เส้นทางสู่ฮอกวอตส์ของ มักเกิล Apolar ผู้ร่ายคาถาให้ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับไทย
- เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปีแห่งการตีพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย ในปี ค.ศ. 2020 นี้ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้รับอนุญาตจาก เจ.เค.โรว์ลิง ให้สร้างสรรค์ภาพปกและภาพประกอบหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ขึ้นเองเป็นครั้งแรกด้วยฝีมือนักวาดชาวไทย อาชว์ – อรุษ เอ่งฉ้วน หรือนามปากกา Apolar
- อาชว์สร้างสรรค์ผลงานกว่า 200 รูปสำหรับโปรเจกต์พิเศษนี้ในระยะเวลาร่วม 10 เดือน รวมถึง Box Set ที่กางออกมาเป็นภาพอินทีเรียของปราสาทฮอกวอตส์ให้มิติเหมือนงานสถาปัตยกรรม
- นอกจากจะเลือกฉากที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในเวอร์ชั่นที่ผ่าน ๆ มาเป็นภาพปกแล้ว ภาพวาดของอาชว์ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆและสอดแทรกความเป็นไทยลงไปด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้สนุกกับการค้นหา
โลกเวทมนตร์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้โลดแล่นผ่านตัวอักษรไทยเพื่อให้มักเกิลชาวไทยได้ลุ้นระทึกและเติบโตไปพร้อม ๆ กับพ่อมดแฮร์รี่และเหล่าผองเพื่อน มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษนับตั้งแต่ฉบับแปลไทยเล่มแรก “แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์” เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2543
เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปีของการตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยในปีนี้ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้รับอนุญาตจาก The Blair Partnership บริษัทเอเจนซี่ของนักเขียน เจ.เค.โรว์ลิงให้สร้างสรรค์ภาพปกและภาพประกอบใหม่ทั้งหมดของหนังสือชุดภาษาไทยทั้ง 7 เล่ม จำนวนกว่า 200 รูป รวมทั้ง Box Set พิเศษเป็นครั้งแรกโดยศิลปินไทยรุ่นใหม่ อาชว์ – อรุษ เอ่งฉ้วน หรือนามปากกา Apolar (อโพล่า)
อาชว์เติบโตมากับอาณาจักรเวทมนตร์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ และด้วยทักษะด้านการวาดรูป เขาได้วาดแฟนอาร์ต 3 ตัวละครหลักของเรื่องคือ แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี่ และโพสต์ในเพจ Apolar ของตัวเองทำให้ทางนานมีบุ๊คส์เห็นถึงความสามารถและเลือกให้เป็นแคนดิเดทร่วมกับนักวาดคนอื่น ๆ เพื่อเสนอให้ทางต้นสังกัดของ เจ.เค.โรว์ลิง พิจารณา ในที่สุดผลงานของอาชว์ก็เข้าตากรรมการจนได้เป็นผู้เนรมิตปกและภาพประกอบใหม่สำหรับฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่ผ่านมาตลอด 20 ปี ทางนานมีบุ๊คส์ใช้ภาพปกและภาพประกอบตามแบบ US Editions วาดโดยแมรี กรองค์เปร์ (Mary GrandPré)
ผู้ที่ได้รับเลือกจากหมวกคัดสรร
จากบัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาชว์ซึ่งชื่นชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็กตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้าน Visual Development ที่ Academy of Art University ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสายงานออกแบบเชิงคอนเซ็ปต์ในขั้น Pre-Production สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชัน เกม หนังสือ แสง สี ฉาก หลังจากเรียนจบเขาได้ทำงานที่บริษัท Electronic Arts (EA) โดยเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมพัฒนาภาคเสริมต่าง ๆ ในเกม The Sims ทั้งการออกแบบคอนเซ็ปต์ตัวละครและไอเท็มต่าง ๆ
“หลังจากเรียนจบเมื่อต้นปี 2019 ผมทำงานที่ EA เกือบปีและตัดสินใจลาออกและกลับมาเมืองไทยหลังจากได้รับโปรเจกต์ออกแบบชุดหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อผมได้โอกาสแล้วผมต้องทำให้ดีที่สุด ถ้ายังทำงานประจำด้วยเราจะทำได้ไม่เต็มที่ ผมกลับไปรีเฟรชทุกอย่างใหม่เกี่ยวกับเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เริ่มจากกลับไปดูหนังหลายรอบเพื่อให้ได้ไอเดียหลักของแต่ละตอน หลังจากนั้นก็ศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือแต่ละเล่มผสมกับการอ่านบทวิเคราะห์วิจารณ์ของแฟนคลับทั้งหนังและหนังสือเพราะอาจมีบางประเด็นที่เราตกหล่นไป” อาชว์ a.k.a. Apolar ซึ่งย่อมาจาก A Polar Bear ตามฉายาหมีขาวที่เพื่อน ๆ เรียก กล่าวถึงโปรเจกต์สำคัญในชีวิตของเขา
ศิลปินหนุ่มวัย 28 ปี เล่าว่าทางนานมีบุ๊คส์และต้นสังกัดที่อังกฤษให้อิสระเต็มที่ในการคิดคอนเซ็ปต์ แต่สิ่งที่ทาง The Blair Partnership เน้นย้ำคือตัวแฮร์รี่ ต้องเติบโตตามวัยในแต่ละเล่ม
“ผมเป็นแฟนคลับของ แมรี กรองค์เปร์ นักวาดภาพที่ทำให้นักอ่านชาวไทยโตมาพร้อม ๆ กับแฮร์รี่ แต่ในเวอร์ชั่นของเราก็ต้องมาตีความใหม่ ในการวาดตัวละครผมพยายามหาค่าตรงกลางระหว่างความเป็น Realistic กับการ์ตูน เพราะถ้าการ์ตูนมากก็จะดูเด็กเกินไป โทนสีออกแนวคลาสสิกดูโบราณ ๆ Saturation ของสีไม่สูงมาก และในชุด 7 เล่ม หน้าปกจะสลับเฉดสีระหว่างสว่างกับมืดเหมือนเล่นกับกลางวันและกลางคืนเพราะ เจ.เค.โรว์ลิง ฉลาดที่สร้างความตื่นเต้นในฉากทั้งสองโหมด”
การเรียนด้านสถาปัตยกรรมสอนให้อาชว์คิดเป็นระบบ เพราะในการออกแบบอาคารหนึ่ง ๆ โครงสร้างสวยอย่างเดียวไม่ได้แต่โครงสร้างและงานระบบทั้งหมดต้องตอบสนองการใช้งานเป็นองค์รวม ในการออกแบบปกหนังสือทั้ง 7 เล่มจะเห็นได้ว่าทุกเล่มอาชว์เล่นกับเส้นสายที่คล้ายเส้นวงกบ หรือกรอบบานหน้าต่างในหลาย ๆ แพตเทิร์น เพื่อสื่อให้เห็นว่านี่เป็นหนังสือในซีรีส์เดียวกัน
“เส้นสายเหล่านี้เป็นการสร้าง Structure ให้กับทุกปกเพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ด้วยความที่ผมเรียนมาทางด้านสถาปัตย์ฯ ในการออกแบบต้องมีการเก็บงานเก็บขอบ ต้องตัดเส้นตัดขอบ เมื่อออกแบบปกหนังสือผมจึงมีเส้นกรอบลักษณะเหมือนวงกบ เหมือนกรอบ Stained Glass แต่แพตเทิร์นแต่ละเล่มก็จะต่างกันมีแบบเส้นสายเหมือนปีกนก ปีกค้างคาว หรือเปลวเพลิง การจัดองค์ประกอบพยายามให้มี Symmetry ระหว่างความสมดุลและอสมดุล”
