Applesoda นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่กับแอนิเมชันแคมเปญโฆษณาที่ได้แรงบันดาลใจจากสตูดิโอจิบลิ
- นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ เบิร์ด–อภิวัฒน์ พุฒตาลศรี Applesoda ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสกินแคร์ใหม่ของ Shiseido ในรูปแบบแอนิเมชัน
- Mood & tone และความมินิมอลของแอนิเมชันได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของสตูดิโอจิบลิโดยเฉพาะเรื่อง Only Yesterday
ภาพวาดสไตล์มินิมอลเรียบง่าย แต่เล่าเรื่องราวได้อย่างครบถ้วนบวกกับ mood & tone ที่ได้แรงบันดาลใจจากแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิ ทำให้ผลงานของนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ เบิร์ด-อภิวัฒน์ พุฒตาลศรี หรือชื่อในวงการศิลปะ Applesoda เตะตาโปรดักชันเฮาส์ samplespace.me ที่กำลังมองหาศิลปินวาดภาพสำหรับแอนิเมชันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังของญี่ปุ่น Shiseido
นั่นจึงเป็นที่มาของแอนิเมชันความยาว 1.06 นาที ที่เป็นแคมเปญของประเทศไทยเพื่อโปรโมตสกินแคร์ใหม่ชื่อ Shiseido Vital Perfection ในแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Shiseido (Thailand) ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงสาวที่มีผิวพรรณอ่อนเยาว์และเชื่อมโยงไปถึงคุณสมบัติเด่นของส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ให้ดูน่าสนใจและน่าติดตาม
“ตอนนั้นทาง Shiseido กำลังจะเปิดตัวโปรดักส์ใหม่แล้วอยากได้แอนิเมชันที่มีความเป็นญี่ปุ่น และเล่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ คีย์เวิร์ดหลักเลยคือเขาอยากได้กลิ่นอายแบบสตูดิโอจิบลิ อาจจะฟังดูเข้าข้างตัวเอง เหมือนแบบว่าเขาอยากได้งานสไตล์เราพอดี เลยตัดสินใจว่าเป็นงานที่เราต้องทำต่อ ให้เดือดยังไงก็ต้องทำให้ได้” เบิร์ดซึ่งเป็นแฟนตัวยงของสตูดิโอจิบลิอยู่แล้วกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการทำแคมเปญ
เริ่มด้วยการเดินทางของสตอรีบอร์ดที่ศิลปินร่วมกันพัฒนากับโปรดิวเซอร์ในทีมของโปรดักชันเฮาส์ โดยมีการแก้ดราฟประมาณสามถึงสี่ครั้งก่อนจะออกมาเป็นตัวไฟนอล และเมื่อได้รับการอนุมัติทุกอย่างจากทางแบรนด์จึงเริ่มสร้างแอนิเมชัน
“หลักๆ คือเป็นการเล่าความพิถีพิถัน ความใส่ใจกว่าจะมากลายเป็นโปรดักส์ใหม่ว่ามีขั้นตอน ที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังมันน่าสนใจกว่าที่ทุกคนคิดมากแบบย้อนไปไกลหลายร้อยปีก่อนเลย”
ในประเทศญี่ปุ่นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่าผู้หญิงสวยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดยามากาตะ (Yamagata) จึงทำให้ทางทีมค้นคว้าและวิจัยของ Shiseido สืบค้นข้อมูลพบว่าเมื่อราว 450 ปีก่อนในเขตโมกามิ (Mogami) ของยามากาตะ มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศสำหรับเพาะปลูก “ดอกคำฝอย” สายพันธุ์โมกามิ (Mogami Safflower) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุดและเก็บเกี่ยวได้ปริมาณมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจึงนิยมนำดอกคำฝอยชนิดนี้มาทำเป็นสมุนไพรเพื่อบำรุงผิวทำให้ผิวพรรณดูอ่อนวัย
ในปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดยามากาตะ (Yamagata) ยังคงพัฒนาภูมิปัญญาการเพาะปลูก Mogami Safflower เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเกษตรกรและคนในพื้นที่ให้ออกมาได้ดีที่สุด ทางแบรนด์จึงได้ส่งทีมไปเก็บภาพตัวอย่างของสถานที่จริงเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างสำหรับทีมผลิตแอนิเมชันด้วย
