รู้จัก Lalalhuay ศิลปินที่ชอบวาดอาหารและผู้อยู่เบื้องหลังลายเส้น Butterbear
Faces

รู้จัก Lalalhuay ศิลปินที่ชอบวาดอาหารและผู้อยู่เบื้องหลังลายเส้น Butterbear

Focus
  • Lalalhuay (ลาลาหลวย) คือชื่อนามปากกาของ สวย-ศิรดา วงศ์ทองศรี ศิลปินที่ชื่นชอบการวาดภาพอาหารเป็นชีวิตจิตใจ
  • เพจ Lalalhuay ถือเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้สวยได้ร่วมงานกับแบรนด์ไทยมากมายรวมถึง บูม-ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Butterbear

น่ารักไหมไม่รู้ แต่รอให้รักอยู่นะรู้ไหม…เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่มาแรงแซงทุกโค้งในช่วงนี้เลยสำหรับดาราสาว “น้องเนย” มาสคอตหมีนุ่มนิ่มประจำแบรนด์ Butterbear ที่ทำเอาหลายคนสมัครใจเป็นพี่เลี้ยงและมัมหมีให้กับเจ้าเด็กเล็กใน #ด้อมน้องเนย คอยตื่นมาส่งน้องไปโรงเรียนและรออัปเดตจากคุณป้าน้องเนยทุกวัน แถมตอนนี้ยัยน้องยังได้เดบิวต์ขึ้นสเตจ T-POP มีเพลงฮิตหลักล้านวิวเป็นของตัวเองและล่าสุดกับการได้รับตำแหน่งพรีเซนเตอร์หน้าใหม่วัย 3 ขวบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย จุดนี้เราเลยอดไม่ได้ที่จะชวนทุกคนไปพูดคุยและทำความรู้จักกับศิลปินผู้วาดคาแรคเตอร์น้องเนยกันหน่อย ว่าเจ้าของลายเส้นที่อยู่เบื้องหลังน้องหมีหน้าตาจิ้มลิ้มที่เข้าไปอยู่ในใจแม่ๆ ตอนนี้คือใครกันนะ

Butterbear
Lalalhuay
สวย-ศิรดา วงศ์ทองศรี (Lalalhuay)

“น้องเขาเป็นหมีไงคะ เขาเป็นหมีจริงๆ” สวย-ศิรดา วงศ์ทองศรี กล่าวด้วยรอยยิ้มขณะเล่าให้เราฟังถึง น้องเนย หรือ Butterbear หนึ่งในผลงานที่ภูมิใจและเปิดโอกาสหลายๆ อย่างให้กับเธอ ศิลปินมัมหมีคนนี้มีนามปากกาว่า Lalalhuay (ลาลาหลวย) ซึ่งมีที่มาจากการผสมคำระหว่าง Lala (ลาลา) เสียงฮัมยามคนเราได้ทำสิ่งที่มีความสุข และ Lhuay ที่ผันมาจากชื่อเรียกในคณะ ตอนเธอศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยบูรพา

“การวาดรูปสำหรับเราคือการผ่อนคลาย ว่างๆ เราจะชอบหยิบขึ้นมาวาด เราจะมีสมุดและปากกาไว้ในกระเป๋าตลอด ตอนเรียนเรารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่เราทำได้ดี” 

เหมือนกับหลายคน สวยเริ่มติดตามงานศิลปะจากการหลงรักการ์ตูนตาแป๋วที่ดูเข้าถึงง่ายที่สุดแล้วสำหรับเธอในตอนนั้น ขณะที่ของเล่นในตอนเด็กคือกระดาษหน้าหลังของเอกสารที่คุณพ่อมักหยิบติดมาให้เธอวาดเขียนจากที่ทำงาน สวยเติมเต็มกระดาษหน้าว่างด้วยจินตนาการ เริ่มต้นจากการวาดคน ขอคุณพ่อไปฝึกหัดวาดสีน้ำ จนปัจจุบันที่ศึกษาการวาดบนโปรแกรม Procreate บนไอแพดให้ภาพที่ออกมามีเทกเจอร์เหมือนกับการวาดสีน้ำ ในที่สุดก็เจอสไตล์การวาดที่เธอชอบ นั่นคือภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและดีเทลในสีละมุนตาจนกลายมาเป็นจุดเด่นในงานของเธอ

Lalalhuay
Lalalhuay

6 ตุลาคม พ.ศ.2563 เพจ Lalalhuay เปิดเป็นสาธารณะเพื่อเก็บรวบรวมผลงานของตัวเอง มีสอน How-To วาดรูปลงสีบ้างตามโอกาส และเริ่มออกแบบธีมสำหรับแอปพลิเคชัน Line ขึ้นมาเป็นโปรดักต์แรก หากคุณไปส่องหน้าอินสตาแกรมของเธอไม่ต้องเลื่อนหน้าโปรไฟล์นานก็พอรู้ เบเกอรีและของหวานคือสิ่งที่สวยชอบวาด 

“สวยเป็นคนชอบกิน เวลาเราได้ไปกินของอร่อยๆ จะอยากเก็บมาวาด อยากบรรยายความรู้สึกตอนนั้นว่ามันอร่อยมากเลยนะ ดูสิ อยากให้คนได้รับรู้ความรู้สึกนั้นเหมือนกันกับเรา (หัวเราะ) สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเพจสวยด้วยเหมือนกันค่ะ” 

Butterbear
สวย-ศิรดา และทีม Butterbear

ไปๆ มาๆ ก็ Lalalhuay นี้เองที่เป็นประตูบานสำคัญให้ลูกค้าหลายคนมาเจอเธอ รวมถึง บูม-ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Butterbear “สวยเคยร่วมงานกับคุณบูมมาก่อนค่ะ เราทำงานด้วยกันมานานอยู่เหมือนกัน สวยเคยวาดแพ็กเกจจิงของโดนัทให้กับแบรนด์ Coffee Beans By Dao ซึ่งพอมีอีกแบรนด์หนึ่งเกิดขึ้นมา เราเลยได้คุยกันว่ามาทำด้วยกันไหม เขาอยากให้เราลองทำดู เพราะจริงๆ แล้วปกติสวยไม่ได้ทำงานวาดคาแรกเตอร์ แต่เพราะเขาเชื่อใจเรามาก เราเลยโอเค สวยเองก็อยากทำงานกับเขาอยู่แล้ว จากที่ร่วมงานกันมาก็โฟลว์มากๆ เป็นการคอลแลบกันระหว่างแบรนด์กับดีไซเนอร์ที่มีการแชร์ไอเดียร่วมกันอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ เราเลยรู้สึกสบายใจด้วย” สวยเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ย้อนไปได้ตั้งแต่ Day 1 ทั้งยังเสริมอีกว่าสีของน้องเนยแทบจะเป็นสีเดียวกับดราฟต์แรกที่เธอออกแบบ โดยมีอินสไปร์มาจากคาแรคเตอร์หมีจากความทรงจำในวัยเด็กบวกกับความตั้งใจออกแบบให้น้องเนยมีความนุ่มนิ่ม น่ารัก ดูละมุน และชอบกิน 

Butterbear

“ตอนที่เราเห็นน้องออกมาอยู่บนแพ็กเกจจิง เราก็ดีใจแล้วว่างานที่เราทำ คาแรคเตอร์ที่เราวาด เขาออกมาน่ารักมากเลยนะ ทุกคนต้องชอบแน่เลย เรายังคุยกับคุณบูมอยู่เลยว่าทุกคนต้องเอ็นดูน้องแน่ๆ” เป็นจริงดังว่า น้องเนยได้รับการพูดถึงบนโซเชียลมีเดียมหาศาลแปรผันตรงกับแม่ๆ พี่ๆ ที่รอส่องตารางงานเพื่อไปเจอความนุ่มนิ่มของดาราสาวที่มาให้พบเจอตัวจริงกันที่หน้าร้าน Butterbear ศูนย์การค้า Emsphere ไม่ว่าจะด้วยความหลงใหลในท่าทีน่าเอ็นดู สเต็ปเท้าไฟเต้นได้ทุกเพลงหรืออาการขี้เขิน แต่ชอบเปิดพุงเต่ง ก็ล้วนเป็นยัยเนยสาม 3 ขวบยาใจของชาวออฟฟิศในยามเหนื่อยล้า หรือไม่ก็เป็นน้องเนยนี่เองที่ปลุกความฝันในวัยเด็กให้หัวใจของผู้ใหญ่ได้กลับไปเห็นตุ๊กตาพี่หมีตัวโปรดเต้นดุ๊กดิ๊กกันอีกครั้ง

