บาร์บี้ หญิงสาวผู้มุ่งมั่นส่งเสริมบทบาทสตรีและความเท่าเทียมในสังคม
- ตุ๊กตาบาร์บี้ปรากฏโฉมครั้งแรกในงาน American International Toy Fair ที่นิวยอร์ก ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1959 จึงถือเป็นวันเกิดอย่างเป็นทางการของ บาร์บี้ ตุ๊กตาขวัญใจเด็กสาวทั่วโลก
- บริษัทแมทเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ได้เปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2020 คือ บาร์บี้ไม่มีผม ผิวด่างขาวใส่ขาเทียมและนั่งวีลแชร์
- ปัจจุบันบาร์บี้มีอาชีพมากถึง 200 อาชีพ และในปี ค.ศ.2019 เธอได้รับการยกย่องจากสมาคมนักออกแบบแฟชั่นของอเมริกาให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น
9 มีนาคมของทุกปี ตรงกับวันเกิดของ ตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งแม้เธอมีอายุกว่า 60 ปี แต่เธอไม่ยอมแก่และล้าสมัยโดยพยายามปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของแต่ละยุคตลอดเวลาเพื่อต่อสู้กับของเล่นและเกมในยุคดิจิทัลที่มีความเสมือนจริงมากขึ้น อีกทั้งเธอยังยืนหยัดว่าเธอไม่ได้เป็นตุ๊กตาแฟชั่นนิสต้าผิวขาว ผมบลอนด์ หุ่นบาง แต่ไร้สมอง ในทางกลับกัน บาร์บี้ พยายามเป็นตัวแทนของผู้หญิงทุกคนด้วยตัวเลือกที่มีความหลากหลายของผิวสี รูปร่าง และอาชีพ เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง ความเท่าเทียมในสังคม และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาว
เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 บริษัท แมทเทล แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ได้เปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ล่าสุดคือ บาร์บี้ไม่มีผม และบาร์บี้ผิวด่างขาวซึ่งเป็นอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสี และบาร์บี้ใส่ขาเทียมและนั่งวีลแชร์ เพื่อลดความแปลกแยกของคนในสังคม
บาร์บี้ ไม่ได้มีแค่รูปร่างผอมเพรียว แต่ยังมีให้เลือกแบบรูปร่างท้วม ตัวเล็กและตัวสูง
หากย้อนไปปี ค.ศ.2016 ทางบริษัทได้ออกบาร์บี้โฉมใหม่ 3 รูปร่างคือ ตัวเล็ก สูง และรูปร่างท้วมมีต้นขาใหญ่ขึ้นและมีหน้าท้องด้วย และยังมีสีผิวให้เลือกถึง 7 เฉดสี สีดวงตา 22 สี แบบผมอีก 24 แบบ เพื่อสยบคำวิจารณ์ว่า บาร์บี้ ทำให้เกิดค่านิยมความงามแบบผิดๆ ว่าต้องผิวขาว ผมบลอนด์ และรูปร่างผอมเพรียว การเพิ่มตัวเลือกของรูปร่างบาร์บี้ครั้งใหญ่นั้นทำให้เธอได้ปรากฏโฉมอยู่บนปกนิตยสาร Time ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2016 พร้อมพาดหัวว่า “Now can we stop talking about my body?” (ตอนนี้จะเลิกพูดถึงหุ่นของฉันได้หรือยัง)
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายเสียงออกมาวิจารณ์ว่าทางบริษัทแมทเทลปรับรูปโฉมให้ บาร์บี้ ช้าเกินไป เพราะกระแสต่อต้านค่านิยมความงามตามแบบฉบับบาร์บี้จากกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีในสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังการเกิดของบาร์บี้ไม่นาน เช่นในปี ค.ศ.1993 มีกลุ่มต่อต้านชื่อ องค์การปลดปล่อยบาร์บี้ หรือ The Barbie Liberation Organization ได้กว้านซื้อบาร์บี้มาเปลี่ยนกล่องเสียงจากเสียงผู้หญิงเป็นเสียงตุ๊กตาทหาร GI Joe และนำออกมาขายใหม่ให้ตุ๊กตารุ่นนี้พูดด้วยน้ำเสียงดุดันว่า “Vengeance is mine” (แค้นนี้ต้องชำระ)
เมื่อปีที่แล้วในโอกาสครบรอบ 60 ปีของบาร์บี้ บริษัทแมทเทลยังได้เพิ่มคาแรกเตอร์ใหม่อีก 20 ตัวสำหรับในไลน์ Role Model เพื่อยกย่องผู้หญิงทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่างๆ อาทิ Tessa Virtue นักกีฬาสเกตน้ำแข็งชาวแคนาดา Naomi Osaka นักกีฬาเทนนิสชาวญี่ปุ่น Rosanna Marziale เชฟอิตาเลียน และศิลปินจีน Chen Man ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2018 ทางบริษัทได้ผลิตคาแรกเตอร์คนดังอย่างเช่น ศิลปินชาวแมกซิกัน Frida Kahlo นักคณิตศาสตร์ขององค์การนาซ่า Katherine Johnson และ Patty Jenkins ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกันชื่อดังจากเรื่อง Wonder Woman เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กสาวทั่วโลกว่าผู้หญิงมีศักยภาพมากพอที่จะประสบความสำเร็จในทุกเส้นทางที่เลือกเดิน
