอนพิเศษ เริ่มต้นจากแค่นั้นเลย

แปลรักฉันด้วยใจเธอ

จากนั้นเราก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าอยากให้เรื่องราวเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งเราอยากได้หนังรัก หนังโรแมนติก Coming of Age ซึ่งความ Coming of Age มันจะอยู่ในการเติบโตของตัวละครอยู่แล้ว แต่ความโรแมนติกมันจะออกมาได้อย่างไร เราเลยไปทำการบ้านแล้วก็คิดว่าน่าจะออกมาทางภาพ สิ่งที่คนดูเห็นน่าจะต้องมีความละมุน ละเมียดละไม มีความโรแมนติก ฉากหลังเลยควรจะต้องมีความงดงามอะไรบางอย่าง ก็เริ่มหาว่าควรเป็นที่ไหนดี กรุงเทพฯ เราก็ถ่ายมาหลายเรื่องแล้ว ก็เริ่มไปอยุธยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น หลายที่มาก แต่เราเองยังอยากเห็นภาพสองคนนี้อยู่ที่ทะเล อยู่ที่ภูเขาแต่ในเมืองก็ยังอยากให้อยู่ คืออยากเห็นหลายอย่างมาก ซึ่งสุดท้ายเราคิดว่าภูเก็ตมีทุกอย่าง ลงไปรีเสิร์ชแล้วก็ชอบ เลยเป็นไอเดียให้เด็กผู้ชายสองคนเกิดเรื่องราวขึ้นในโรงเรียนสอนพิเศษที่เมืองภูเก็ต

ช่วงเขียนบทไปอยู่ที่ภูเก็ตนานแค่ไหน

เราไปประมาณไม่เกินสองสัปดาห์แต่การบล็อกช็อตกับถ่ายทำใช้เวลาอีกประมาณสองเดือน ตอนไปอยู่เวลาเจออะไรดี เราก็พยายามจดเอาไว้ ลิสต์ออกมาให้ได้เยอะที่สุด กลับกรุงเทพฯ ก็เอาทุกอย่างกลับมาเขียน มาจัดระบบอีกรอบหนึ่ง

มีเรื่องวัฒนธรรมในจังหวัดภูเก็ตอยู่ในเรื่องด้วย

พอเราไปอยู่ที่ภูเก็ตจริง ๆ เริ่มดูว่าชีวิตความเป็นอยู่เขาเป็นอย่างไร เขากินอะไรบ้าง เราก็เริ่มเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคนจีนฮกเกี้ยน เราก็เริ่มคิดว่าในเรื่องถ้ามีภาษาจีนก็น่าจะมีกลิ่นที่พิเศษดีแล้วเกี่ยวกับการติวด้วยรวมถึงได้บรรยากาศความเป็นภูเก็ตด้วย เลยไปถึงเรื่องชีวิตประจำวันที่เห็นว่าจริง ๆ แล้วมีร้านหมี่ฮกเกี้ยนเปิดอยู่เยอะมาก ซึ่งไม่ใช่ร้านสาขาด้วยนะ แต่เป็นหลาย ๆ ร้าน เราเลยถามเพื่อนที่อยู่ภูเก็ตก็เหมือนกับว่าหมี่ฮกเกี้ยนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองภูเก็ต เลยคิดว่าถ้าเรานำเสนอภาพวัฒนธรรมอะไรบางอย่างสอดแทรกเข้าไปก็น่าจะเป็นภาพใหม่ ๆ ดี รายละเอียดต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ มาจากการที่เราไปอยู่

การต้องทำงานในช่วงโควิด-19 มีข้อจำกัดอะไรบ้างไหม

เริ่มต้นจริง ๆ เราจะได้ไปถ่ายที่ภูเก็ตก่อนช่วงโควิด-19 นิดหน่อย คือพอเขียนบทเสร็จและเตรียมทุกอย่างหมดแล้ว เกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมาพอดี แพลนทุกอย่างเลยต้องหยุดไว้ แต่ก็ทำให้มีเวลาในการทำบทมากขึ้น เราเลยได้เอาบทที่มีอยู่แล้วมานั่งต่อเติม สลับซีนและขยายความความรู้สึกอีกรอบ ก็ถือว่าเราได้ทำให้บทละเอียดขึ้น