สำหรับเบิร์ดใช้เวลาในการวาดภาพทั้งหมดประมาณ 1 เดือนสำหรับแอนิเมชันที่ใช้เทคนิคผสมแบบ 12 และ 8 เฟรมต่อวินาที เขาได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากแอนิเมชันของจิบลิเรื่อง Only Yesterday โดยเฉพาะในฉากที่นางเอกย้ายไปอยู่ที่ชนบทและฉากทุ่งดอกไม้ แต่ศิลปินได้ปรับให้มีการใช้สีโทนสดใสและอบอุ่นมากขึ้นผสมกับการใช้ลายเส้นที่มีความเป็นตัวเอง
“จากข้อมูลและรูปภาพที่เราได้จากทางแบรนด์ เราพยายามถ่ายทอดบรรยากาศบ้านเมืองในยามากาตะ และสีของทุ่งดอกไม้ ตัวละครที่เห็นในแอนิเมชันที่เป็นคุณลุงและคุณยายก็มีตัวตนจริงคือเป็นเกษตรกรจริงๆ ส่วนตัวละครหลักคือผู้หญิงเป็นตัวละครสมมุติที่สร้างขึ้นมาให้เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องโดยมีแรงบันดาลใจมาจากหญิงสาวจากเมืองยามากาตะที่มีผิวพรรณดี”
เบิร์ดกล่าวว่าเขาได้ลองผิดลองถูกมากมายกับผลงานชิ้นนี้ เพราะด้วยความที่อยากถ่ายทอดถึงความพิถีพิถันกว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จึงมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาร์ตไดเรกชัน การลองวาดตัวละครในลายเส้นหลายแบบ เช่น การวาดลายเส้นแบบสตูดิโอจิบลิ หรือการวาดลายเส้นที่วาดขึ้นมาใหม่โดยอิงจากรูปถ่ายสถานที่จริง
“สิ่งที่ค่อนข้างท้าทายก็คือการแคปเจอร์ภาพวิวทิวทัศน์ของเมืองยามากาตะให้ออกมาโดยยังคงหัวใจและกลิ่นอายความเป็นเมืองนั้นออกมาในภาพวาดเราให้ยังครบสมบูรณ์อยู่ไม่ตกหล่น เส้นทุกเส้น ดอกไม้ทุกดอก และทุกสีที่เราวาดลงไปต้องสื่อความหมายได้ ปกติแล้วงานส่วนตัวผมจะออกแนวมินิมอล แต่งานนี้ก็คือวาดดอกไม้เป็นร้อยๆ ดอก วาดใบไม้ทีละใบ ทำให้เราได้ทำงานที่มีความละเอียดมากขึ้นด้วยซึ่งปกติเราไม่ค่อยได้ทำ”
นอกจากนี้ยังมีการนำฉากพระอาทิตย์ขึ้นของเมืองยามากาตะในแอนิเมชันมาต่อยอดเป็น press kit สำหรับส่งให้สื่อ และสามารถสแกน QR code เพื่อดูแอนิเมชันได้ด้วย
“ในอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยจะเห็นว่ามีน้อยมากที่จะทำแคมเปญโฆษณาที่เป็นแอนิเมชัน 2D แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็เลยเหมือนเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยและมีสไตล์ที่ดูมีความโกอินเตอร์มากขึ้น”
ปัจจุบันเบิร์ดในวัย 25 ปี บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา Communication Design จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยึดอาชีพเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ และเคยร่วมงานกับหลายองค์กร เช่น ทำแอนิเมชันเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาสังคมเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียและสุขภาพจิตให้กับ United Nations Developement Programme (UNDP) และร่วมทำมิวสิกวิดีโอกับ Netflix และนักร้องนักดนตรี TangBadVoice featuring Sprite และ Jomquan ในเพลง “พักแป๊บ แว็บไป NETFLIX”
“รู้สึกดีใจที่ทาง Shiseido เขาชอบผลงานเรา ผมก็ได้นำภาพวาดและเบื้องหลังไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของตัวเองด้วยแล้วมีคนแชร์ต่อไปค่อนข้างเยอะเลย มีทั้งศิลปินชื่อดังและผู้คนทั่วไป รู้สึกภูมิใจมากกับผลงานชิ้นนี้ในฐานะศิลปินตัวเล็กๆ คนหนึ่ง”
Fact File
ติดตามผลงานอื่นของศิลปินเพิ่มเติมได้ที่ IG : anapplesoda