ปรีดี พนมยงค์ : ผู้อภิวัฒน์ รัฐบุรุษซึ่งถูกป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในฉากการเมืองไทย
- 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันปรีดี เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของปรีดีผู้ขับเคลื่อนประเทศชาติในหลายด้านทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา
- ปรีดี พนมยงค์ สวมบทบาทหลากหลายตลอดช่วงชีวิตกว่า 80 ปีตั้งแต่เป็นผู้ก่อการคนสำคัญของคณะราษฎรที่ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีว่าการอีกหลายกระทรวง
- 11 พฤษภาคม 2563 เป็นวาระครบรอบ 120 ปีชาตกาลของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่มีชีวิตผันผวนและถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เส้นทางชีวิตกว่า 80 ปีของ ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526) นับเป็นเส้นทางที่ผันผวนอย่างที่สุด จากลูกชาวนาเขาสามารถสอบไล่วิชากฎหมายขั้นเนติบัณฑิตได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นผู้ก่อการคนสำคัญของคณะราษฎร ที่ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และเป็นรัฐมนตรีว่าการอีกหลายกระทรวง
ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศหลายด้านทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันเขาก็โดนมองจากฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น “ตัวอันตราย” และโดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือเป็นแพะรับบาปของการใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และเป็นกบฏจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศกว่า 30 ปี ในที่สุดเขาได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อเหลือเพียงแค่อัฐิเท่านั้น
11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกกำหนดให้เป็น วันปรีดี เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่มีชีวประวัติยาวเหยียดด้วยตำแหน่งและสถานะสำคัญที่หลากหลาย และผู้ที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ. 2543 ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล
11 พฤษภาคม 2563 เป็นอีกวาระที่ครบรอบ 120 ปีชาตกาลของ ปรีดี พนมยงค์ Sarakadee Lite จึงขอย้อนรอยชีวประวัติของผู้ที่ชาวธรรมศาสตร์มักกล่าวถึงผ่านกลอนบทหนึ่งว่า
“พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”
จากลูกชาวนาสู่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง
จากลูกชาวนาที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความยากลำบากของชนชั้นแรงงาน ปรีดีมีโอกาสเรียนจนจบชั้น ม.6 และเรียนต่อด้านกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม และด้วยความที่เป็นคนหัวดีเขาสามารถสอบได้ชั้นเนติบัณฑิตในวัยเพียง 19 ปี แต่ยังอ่อนวัยเกินกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา จากนั้นได้รับทุนจากโรงเรียนให้ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีสเมื่อ พ.ศ.2469 และยังได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐกิจอีกหนึ่งใบ
นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสที่ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในค.ศ.1789 เป็นต้นมา ปารีสได้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของผู้ที่อยากให้เกิดการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศตน ไม่ว่าจะเป็น เหงียน ไอ คว๊อค (โฮจิมินห์), โจว เอินไหล, เฉินอี้ รวมถึง ปรีดี พนมยงค์ กับเพื่อนชาวสยามโดยมีการประชุมผู้ก่อการคณะราษฎรครั้งแรกที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469โดยมีผู้ร่วมประชุม 7 คน คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (นามเดิม จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี ที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
หลังเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2470 ปรีดีในวัย 26 ปี รับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และยังสอนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม อาจารย์กฎหมายหนุ่มที่ควบตำแหน่งผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนจึงถือโอกาสเผยแพร่อุดมการณ์และความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยให้แก่ลูกศิษย์และคนหนุ่มสาว
หลังจากนั้นร่วม7 ปีในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินแบบสายฟ้าแลบ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรง “เห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเสียเนื้อ” จึงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ที่ร่างโดยปรีดี และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมี พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยและนายปรีดีได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี
เมื่อปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยามและเป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งฉบับแรก 2475 ที่ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้เท่าเทียมผู้ชาย