ออกเดินทางสู่ฮอกวอตส์ที่ชานชาลา 9¾
เมาส์ปากกาคือไม้กายสิทธิ์สำหรับอาชว์ที่จะพาผู้อ่านย้อนไทม์ไลน์ไปผจญภัยกับแฮร์รี่อีกครั้ง เขาสร้างสรรค์งานผ่านโปรแกรม Photoshop และปกเล่มแรก “แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์” โทนสีหลักคือสีแดงและทอง สีแดงนอกจากจะสื่อถึงสีบ้านกริฟฟินดอร์ ที่แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี่ เป็นนักเรียนประจำบ้านแล้ว ยังเป็นสีของรถไฟที่พาเหล่านักเรียนมุ่งสู่โรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์
ฉากหมวกคัดสรรว่าแฮร์รี่จะได้อยู่บ้านไหนในฮอกวอตส์เป็นไฮไลต์ของหน้าปกนี้โดยอาชว์เชื่อมต่อปลายรูปหมวกเป็นปราสาทฮอกวอตส์ ในขณะที่หนวดเคราของศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ อาจารย์ใหญ่ฮอกวอตส์ ยาวเลื้อยมาจดกับปล่องควันของรถไฟ ส่วนรูปขบวนรถไฟถูกใช้เป็นตัวเชื่อมต่อหรือ Transition ระหว่างปกหน้ากับปกหลัง
“หน้าปกแรกอยากให้มีบรรยากาศการเฉลิมฉลองเข้าสู่โลกเวทมนตร์ จึงเลือกใช้สีทองเป็นสื่อ ผมนึกถึงแสงเทียนแห่งความหวังในห้องโถงโรงเรียนฮอกวอตส์จึงเล่นกับรูปเทียนและมีภาพแฮกริดที่ถือโคมไฟด้วย ผมเล่นกับกิมมิก เช่น เลขชานชาลา 9¾ ผมเขียนเป็นเลขไทย และมีรูปกบช็อกโกแลตที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรในเรื่อง แต่สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ทำให้อ่านสนุกและพาเราเข้าสู่โลกเวทมนตร์อย่างตื่นเต้น”
ปกเล่มที่ 2 “แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ” มาพร้อมกับเฉดสีเขียวซึ่งเป็นสีประจำบ้านสลิธิริน ภาพหลักยังคงให้บรรยากาศสดใสเป็นฉากรถบินได้ของรอนขณะที่เขาพาแฮร์รี่ไปยังบ้านโพรงกระต่ายของครอบครัววิสลีย์ ด้านบนเป็นภาพของทอม ริดเดิล และ ด๊อบบี้ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเล่มนี้อาชว์แทรกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ในเนื้อเรื่องของแต่ละตอนในทุกปก เช่นเล่มนี้มีทั้งภาพสมุดบันทึกของทอม ริดเดิล แมงมุมยักษ์ในป่าต้องห้าม ต้นแมนเดรกที่มีรากรูปร่างคล้ายเด็กทารกส่งเสียงร้องซึ่งอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
สำหรับเล่มที่ 3 “แฮรี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน” สีปกออกเฉดเทาเพื่อเล่นกับโหมดกลางคืนของเรื่อง ไฮไลต์เป็นภาพแฮร์รี่และเฮอร์ไมโอนี่ขี่ตัวฮิปโปกริฟฟ์ และที่ขาดไม่ได้สำหรับภาคนี้คือตัวละครอย่าง ซิเรียส แบล็ก และลูปินในร่างมนุษย์หมาป่า รวมถึงผู้พิทักษ์และผู้คุมวิญญาณ
“ซิเรียส แบล็ก เป็นตัวละครที่วาดยากที่สุดและปรับแก้มากที่สุด ในภาค 3 เขามีอิมเมจแบบนักโทษที่ผอมแห้งและน่ากลัว แต่ในเล่มภาคีนกฟีนิกซ์จะมีลุคที่สะอาดขึ้น หรือเมื่อย้อนไปวัยหนุ่มเป็นคนที่หล่อมาก คาแรกเตอร์ผสมระหว่างความขี้เล่นและบ้าคลั่ง เป็นคนที่มีหลายมิติทำให้หาค่ากลางยาก”
