จาก Man of the Year ถึง ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำศตวรรษ ฉบับนิตยสารไทม์
- นิตยสารไทม์ได้คัดเลือกผู้หญิง 100 คน ในรอบ 100 ปี ที่มีบทบาทขับเคลื่อนสังคมในด้านต่างๆทั้งสิทธิสตรี สิ่งแวดล้อม การเมือง วิทยาศาสตร์ กีฬา บันเทิง วรรณกรรม และศิลปะ สำหรับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า 100 Women of the Year
- ในบรรดาหญิงเก่งที่ได้รับการยกย่องจากไทม์มีอาทิ ควีนเอลิซาเบธที่ 2,เจ้าหญิงไดอาน่า, มาริลิน มอนโร, มาดอนน่า, เจ. เค. โรว์ลิงและบียอนเซ่
ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำนิตยสารไทม์ คืออีกกระแสที่ทั่วโลกกำลังจับตา หลังจากที่ในทุกช่วงปลายปี นิตยสารไทม์ (Time Magazine) ได้ประกาศรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลหลากหลายวงการผู้ที่มีบทบาทขับเคลื่อนสังคมมากที่สุด แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าตลอด 72 ปีที่ผ่านมา ตำแหน่ง บุคคลแห่งปี ของนิตยสารไทม์ (แรกเริ่มเรียกว่า Man of the Year จนกระทั่ง ค.ศ.1999 จึงเปลี่ยนเป็น Person of the Year) มีสัดส่วนที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่หยิบมือ
ล่าสุดทางนิตยสารไทม์จึงได้ริเริ่มโปรเจกต์ “ผู้หญิง 100 คนแห่งปี” (100 Women of the Year Project) เพื่อเป็นการยกย่อง ผู้มีอิทธิพลต่อสังคมในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา และตรงกับช่วงวันสตรีสากลในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี โดยทางกองบรรณาธิการนิตยสารไทม์ได้คัดเลือก ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เป็นผู้หญิงที่สร้างประวัติศาสตร์ในแวดวงต่างๆ เช่น สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ อย่างควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงไดอาน่า อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แจ็กเกอลีน เคนเนดี
ดีไซเนอร์ระดับตำนานอย่าง โกโก ชาแนล นักแสดงฮอลลีวูด มาริลิน มอนโร ราชีนีเพลงป๊อป มาดอนน่า ศิลปินหญิงชาวเม็กซิกัน ฟรีดา คาห์โล เจ. เค. โรว์ลิง ผู้สร้างตำนานแฮร์รี่ พอตเตอร์ และเกรตา ธันเบิร์กนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปี ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น บุคคลแห่งปี 2019 ของนิตยสารไทม์
การคัดเลือก ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ครั้งนี้ยังจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของสตรีที่เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งทางรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 (ค.ศ.1920) ให้ผู้หญิงอเมริกันมีสิทธิ์เลือกตั้งได้เท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์กลับไม่ใช่ชาวอเมริกัน เธอคือ Eleonora Duse นักแสดงชาวอิตาลีชื่อดังที่ประกาศอำลาวงการและทัวร์การแสดงสุดท้ายของเธอที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1923 เธอได้ขึ้นปกของฉบับเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1923
สตรีระดับราชวงศ์ที่ได้รับการเชิดชูในโปรเจกต์ 100 Women of the Year คือ สมเด็จพระราชินีโซรยา ตาร์ซี ในกษัตริย์อมานุลเลาะห์ ข่าน แห่งอัฟกานิสถาน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญในตะวันออกกลางช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ยังมี ควีนอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งนิตยสารไทม์เคยยกย่องให้เป็นผู้หญิงแห่งปี 1952 เมื่อขึ้นครองบัลลังก์ในปีนั้นในวัย 26 ปี และ เจ้าหญิงไดอาน่า ผู้ซึ่งทางนิตยสารนิยามว่าเป็น “เจ้าหญิงของประชาชน” ไม่ใช่ด้วยรสนิยมไฮแฟชั่นที่ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้” แต่เป็นเพราะความทุ่มเทและอุทิศตนของพระองค์ที่จะให้สังคมในขณะนั้นเข้าใจโรคเอดส์อย่างถูกต้อง โดยเสด็จเยี่ยมผู้ติดเชื้อ HIV ตามโรงพยาบาลต่างๆดังปรากฏภาพเจ้าหญิงไดอาน่าจับมือกับผู้ป่วย HIV ที่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1987
สำหรับผู้หญิงที่มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิสตรีและความเท่าเทียมในสังคมนั้น ทางนิตยสารได้เชิดชูกลุ่มสตรีในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของสตรีในอเมริกานำโดย แคร์รี่ แชปแมน แคท รวมไปถึง เชียง จิ้งยวี่ หนึ่งในสมาชิกหญิงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสตรีหัวก้าวหน้าที่เรียกร้องเรื่องการศึกษาของผู้หญิงและ กลอเรีย สทายเน็ม นักกิจกรรมทางสังคม นักเขียนและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Ms.
