แพรพลอย วนัช นักเขียนหญิงหนึ่งเดียวผู้เข้ารอบสุดท้าย ซีไรต์ปี 2563
Faces

แพรพลอย วนัช นักเขียนหญิงหนึ่งเดียวผู้เข้ารอบสุดท้าย ซีไรต์ปี 2563

Focus
  • 24 ชั่วโมง เขียนโดย แพรพลอย วนัช สำนักพิมพ์นาคร ได้รับเลือกเข้ารอบสุดท้ายชิงชัยรางวัลเรื่องสั้น ซีไรต์ 2563
  • แพรพลอย วนัช เป็นนักเขียนหญิงเพียงคนเดียวผู้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปี 2563
  • 24 ชั่วโมงจับประเด็นความรุนแรงในบ้าน การกดขี่เพศที่ด้อยกว่า และความอยุติธรรมในสังคม โดยแต่ละเรื่องมีโครงเรื่องที่แข็งแรงและจบอย่างชัดเจน

12 ปี แม้จะมั่นคงในฐานะมนุษย์เงินเดือน แต่ไฟฝันที่อยู่ในใจมานานก็ปลุกให้ แพรพลอย วนัช ตัดสินใจลาออกมาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดอุดธานี เพื่อปักหลักแผ้วถางเส้นทางอักษร จนมีงานตีพิมพ์หนังสือ 11เล่ม และด้วยความมุ่งมั่นที่แฝงด้วยความสิ้นหวังภายใต้รอยยิ้ม ทำให้เรื่องสั้นชุด 24 ชั่วโมง ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัล ซีไรต์ ปี 2563

24 ชั่วโมง ในความหมายของนักเขียนหญิงหนึ่งเดียวที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ซีไรต์อาจไม่ใช่ 24 ชั่วโมงใน 1 วัน แต่คือเรื่องราวของชีวิตเธอทั้งชีวิตที่กลั่นออกมาเป็น 24 ชั่วโมง

แพรพลอย วนัช

เมื่อมนุษย์เงินเดือนไม่ใช่ความสุขของชีวิต

“ตอนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เรารู้สึกว่าทำงานได้เงินเดือนดี อยู่ตึกหรูหรา แต่ไม่มีความสุข เป็นคนที่มีเงินแต่ไม่มีความสุข งานสุดท้ายเป็นเลขาฯ ให้แก่นายฝรั่ง วันหนึ่งเขาเรียกเราเข้าไปแล้วเปิดหนังสือพิมพ์ให้ดูว่า เพื่อนเขาที่เมืองลิเวอร์พูลเป็นนักเขียน ได้ลงหนังสือพิมพ์ จากนั้นเรากลับมานอนคิดหลายเดือนก่อนจะตัดสินใจลาออก” แพรพลอย วนัชเล่าด้วยสายตามุ่งมั่น แม้เวลาผ่านมากว่า 12 ปี

ช่วงแรกแม้มีเงินเก็บไว้คอยจุนเจือค่าใช้จ่าย แต่งานเขียนกลับไม่ได้รับพิจารณาจากสำนักพิมพ์ พอนานเข้าก็เริ่มส่งผลต่อความมั่นใจ เพราะตอนแรกคิดว่าลาออกมาแล้วจะเป็นนักเขียนและเขียนงานได้เลย แต่เอาเข้าจริงเหมือนยังจับต้นชนปลายไม่ถูก เลยมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร โชคดีที่เธอมีทักษะทางภาษาอังกฤษ เลยรับงานแปล ที่เป็นเหมือนการฝึกทักษะการใช้คำในงานวรรณกรรมในช่วงแรก

แพรพลอย วนัช

ช่วงเวลา 4 ปี หลังลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2551 ผลงานเขียนส่วนใหญ่ถูกทิ้งลงตะกร้าไม่ผ่านการตีพิมพ์ บวกกับเงินเก็บที่สะสมไว้เริ่มร่อยหรอลง เธอตัดสินใจขีดเส้นตายให้แก่ชีวิตตัวเองว่าอีก 1 ปี หากไม่มีผลงานรวมเล่ม คงต้องกลับเข้ากรุงเทพฯ ไปเป็นพนักงานเงินเดือนอีกครั้ง

โชคดีที่ผลงานซึ่งส่งเข้าประกวด รางวัลนานมีบุ๊คส์อะวอร์ด ประจำปี 2554 ได้รับรางวัลและนั่นก็เป็นเสมือนการเติมเชื้อไฟ จุดประกายให้เธอสร้างสรรค์งานต่อมาเรื่อยๆ

“ด้วยความที่ทำงานเขียนเป็นหลัก เราพยายามให้งานออกมาต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะนักเขียนใหม่ต้องมีงานตีพิมพ์ต่อเนื่องทุกวันนี้มีนักเขียนเยอะ ถ้าเราไม่มีงาน ไม่นานคนจะลืม ดังนั้นนักเขียนใหม่จะต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งทุกวันนี้จัดเวลาในแต่ละวันว่า ตอนเช้านอกจากทำงานบ้านและเล่นโยคะแล้ว สายๆ จนถึงเย็นก็จะนั่งเขียนหนังสือ”