ในช่วงโควิด-19 นอกจากบท เราก็ยังต้องเตรียมงานบางอย่างให้ดำเนินไปด้วย ยังต้องวางแผนให้รอบคอบและปลอดภัยที่สุดกับทีมงานทุกคน ส่วนใหญ่ก็จะประชุมผ่านโปรแกรมซูมกัน ฝ่ายเสื้อผ้าก็ต้องเตรียมชุดมาชูให้ดูว่าเอาแบบนี้ไหม ซึ่งครั้งหนึ่งก็ขายงานกันเป็นสิบคน จอก็เป็นสิบช่องอะไรแบบนี้ทีมอาร์ตก็ทำเพาเวอร์พอยต์มาว่าถ้าเก้าอี้ในเรื่องเป็นแบบนี้โอเคไหม ส่วนโลเคชันโชคดีที่ในทีมมีน้องที่อยู่ภูเก็ตด้วย ตอนช่วงที่เกิดโควิด-19 เขาก็กักตัวอยู่ที่นั่น ในช่วงที่ไม่ได้เคอร์ฟิว เขาเลยสามารถออกมาถ่ายรูปให้เราได้ ยังขายงานกันได้ตลอดว่าโรงเรียนพิเศษมีที่นี่นะเอาไหม บ้านเต๋จะเป็นแบบนี้ คุยกันผ่านซูมตลอด เป็นการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง

พอมีเวลาเขียนบทมากขึ้น เรื่องราวเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

เป็นเรื่องของการปรับดีเทลมากกว่า บทที่เสร็จตอนแรกก็ดีในแบบหนึ่งนะ แต่พอมีเวลามากขึ้น เราได้ค่อย ๆ อ่านทีละบรรทัด ค่อย ๆ อ่านการกระทำของตัวละครในเรื่อง เราก็พบว่าเราอยากเติมเรื่องนี้ อยากลดทอนเรื่องนี้ ทำให้ตัวบทมีความละเอียดมากขึ้น ในตอนแรกเราอาจจะไปพึ่งหน้ากองให้น้อง ๆ อิมโพรไวส์ดูว่าจะเป็นแบบไหน แต่พอมีเวลาเราก็เอาทุกอย่างมานั่งเลือกเองก่อนได้เลย อันไหนที่รู้สึกว่าไม่เข้าปากพีพี ก็จะถามเขาว่าถ้าพีพีเล่นเป็นแบบนี้ พีพีคิดว่าโอ้เอ๋วคิดอย่างไร เราจะฟังความเห็นของนักแสดงด้วยว่าตรงไหนถ้าเขารู้สึกไม่โอเคหรือถ้าเขาสวมบทเป็นโอ้เอ๋วแล้วเขาจะไม่เล่นแบบนี้ เราจะได้แก้บทก่อน ค่อย ๆ ปรับจูนกันไปเรื่อย ๆ ถือว่าบทมันก็สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

อย่างตอนเขียนบทเสร็จจะมีการ Read Through ซึ่งก็จะมีคอมเมนต์จากทีมงานและนักแสดง เข้าใจไม่เข้าใจอะไร บิวกิ้นก็มีบอกเหมือนกันว่าถ้าผมเป็นเต๋ ผมจะไม่ทำแบบนี้นะ ก็จะมีที่เรามาปรับบทอีกทีหนึ่ง พอเป็นช่วงโควิด-19 เราก็ได้ทำสิ่งนี้นานขึ้น

รวมแล้วใช้เวลาในการเขียนบทนานแค่ไหน

ประมาณ 5 เดือนครึ่งกับ 5 อีพี ซึ่งจริง ๆ ถือว่านาน เหมือนยิ่งเรามีเวลาเราก็ยิ่งได้เติมรายละเอียด อย่างไดอะล็อกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในอีพีสองที่ บาส (รับบทโดย ขุนพล-ปองพล) ไปส่งโอ้เอ๋วที่ท่าเรือแล้วบอกว่า ‘ร้านโกเบ๊นคิวโคตรยาวเลย ขอโทษนะที่วันนี้กลับดึก’ คือจริง ๆ เขาอาจจะพูดอะไรก็ได้ แต่พอเรามีเวลาได้รีเสิร์ชว่าร้านโกเบ๊นเป็นร้านชื่อดังของภูเก็ตที่ต่อคิวนานเป็นชั่วโมง เลยทำให้บทมีรายละเอียดของความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น

การถ่ายทำเป็นอย่างไรบ้าง

เหนื่อยมาก (หัวเราะ) เพราะเราก็ไม่เคยไปทำงานที่ต่างจังหวัดนาน ๆ แล้วการถ่ายทำเรื่องนี้ต้องไปอยู่ที่ภูเก็ตแบบไม่กลับเลย ซึ่งความยากของเราคือเดาไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร แต่โชคดีที่เรามีทีมงานที่แข็งแรง มีคนที่พร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่ แล้วทุกคนทำการบ้านมาหนักมาก ทำให้ไม่ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดอะไรทุกคนช่วยเหลือกันสุด ๆ

เป็นการทำงานที่อยู่ด้วยกันแบบ 24 ชั่วโมง ถ่ายเสร็จก็ยังต้องนั่งรถตู้กลับคันเดียวกัน มันคือการอยู่ด้วยกันจริง ๆ ซึ่งข้อดีคือทำให้เราได้อยู่กับงานจริง ๆ แล้วพอเกิดข้อผิดพลาดอะไรเราสามารถถามแล้วก็ถกเถียงกันได้เลยทันที แล้วการไปอยู่ภูเก็ต เรามีอุปสรรคในเรื่องของดินฟ้าอากาศด้วย คาดเดาไม่ได้เลย บางวันถ่ายตอนเช้าแดดออก ตอนบ่ายฝนตกหนักมาก แต่เราต้องถ่ายข้างนอกทั้งหมด มันเลยต้องมีการปรับอยู่ตลอด มีต้องไปแก้สีช่วย คือต้องคอยแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ กับสภาพอากาศ

ใช้เวลาถ่ายทำนานไหม

ประมาณหนึ่งเดือน แต่ว่าในหนึ่งเดือนแรกนั้นเราถ่ายเสร็จแล้วกลับมาตัดต่อก็รู้สึกว่ายังมีหลายฉากที่ไม่เวิร์กทั้งเรื่องภาพ การแสดงหรือการเล่าไม่พอด้วย ก็เลยตัดสินใจเขียนบทเพิ่มแล้วก็ยกกองไปถ่ายกันอีกรอบหนึ่งคืออีกเดือนหนึ่งเลย ซึ่งตอนนั้นนักแสดงก็ช็อกเหมือนกัน เพราะจริง ๆ เราเลี้ยงปิดกล้องไปแล้ว เหมือนพอถ่ายเดือนแรกเสร็จ ก็เฮ เลี้ยงปิดกล้องกันสนุกสนาน แฮปปี้ รอดูผลงาน สักพักเราไปบอกต้องกลับภูเก็ตอีกเดือนหนึ่ง ไปถ่ายใหม่ ทุกคนก็แบบ…ฮึบ ๆ ไป (หัวเราะ) ทำให้การถ่ายทำทั้งหมดเลยจริง ๆ ใช้เวลาเกือบสองเดือน

ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

เราว่าคือการแสดง เพราะว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์สูง โกรธก็มีโกรธหลายแบบ เช่นฉากนี้โกรธเท่านี้แต่ยังโกรธอยู่ในใจ อีกฉากแสดงออกทางสีหน้า แต่อีกฉากคือด่าแล้วนะ มันมีรายละเอียด ดีใจก็มีดีใจหลายแบบ เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างเล่าความเป็นมนุษย์ที่ค่อย ๆ เติบโต ฉะนั้นเราต้องค่อย ๆ เห็นรายละเอียดของการเติบโตนี้ เรื่องของอารมณ์ถ้าผิดไปจุดหนึ่ง คนดูก็อาจจะไม่เชื่อ ตรงนี้ค่อนข้างยากทั้งกับตัวเราที่ต้องไปกำกับก็ต้องมีความแม่นยำ รวมถึง บิวกิ้น-พีพี ด้วยที่ต้องทำการบ้านหนัก มีหลายฉากที่บิวกิ้นอินมากแล้วร้องไห้เลย แต่จริง ๆ ด้วยเส้นเรื่อง มันยังไม่ถึงจังหวะนั้นก็ต้องค่อย ๆ ปรับกันหน้ากอง แต่ก็สนุกนะ

ก่อนไปถ่ายทำต้องเวิร์กชอปการแสดงกันหนักเลยใช่ไหม

หนักเลย เพราะไปอยู่ภูเก็ตเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก่อนไปก็เวิร์กชอปกันตั้งแต่ที่กรุงเทพฯ ให้เรียบร้อย แต่หน้ากองมันก็จะมีเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่อาจจะกวนสมาธินักแสดง มีปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ต้องแก้ แต่ถือว่าการเวิร์กชอปช่วยเยอะมาก ก่อนไปเราก็พร้อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักแสดงมีฉากไหนที่กังวลก็ซ้อมกันก่อนเลย

ความสนุกของการถ่ายทำเรื่องนี้คืออะไร

สำหรับเราในฐานะผู้กำกับ คือการที่บทซึ่งเป็นตัวหนังสือออกมาเป็นภาพ ในทุก ๆ ฉากมันเลยทำให้เราตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา เราอยากถ่าย อยากทำซีนนี้ออกมาให้เห็นแล้ว หรือบางฉากพอเอาไปถ่ายทำแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดก็ออกมาเป็นอีกรสชาติหนึ่งดีนะ คือออกมาเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ตรงนี้ก็ตื่นเต้น

ฉากที่ไม่เป็นอย่างที่คิดแล้วเวิร์กเช่นฉากไหน

เช่นในอีพีสองฉากที่เพลง แปลไม่ออก ขึ้นตอนท้าย ๆ คือจริง ๆ ในบทเป็นตอนที่เต๋ขึ้นเรือ แล้วโอ้เอ๋วก็ขึ้นเรือไปทีหลังแล้วเห็นเต๋ เขารู้สึกว่าเต๋ต้องมีเรื่องอะไรอยู่ในใจ ซึ่งก็ไม่อยากเป็นคนเริ่มเปิดประเด็นก่อนเลยนั่งหันหลังให้กัน เป็นภาพของสองคนที่นั่งหันหลัง ในบทพอเรือออกก็จะตัดแล้วถึงฝั่งเลย แต่ในขณะที่เราไปถ่ายมันมีคิวอะไรที่ผิดพลาดอยู่หลายอย่าง คือพอนักแสดงขึ้นไปนั่งปุ๊บเรือดันออกซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจ เราก็ เห้ย จะคัตหรือไม่คัตดี ตากล้องก็หันมาบอกว่าอย่าเพิ่งคัต ลองดูว่าจะเป็นอย่างไร แล้วตากล้องก็ค่อย ๆ แพนแล้วเรือก็ออกไปเหมือนที่อยู่ในซีรีส์เลย ออกมาภายในช็อตเดียวแล้วผ่านเพลงหนึ่งเพลงด้วย ฉากนี้ก็เซอร์ไพรส์มาก นักแสดงก็ อ้าว คิวไม่ได้ให้เรือต้องออก แต่ก็เล่นนะ เขาก็ได้อิมโพรไวส์ของเขา มีหันมามอง เล่นตามตัวละครของเขาเลย พอจังหวะมันได้ก็ได้ความหมายของเรื่องด้วย ความรู้สึกของการไม่ยอมคุย มีอะไรมากีดกันคือพอเรือออกก็จะมีเสามาบัง ทำให้ภาพเป็น Cinematic ขึ้น แล้วมันออกมาดี

สำหรับบอสสิ่งที่ยึดไว้ที่สุดในการกำกับทุก ๆ เรื่องคืออะไร

สำหรับเราคืออินเนอร์ของตัวละคร ก่อนที่เราจะออกไปกำกับหรือออกไปในสนามจริง เราต้องเข้าใจตัวละครนั้นอย่างแท้จริง ฉะนั้นถ้าเรื่องไหนที่เราไม่เข้าใจจริง ๆ เราก็จะไม่เล่าดีกว่า กลัวเอาไปเล่าแล้วไม่จริงหรือไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไรให้ดีที่สุด คือเราอยากทำงานให้ดีที่สุดแหละ แล้วงานส่วนใหญ่เป็นงานที่เราเล่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ มันเลยเริ่มต้นจากอินเนอร์ ว่าอินเนอร์ตั้งต้นของตัวละครคืออะไร เขาเติบโตมาอย่างไร เขากำลังจะเผชิญกับเหตุการณ์แบบไหน อุปสรรคอะไรในเรื่อง เราจะยึดจากความเข้าใจตลอด ว่าถ้าเราเข้าใจเราจะออกไปทำงานได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่สุดในทุกเรื่องของเรา

จุดที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการกำกับซีรีส์เรื่องหนึ่งคืออะไร 

หนึ่งคือคนดูเข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร อันนี้คือเราแฮปปี้ที่สุดแล้ว สองคือเขาชอบผลงานที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบไหนก็ตามที่อยู่ในเรื่อง เช่นเขาชอบโลเคชัน เสื้อผ้าหรือรายละเอียดศิลปะ ความงดงามในนั้น เราก็โอเคถือเป็นความสำเร็จของเราแล้ว

และสุดท้ายเลยถ้าซีรีส์นี้จะเป็นตัวแทนของใครได้ ดูแล้วเหมือนตอนที่เราดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วรู้สึกว่าตัวละครพระเอก-นางเอกเหมือนเป็นตัวแทนของเราจังเลย เรารู้สึกว่าเราอยากโตไปเป็นแบบนี้ หรือไม่ก็อาจจะรู้สึกว่านี่คือชีวิตเราเลย เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่เป็น Role Model ในชีวิตเราอะไรแบบนี้ คือถ้าซีรีส์เรื่องหนึ่งไปทำงานกับเด็กคนไหนหรือใครที่ได้ดู หรือสามารถเอาไปขบคิด ไปต่อยอดกับชีวิตของเขาได้ สำหรับเราก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

สุดท้ายอยากให้ฝากซีรีส์เรื่องนี้หน่อย

ฝาก แปลรักฉันด้วยใจเธอด้วย เป็นเรื่องราว Coming of Age ที่จริง ๆ กำลังเล่าเรื่องของตัวละครสองคนที่เขากำลังเติบโตไปในทิศทางที่เขาอยากจะเป็น ในระหว่างทางก็จะมีหลาย ๆ เหตุการณ์ที่จริง ๆ แล้วเราส่วนใหญ่ก็เคยผ่านสิ่งเหล่านี้มา หรือใครหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยผ่านมา แต่ก็จะได้เห็นแง่มุมของตัวละครที่กำลังก้าวข้ามเรื่องเพศหรืออะไรบางอย่าง ก็อยากฝากให้ติดตามกัน

ภาพซีรีส์ : นาดาว บางกอก

Fact File

  • ซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I told sunset about you) ออกอากาศตอนใหม่ทุกวันพฤหัสบดีเวลา 20.00 น. และชมย้อนหลังได้ทาง Line TV
  • เพลงประกอบซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ Youtube : Nadao Music
  • ติดตามข่าวสารของซีรีส์และ BKPP Project ทาง Facebook : Nadao Content
  • ติดตาม บอส-นฤเบศ ได้ทาง Twitter และ Instagram : Bosskuno

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"