ประลองฝีมือการวาดในโลกเวทมนตร์
ปกที่ใช้เวลานานมากที่สุดเกือบ 2 เดือนคือเล่มที่ 4 “แฮร์รี่พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี” เนื่องจากมีตัวละครเยอะและอาชว์เล่นกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมด ภาพหลักเป็นตัวแทน 4 คนของ 3 โรงเรียนในการการประลองเวทไตรภาคี คือ เฟลอร์ เดอลากูร์, วิกเตอร์ ครัม, เซดริก ดิกกอรี่ และ แฮร์รี่ พอตเตอร์ส่วนปกหลังเขาเน้นบรรยากาศการแข่งขันควิดดิชเวิลด์คัพที่มีเต็นท์จากประเทศต่าง ๆ โดยแทรกกิมมิกมีเต็นท์ของประเทศไทยประดับรูปกินรีเข้าไปด้วย
“ส่วนตัวผมชอบเล่มนี้ที่สุด การวางโครงเรื่องและ Twist สนุกและตื่นเต้น ตัวละครเยอะ ผมชอบปกออริจินัลของเล่มนี้ด้วยจึงอยากทำให้ดีที่สุดและรู้สึกกดดันมาก ผมใส่รายละเอียดเยอะด้วยทั้งเครื่องแต่งกายของตัวละคร ธงประจำของแต่ละโรงเรียนและบรรยากาศการแข่งขัน เมื่อวาดปกแต่ละเล่มเราต้องทยอยส่งงานให้ต้นสังกัดปรับแก้และ Approve ปกเล่ม 1-4 แก้ไม่มากเท่าไร”
“แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์” เล่มที่ 5 และเป็นภาคที่ยาวที่สุดมีสีปกออกเฉดม่วงตามสีของกระทรวงเวทมนตร์และภาพหลักเป็นแฮร์รี่รายล้อมด้วยเหล่าภาคีนกฟีนิกซ์ และภาพบ้านเลขที่ 12 กริมโมลด์เพลซซึ่งเป็นกองบัญชาการใหญ่ของภาคีนกฟีนิกซ์ ส่วนปกหลังบรรยายบรรยากาศของห้องโถงกลางของกระทรวงเวทมนตร์ และตู้โทรศัพท์สีแดงซึ่งเป็นหนึ่งในทางเข้าถึงกระทรวงนั้นอาชว์เขียนเป็นภาษาไทยว่า “โทรศัพท์”
เมื่อฮอกวอตส์ไม่ปลอดภัยอีกต่อไปและดัมเบิลดอร์จากไปแล้ว ปกเล่มที่ 6 “แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม” จึงดีไซน์ให้มีเฉดสีขาวตามที่อาชว์กล่าวว่า “เพื่อเป็นการ Tribute ให้กับดัมเบิลดอร์”
“ผมต้องการให้ปกนี้สะท้อนภาพตรงข้ามกับปกแรก ในเล่มแรกผมวาดให้หนวดเคราของดัมเบิลดอร์ยาวคลุมโอบล้อมแฮร์รี่เพื่อปกป้องพ่อมดน้อย แต่เล่มนี้ตรงกันข้ามคือดัมเบิลดอร์เป็นผู้โดนกระทำและแฮร์รี่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกป้อง”
ส่วนเล่มสุดท้าย “แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต” มาในโทนสีดำเมื่อสงครามสุดท้ายระหว่างแฮร์รี่กับจอมมารกำลังจะเริ่มขึ้น เส้นสายกรอบปกสื่อถึงฮอกวอตส์กำลังถูกเผาทำลาย ส่วนใจกลางภาพเป็นรูปแฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี่ ในกรอบ 3 เหลี่ยมสื่อถึง 3 ตัวละครหลักและเครื่องรางยมทูต 3 อย่าง ในขณะที่ตัวเชื่อมระหว่างปกหน้ากับปกหลังคือ นากินี งูยักษ์สัตว์เลี้ยงประจำกายของลอร์ดโวลเดอมอร์และเป็นฮอร์ครักซ์ชิ้นสุดท้ายที่เขาซ่อนวิญญาณส่วนหนึ่งไว้
