กำเนิด Astro Boy เจ้าหนูอะตอม ผู้พลิกฟื้นญี่ปุ่นหลังสงคราม
Faces

กำเนิด Astro Boy เจ้าหนูอะตอม ผู้พลิกฟื้นญี่ปุ่นหลังสงคราม

Focus
  • เจ้าหนูปรมาณู หรือ เจ้าหนูอะตอม (Tetsuwan Atomu หรือ Astro Boy)ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยการสร้างสรรค์ของเทซูกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูน
  • Tetsuwan Atomu อนิเมะเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก ไปถึงยุโรป อเมริกา โดยใช้ชื่อ Astro Boy ส่วนฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ เจ้าหนูปรมาณู

เจ้าหนูปรมาณู หรือ เจ้าหนูอะตอม ไม่ใช่เพียงอนิเมะเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่นี่ยังเป็นผลผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้คนทั่วโลกลบภาพสงครามและหันกลับมารักญี่ปุ่นอีกครั้ง รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณ การแสดงจุดยืนอย่างแนบเนียนเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่ทางญี่ปุ่นบอกเล่าประโยชน์ผ่านความน่ารักของ เจ้าหนูอะตอม

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ระเบิดปรมาณูสองลูก ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ เป็นเหตุความรุนแรงที่ระงับศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีญี่ปุ่นเป็นฝ่ายผู้แพ้สงคราม พร้อมกับความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและสภาพแวดล้อมจากแรงระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์

เจ้าหนูอะตอม

7 ปี ต่อมา เจ้าหนูปรมาณู หรือ เจ้าหนูอะตอม (Tetsuwan Atomu หรือ Astro Boy)ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยการสร้างสรรค์ของ เทซูกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนที่กลายมาเป็นต้นแบบลายเส้นการ์ตูนฉบับญี่ปุ่น และพัฒนามาเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสำหรับฉายทางโทรทัศน์ เน้นการเล่าเรื่องในแนวไซไฟใส่ความวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ลงไปในการ์ตูนรวมทั้งเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ และต่อมาตัวการ์ตูน เจ้าหนูอะตอม ยังได้กลายเป็นผู้เบิกทางให้การ์ตูนอนิเมะของญี่ปุ่นให้ดังไกลไปทั่วโลก Sarakadee Lite ชวนไปรู้จักเจ้าหนูอะตอมในมุมที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

เจ้าหนูอะตอม
เทซูกะ โอซามุ

สงครามโลกครั้งที่ 2 และการกำเนิดเจ้าหนูอะตอม

ค.ศ.1952 หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว 7 ปี เทซูกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) นักเขียนการ์ตูนลายเส้น ปรมาจารย์ด้านการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีผลงานกว่า 400 เรื่อง ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเรื่อง เท็ตสึวัน อะตอม (Tetsuwan Atom) โดยมีตัวละครเอกคือ เจ้าหนูอะตอม หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการเสียชีวิตของลูกชายดอกเตอร์เทนมะ (Doctor Tenma) เจ้าหนูอะตอม ออกจะแปลกกว่าหุ่นยนต์ตัวอื่นตรงที่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์

ต่อมาในปี ค.ศ.1963 เท็ตสึวัน อะตอมฉบับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันออกอากาศทางโทรทัศน์ และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจนสถานีโทรทัศน์ NBC ของสหรัฐอเมริกา ได้นำไปฉายพร้อมพากย์เสียงภาษาอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อจากเรื่องTetsuwan Atomเป็น Astro Boy และต่อมาในฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ เจ้าหนูปรมาณู

เจ้าหนูอะตอม

เจ้าหนูอะตอมกับภารกิจสร้างสันติภาพ

เทซูกะ โอซามุ ผู้สร้างสรรค์ ได้ออกแบบให้ตัวการ์ตูน เจ้าหนูอะตอม เกิดมาพร้อมภารกิจ “ทูตสันติภาพ” ในสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับพวกต่างดาวที่เป็นคู่แฝดของชาวญี่ปุ่นเอง เรื่องราวเริ่มต้นของ Astro Boy มีว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในจักรวาลอันไกลโพ้น ดาวแฝดของโลกระเบิด ผู้คนบนดาวดวงนั้นอพยพออกมาทันเวลา พวกเขาใช้ยานอวกาศขนาดยักษ์จำนวนหลายลำขนประชากรทั้งหมดหลบหนี ยานเหล่านั้นได้ชื่อตามชนชาติที่อาศัย คือ ยานญี่ปุ่น ยานอเมริกัน และยานอังกฤษ

