เบื้องหลังบทเพลงแห่งชัยชนะ 1812 Overture โดย ไชคอฟสกี จากรัสเซียสู่เพลงวันชาติอเมริกา
- บทเพลงแห่งชัยชนะ 1812 Overture ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1882 ที่กรุงมอสโก และปัจจุบันได้กลายเป็นเพลงบรรเลงที่จะขาดไม่ได้ในงานวันชาติสหรัฐอเมริกา
- 1812 Overture โดย ไชคอฟสกี เป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อสดุดีชัยชนะของกองทัพรัสเซียที่มีเหนือการรุกรานของกองทหารนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสในสงครามรัสเซียปี 1812
ชื่อของนักประพันธ์ชาวรัสเซีย ปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) กลับมาอยู่ในความสนใจของโลกอีกครั้งหลังจากที่ทัพนักกีฬารัสเซียในนาม Russian Olympic Committee (ROC) เลือกใช้เพลงบรรเลง Piano Concerto No. 1 ของ ไชคอฟสกี แทนเพลงชาติบนแท่นรับรางวัล โอลิมปิก โตกียว 2020 เพื่อประกาศถึงศักยภาพทางดนตรีของรัสเซียที่ส่งอิทธิพลต่อโลกโดยเฉพาะดนตรีออร์เคสตรา ซึ่งบทเพลงของ ไชคอฟสกี ไม่ได้ถูกใช้แค่ในรัสเซีย แต่ความคลาสสิกสากลของท่วงทำนองเพลงยังถูกใช้ในงานสำคัญของหลายประเทศ เช่นเดียวกับบทเพลงแห่งชัยชนะ 1812 Overture ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1882 ณ กรุงมอสโก และปัจจุบันได้กลายเป็นเพลงบรรเลงที่จะขาดไม่ได้ในงานวันชาติสหรัฐอเมริกา
20 สิงหาคม ค.ศ.1882 ตรงกับวันที่บทเพลงแห่งชัยชนะ 1812 Overture โดย คีตกวีชื่อก้องโลกชาวรัสเซีย ไชคอฟสกี ถูกบรรเลงครั้งแรกในงานแสดงดนตรี 1882 Moscow Exhibition ณ มหาวิหารของพระคริสต์ผู้ช่วยให้รอด (Cathedral of Christ the Savior) กลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยงานแสดงดนตรีในวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะและการแสดงในงาน 1882 ALL : RUSSIA INDUSTRY AND ART EXHIBITION IN MOSCOW หรือเรียกสั้นๆ ว่า 1882 Moscow Exhibition งานมหกรรมแสดงความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของรัสเซีย จัดขึ้นในยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป แต่เดิม 1882 Moscow Exhibition มีกำหนดจัดงานในปี ค.ศ. 1881 แต่ถูกเลื่อนไปจัดในปี ค.ศ. 1882 เนื่องจากเกิดเหตุลอบปลงพระชนม์ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย
ไชคอฟสกี ใช้เวลา 2 เดือน ระหว่างกันยายน ถึง พฤศจิกายน ค.ศ.1880 ในการแต่งและเรียบเรียงดนตรี เพื่อให้เพลงนี้เป็นบทเพลงพิเศษประกาศความยิ่งใหญ่ของรัสเซียกลางงานมหกรรมเอ็กซ์โปซึ่งจัดตรงกับวาระครบรอบ 70 ปี ชัยชนะของรัสเซียที่มีเหนือกองทัพจักรพรรดินโปเลียนในสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1812
ประวัติศาสตร์สงครามรัสเซียที่ซ่อนไว้ในบทเพลง