“สัตว์สัญลักษณ์ประจำทั้ง 4 บ้านในฮอกวอตส์รวมถึงอาวุธสำคัญของผู้ก่อตั้งแต่ละบ้านก็ได้ใส่ไว้ในปกเล่มสุดท้ายด้วยโดยวาดให้ตรงตามคำบรรยายในเรื่องที่สุด เพื่อเป็นการ Tribute ให้กับแฟนของแต่ละบ้าน ปกเล่มที่ 5-7 ผม Redesign หลายรอบมาก ผมอยากให้คุณภาพงานเป็นกราฟขึ้นไม่อยากให้ดร็อปเพราะคนอ่านจะคาดหวังมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึงเข้มข้นกับตัวเองเยอะและใส่รายละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ”
พ่อมดแม่มดที่โดนใจชาวมักเกิล
นอกเหนือจากตัวเอกของเรื่อง อาชว์พยายามใส่ภาพของตัวละครอื่นๆทั้งในปกหน้าและปกหลัง ไม่ว่าจะเป็นจินนี่ วิสลีย์, เนวิลล์ ลองบัตทอม, เดรโก มัลฟอย, โช แชง, ลูน่า เลิฟกู๊ด, อลาตเตอร์ มู้ดดี้ และ บาร์ตี้ เคร้าช์
“เสน่ห์ของงานเขียนของ เจ.เค.โรว์ลิง คือตัวละครมีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและนิสัยที่แตกต่างกัน คนอ่านจะ Relate ได้ง่าย ผมจึงอยากเพิ่มพื้นที่ให้ตัวละครอื่น ๆ ที่คนอ่านรัก”
เมื่อถามว่าเขาชอบตัวละครตัวไหนมากที่สุด อาชว์ตอบทันทีว่า “ดัมเบิลดอร์ และลูน่า”
“ดัมเบิลดอร์มีหลายมิติ ไม่ได้มีแค่ด้านสว่างแต่ก็มีด้านที่ผิดพลาด เป็นพ่อมดที่คนยอมรับนับถือแต่ก็มีด้านอ่อนแอที่ปิดบังไว้ แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ส่วนลูน่าเป็นตัวแทนของคนที่ไม่ Fit in กับคนส่วนใหญ่ ทำให้ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดแต่เธอเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้วิ่งตามกระแส เราจึงควรหาคนที่เข้าใจเราและชื่นชมเราในแบบที่เราเป็น”
นอกจากภาพปกและภาพประกอบของแต่ละบท เขายังดีไซน์ฟอนต์ภาษาไทยใหม่สำหรับชื่อหนังสือซึ่งเขาใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10 เดือนสำหรับโปรเจกต์นี้
“ผมอยากให้ฟอนต์ออกแนวคลาสสิกและวินเทจโดยอิงจากฟอนต์ที่เคยเห็นในงานพิมพ์โบราณ เช่น ตั๋วหนัง บัตรคอนเสิร์ต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเคารพตัวออริจินอลด้วย ตัวฟอนต์ให้ดูอินเตอร์แต่แฝงความเป็นไทยด้วยลายเส้นสะบัดแบบลายกนก มีลูกเล่นที่การม้วนตัวหนังสือให้คล้ายกับงูนากินี”
เขายังออกแบบ Box Set พิเศษโดยให้ด้านนอกเป็นรูปสนามแข่งขันควิดดิชและเมื่อเปิดด้านในเป็นภาพอินทีเรียของโรงเรียนฮอกวอตส์ให้มิติเหมือนงานสถาปัตยกรรม อาชว์แบ่งเป็นช่องหน้าต่างหลาย ๆ ช่องเพื่อแสดงฉากสำคัญต่าง ๆ ในเรื่อง
“เป็นโปรเจกต์ที่ผมทุ่มสุดตัว เมื่อเห็นแฟนคลับของหนังสือหลาย ๆ คนตีความภาพหน้าปกของเราก็ดีใจมาก เหมือนงานของผมช่วยปลุกความรักของแฟนไซต์ได้อีกครั้ง”
ปัจจุบันอาชว์ทำงานฟรีแลนซ์ และเคยมีผลงานออกแบบปกหนังสือ Tangled in Times ให้กับสำนักพิมพ์ Harper Collins Publishers ที่นิวยอร์ก และออกแบบปกหนังสือธรรมะกว่า 20 เล่มให้วัดญาณเวศกวันที่เขาเคยบวชเรียน
Fact File
- สั่งซื้อหนังสือได้ที่ www.nanmeebooks.com และ Facebook: nanmeebooksfan
- ติดตามผลงานของอาชว์เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Apolar และ Instagram: apolar.arch