ยานญี่ปุ่นเดินทางผ่านอวกาศ 2,000 ปี จึงมาถึงดาวโลก คนบนยานนั้นเป็นคู่แฝดของชาวญี่ปุนบนโลกชาวโลกชนชาติญี่ปุ่นต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดีทว่า ดอกเตอร์เทนมะ นักวิทยาศาสตร์ผู้เก่งกาจ กลับคิดว่า คู่แฝดจากยานนั้นจะมาแย่งอาหารและทรัพยากรจากโลก เขาจึงคิดค้นอาวุธร้ายแรงเพื่อกำจัดพวกนั้นไป จึงเกิดการต่อสู้กัน

ตัวละคร เจ้าหนูอะตอม ที่เกิดจากการสร้างของนักวิทยาศาสตร์ชื่อ ดอกเตอร์เทนมะ กลับยืนหยัดขัดขวางสงคราม เจ้าหนูทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพ เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างคนบนดาวโลกกับต่างดาว

เจ้าหนูอะตอม

เจ้าหนูอะตอมงานต้นแบบในแวดวงอนิเมะ

เจ้าหนูอะตอม จัดให้เป็นการ์ตูนแนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) โดยแก่นของเรื่อง คือการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์ ที่ชื่อเจ้าหนูปรมาณู และเป็นคำถามปลายเปิดที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมผู้อ่านได้ถกเถียงกันต่อ เนื้อเรื่อง Astro Boy ถือเป็นหัวขบวนของการ์ตูนแนวไซไฟที่ส่งต่อถึงเรื่องต่อ ๆ มา อาทิ Ghost in the Shell ซึ่งออกฉายปี ค.ศ. 1995 และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของภาพยนตร์ไตรภาค The Matrix

อนิเมะเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ดังในต่างแดน

ช่วงปี ค.ศ.1963 เจ้าหนูปรมาณู ผู้เบิกทางอนิเมะญี่ปุ่นในระดับโลก เมื่อมันเป็น อนิเมะเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก ไปถึงยุโรป อเมริกา โดยใช้ชื่อ Astro Boy ส่วนฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ เจ้าหนูปรมาณูเข้าฉายในเมืองไทยครั้งแรก ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม

ในปี ค.ศ.1988 ช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นหลุดพ้นจากความพินาศหลังสงครามพัฒนาก้าวกระโดดไปเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์แอนิเมชันที่เปิดฉายในโรงภาพยนตร์เรื่อง Akira (อากิระไม่ใช่คน) สร้างสรรค์โดยโอโตโมะ คัตสึฮิโระก็สร้างปรากฏการณ์อนิเมะครองโลกต่อยอดจากการ์ตูน Astro Boy

Astro Boy

เทซูกะ โอซามุ ปรมาจารย์การ์ตูนญี่ปุ่น

เทซูกะ โอซามุ ผู้วาดเจ้าหนูอะตอมได้รับยกย่องให้เป็น ผู้วางรากฐานของมังงะหรือการ์ตูนลายเส้นเล่าเรื่อง และภาพยนตร์แอนิเมชันแบบญี่ปุ่น ที่มีลักษณะเฉพาะตัวกลายเป็นเอกลักษณ์งานการ์ตูนแบบญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ชื่อเรียก มังงะ และ อนิเมะ กลายเป็นชื่อตระกูลของงานศิลปะแขนงหนึ่งไปโดยปริยาย

สิ่งที่ปรมาจารย์โอซามุวางรากฐานไว้สำหรับการ์ตูนญี่ปุ่น หรือมังงะ คือ การเขียนด้วยเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ การจับภาพระยะไกล ระยะกลาง ระยะใกล้ และระยะประชิด มีการแพนภาพ(มุมมองภาพขยับไปตามแกนแนวนอน) มีการตัดต่อ มีมุมเงย มุมกด มุมสูงเหมือนมองจากข้างบนหรือBird’s-eye view และมีช่องใส่ตัวอักษรแทนเสียงประกอบหรือซาวนด์เอฟเฟกต์ทั้งนี้การเขียนการ์ตูนด้วยเทคนิคของการถ่ายทำภาพยนตร์ ทำให้คนอ่านและผู้ชมเข้าใจอารมณ์และเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารได้ง่ายมาก แม้ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น หรือไม่ต้องมีเสียงและคำบรรยาย ก็สนุกกับการ์ตูนเรื่องนั้น ๆ ได้