นอกจากนี้เขายังเสนอร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือที่เรียกกันว่า สมุดปกเหลือง โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์และวางหลักการประกันสังคม แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากพลังอำนาจเก่าว่าเป็นแนวคิดที่ลอกเลียนแบบพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียและกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช2476 เขาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 และกว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคมก็เป็นเวลาอีก 60 ปีต่อมา
หลังจากนั้นไม่กี่เดือนคณะราษฎรนำโดย พ.อ.พระยาพหลฯ ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณนิติธาดาและโทรเลขให้ปรีดีกลับมาร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและพ้นข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ผลงานสำคัญช่วงนี้คือการร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 โดยมีเนื้อหาสำคัญคือกระจายอำนาจการปกครองเป็นส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ต่อมาปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้นำในการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรมกับ 12 ประเทศ ได้สำเร็จ โดยมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่คนต่างประเทศไม่ต้องขึ้นศาลสยามซึ่งเป็นการเสียเอกราชทางศาล และประเด็นเรื่องภาษีร้อยชัก 3 ซึ่งรัฐบาลสามารถเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าของสินค้าได้ไม่เกินร้อยละ3 ทำให้ประเทศขาดรายได้
นอกจากนี้ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปรีดีได้สถาปนา “ประมวลรัษฎากร” เป็นครั้งแรกในสยามเป็นการวางรากฐานเกี่ยวกับบทบัญญัติภาษีอากรที่เป็นธรรมแก่สังคมคือผู้ใดมีรายได้มากกว่าเสียมาก ผู้ใดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีมาก
เขายังผลักดันให้เกิดธนาคารชาติเพื่อเป็นธนาคารของรัฐคอยควบคุมธนาคารพาณิชย์ และเป็นผู้ออกธนบัตรรักษาทุนสำรองเงินตราท่ามกลางเสียงคัดค้านของธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นที่เป็นของชาวต่างชาติ ปรีดีได้เริ่มวางรากฐานอย่างจริงจังโดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน ต่อมาจึงได้จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485
จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก
ช่วง พ.ศ. 2475-2477 สยามมีประชากรราว 12 ล้านคน แต่มีนักเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษาเพียง 2,200 คนนับว่าคุณภาพการศึกษาของคนไทยยังล้าหลังมาก นายปรีดีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงผลักดันให้มีการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกที่อยู่นอกเหนือการกำกับของรัฐเป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เขากล่าวในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า
“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา”
ในปีนั้นมีคนสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลัยเปิดแห่งแรกเป็นจำนวนมากถึง 7,094 คน มหาวิทยาลัยวางโครงสร้างให้เลี้ยงตัวเองได้โดยอาศัยเงินค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาและรายได้จากการเข้าถือหุ้นในธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมโดย มธก. ถือหุ้นถึง 80%
แต่ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และปรีดีต้องหนีออกนอกประเทศ รัฐบาลเผด็จการทหารได้ตัดคำว่าการเมืองออกจากชื่อมหาวิทยาลัยและยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งอธิการบดีแทน อีกทั้งยังขายหุ้นธนาคารทั้งหมดจนมหาวิทยาลัยต้องกลับมาดำเนินการภายใต้เงินงบประมาณและการควบคุมของรัฐ
“รู้ธ” ผู้อยู่เบื้องหลังเสรีไทย และการทำงานแบบปิดทองใต้ฐานพระ
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทยไปยังประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีแบ่งเป็น2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยจอมพลป.พิบูลสงคราม เห็นด้วยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในขณะที่อีกฝ่ายนำโดยปรีดี คัดค้านอย่างรุนแรงและเสนอว่าต้องสู้กับญี่ปุ่นที่ละเมิดอธิปไตย แต่สุดท้ายก็แพ้เสียงข้างมากทำให้ไทยกับญี่ปุ่นเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกัน
เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ฝ่ายอังกฤษประกาศสงครามตอบโต้ ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามด้วยโดยถือว่าไทยถูกญี่ปุ่นรุกราน ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรรัชกาลที่ 8 ไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้น
ปรีดีเริ่มจัดตั้ง ขบวนการเสรีไทย โดยรวบรวมคนไทยทั้งในและนอกประเทศเพื่อทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น และเริ่มติดต่อกับประเทศสัมพันธมิตรเพื่อให้ทราบว่าในเมืองไทยมีขบวนการเสรีไทยที่ไม่ยอมรับการประกาศสงครามของรัฐบาลทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งคนเข้ามาประสานงาน เขาใช้ทำเนียบท่าช้างซึ่งรัฐบาลให้เป็นบ้านพักรับรองสำหรับผู้สำเร็จราชการเป็นที่บัญชาการของเสรีไทยที่มีเขาเป็นหัวหน้าโดยใช้นามว่า “รู้ธ”
ปรีดีต้องทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายและควบ 2 บทบาท คือ ผู้สำเร็จราชการ และหัวหน้าเสรีไทยตลอด 3 ปีกว่าในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 การทำงานของขบวนการเสรีไทยทำให้ประเทศรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 ว่า “ช่วงนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานมากที่สุด ทำเนียบท่าช้างเป็นที่บัญชาการของเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้า พออยู่มาวันหนึ่ง นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็มาเซ็นชื่อเยี่ยมที่ทำเนียบของนายปรีดี แล้วก็เดินมาที่ศาลาริมน้ำซึ่งเป็นส่วนที่พวกเสรีไทยใช้ทำงาน โตโจคงอยากเห็นส่วนที่เราอยู่หมด น่ากลัวเหมือนกัน แต่โชคดีที่พวกญี่ปุ่นคงไม่ระแคะระคาย”
ทศ พันธุมเสน อดีตเสรีไทยสายอังกฤษเคยกล่าวว่า “เสรีไทยทุกคนทำงานปิดทองใต้ฐานพระ ที่ยิ่งกว่าปิดทองหลังพระ”
ปิดฉากคณะราษฎร และการถูกใส่ร้ายป้ายสีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงและในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงบรรลุนิติภาวะ นายปรีดีจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จนิวัตประเทศไทยและได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และรัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งปรีดีเป็น รัฐบุรุษอาวุโส คนแรกของประเทศไทย
หลังสงครามสงบมีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง3 ครั้งในระยะเวลาเพียง7 เดือน ต่อมาคณะรัฐบาลจึงเชิญนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำและศัตรูทางการเมืองของนายปรีดีสบโอกาสเริ่มแผนโค่นล้มฝ่ายประชาธิปไตยโดยกระจายข่าวว่าปรีดีอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของพระองค์
ต่อมาเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ฝ่ายรัฐประหารมุ่งจับตัวปรีดี แต่เขาหนีรอดได้หวุดหวิด ชัยชนะตกเป็นของคณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พ.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร และ พ.ท.ประภาส จารุเสถียร ที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนและเป็นการปิดฉากอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรซึ่งปกครองประเทศมาเป็นเวลา 15 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ.2475 ทำให้นายปรีดีต้องรีบหลบหนีไปยังสิงคโปร์
ปรีดีได้เดินทางกลับมาเมืองไทยอีกครั้งและร่วมกับพรรคพวกก่อตั้ง “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” หรือที่รู้จักกันว่า “กบฏวังหลวง” พยายามยึดอำนาจคืนจากฝ่ายรัฐประหารแต่ล้มเหลว
สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ยุควิกฤตมีการจับกุมและสังหารพรรคพวกนายปรีดีหลายคน ทำให้เขาต้องหลบซ่อนตัวอยู่แถวฝั่งธนบุรีนาน 6 เดือนก่อนที่จะปลอมตัวเป็นชาวประมงลงเรือเล็กหนีไปสิงคโปร์แล้วหาเรือเดินทางต่อไปยังฮ่องกงเพื่อขอลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีน
“บ้าน” ที่ไม่มีโอกาสได้กลับ
ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ที่ประเทศจีนนาน 21 ปี ปรีดีถูกกล่าวหาจากรัฐบาลไทยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนแดงเพื่อยึดประเทศไทย ในช่วงนั้นเขาใช้เวลาเขียนหนังสือและบทความต่างๆอาทิ สังคมปรัชญาเบื้องต้น ความเป็นอนิจจังของสังคม
ในหนังสือ “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน” เขาเขียนระบายความในใจตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าต้องอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีนเป็นเวลานานกว่า 20 ปีโดยเหตุผลเพียงเพราะข้าพเจ้าได้กลายเป็นแพะรับบาปของการใส่ร้ายป้ายสีนานัปการ โดยเฉพาะข้าพเจ้าถูกกล่าวหาหลายครั้งหลายคราวว่าเป็นอาชญากรหรือก่อกบฏร้ายแรง ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลที่มิพึงปรารถนาในสายตาของรัฐบาลต่างประเทศหลายประเทศทั้งๆที่ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่นั้นรัฐบาลเหล่านี้เคยกล่าวว่าเขาเป็นมิตรกับข้าพเจ้าแต่กลับหันหลังให้ข้าพเจ้าอย่างง่ายดายเพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่”
ในปี พ.ศ. 2513 ปรีดีในวัย 70 ปีตัดสินใจอพยพไปอยู่ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ช่วงเวลานั้นเขาเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทสยามรัฐของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ลงข่าวหมิ่นประมาทว่าเขาเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตจนสุดท้ายจำเลยแพ้คดีต้องประกาศขอขมาทางหน้าหนังสือพิมพ์
ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ปรีดีสิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายในวัย 83 ปี และ 3 ปีต่อมาอัฐิของท่านจึงได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน
เพื่อเป็นอนุสรณ์คุณงามความดีที่ท่านอุทิศให้กับประเทศ มูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งสถาบัน ปรีดี พนมยงค์ ในซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538
** ขอบคุณภาพเปิดและภาพประกอบ : สถาบันปรีดี พนมยงค์
Fact File
- สามารถติดตามอ่านข้อมูล ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งหนังสือ และกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ สถาบันปรีดี พนมยงค์ pridi.or.th/th และ www.facebook.com/pridibanomyonginstitute
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 182 เดือนเมษายน 2543
- ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559
- สถาบันปรีดี พนมยงค์ pridi.or.th/th