ซีไรต์

เขียนให้หลากหลายเพื่อค้นหาตัวเอง

ในห้วงเวลาที่ท้อแท้ไม่มีงานตีพิมพ์ แพรพลอย วนัช เลือกที่จะปลุกปลอบตัวเองด้วยการอ่านประวัติ “เจ. เค. โรว์ลิง” นักเขียนชาวอังกฤษ ผ่านการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต และอ่านนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติ เขียนฝันด้วยชีวิต ของ ประชาคม ลุนาชัย

ด้วยความเป็นนักเขียนหญิง เธอไม่ได้มองว่าเป็นข้อจำกัดในการเขียน สิ่งที่เธอพยายามทำมาตลอดคือการฝึกเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงรอบตัวในสายตาของนักเขียน เช่น การเสพข่าว หรือการเดินทางเพื่อจะได้เห็นโลกในมุมมองใหม่ๆ

การเขียนงานที่หลากหลายแนวในช่วงแรก เธอมองว่าเป็นเพราะก่อนหน้านั้นยังหาแนวทางของตัวเองไม่เจอ ซึ่งเธอเริ่มค้นพบแนวทางของตัวเองเมื่อเขียนนวนิยายเล่มที่ 5 เรื่อง “โดมิโนแสงดาว” โดยงานชิ้นนี้เริ่มมีนักอ่านเข้ามาทักทาย และวิจารณ์มากขึ้นกว่าเล่มก่อนๆ

งานเขียนแนวเพื่อชีวิต เป็นสิ่งที่เธอค้นพบและมาประสบความสำเร็จ เมื่อส่งเรื่องสั้นเรื่อง “พิซซ่า” ไปประกวดบนเวทีรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประจำปี 2562 จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศและเป็นที่กล่าวขานถึงงานชิ้นนี้ว่า เป็นแนวเพื่อชีวิตยุคใหม่ ซึ่งเข้ากับบริบทความสัมพันธ์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป

วรรณกรรมเพื่อชีวิต ในความหมายของเธอ ปัจจุบันยังคงมีอยู่ แต่จะมีคนอ่านเฉพาะกลุ่มมากขึ้น หลายเรื่องเน้นการตีแผ่ความสัมพันธ์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งส่วนตัวเธอเองมองว่า

ซีไรต์

“นักเขียนไม่มีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราต้องทำงานต่อไป เพราะเราเป็นเหมือนตัวกลางที่ส่งสารไปยังคนอ่านเช่น เรื่องสั้น ตุ๊กแก ที่บอกเล่าถึงการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวที่มีอยู่ทุกวันในข่าวต่างๆ นี่เป็นสิ่งที่นักเขียนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราเอาประเด็นที่มีอยู่มาถ่ายทอด โดยมีนักเขียนเป็นตัวกลาง และให้คนอ่านได้ตัดสินกับเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งนักวิจารณ์หลายท่านบอกว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีภาษาที่ละเมียดละไม แต่เป็นประเด็นที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งตอนเขียนจงใจเขียนให้น้อย แต่กระทบจิตใจคนอ่านให้มากที่สุด

“เราคิดเสมอว่า นักเขียนต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงาน แนวคิดของเรื่องสั้นที่รวมเล่มในหนังสือ 24 ชั่วโมง เริ่มเขียนในปี 2559 เป็นช่วงที่แย่มาก เพราะพื้นที่วรรณกรรมที่ตีพิมพ์ผลงานปิดตัวไปหลายแห่ง และงานเขียนที่ส่งไปก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เราต้องพยายามผลิตงานออกมาให้มีคุณภาพ งานบางชิ้น ถ้ามีพล็อตในหัวแล้ว ต่อให้มีเสียงรบกวนดังแค่ไหนก็จะจดจ่อเขียนออกมาจนสำเร็จ”

สำหรับการผ่านเข้ารอบสุดท้าย ซีไรต์ 2563 ครั้งนี้ แม้บางคนมองจะมองว่าเธอเป็นแค่ไม้ประดับ แต่ตัวเธอเองมองว่านี่เป็นความภูมิใจ

“เพราะเราอ่านงานซีไรต์มาตั้งแต่เด็ก การเข้ามาถึงในรอบลึกขนาดนี้ถือว่าไกลเกินฝัน เลยไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้รับรางวัลนี้”

แพรพลอย วนัช ถือเป็นนักเขียนหญิงที่มีการผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งหมายที่จะพัฒนางานให้กว้างไกล และไม่ติดกรอบความหมายบนเส้นทางนี้เพียงแค่ 24 ชั่วโมง แต่สำหรับเธอแล้วมันเป็นทั้งชีวิต

Fact File

24 ชั่วโมง เขียนโดย แพรพลอย วนัช สำนักพิมพ์นาคร ราคา 170 บาท


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"