ไชคอฟสกี้เริ่มแต่งเพลงนี้เพื่อรำลึกชัยชนะของรัสเซียในสงคราม ค.ศ. 1812 ซึ่งเป็นสงครามครั้งสำคัญที่ปกป้องมอสโกจากการรุกรานของกองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของ จักรพรรดินโปเลียน หรือ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) หรือ นโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) สามัญชนผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสด้วยการรัฐประหาร ขุนศึกและวีรบุรุษสงครามที่ก้าวขึ้นอำนาจสูงสุดในการปกครองระบอบสาธารณรัฐฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรก แต่การติดสินใจบุกรัสเซียในครั้งนี้กลายเป็นจุดพลิกผันสู่ความพ่ายแพ้และทำให้เขาถูกเนรเทศไปสิ้นชีวิตบนเกาะเซนต์เฮเลนา
กองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของจักรพรรดินโปเลียนยกทัพบุกรัสเซีย โดยมีเป้าหมายคือยึดกรุงมอสโก เริ่มสงครามตั้งแต่มิถุนายน-ตุลาคม ค.ศ. 1812 ครั้งนั้นมีทหารล้มตายมากมายรวมทั้งสองฝ่ายกว่า 1 แสนคน และการปะทะจบลงกลางสมรภูมิครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1812 ที่หมู่บ้าน โบโรดิโน เมืองชั้นนอกห่างจากกรุงมอสโกไปราว 60 ไมล์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปะทะสมรภูมิโบโรดิโน ปี ค.ศ. 1812 มีความยืดเยื้อยังไม่สามารถตัดสินผู้แพ้ผู้ชนะ กองทัพรัสเซียตัดสินใจทุบหม้อข้าวกลับเข้าเมืองมอสโกไม่ออกมาปะทะซึ่งๆ หน้า แต่หลบกบดานรอจนกองทหารของนโปเลียนเสบียงร่อยหรอ และเผชิญลมหนาวอันโหดร้ายของรัสเซียช่วงเดือนตุลาคม สุดท้ายนโปเลียนจำต้องถอนทัพกลับฝรั่งเศสโดยไม่ได้ชัยชนะ แต่การยืนหยัดปกป้องกรุงมอสโกให้รอดจากกองทัพของฝรั่งเศสมหาอำนาจแห่งยุโรปในครั้งนั้น ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของรัสเซียก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เมื่อประวัติศาสตร์สงครามถูกเปลี่ยนแปลงเป็นบทเพลง 1812 Overture จึงมีการใส่ห้วงอารมณ์ของการเคลื่อนทัพเข้าสู่สงคราม ในท่อนที่สองของบทเพลงมีเสียงแตรบรรเลงตัวโน้ตที่อิงบทเพลง La Marseillaise เพลงชาติฝรั่งเศส สื่อถึงประวัติศาสตร์จริงในวันที่กองทัพฝรั่งเศสเดินทัพสู่รัสเซีย ต่อด้วยท่อนที่มีท่วงทำนองครื้นเครงสื่ออารมณ์คุ้นเคยกับความเป็นท้องถิ่นรัสเซีย ก่อนจะจบส่งท้ายด้วยความคึกโครมอลังการของเสียงระฆังและเสียงดนตรีที่เลียนเสียงยิงปืนใหญ่สลุตแสดงถึงชัยชนะ และนั่นก็ทำให้เพลงนี้อลังการสมกับการเป็นเพลงโหมโรงแห่งการเฉลิมฉลองชัยชนะ
ไชคอฟสกี ได้หมายเหตุรายละเอียดในการบรรเลงเพลงนี้ไว้ตั้งแต่ต้นร่างของโน้ตเพลงแล้วว่า การบรรเลงเพลงนี้ต้องให้เสียงระฆังก้องกังวาน และเน้นให้คนเล่นระฆังหรือเบลล์ในวงเล่นให้ได้อารมณ์แบบงานรื่นเริง ใช้เสียงเครื่องดนตรีที่เลียนเสียงตอนยิงสลุตปืนใหญ่ในเพลงด้วย
บทเพลง 1812 Overture จบลงด้วยการอ้างอิงความเป็นชาติของรัสเซีย ใส่บทร้องของคณะนักร้องประสานเสียงที่ยืมมาจาก เพลงชาติรัสเซียสมัยนั้น เนื้อความมีความหมายว่า พระเจ้าคุ้มครองพระเจ้าซาร์ (God Preserve The Czar) เป็นการถวายพระพรผู้นำสูงสุดของรัสเซีย ซึ่งในปี ค.ศ. 1880-1882 นั้นรัสเซียยังปกครองใต้ระบอบสถาบันกษัตริย์ ก่อนที่ราชวงศ์โรมานอฟจะถูกโค่นล้มโดยคณะปฎิวัติ*
สำหรับชื่อเต็มๆ ของเพลง 1812 Overture คือ The Solemn Overture of the Year 1812, Op. 49 โดยคำว่า Overture ในชื่อเพลง ที่เขียนต่อท้ายจากปี ค.ศ. 1882 ซึ่งเป็นปีต้นเรื่องเพลงนี้นั้น เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในศตวรรษที่ 19 (ช่วงค.ศ.1800-1900) แทนความหมายของไวยากรณ์ดนตรีในการบรรเลงที่สะท้อนอารมณ์ที่เฉพาะเจาะจงเป็นการสื่อเรื่องราว เหมือนการร่ายบทกวีด้วยเสียงดนตรีเพื่อสื่ออารมณ์ของเรื่องราวจำเพาะ การตั้งชื่อเพลง 1812 Overture ก็ให้ความหมายครอบคลุมถึงเพลงที่ต้องการสื่ออารมณ์จากสมรภูมิรบปี 1812
จากเพลงรัสเซียสู่เพลงสากลของการเฉลิมฉลอง
จากเพลงฉลอง 70 ปีชัยชนะของรัสเซียเหนือฝรั่งเศส 1812 Overture เริ่มถูกใช้ในวาระเฉลิมฉลองของประเทศต่างๆ และในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1974 ก็เป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเลือกใช้ผลงานชิ้นเอกของคีตกวีชาวรัสเซียผู้นี้เป็นเพลงบรรเลงประกอบการจัดแสดงแสงสีพลุไฟในวันชาติอเมริกาในวาระสำคัญฉลอง 200 ปี เอกราช บรรเลงโดย วงบอสตัน ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (Boston Symphony Orchestra) แห่งเมืองบอสตัน เป็นการบรรเลงบทเพลง 1812 Overture ประกอบการยิงปืนใหญ่สลุตและการจุดพลุไฟสุดอลังการเหนือแม่น้ำชาร์ลส์ (Charles River) เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซ็ต สหรัฐอเมริกา
สำหรับวงบอสตัน ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (Boston Symphony Orchestra) เรียกสั้นๆ ว่า วงบอสตัน ป๊อปส์ (Boston Pops) เป็นวงซิมโฟนีออร์เคสตราวงแรกที่เปิดการแสดงสดบรรเลงในงานฉลองวันชาติอเมริกา พร้อมโหมโรงด้วยเพลง 1812 Overture ประกอบการแสดงแสงสีเสียง ยิงปืนใหญ่ และจุดพลุไฟ ซึ่งในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1974 ได้มีการทุบสถิติกินเนสบุคส์ เป็นงานฉลองที่มีผู้คนมาชมคอนเสิร์ตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแสดงคอนเสิร์ตโดยวงออร์เคสตรา โดยในวันนั้นมีผู้ชมมากกว่า 400,000 คน และสถิตินี้ก็ยืนหยัดมาจนถึงปี ค.ศ.1998
นับจาก 4 กรกฎาคม ค.ศ.1974 บทเพลง 1812 Overture โดย ไชคอฟสกี ก็ถูกใช้เรื่อยมาจนกลายเป็นธรรมเนียมการแสดงสดของวงอื่นๆ ทั่วทุกเมืองที่มีวงออร์เคสตราว่าต้องบรรเลง 1812 Overture เป็นอีกบทเพลงที่จะขาดไม่ได้ในงานฉลองวันชาติอเมริกา
*หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทวิเคราะห์ โดย จอห์น ซูเช็ต นักวิจารณ์ดนตรีทาง Classic FM สื่อดนตรีในอังกฤษ
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2556
- www.bso.org
- https://bostonpopsjuly4th.org/
- http://en.tchaikovsky-research.net/pages/The_Year_1812
- https://www.kusc.org/culture/staff-blog/tchaikovsky-1812-overture/
- https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-43626603
- http://www.findingdulcinea.com/news/on-this-day/July-August-08/On-this-Day–Tchaikovsky-s–1812-Overture–Debuts-in-Moscow.html