ขาดไม่ได้สำหรับแวดวงการเมืองการปกครองคืออดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกาอย่าง แจ็กเกอลีน เคนเนดี และ มิเชล โอบามา รวมทั้ง เอวา เปรอง อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของอาเจนติน่าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประธานาธิบดีฮวน โดมิงโก เปรอง ในลิสต์รายชื่อต้องไม่พลาดชื่อของอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย และ มาร์กาเรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษและสตรีคนแรกที่นำพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งได้ถึง 3 สมัย
ในส่วนวงการบันเทิงย่อมต้องมีรายชื่อของ มาร์ธา เกรแฮม ตำนานการเต้นแบบโมเดิร์นแดนซ์ มาริลิน มอนโร เจ้าของฉายาเซ็กซ์ซิมโบแห่งยุค 50 ราชีนีเพลงป๊อป มาดอนน่า และ บียอนเซ่ ตัวแม่ของวงการเพลงอาร์แอนด์บี
ด้านวรรณกรรมขาดไม่ได้ที่ต้องระบุชื่อของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนและเฟมินิสต์ชาวอังกฤษ และ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้สร้างปรากฏการณ์โลกเวทมนตร์ไปทั่วโลกกับชุดวรรณกรรมเยาวชนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 เล่มที่ขายได้กว่า 400 ล้านเล่มทั่วโลกและได้รับการแปลไปประมาณ 400 ภาษา
ไทม์ยังเชิดชูสตรีที่เปลี่ยนโลกด้วยความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เช่น โรซาลินด์ เอลซี แฟรงคลิน ผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นพบดีเอ็นเอซึ่งนำไปสู่การค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ดีเอ็นเอของเจมส์ วัตสัน และ ฟรานซิส คริก รวมไปถึง ถูโยวโยว นักวิทยาศาสตร์หญิงชาวจีนที่ได้รับรางวัลโนเบล ค.ศ.2015 จากการค้นพบยาอาร์ติมิซินินซึ่งสามารถรักษาโรคมาลาเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางนิตยสารยังได้ออกแบบปกใหม่ทั้งสิ้น 89 ปกที่สร้างสรรค์โดยศิลปินจากเทคนิคที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมกระดาษ 3 มิติ ภาพวาดด้วยถ่านชาร์โคล ภาพถ่ายคอลลาจ ภาพวาดสีน้ำมัน ส่วนอีก11 ปกนั้นคงตามรูปถ่ายหรือรูปวาดที่เคยปรากฏในนิตยสารแต่เดิม ปกของเจ้าหญิงไดอาน่านั้นได้ดีไซน์ใหม่โดยศิลปินชื่อ ยูเรีย โบสกายา โดยอ้างอิงจากรูปเจ้าหญิงไดอาน่าที่เคยลงเป็นปกในนิตยสารไทม์ปี 1987 เธอใช้เทคนิคตัดกระดาษเป็นแผ่นเล็กๆบางๆและเรียงร้อยติดกันด้วยกาวให้เกิดเป็นภาพ 3 มิติรูปใบหน้าของเจ้าหญิงในตำนานผู้ปรากฏโฉมบนปกนิตยสารนี้มาแล้วถึง 11 ครั้ง
ศิลปินหญิงชาวสเปน อมายา เกอร์ไพร์ ผู้ถนัดการวาดภาพด้วยแกรไฟต์และชาร์โคล เป็นผู้สร้างสรรค์ปกของผู้หญิง 5 คนผู้เป็นแกนนำของกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของสตรี โดยเธอได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเขียนชาร์โคลของวิลเลียม โอเบอร์ฮาร์ดต์ ศิลปินชาวอเมริกันผู้วาดภาพโจเซฟ แคนนอน โฆษกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นที่เป็นหน้าปกฉบับแรกของนิตยสารไทม์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1923
อ้างอิง