อาภัสรา หงสกุล : เด็กสาวจากแดนไกลสู่จักรวาลแห่งความงาม
Faces

อาภัสรา หงสกุล : เด็กสาวจากแดนไกลสู่จักรวาลแห่งความงาม

Focus
  • อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยคนแรกจากประเทศไทยที่เข้ารวมการประกวดบนเวทีโลก Miss Universe ใน พ.ศ. 2508 และสามารถคว้ารางวัลนางงามจักรวาลคนแรกของไทย
  • ซิ่นอาภัสรา เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์อาภัสราที่เกิดขึ้นหลังจากการประกวด และส่งให้ซิ่นสันกำแพงที่ อาภัสรา หงสกุล สวมใส่วันประกวดโด่งดังทั้งในเมืองไทยและต่างชาติ

อาภัสรา หงสกุล ชื่อนี้ไม่ใช่เพียงนางงามจักรวาลคนแรกของไทย แต่ อาภัสรา หงสกุล ยังถูกจารึกในฐานะนางสาวไทยคนแรกจากประเทศไทยที่เข้ารวมการประกวดบนเวทีโลก (พ.ศ. 2508) นั่นก็คือ เวทีนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe ที่บริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มการจัดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว

อาภัสรา หงสกุล
ภาพจาก : Missosology

ในประวัติศาสตร์ประกวดนางงามประเทศไทย  อาภัสรา หงสกุล ถือว่าอยู่ในยุคที่ 2 (ช่วง พ.ศ. 2507-2515) โดยยุคแรก เวทีประกวดใช้ชื่อตำแหน่งว่า นางสาวสยาม (พ.ศ. 2477-2483) ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ริเริ่มขึ้น  ต่อมาเมื่อ จอมพล ป. เปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย ทำให้ตำแหน่งนางสาวสยามเปลี่ยนเป็น นางสาวไทย ตามไปด้วย

อาภัสรา หงสกุล
ซิ่นอาภัสรา ที่โด่งดังพอๆ กับอาภัสรา (ภาพจาก : Missosology)

การประกวดนางงามของสยาม เริ่มต้นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดให้มีการประกวดสาวงาม หรือก็คือ นางสาวสยาม ในงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่วังสราญรมย์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้มาร่วมงาน และยังซ่อนนัยยะที่สะท้อนแนวคิดเสรีนิยมในการเมืองแบบประชาธิปไตย ให้ผู้หญิงได้แสดงออกและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้ชาย ผุ้หญิงสามารถแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ผ่านการประกวด การแข่งขัน การโชว์ตัว ผลปรากฏว่าประชาชนให้การตอบรับดีมากกับเวทีนางงาม และเวทีนางสาวไทยก็ยังคงจัดประกวดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อาภัสรา หงสกุล
ภาพ IG : apasrahongsakula

สำหรับ เวทีนางงาม ในยุคสมัยเริ่มต้นนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพให้หญิงสาวโดยเฉพาะเป็นการกรุยทางในวงการบันเทิงแล้ว  นางสาวไทยยังเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์ร้านขายผ้าชื่อดัง ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นผู้นำแฟชั่นในยุคนั้น รวมทั้งทำหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัด ตามภูมิลำเนาที่สาวงามแต่ละคนเป็นตัวแทนอีกด้วย

อาภัสรา หงสกุล
ภาพอาภัสราและเพื่อนนางงาม (ภาพจาก : Missosology)

รู้จัก “ปรากฏการณ์อาภัสรา”

“ใช่แล้วค่ะ นี่คือเรื่องจริง ดิฉัน เด็กสาวจากดินแดนแสนไกล ประเทศไทย และตอนนี้ฉันคือนางงามจักรวาล และประชาชนคนไทยทุกคนคงจะภูมิใจค่ะ”

อาภัสรา หงสกุล
จดหมายจากอาภัสราถึง “ผานิต สังขวิจิตร” ตีพิมพ์ใน อนุสาร อ.ส.ท.

หลังจากที่หญิงสาวคนแรกจากประเทศไทย  อาภัสรา หงสกุล สามารถคว้ารางวัลความงามแห่งจักราลไว้  ปรากฏการณ์อาภัสรา จึงเกิดขึ้นทันทีและไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย

  • ข้อมูลจากเว็บไซต์ เกาะติดนางงามจักรวาล missosology.org อ้างว่า กระแสของอาภัสรา ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์นางงามเอเชียคนที่สอง และนางงามจากไทยคนแรกที่คว้าตำแหน่งนางงามจักรวาล ปาดหน้ามิสยูเอสเอไปได้ ส่งผลให้ มีเด็กหญิงที่เกิดในสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1965 ถึง 5 คน ที่ถูกตั้งชื่อ อาภัสรา ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเพราะกระแสมงลง
  • หลังจากได้มงกุฏ อาภัสรา ก็เปรียบได้กับ  “ทูตวัฒนธรรม” ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ไปโดยปริยาย แน่นอนว่าตลาดหลักที่อยากจะเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยทันทีคือ สหรัฐอเมริกา และนั่นถือเป็นการเปิดตัวความอัศจรรย์ของเมืองไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จักอย่างเต็มตัว  ซึ่งย้อนกลับไปเหตุการณ์หลังเวที พี่เลี้ยงนางงามที่ไปช่วยดูแล อาภัสรา ตลอดการประกวดก็คือ “ผานิต สังขวิจิตร” เจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่จาก อนุสาร อ.ส.ท. โดยหลังจากที่ได้รางวัลและต้องทำหน้าที่นางงามจักรวาลในต่างแดน อาภัสรา ได้เขียนจดหมายเล่าประสบการณ์ส่งตรงจากฟลอริด้ามาถึง ผานิต และจดหมายฉบับนั้นก็ได้ตีพิมพ์ลงใน อนุสาร อ.ส.ท. เพราะเป็นไม่กี่ช่องทางที่ชาวไทยจะได้รู้ถึงความเคลื่อนไหวของอาภัสรา ซึ่งจากการค้นจดหมายฉบับนั้นก็ทำให้เราได้เห็นว่า ในอดีตสื่อยังเรียก นางงามจักรวาลว่า “นางสาวจักรวาล”
  • ปรากฏการณ์อาภัสรา เมื่อกลับถึงเมืองไทยนั้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีแต่ประชาชนแห่แหนรอต้อนรับ โดยภาพในความทรงจำคือภาพอาภัสรานั่งบนรถเปิดประทุน ถือร่มบ่อสร้าง สวมซิ่นสันกำแพงลายขวาง และมีคนนับร้อยล้อมหน้าล้อมหลังจนรถแทบเคลื่อนตัวไม่ได้ รวมทั้ง อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 กันยายน 2508 ก็ขึ้นหน้าปกอาภัสราในชุดว่ายน้ำสีฟ้า ถือร่มบ่อสร้าง โปรโมตท้องทะเลสีฟ้าใสของเมืองไทยที่เป็นฉากหลัง แน่นอนว่า อนุสาร อ.ส.ท.ฉบับนี้เป็นฉบับที่หลายคนสะสม เพราะถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
  • หากคุณรู้จักผมทรงปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ คุณจะต้องรู้จัก “ซิ่นอาภัสรา” แต่คุณอาจจะลืมไปแล้วว่า ซิ่นอาภัสรา แท้จริงแล้วก็คือ ซิ่นสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีการทอเป็นลายเฉพาะตัว คือลายขวาง ไล่โทนสีสามชั้น เหตุที่อาภัสราเลือกใส่ซิ่นสันกำแพง มาจากโครงการส่งเสริมผ้าไหมใน สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9  ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังชุมชนผ้าไหมสันกำแพง และทรงสนพระทัย ในชุดผ้าไหมสันกำแพงที่มีลวดลายเฉพาะตัว พร้อมทรงรับสั่งให้ นางสาวไทยที่จะไปประกวดนางงามจักรวาลในปีนั้น สวมชุดผ้าไหมสันกำแพงใส่ในการประกวดด้วย และนั่นก็ทำให้เราได้เห็น อาภัสรา หงสกุล เลือกสวมผ้าไหมสันกำแพงสีฟ้า และสีชมพู จากนั้นไม่นานผ้าไหมสันกำแพงก็โด่งดัง ทั้งในต่างประเทศและในเมืองไทย มาจนถึงตอนนี้หลายคนก็ยังเรียกซิ่นสันกำแพงติดปากว่า ซิ่นอาภัสรา
งานเลี้ยงต้อนรับนางงามจักรวาล (หนังสือพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์)

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • www.missosology.org
  • www.tat.or.th
  • วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา ปีที่ 3 ฉบับที่ 1
  • อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 กันยายน 2508
  • หนังสือพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป