พระราชประวัติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
- ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า “วิศิษฏศิลปิน” ด้วยทรงมีผลงาน ด้านศิลปะหลายสาขา ทั้งวรรณศิลป์ สังคีตศิลป์ และทัศนศิลป์
2 เมษายน ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Sarakadee Lite ขอประมวลพระราชประวัติ พระอัจฉริยภาพของพระองค์ซึ่งได้ตีพิมพ์ใน นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนเมษายน 2558 บอกเล่าเรื่องราวกว่า 6 ทศวรรษ “เจ้าฟ้า” ผู้เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม
พระราชสมภพ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเรียนหนังสือเยี่ยงสามัญชน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เรียนหนังสืออย่างสามัญชนทั่วไป พ.ศ. 2501 ทรงเข้าศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ขณะพระชนมายุ 3 พรรษาเศษ พ.ศ.2503 ทรงเริ่มหัดอ่านหนังสือ และโปรดการอ่านหนังสือมาก ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จวบจนปัจจุบัน ทรงสนับสนุนการอ่านของประชาชน ดังหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ทรงประจำทุกปี คือ เสด็จฯ เปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รวมทั้งพระราชทานรางวัลแก่ ผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี
พ.ศ. 2515 ทรงสอบได้ลำดับที่ 1 ในการสอบข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยคะแนนรวมร้อยละ 89.30 ต่อมาปี พ.ศ. 2516 ทรงสอบเข้าศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเป็นนิสิตรุ่น อบ.41 สาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย
“…ประโยชน์อย่างหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ คือ ช่วยให้ผู้ศึกษาได้รู้จักใช้ ความคิด รู้จักหาเหตุผลจากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นการลับสมอง และทำให้ได้รับความรู้อันเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์มิได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่รวบรวมไว้เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการตีความ ประเมินคุณค่าของข้อมูลในแง่มุมใหม่ๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่เสมอ) รวมทั้งยังเป็นการคาดคะเนแนวโน้มในอนาคตด้วย”
พระราชนิพนธ์ ในหนังสือ สะพาน : รวมบทความทางประวัติศาสตร์ เล่ม 2
เจ้าฟ้านักเดินทาง
“…ข้าพเจ้าถือว่าการที่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างทั้งในประเทศ และนอกประเทศ เป็นการที่เราจะได้โอกาสศึกษาความเป็นไปของธรรมชาติและสังคม แม้ว่าชั่วชีวิตของคนจะน้อยนักเมื่อเทียบกับชีวิตของธรรมชาติ ภูเขา ทะเล และแม่น้ำ แต่เราอาจจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าในการเรียนรู้ชีวิตเพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติที่เราอาศัยอยู่…”
พระราชนิพนธ์ จากหนังสือพระราชนิพนธ์ ย่ำแดนมังกร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ อยู่เสมอ โปรดการชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และทรงดูงานด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โรงพยาบาล เป็นต้น พระจริยวัตรที่เรียบง่าย รอยแย้มสรวล และ ความตั้งพระทัยในการทรงบันทึกสิ่งต่างๆ ของพระองค์ เป็นภาพงดงามที่สร้างความประทับใจให้แก่ประเทศเจ้าภาพ พระองค์ทรงเป็นดั่งทูตสันถวไมตรีที่เชื่อมสัมพันธ์ไทยกับนานาประเทศ
ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน”
วิศิษฏศิลปิน หมายถึง ผู้เป็นเลิศทางศิลปะ ประเสริฐเลิศกว่าศิลปินทั้งปวง ความเป็นศิลปินของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นที่ประจักษ์จากความเชี่ยวชาญในศิลปะหลายแขนง
ด้านดนตรี ทรงเชี่ยวชาญการเล่นเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีตะวันตก เช่น ซออู้ ซอด้วง ระนาด จะเข้ ขลุ่ย เปียโน ทรัมเป็ต ด้านจิตรกรรม พระองค์ทรงสร้างผลงานฝีพระหัตถ์หลากหลายประเภท ทั้งภาพการ์ตูน ภาพวาดสีน้ำ ภาพวาดสีน้ำมัน ภาพวาดหมึกจีน ภาพวาดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีงานด้านประติมากรรม ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ศิลปะแบบปะปิด เป็นต้น โดยเฉพาะงานฝีพระหัตถ์ภาพการ์ตูนสะท้อนพระอุปนิสัยสนุกสนานและพระอารมณ์ขันของพระองค์
บทเพลงในพระราชนิพนธ์
พระองค์โปรดการเขียนบทกลอน ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ บทกลอนเหล่านี้ ได้แก่ รักแลจันทร์ ชายทะเลพัทยา และกลางพนา เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อง สำหรับเพลงไทยเดิมด้วย เช่น บทร้องสำหรับ เพลงเต่าเห่ เพลงปลาทองเถา และ เพลงตับชมสวนขวัญ เป็นต้น สำหรับตัวอย่างเพลงในพระราชนิพนธ์ ที่หลายคนรู้จักกันดี ได้แก่
- เพลง “ส้มตำ” เป็นเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งคําร้องและทำนองเมื่อปี พ.ศ.2513 เพลงนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายยิ่งขึ้นเมื่อทรงพระราชทานให้นำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ไทย เรื่อง ส้มตำ (พ.ศ. 2516) ขับร้องโดย บุปผา สายชล และ ต่อมาในยุคของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งและ สุนารี ราชสีมา ได้ขับร้องเพลงนี้ในงานคอนเสิร์ตกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ปี 2534
- เพลง “เมนูไข่” ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารที่ทําจากไข่ เมื่อ พ.ศ. 2518 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทํานองเป็นเพลง “เมนูไข่”
- เพลง “ดุจบิดามารดร” ที่มาของเพลงนี้ เดิมเป็นพระราชนิพนธ์ลิลิต “กษัตริยานุสรณ์” ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าให้หม่อมหลวงพวงร้อย อภัยวงศ์ ประพันธ์ทำนองประกอบโคลงส่วนหนึ่งของพระราชนิพนธ์นี้เป็นเพลง “ดุจบิดามารดร” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2516
พระราชนิพนธ์เล่มแรกๆ ของเจ้าฟ้านักอักษรศาสตร์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นปราชญ์ทางด้านภาษาและวรรณศิลป์ ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์ตั้งแต่ทรงศึกษาในระดับประถมฯ ทั้งยังทรงเชี่ยวชาญภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ จีน บาลี สันสกฤต เป็นต้น
พระองค์มีงานพระราชนิพนธ์จำนวนมากทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศในหลายศาสตร์สาขา เช่น หนังสือชุดเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ งานวรรณกรรมเยาวชน ตำราอาหาร งานพระราชนิพนธ์แปลนวนิยายและร้อยกรอง งานวิชาการทั้งด้านการพัฒนา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น
หนังสือพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก คือพระราชนิพนธ์ร้อยกรอง ภาษาฝรั่งเศสเรื่อง Reflexions (ความคิดคำนึง) ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2522 หลังจากทรงเริ่มศึกษาภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2510 ซึ่งถือเป็นภาษาตะวันตกที่ทรงเชี่ยวชาญ
จากนั้นทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์แปลงานวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกจากภาษาฝรั่งเศส โดยทรงใช้นามปากกา “แว่นแก้ว” แปลเรื่อง Rossogols en Cage ของ Madeleine Treherne ในชื่อภาษาไทย “ขบวนการนกกางเขน” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2524
พ.ศ. 2524 พระองค์เสด็จฯ เยือนจีนครั้งแรก และเป็นที่มาของพระราชนิพนธ์ “ย่ำแดนมังกร” อีกเล่มที่เยาวชนไทยรู้จักกันดีคือวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “แก้วจอมแก่น” พระองค์ทรงใช้พระนามแฝงว่า แว่นแก้ว ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2521 และมีภาคต่อ “แก้วจอมซน” ตีพิมพ์ พ.ศ. 2526
นอกจากนี้ยังมีพระราชนิพนธ์แปลจากภาษาเยอรมันเรื่อง “ นิทานโกหกเยอรมัน” ซึ่งเป็นนิทานเก่าแก่ของชาวเยอรมัน ที่เล่ากันแพร่หลาย ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2557
หนังสือบันทึกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ชื่อ “ควงกล้องท่องโลก” รวบรวมภาพถ่ายฝีหัตถ์จำนวน 181 ภาพ ระหว่างการเสด็จราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ช่วงปีพ.ศ 2554-2555 ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2555
ในด้านตำราอาหารนั้นทรงมีพระราชนิพนธ์ “ตำรับทรงปรุง” ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2545 เป็นลายพระหัตถ์รวมเมนูพระราชทาน ทั้งเมนูอาหารว่าง เช่น เผือกสกล และเมนูเครื่องดื่ม เช่น น้ำข้าวตัง มีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ประกอบ รูปเล่มขนาดเล็ก สีสันสดใส
ทรงเป็นนักโภชนากรที่ห่วงใยประชาชน
หากกองทัพต้องเดินด้วยท้อง การพัฒนาประเทศก็ต้องเริ่มจากการที่ประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของโภชนาการกับการพัฒนามนุษย์ ดังที่ทรงริเริ่ม “โครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว” ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสามจังหวัดคือ ราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2523 (ต่อมาคือ “โครงการเกษตร เพื่ออาหารกลางวัน” และพัฒนาเป็น “กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร”) นอกจากจะแก้ปัญหาการขาดโภชนาการแล้ว ยังเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร เรียนรู้ธรรมชาติ และพืชพรรณต่างๆ ในท้องถิ่นของตน
“…ไปเห็นเด็กและเยาวชน หรือแม้แต่คนที่มีอายุมากกว่าวัยเรียน มีสุขภาพอนามัยไม่ดี พยายามคิดว่าจะทำอย่างไร…ก็นึกถึงว่า อาหารการกินน่าจะเป็นเรื่องที่ สำคัญ เพื่อที่จะทำให้คนมีอาหารการกินดี จะมีเรี่ยวแรงในการทำมาหากิน ในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งเรี่ยวแรงทางสมอง เรี่ยวแรงทางร่างกาย…”
พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
อ้างอิง
- http://sirindhorn.net/
- นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนเมษายน 2558