บาร์บี้มีอาชีพมากกว่า 200 อาชีพให้เลือก และจำหน่ายได้มากกว่า 1,000 ล้านตัว
ผู้ให้กำเนิดสาวน้อยตลอดกาล บาร์บี้ คือ รูท แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแมทเทล เธอเกิดไอเดียสร้างตุ๊กตาเป็นรูปสาวรุ่นท่ามกลางตลาดของเล่นในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1950 ที่นิยมจำลองเป็นรูปเด็กน่ารักๆ และสัตว์ชนิดต่างๆ แฮนด์เลอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากลูกสาวชื่อ บาร์บาร่า ที่ชอบเล่นตุ๊กตากระดาษและจินตนาการให้ตัวตุ๊กตานั้นเติบโตขึ้น ตุ๊กตาบาร์บี้ซึ่งตั้งชื่อตามลูกสาวของเธอได้ออกแสดงครั้งแรกในงาน American International Toy Fair ที่นิวยอร์ก ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1959 จึงถือว่าวันนี้เป็นวันเกิดอย่างเป็นทางการของบาร์บี้
บาร์บี้รุ่นแรกมาในชุดว่ายน้ำลายทางขาวดำแบบม้าลาย ผมยาวสีบลอนด์และมีผมหน้าม้า เป็นตัวแทนของแฟชั่นนิสต้าวัยรุ่น เสื้อผ้าทุกชุดออกแบบโดยดีไซเนอร์ของแมทเทล เมื่อวางตลาดในปีแรกมียอดขายสูงกว่า 350,000 ตัว และในปี ค.ศ.1994 เมื่อ บาร์บี้ มีอายุ 35 ปี สามารถขายได้ถึง 775 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประมาณการว่ามีตุ๊กตาบาร์บี้กว่า 1,000 ล้านตัวที่วางขายใน 150 ประเทศทั่วโลก และ 92% ของเด็กหญิงอเมริกันในวัย 3-12 ปี มีตุ๊กตาบาร์บี้อย่างน้อยคนละ 1 ตัว อย่างไรก็ตามยอดขายของ บาร์บี้ เริ่มตกลงตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 จาก 3% จนถึงกว่า 20% ในปัจจุบันโดยมีคู่แข่งคนสำคัญปัจจุบันคือเจ้าหญิงน้ำแข็งเอลซ่า จากค่ายดิสนีย์
จนถึงปัจจุบันผู้ผลิตได้สร้างให้บาร์บี้มีอาชีพมากถึง 200 อาชีพ เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาวด้วยแคมเปญ “You Can Be Anything” และ “Dream Gap Project” อาชีพแรกของเธอคือเป็นบรรณาธิการแฟชั่นเมื่อ ค.ศ.1960 ต่อมาเป็นพยาบาลและแอร์โฮสเตส (ค.ศ.1961) ผู้บริหาร (ค.ศ.1963) นักบินอวกาศ (ค.ศ.1965) หมอผ่าตัด (ค.ศ.1973 ในช่วงที่อาชีพนี้มีอัตราผู้หญิงแค่ 9%) ประธานาธิบดี (ค.ศ.1992) จนถึงผู้ประกาศข่าวและนักแข่งรถ (ค.ศ.2010) วล็อกเกอร์ (มี vlog ใน YouTube ค.ศ.2015) หัวหน้าเชฟ (ค.ศ.2016) และผู้พิพากษา (ค.ศ.2019)
เรื่องราวของ บาร์บี้ ยังได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันในรูปแบบ 3D ในชื่อ Barbie in the Nutcracker ในปี ค.ศ.2001 และอีกหลายเรื่องต่อมา และในปี ค.ศ.2018 มีซีรีส์แอนิเมชันชื่อ Barbie Dreamhouse Adventures ใน Netflix
ผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นมาหลายทศวรรษ
ถึงบาร์บี้จะถูกสร้างให้มีอาชีพหลากหลายแต่ภาพลักษณ์ของแฟชั่นไอคอนยังติดตาเสมอ บาร์บี้มีอินสตาแกรมของตัวเองในชื่อ @Barbiestyle และมีผู้ติดตามถึง 2 ล้านคน
บาร์บี้ยังได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นของอเมริกามาหลายทศวรรษโดยเธอได้รับรางวัล Board of Directors’ Tribute ประจำปี 2019 จากสมาคมนักออกแบบแฟชั่นของอเมริกา (Council of Fashion Designers of America หรือ CFDA) และสตีเวน คอล์บ ประธานและซีอีโอแห่ง CFDA ได้กล่าวว่า
“ตุ๊กตาบาร์บี้มีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นและวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน อีกทั้งเรื่องราวของเธอยังสะท้อนถึงสมาชิกของ CFDA หลายต่อหลายคน ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมการจึงเห็นสมควรมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้เพื่อเป็นการยกย่องเธอ”
บุคคลที่เคยคว้ารางวัลในสาขาเดียวกันนี้มาก่อน อาทิ มิเชล โอบามา, ทอม ฟอร์ด,จาแนลล์ โมเน่ และกลอเรีย สไตเนม
ในอินสตาแกรมของเธอลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2019 และเช็กอินที่ Brooklyn Museum มีรูปบาร์บี้ในชุดเดรสยาวสีดำปักเลื่อมสีโทนชมพูออกแบบโดย DVF ถือรางวัลนี้พร้อมข้อความว่า “ค่ำคืนนี้เป็นคืนที่สุดแสนพิเศษของวงการแฟชั่นอเมริกัน และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมและได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้จาก CFDA”
อ้างอิง
- ภาพ: บริษัทแมทเทล (Mattel)
- นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 109 เดือนมีนาคม พ.ศ.2537
- nyti.ms/2TltCuR
- bit.ly/39jqLYM