Butterbear

“มีคนส่งของมาให้สวยด้วยนะคะ เขาบอกว่าขอบคุณที่วาดคาแรคเตอร์น้องขึ้นมา วันนั้นเป็นวันที่สวยร้องไห้เลย เป็นการร้องไห้ที่ดีใจมากที่งานเรามีคนชอบขนาดนี้ งานที่เราร่วมออกแบบมีคนรักและเอ็นดูมากขนาดนี้ เราเห็นเขาเป็นลูก น้องเนยมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก เขาน่ารัก มีคนแอบถามหลังไมค์เรามาเยอะมากเหมือนกัน เราก็จะบอกว่าเขาเป็นหมีไงคะ เขาเป็นหมีจริงๆ” สวยพูดถึงน้องเนย ที่แม้แต่เธอเองก็ยังตกใจในความฮอตและกดซื้อพวงกุญแจกับเขาไม่ทัน

Lalalhuay

แต่นอกจาก Butterbear ที่เป็นความภูมิใจ เธอยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับหลายแบรนด์ในไทยแบบที่ฝัน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อาหารอย่างรสดี ที่ปลุกแรงบันดาลใจให้เธอได้ทดลองเข้าครัวบนไอแพด ปรุงอาหารไทยด้วยอุปกรณ์ Apple Pencil และคลุกเคล้าวัตถุดิบโดยการวาดทุกองค์ประกอบสำหรับทุกขั้นตอนออกมาเป็นคลิปวิดีโอเฉลิมฉลองวันซุปหรือ National Soup It Forward Day นอกจากนี้ในสายแฟชั่นยังได้ขยับจากการออกแบบลายผ้าสำหรับเสื้อผ้าเด็ก มาคอลแล็ปกับ Kloset & Etcetera ในคอลเลกชัน Ohayo Ice Tsu ที่ให้บรรยากาศของซัมเมอร์ ไอศกรีม และสีสันของท้องทะเลโอกินาวา

Lalalhuay

“ปีนี้เป็นปีที่สวยได้ทำหลายอย่างเยอะมากเลยค่ะ ปกนิยายก็เป็นอีกหนึ่งความฝันที่เราได้ทำ จากตอนเด็กๆ ที่เราอ่านนิยายก็เคยมีความฝันว่าถ้าได้วาดปกคงจะดี จังหวะที่เขาติดต่อมาและเป็นเรื่องเกี่ยวกับเบเกอรีด้วย สวยเลยรู้สึกว่าอยากทำมาก เป็นงานที่เรารู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่เราอยากทำ” สวยเล่าพร้อมกับหยิบหนังสือนิยายญี่ปุ่น อากานานะเบเกอรี ขอให้วันนี้หอมกรุ่น ของสำนักพิมพ์ Lumi ให้เราดู ปิดท้ายด้วยการตอบคำถามถึงสิ่งที่เธออยากทำต่อไปในเส้นทางศิลปิน

Lalalhuay

“ถ้ามีงานแสดงผลงานสักหนึ่งครั้งก็คงดีค่ะ เพราะเรายังไม่เคยแสดงผลงานเลยคิดว่าน่าลองดูเหมือนกัน มีช่วงหนึ่งที่สวยลองไปออกบูท เราเอาของไปขาย ได้ไปเจอคน มีช่วงหนึ่งที่สวยเหนื่อยกับงาน แต่การได้ไปตรงนั้นและเจอคนที่มาให้กำลังใจเรา คนที่ชอบผลงานของเรา เหมือนกับการได้ไปเติมพลัง ได้ไปเจอเพื่อนศิลปินก็แฮปปี” 

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม