รำลึกการจากไป เออร์ฟาน ข่าน : ความทรงจำ และจดหมายรักใน The Lunchbox
- เออร์ฟาน ข่าน (Irrfan Khan) นักแสดงชายชื่อดังแห่งบอลลีวูด ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 53 ปี จากเนื้องอกในต่อมไร้ท่อ ณ โรงพยาบาลในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
- ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ทั่วโลกรู้จักชื่อ เออร์ฟาน ข่าน ได้แก่ Slumdog Millionaire, Jurassic World, Life of Pi และ The Lunchbox
วันที่ 29 เมษายน 2563 เออร์ฟาน ข่าน (Irrfan Khan) นักแสดงชื่อดังแห่งบอลลีวูด ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 53 ปี จากเนื้องอกในต่อมไร้ท่อ ณ โรงพยาบาลในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยก่อนหน้านี้เขาได้เข้ารับการรักษาตัวที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นานถึง 2 ปี ถือเป็นการสูญเสียนักแสดงคุณภาพที่ทั่วโลกยอมรับ หลายคนรู้จัก เออร์ฟาน ข่านจาก Slumdog Millionaire, Jurassic World, Life of Pi รวมทั้ง The Lunchbox
Sarakadee Lite ขอรำลึกถึงนักแสดงมากฝีมือคนนี้ ด้วยการพาย้อนสู่มื้ออุ่นๆ The Lunchbox หรือชื่อไทย เมนูต้องมนต์รัก ออกฉายเมื่อปี 2013 โดยในเรื่อง เออร์ฟาน ข่าน รับบทนักแสดงนำ และแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเพียงหนังฟอร์มเล็ก แต่กลับประสบความสำเร็จไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ส่งให้กระแสอาหารดังมาแล้วช่วงหนึ่ง
ด้วยลุคอบอุ่น กับการแสดงที่ได้ความลึกซึ้งภายใต้ความเล่นน้อย หน้านิ่ง และเสียงอ่านจดหมาย ซึ่งค่อยๆ เติมเต็มเรื่องราวความสัมพันธ์ของพระเอก นางเอก ที่สามารถแทรกซึมไปทุกอณูความรู้สึก พร้อมเชื่อมถึงคนดูด้วยเรื่อง อาหาร กับ หัวใจ
งานภาพยนตร์แนวดรามาโรแมนติกเรื่องนี้เล่าถึงความบังเอิญที่เกิดจากการส่งปิ่นโตอาหารกลางวันผิดตัว แต่ความผิดนั้นก็ได้กลายมาเป็นความสัมพันธ์ที่อิ่มอุ่นขึ้นระหว่างซายานและอิลา
ซายาน ( เออร์ฟาน ข่าน แสดง ) พ่อม่ายวัยกลางคนเมียตาย ที่ชีวิตนี้มีแต่งานและงาน ส่วน อิลา (Nimrat Kaur แสดง) คือแม่บ้านคนเก่ง ที่ทำอาหารอร่อย คิดดี มีอารมณ์ขัน แต่ชีวิตคู่ของเธอกับสามีกลับไม่สวยงามสักเท่าไร การสื่อสารระหว่างเธอและสามีแทบไม่มีจุดเชื่อมโยงถึงกันได้เลย
ส่งปิ่นโตผิด แต่ได้สะกิดใจ
ความงามของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การผูกสัมพันธ์ทางความรู้สึก ผ่านข้อความทางจดหมายที่แนบมากับปิ่นโต (จดหมายเขียนด้วยมือ ปากกา และกระดาษ) ซึ่งเริ่มจากการที่ ซายาน เขียนจดหมายบอกอิลาว่า ปิ่นโตดีลิเวอรีฝีมือแม่บ้านที่ต้องส่งให้สามีของเธอได้อิ่มอุ่นทุกมื้อกลางวันในใจกลางเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ถูกส่งผิดมาลงที่โต๊ะทำงานของเขา
ระหว่างที่ซายานและอิลากลายมาเป็นเพื่อนกันทางจดหมาย ฝ่ายชายกำลังอยู่ในช่วงแห่งความโดดเดี่ยวหลังภรรยาของเขาเสียชีวิตลง และตัวเขาเองก็ใกล้จะเกษียณจากงานในตำแหน่งพนักงานบัญชีเต็มที ในขณะที่ฝั่งอิลานั้นก็กำลังเผชิญวิกฤติชีวิตคู่ จนเธอเผลอเปิดเผยความคับข้องใจลงไปในจดหมายถึงชายแปลกหน้าโดยไม่รู้ตัว กระทั่งต่อเนื่องกลายเป็นความรู้สึกลึกซึ้งระหว่างคนสองคน
อาหารที่ทำจากมือและหัวใจ
นอกจากความโรแมนติกแบบที่ไม่มีการพบหน้ากัน และสื่อสัมพันธ์ผ่านข้อความในจดหมายที่สุภาพ ไม่โจ่งแจ้ง ทว่ามัดใจคนดูได้อย่างอยู่หมัดแล้ว The Lunchbox ยังได้สะท้อนถึงอาหารที่เชื่อมโยงความอิ่มท้องกับความอิ่มใจเข้าด้วยกัน โดยหนังได้ให้เวลากับฉากการปรุงอาหารอย่างใส่ใจ และสูตรลับที่มาจาก (เสียง) ของป้าข้างบ้าน หรือเสียงใครสักคนที่คนดูไม่ได้เห็นหรือรู้จัก แต่มันมีบทสนทนาระหว่างแม่บ้านกับคุณป้าคนนั้น ระหว่างที่นางเอกของเราพยายามจะทำอาหารสุดอร่อยเพื่อเรียกใจสามีคืน แม้มันจะเบี่ยงเบนไปอีกทิศทางก็ตาม
หนังอาหารมักจะทำให้อาหารในเรื่องกลายเป็นตัวเอกทันทีที่หนังจบ เรื่องนี้ก็เช่นกันเมนูอาหารที่นางเอกทำด้วยมือใน The Lunchbox ก็เด่นดังเป็นดาราขึ้นมาด้วยทันที ส่วนจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนดูลุกขึ้นมาทำปิ่นโตด้วยหรือเปล่านั้นอาจยังไม่มีหลักฐาน แต่ที่แน่ๆ คือ อาหารในปิ่นโตช่างยั่วน้ำลายให้อยากลิ้มรสเมนูอาหารอินเดียจนกลายเป็นความฮิตในช่วงที่หนังเข้าฉายในเมืองไทยอยู่พักใหญ่
ในเรื่องแม้อาหารที่นางเอกจะเป็นเมนูอาหารง่ายๆ แต่อร่อยได้ใจพระเอก ไม่ว่าจะเป็น เมนูมะเขือม่วงชุบแป้งทอดของอินเดียเหนือ (baingan) มะระยัดไส้สูตรรัฐมหาราษฎระ (Maharashtra) และอาหารที่กินกันทุกบ้านของอินเดียอย่าง ดาล (dal) เมนูแกงและซุปถั่วเอาไว้กินกับข้าวหรือจาปาตี รวมทั้ง ปานีร์ คอฟตา ( paneer kofta) เนื้อก้อนกับแกงใส่เนย
ความลับหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังของผู้สร้างหนัง คือความต้องการใช้อาหารเป็นสื่อเล่าภาวะของตัวละคร อย่าง จาปาตี แผ่นแป้งจี่เหนียวนุ่ม เป็นตัวแทนตัวตนของนางเอก
ปิ่นโตดีลิเวอรี ในมุมไบ
ความดังของหนัง The Lunchbox ได้เปิดตาให้ชาวโลกได้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองมุมไบ เมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของอินเดีย จากวัฒนธรรมของแม่บ้านที่ต้องเตรียมอาหารใส่ปิ่นโตแบบเซ็ตเมนูครบทั้งข้าว แกง และเครื่องเคียง จากนั้นให้คนส่งอาหารปั่นจักรยานหิ้วถุงผ้าใส่ปิ่นโตเป็นพวงไปส่งตรงถึงโต๊ะทำงานของพ่อบ้าน ที่อยู่ตามออฟฟิศต่างๆ ว่ากันว่าวัฒนธรรมส่งปิ่นโตให้สามีที่ทำงานนี้มีตั้งแต่ปี ค.ศ.1890
ระบบ คนรับ-ส่ง ปิ่นโต หรือ ปิ่นโตดีลิเวอรีแมน มีชื่อเรียกในภาษาฮินดีว่า dabbawallahs พวกเขาจะรับปิ่นโตอาหารจากแม่บ้านในช่วงเช้าและไปส่งให้สามีของพวกเธอก่อนเที่ยง และรับปิ่นโตเปล่ากลับมาส่งตามบ้านในช่วงบ่าย เป็นระบบที่ไม่ต้องมีแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีใดๆ แม้กระทั่งพาหนะในการส่งยังเป็นจักรยาน
ระบบโลจิสติกส์การส่งอาหารแบบบ้านๆ ของชาวมุมไบนี้ได้ถูกนำไปศึกษาโดยนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และพบว่าแม้จะไม่มีเทคโนโลยีช่วย แต่ที่ผ่านมาแทบไม่มีการส่งปิ่นโตผิดฝาติดตัว เปอร์เซ็นต์การส่งปิ่นโตผิดมีแค่ 1 ใน 6 ล้าน (ตัวเลขการส่งปิ่นโตในมุมไบทั้งหมด) และ 1 ปิ่นโตที่ส่งผิดนั้นก็อยู่ในพล็อตหนังโรแมนติกลึกซึ้งเรื่องThe Lunchbox
อีกเรื่องที่แจ้งเกิดชื่อของ เออร์ฟาน ข่าน ในวงการภาพยนตร์นานาชาติ ได้แก่ Salaam Bombay หนังปี 1988 ซึ่งได้เผยให้เห็นชีวิตประชาชนในมุมไบ เมืองที่มีคนจนมากและรวยมากอยู่กันมากมาย หนังเรื่องนี้ได้เปิดตาให้โลกภาพยนตร์ได้รู้จักผู้กำกับผู้หญิงของอินเดีย ชื่อ มีรา แนร์ รวมทั้ง เออร์ฟา ข่าน นักแสดงหนุ่มหน้านิ่ง แต่มีฝีมือการแสดงโดดเด่น
นับถึงวันที่เขาเสียชีวิต เออร์ฟา ข่าน อยู่ในอาชีพการแสดงมาแล้วกว่า 30 ปี มีผลงานเฉพาะในอินเดียมากกว่า 50 เรื่อง และผลงานกับฝั่งฮอลลีวูด อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์ Slumdog Millionaire, Life of Pi และ Jurassic World
ขอบคุณภาพ
- Sony Pictures Classics
- Sahamongkol Film
- www.facebook.com/irrfanofficial
เรียบเรียงข้อมูลจาก
- www.smudgeeats.com
- www.gulfnews.com
- www.imdb.com
- www.bbc.com