อีกสิ่งที่ปรมาจารย์โอซามุสร้างไว้และได้กลายเป็นความโดดเด่นของอนิเมะญี่ปุ่นที่แตกต่างจากแอนิเมชันของฝั่งตะวันตกอย่างสิ้นเชิงจนทำให้ผู้ชมและนักวิจารณ์ทั่วโลกตื่นตาตื่นใจหลังจากได้ชม เจ้าหนูปรมาณูคือ การมี “ฉากหลัง” เคลื่อนไปเคลื่อนมาตลอดเวลา ขณะที่ตัวการ์ตูนออกท่าทางต่าง ๆ เป็นภาพนิ่ง ซึ่งต่างจากการ์ตูนแอนิเมชันของฝั่งตะวันตกที่มักจะอาศัยการเคลื่อนที่ของตัวการ์ตูนในส่วนฉากหน้าของจอภาพเป็นหลัก

Astro Boy
Astro Boy ฉบับขาวดำ ฉายทางโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่น

ไม่เพียงเท่านั้นอีกความโดดเด่นของอนิเมะญี่ปุ่นที่ปรมาจารย์โอซามุสร้างสรรค์ไว้ คือ โครงเรื่องที่แตกต่างหลากหลาย มีพล็อตหลัก พล็อตรอง ตัวละครและการแสดงออกที่มีความกำกวม เปิดโอกาสให้ผู้อ่านและผู้ชมตีความและคาดเดาเรื่องราวหรือบทสรุปได้หลายทางเรียกว่าไม่ต่างจากภาพยนตร์ ขณะที่แอนิเมชันของตะวันตกจากค่ายดิสนีย์ที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในอดีต จะทำการแยกฝั่งความดี ความชั่วและตัวละครขาว-ดำ บทสรุปของเรื่องจบที่ความดีเอาชนะความชั่วได้ทุกครั้ง

ลายเส้นตัวการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ เทซูกะ โอซามุ บุกเบิกไว้ ยังมีลายเส้นตาโต สาวแบ๊ว กับการเขียนการ์ตูนผู้หญิงดวงตากลมโตเป็นพิเศษ ซึ่งแสดงอารมณ์ได้ชัดเจน รัก ชื่นชม ปลื้ม ตกตะลึง ริษยาและเกลียดชังเป็นลักษณะเด่นของตัวการ์ตูนหญิงใสซื่อและบริสุทธิ์ ต้นแบบของ “ความแบ๊ว” ขณะที่ตัวการ์ตูนหญิงที่ผ่านโลกมากขึ้น จะมีลักษณะดวงตาเรียวรีแหลมเล็กกว่า

Astro Boy
Astro Boy ( เวอร์ชัน ค.ศ.1980-1981)

อนิเมะญี่ปุ่นสร้างชาติ

จริง ๆ แล้วก่อนจะมีอนิเมะนั้น ภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นเพื่อการค้าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1917 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1แต่เป็นแค่หนังสั้น และเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเทพนิยายหรือนิทานปรัมปราเป็นส่วนใหญ่

ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2ซึ่งตรงกับปี ค.ศ.1943 มีภาพยนตร์การ์ตูนที่เข้าข่ายภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์ หาความชอบธรรมให้กับการเข้าร่วมสงคราม เรื่อง Momotaro no Umiwashi เรื่องเกี่ยวกับกองเรือที่บังคับการโดยสิงสาราสัตว์ที่รวมพลเข้าต่อสู้กับกองทัพอเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์

อนิเมะของญี่ปุ่นกลับมาได้รับความนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนทางกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่กำลังตกต่ำ อนิเมะส่วนใหญ่สร้างจากบทและตัวละครที่เคยเป็นการ์ตูนลายเส้นในหนังสือการ์ตูนหรือมังงะมาก่อน จึงมีฐานผู้ชมติดตามต่อเนื่อง และได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยพลิกฟื้นญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพประกอบ : tezukainenglish.com

ต้นเรื่อง

  • นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2545 และ ตุลาคม 2545          

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป