10 สตรีผู้สร้างประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ในพิธีเปิดโอลิมปิกปารีสกลางแม่น้ำแซน
Faces

10 สตรีผู้สร้างประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ในพิธีเปิดโอลิมปิกปารีสกลางแม่น้ำแซน

Focus
  • โอลิมปิก Paris 2024 ตั้งเป้าหมายให้เกิดความเท่าเทียมทั้งจำนวนนักกีฬาชายและหญิง รวมถึงการแข่งขันประเภทชายและหญิงมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
  • หนึ่งในไฮไลต์การแสดงใน พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส คือ Sororité : ภราดรภาพแห่งสตรี เป็นการนำเสนอรูปปั้นสีทองของสตรีชาวฝรั่งเศส 10 คน ผู้สร้างประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง กีฬา ศิลปะ สิทธิมนุษยชน และวรรณกรรม
  • หลังโอลิมปิก Paris 2024 ปิดฉากลง คณะกรรมการจัดการแข่งขันและทางกรุงปารีสวางแผนที่จะนำรูปปั้นของสตรีทั้ง 10 คนในชุดการแสดงSororité ไปติดตั้งบริเวณถนน La Chapelle ในปารีสเขต 18

นอกจาก ตราสัญลักษณ์โอลิมปิก Paris 2024 จะใช้รูปมารีอาน (Marianne) สตรีผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพและความเสมอภาคของฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักแล้ว โอลิมปิกในครั้งนี้ยังตั้งเป้าหมายให้เกิดความเท่าเทียมทั้งจำนวนนักกีฬาชายและหญิงรวมถึงการแข่งขันประเภทชายและหญิงมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

ในพิธีเปิดโอลิมปิกปารีส เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 (ตามเวลาในประเทศไทย) ที่นำทัพนักกีฬาล่องเรือไปตามแม่น้ำแซนพร้อมการแสดงทั้งหมด 12 ชุดตลอดเวลากว่า 4 ชั่วโมงของพิธีการ หนึ่งในการแสดงที่เรียกว่า Sororité (โซโครคริเต้) : ภราดรภาพแห่งสตรี ยังเป็นการยกย่องและระลึกถึงสตรีชาวฝรั่งเศส 10 คนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและผู้สร้างประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่นการเมือง กีฬา ศิลปะ สิทธิมนุษยชน และวรรณกรรม   

พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส
เรือนักกีฬาล่องในแม่น้ำแซนและด้านซ้ายเป็นแท่นรูปปั้นสตรีสำคัญ 10 คนในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

Sororité เป็นการแสดงที่มีเพลงประกอบเป็นเพลงชาติของฝรั่งเศส คือ ลา มาร์แซแยส (La Marseillaise) ที่ในช่วง พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส ได้ อั๊กเซลล์ แซ้งต์ ซีเครล (Axelle Saint-Cirel) นักร้องเสียง mezzo-soprano และเพลงแจซมาร้องเพลงด้วยการสวมชุดสีธงชาติฝรั่งเศสและยืนอยู่บนหลังคาของ เลอ กร็องด์ ปาเล่ส์ (Le Grand Palais) และในขณะที่เรือของนักกีฬาแต่ละลำแล่นผ่านจะมีรูปปั้นสีทองของสตรีชาวฝรั่งเศสจำนวน 10 รูปค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากแท่นริมแม่น้ำแซนบริเวณใกล้กับ สมัชชาแห่งชาติ (Assemblé Nationale) และ สะพานอาแล็กซ็องดร์ที่ 3 (Le pont d’Alexandre III)  

พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส
Axelle Saint-Cirel ร้องเพลงชาติของฝรั่งเศสบนหลังคา Le Grand Palais

โตม่า โจล (Thomas Jolly) ผู้กำกับฝ่ายศิลป์และผู้คิดคอนเซปต์การแสดงชุด พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส เปิดเผยว่าปารีสเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยรูปปั้นที่ประดับประดาตามสถานที่ต่างๆ แต่เป็นรูปปั้นของผู้ชายจำนวนถึง 260 รูป ในขณะที่มีเพียงแค่ 40 รูปปั้นเท่านั้นที่เป็นของเพศหญิง ดังนั้นภายหลังจากโอลิมปิก 2024 ปิดฉากลง ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันจึงวางแผนที่จะนำรูปปั้นจากการแสดงชุดภราดรภาพแห่งสตรีไปติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมเป็นการถาวรต่อไป

พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส
Axelle Saint-Cirel สวมชุดสีธงชาติฝรั่งเศส

ในขณะที่นายกเทศมนตรีกรุงปารีส อานน์ อิดาลโก้ (Anne Hidalgo) กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ทางปารีสจะเก็บสัญลักษณ์ 3 อย่างที่ใช้ประกอบในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ไว้ คือ ห่วงโอลิมปิกเหล็กขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหอไอเฟล กระถางคบเพลิงบอลลูน และรูปปั้นสีทองของผู้หญิงทั้ง 10 รูปซึ่งอย่างหลังนี้นายกเทศมนตรีแสดงความประสงค์จะให้นำไปติดตั้งบริเวณถนนลา ชาแปล (La Chapelle) ในปารีสเขต 18

Sarakadee Lite พาไปรู้จักสตรีทั้ง 10 คนจาก พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการต่างๆ ตั้งแต่ผู้หญิงคนแรกที่เดินทางรอบโลกเพื่อสำรวจพืชพรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ต่อจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ที่ถูกประหารด้วยเครื่องกิโยติน ผู้หญิงที่ยึดอาชีพนักเขียนในศตวรรษที่ 14 ยุคที่นักเขียนเป็นอาชีพสงวนสำหรับเพศชายเท่านั้น รวมถึงผู้สร้างประวัติศาสตร์กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกโดยผู้หญิง และสตรีผู้ผลักดันให้เกิดการยอมรับความสามารถของนักกีฬาหญิงจนเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกได้

พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส

01 Jeanne Barret : นักพฤกษศาสตร์ปลอมตัวเป็นชายเพื่อสำรวจพืชพรรณทั่วโลก

ฌานน์ บาร์เคร่ต์ (Jeanne Barret : 1740-1807) เป็นนักพฤกษศาสตร์จากแคว้นบูร์กอญ (Bourgogne) ผู้ค้นพบพรรณพืชใหม่ๆ หลากหลายชนิด และนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่สามารถเดินทางรอบโลกได้สำเร็จ แต่ด้วยภาวะจำกัดในด้านเพศสภาพและกฎระเบียบของเรือในขณะนั้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นเรือทำให้บาร์เคร่ต์ต้องปลอมตัวและแต่งกายเป็นผู้ชายโดยใช้ชื่อว่า ฌ็อง (Jean) และใช้ผ้าพันเพื่อซ่อนหน้าอกไว้ รวมถึงแต่งกายแบบหลวมๆ ไม่รัดมากเพื่อปกปิดโครงร่างของตัวเอง เพื่อร่วมทีมสำรวจรอบโลกนำโดย หลุยส์ อองตวน เดอ บูแกงวิลล์ (Louis Antione de Bougainville) เธอร่วมทีมในฐานะผู้ช่วยทางด้านธรรมชาติวิทยาและมีหน้าที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง รวมถึงแยกประเภทของพืชพรรณนับพันๆ รายการระหว่างการเดินทาง และพรรณพืชที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ของเธอคือ Solanum baretiae sp. (โซลานุม บาเรติเย่) ที่ค้นพบบริเวณหมู่เกาะตาฮิติ

อนุสรณ์จากปารีส : ป้ายโลหะที่ระลึกจารึกข้อความและเกียรติคุณ ณ ตึกหมายเลข 13 rue des Boulangers 75005 Paris ว่า “ณ ที่แห่งนี้เป็นที่พำนักของ Jeanne Barret 1740-1807 นักสำรวจและนักพฤกษศาสตร์ผู้หญิงคนแรกที่เดินทางรอบโลกใน ค.ศ. 17671775 เธอเดินทางในทีมสำรวจของ Bougainville

พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส

02 Simone de Beauvoir : นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเรียกร้องให้การทำแท้งถูกกฎหมาย

ซิโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir :1908-1986) เกิดที่กรุงปารีสเป็นนักเขียนและเฟมินิสต์ตัวยง ผลงานของเธอมีทั้งนวนิยาย บทความ และบทความด้านปรัชญาแนวอัตถิภาวนิยม (existentialism) ที่มีแนวคิดว่ามนุษย์ดำรงอยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลอย่างเป็นอิสระและเป็นผู้สร้างความหมายให้กับชีวิตตนเองผ่านการกระทำและการเลือกด้วยตนเองมิใช่จากสิ่งภายนอก

ผลงานเด่นของเธอและทำให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือ เลอ เดอเซียม แซ็กซ์ (Le Deuxième Sexe) หรือเพศที่ 2  ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1949 เพื่อสะท้อนถึงการกดขี่ทางเพศ เธอยังเป็นนักต่อสู้และนักเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ซิโมน เดอ โบวัวร์ ใช้ชีวิตคู่กับ ฌ็อง ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) นักเขียนและนักปรัชญาชื่อดังของฝรั่งเศส ร่วมกันมากกว่า 50 ปี โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ภายหลังเสียชีวิตร่างของทั้งคู่ถูกฝังไว้คู่กันที่บริเวณสุสานมงปารนาส (Le cimetière Montparnasse) เขต 14 ของปารีส

อนุสรณ์จากปารีส :

  • ตั้งชื่อจัตุรัสว่า ซาทร์-โบวัวร์ (Place Sartre-Beauvoir) และมีป้ายจารึกเกียรติคุณว่า เป็นนักปรัชญาและนักเขียน ตั้งอยู่บริเวณเลขที่ 149 Boulevard Saint-Germain, 75006 Paris
  • ตั้งชื่อสะพานขนาดเล็กข้ามแม่น้ำแซนว่า ปาสเซอแครล ซิโมน เดอ โบวัวร์ (Passerelle Simone de Beauvoir) ที่ตั้งอยู่ระหว่าง Pont de Bercy และ Pont de Tolbiac  75012 ในปารีส เขต 12
  • ป้ายที่ระลึกที่ตึกหมายเลข 11 bis rue Victor-Schoelcher 75014 Paris ระบุว่า “Simone De Beauvoir 1908-1986 ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Deuxième sexeนักเขียน นักปรัชญา ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ถึง 1986”
พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส

03 Olympe de Gouges : นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดนประหารด้วยกิโยติน

โอแลมป์ เดอ กูช (Olympe de Gouges : 1748-1793) เป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญ เกิดที่เมืองมงโตบอง (Montauban) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสใกล้ๆ กับตูลูซ (Toulouse) เดิมชื่อ มาครี กูช (Marie Gouge) เธอเป็นผู้ร่างปฏิญญาเกี่ยวกับสิทธิสตรีและพลเมืองสตรีใน ค.ศ. 1791 เดอ กูช ถือเป็นคีย์วูแมนที่สำคัญและมีบทบาทมากในด้านเฟมินิสต์และเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาพของสตรีในทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้มีการเลิกทาสและความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นนักเคลื่อนไหวแนวหน้าและออกมาวิจารณ์และตำหนิการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุของกลุ่มปฏิวัติฝรั่งเศสจนทำให้ถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายกษัตริย์หรือเอนไปทางราชาธิปไตยจนถูกนำไปเป็นหนึ่งในเหตุผลของการถูกคุมขังและถูกลงโทษประหารด้วยการตัดหัวใน ค.ศ. 1793 ในข้อหากบฏและละเลยคุณธรรมที่เพศหญิงควรจะปฏิบัติและยึดมั่น เดอ กูชเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ต่อจาก พระนางมารี อองตัวแน็ต (Marie Antoinette) ที่ถูกประหารด้วยเครื่องกิโยติน (guillotine) เรื่องราวของเธอได้มาปรากฎอีกครั้งใน พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส

อนุสรณ์จากปารีส : ตั้งชื่อจัตุรัสว่าโอแลมป์ เดอ กูช (Place Olympe-de-Gouges), 75003 ตั้งอยู่เขต 3 ของปารีส และมีแผ่นป้ายจารึกว่า Place Olympe-de-Gouges 1748-1793, ผู้หญิงแห่งตัวอักษร นักสิทธิสตรี”

พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส

04 Christine de Pizan : นักเขียนด้านสตรีนิยมคนแรกในยุคศตวรรษที่ 14

คริสตีน เดอ ปีซ็อง (Christine de Pizan : 1364-1430) เป็นนักปรัชญา กวี นักคิด นักเขียนหญิงคนแรกในช่วงศตวรรษที่ 14 เธอเกิดที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และเมื่ออายุ 4 ขวบจึงได้ย้ายตามบิดาที่เข้ามาเป็นหมอและนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนักฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 และเมื่ออายุได้ 15 ปี เดอ ปีซ็องได้แต่งงานกับ เอเตียน เดอ กาสเตล (Étienne du Castel) ขุนนางหนุ่มและทนายความของพระเจ้าชาร์ลที่ 5

แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อกาฬโรคระหว่าง ค.ศ. 1389-1390 ทำให้พ่อ สามี และลูกที่เพิ่งจะคลอดมาของเธอเสียชีวิต เดอ ปีซ็องซึ่งในตอนนั้นมีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้นต้องผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและลูกอีกสองคนที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งนักเขียนในสมัยนั้นยังเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับเพศชายเท่านั้น ผลงานของเธอที่ถือเป็นเบสต์เซลเลอร์ขายดีของยุโรปด้วยคือ โรม็อง เดอ ลา โรส (Roman de la Rose) เป็นบทกวีในลักษณะกลอนแปดจำนวนถึง 22,000 วรรค และ ลา ซิเต้ เดส์ ดามส์ (La Cité des Dames) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมด้านสตรีนิยมในยุคแรกๆ

อนุสรณ์จากปารีส : 

  • ตั้งชื่อถนนว่า Rue Christine de Pizan, 75017
  • ตั้งชื่อโรงเรียนอนุบาลว่า Ecole maternelle Christine de Pizan  บริเวณเลขที่ 42 บนถนนชื่อเดียวกัน
พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส

05 Alice Milliat : นักกีฬาหญิงผู้เปิดประตูโอลิมปิกให้สตรีเพศ

สตรีที่จะขาดไม่ได้ใน พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส คือ อลิซ มิลิยาต์ (Alice Milliat : 1884-1957) นักกีฬาที่เป็นผู้เปิดประตูสู่โอลิมปิกของสตรีเพศ เกิดที่เมืองน็องต์ (Nantes) ใน ค.ศ. 1884 ในช่วงวัยเด็กเธอได้ฝึกฝนและเล่นกีฬาหลายประเภท เช่น ฮอกกี้ ว่ายน้ำ และเรือพาย เมื่ออายุได้ 20 ปีได้แต่งงานกับ โจเซฟ มิลิยาต์ (Joseph Milliat) และย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน แต่อีก 4 ปีต่อมาสามีของเธอเสียชีวิตลง

ในช่วงที่ ปิแอร์ เดอ กูแบร์คแต็ง (Pierre de Coubertin) ได้ตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ขึ้นใน ค.ศ. 1894 และทาง IOC ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในอีก 2 ปีถัดมาซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ อลิซ มิลิยาต์ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์สมาคมกีฬาสตรีแห่งฝรั่งเศสได้จัดการแข่งขันฟุตบอลหญิง และการวิ่งแบบ cross-country ส่วนตัวเธอเองก็สามารถทำลายสถิติในการพายเรือล่องแม่น้ำแซนเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตรได้ในเวลาที่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและต้องการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาต่างๆ ได้ เธอจึงได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาผู้หญิงโลกขึ้นที่ปารีสใน ค.ศ. 1922 และในการแข่งขันครั้งนี้กูแบร์คแต็งในฐานะประธานของ IOC ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแข่งขันกีฬาของผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ ไม่สวยงาม และไม่เหมาะสม แต่เธอก็มิได้ล้มเลิกความตั้งใจ ในทางกลับกันได้พยายามล็อบบีบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกวิถีทาง ประกอบกับความสามารถทางด้านภาษาที่เธอสามารถสื่อสารได้ถึงเจ็ดภาษา จนในที่สุดทาง IOC ก็ยอมรับให้มีนักกีฬาผู้หญิงเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกได้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1900 ที่กรุงปารีส และเธอได้เป็นคณะกรรมการโอลิมปิกด้วย โดยนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งในคณะกรรมการนี้ อลิซ มิลิยาต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1957 ที่กรุงปารีส

อนุสรณ์จากปารีส : ตั้งชื่ออาคารกีฬาว่า Gymnase Alice Milliat ที่ตั้งอยู่เลขที่ 11 ter rue d’Alésia 75014 ในปารีส เขต 14

06 Alice Guy Blaché : ผู้สร้างตำนานภาพยนตร์เรื่องแรกที่กำกับฯ โดยผู้หญิง

อลิซ กี บลาเช (Alice Guy Blaché : 1873-1968) ผู้กำกับฯ และผู้บุกเบิกด้านวงการภาพยนตร์เกิดที่เมืองแซ็ง ม็องเด (Saint Mande) ชานเมืองของปารีส เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1873 ใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และชิลี ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1894 ด้วยการทำงานในบริษัท เลอ กงตัวร์ เดอ ลา โฟโตกราฟี (Le Comptoir de la Photographie) ที่มี เล-อง โกมง (Léon Gaumont) เป็นผู้อำนวยการ อีก 1 ปีถัดมาโกมงได้ตั้งบริษัทผลิตกล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ถ่ายภาพของตัวเองขึ้นมา จึงได้ชักชวนให้ อลิซ กี (เป็นนามสกุลในขณะนั้นที่ยังไม่ได้แต่งงาน) เข้ามาทำงานด้วยในตำแหน่งเลขาของเขา

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1895 ทั้งคู่ได้มีโอกาสไปชมการสาธิตการถ่ายทำภาพยนตร์ของ ลูมีแยร์ (Lumière) ที่เลอ กร็องด์ กาเฟ (Le Grand Café) ซึ่งเป็นการฉายภาพเคลื่อนไหว แต่ไม่มีเนื้อเรื่องประกอบ จากจุดนี้เองที่ทำให้เธอมีความต้องการจะสร้างภาพยนตร์ของตนเองขึ้นมาบ้าง เพราะเธอเห็นว่าภาพเคลื่อนไหวที่ไร้เรื่องราวประกอบนั้นเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เธอจึงเจรจาให้โกมงช่วยเป็นนายทุนและร่วมในการสร้างภาพยนตร์โดยมีตัวเธอเองรับหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ ภาพยนตร์ของเธอมีเนื้อเรื่องประกอบที่แต่งขึ้นมาใหม่และใช้ชื่อว่า ลา เฟ โอ ชู (La Fée aux choux) ซึ่งแปลตรงตัวว่า เทพธิดากะหล่ำปลี และถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่มีผู้หญิงเป็นผู้กำกับฯ และออกฉายครั้งแรกในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1896

อลิชเป็นที่รู้จักและยอมรับในด้านการใช้สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ เช่นมีการแต้มสีในฟิล์ม มีการใช้ภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว และมีการนำเสียงเข้าไปซิงก์รวมกับภาพ และมีการใช้นักแสดงชาวแอฟริกันในภาพยนตร์ของเธออีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการแคสติงที่ไม่จำกัดเฉพาะแค่คนฝรั่งเศสเท่านั้น เธอแต่งงานกับ แอร์แบร์ บลาเช (Herbert Blaché) ใน ค.ศ. 1907 ทั้งคู่ก็ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาและได้ตั้งสตูดิโอของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า ลา โซลักซ์ ฟิล์ม โก (La Solax Film Co) ทั้งคู่ทำงานร่วมกันจนถึง ค.ศ.  1922 ซึ่งเป็นปีที่ทั้งคู่หย่าขาดจากกัน อลิชจึงได้ย้ายกลับไปฝรั่งเศสและทำหน้าที่สอนเกี่ยวกับภาพยนตร์แทนการกำกับฯ และเธอเสียชีวิตที่นิวเจอร์ซีย์ในวัย 94 ปี และหลุมฝังศพของเธอก็อยู่ที่นั่นด้วยเช่นกัน

อนุสรณ์จากปารีส :  ตั้งชื่อจัตุรัสว่า อลิซ กีย์ บลาเชช (Place Alice Guy-Blaché) 75014 ในปารีส เขต 14 พร้อมแผ่นป้ายที่จารึกว่า “Place Alice Guy-Blaché 1873-1968 ผู้กำกับฯ หญิงคนแรก ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Fée aux choux ใน ค.ศ. 1896”

07 Louise Michel : กวี นักเขียน คุณครู และนักกิจกรรมกับแนวคิดเสรีนิยม

หลุยส์ มิเชล (Louise Michel : 1830-1905) กวี นักเขียน คุณครู และนักกิจกรรมอนาธิปไตย และสัญลักษณ์ของเฟมินิสต์แห่งคอมมูนารีสที่แม้ว่าจะเกิดและใช้ชีวิตในวัยเด็กในชนบทที่วรงกูร์ ลา โกต (Vroncourt-la-Côte) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปารีส แต่เธอได้รับการศึกษาแบบเสรีนิยมจากปู่ย่าของเธอทำให้เธอมีแนวคิดแบบเปิดกว้าง และได้เรียนรู้และฝึกอบรมให้สามารถเป็นคุณครูสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน เมื่ออายุได้ 26 ปี หลุยส์ มิเชล ย้ายเข้ามาอยู่ในปารีส และทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ตามที่เธอถนัด ใน ค.ศ. 1865 เธอเปิดโรงเรียนในมงมาทร์ (Montmartre) และมีความสนใจในวรรณคดีจนได้ตีพิมพ์บทกวีด้วยการใช้นามแฝงว่า อองโจลคราซ (Enjolras) ร่วมไปกับการสอนหนังสือให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เธอมักจะเข้าร่วมกิจกรรมทางด้านการเมืองและทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศสในปารีสที่เรียกว่า La commune de Paris เธอเป็นแกนนำผู้คนเข้าต่อต้านและสู้รบกับรัฐบาลฝรั่งเศสจนถูกจับกุมและตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปีที่หมู่เกาะนูแวล กาเลโดนี (Nouvelle-Calédonie) ดินแดนโพ้นทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกของฝรั่งเศส ในขณะที่ถูกคุมขังที่นั่นเธอก็ได้ศึกษาพรรณพืชและสัตว์ประจำถิ่นไปด้วย รวมถึงยังให้การสนับสนุนคนพื้นเมืองในการก่อการประท้วงเมื่อ ค.ศ. 1878 ด้วยเช่นกัน

แต่ใน ค.ศ. 1880 หลุยส์ มิเชล ได้กลับมาปารีสและยังคงมีบทบาทและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่ตลอด และถูกจับกุมและคุมขังครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดก็ถูกเนรเทศไปลอนดอนและเธอก็ยังคงเปิดโรงเรียนสอนแนวคิดแบบเสรีนิยมต่อ ในช่วงท้ายของชีวิตเธอได้ใช้เวลาไปๆ มาๆ ระหว่างลอนดอนและปารีส ที่เธอได้กลับมาตั้งหนังสือพิมพ์ เลอ ลีแบร์แตร์ (Le Libertaire) ขึ้นใน ค.ศ. 1895 หลุยส์ มิเชลเสียชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1905 ที่เมืองมาร์แซย์ (Marseille) ด้วยโรคปอดบวมและได้ทิ้งมรดกไว้ให้กับคนรุ่นหลังในฐานะของนักต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคมของผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงและชนชั้นกรรมกร

อนุสรณ์จากปารีส : ตั้งชื่อสวนหย่อมขนาดเล็กว่า Square Louise Michel บริเวณเลขที่ 6 Place Saint-Pierre 75018 ด้านหน้าของโบสถ์ซัคเคร่ เกอร์ (Sacré-Cœur) พร้อมแผ่นป้ายเกียรติคุณที่จารึกว่า “Square Louise Michel 1830-1905 คุณครู วีรสตรีของคอมมูนแห่งปารีส”

08 Simone Veil : ประธานรัฐสภายุโรปผู้หญิงคนแรกและผู้ผลักดันกฎหมายการทำแท้งในฝรั่งเศส

ซิโมน ไวล (Simone Veil : 1927-2017) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสและผู้ที่ทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในประเทศฝรั่งเศส เมื่ออายุได้ 16 ปี ซิโมนถูกจับตัวและส่งไปคุมขังที่ค่ายกักกัน ออชวิตส์ บรีค์เกอโน (Auschwitz-Birkenau) ที่โปแลนด์ในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เธอกลับมายังฝรั่งเศสและได้ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขใน ค.ศ. 1974 เธอได้พยายามผลักดันร่างกฎหมายการทำแท้งและให้ละเว้นโทษเกี่ยวกับการทำแท้งซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อว่า ลา ลัว ไวล (La loi Veil) ที่ได้รับการโหวตยอมรับและผ่านร่างกฎหมายนี้จากรัฐสภาฝรั่งเศส 1 ปีหลังจากได้รับตำแหน่ง

ต่อมาใน ค.ศ. 1979 ซิโมน ไวล ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภายุโรป และได้คะแนนผ่านเข้าไปสู่สภายุโรปตั้งแต่รอบแรก จากการชนะเลือกตั้งครั้งนี้เธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภายุโรปซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ระหว่าง ค.ศ. 1979-1982 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเธอได้รณรงค์และผลักดันการปรองดองสมานฉันท์ระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมถึงการสร้างยุโรปแบบหนึ่งเดียวหรือสร้างเอกภาพของยุโรป ตลอดช่วงชีวิตเธอได้ต่อสู้และเรียกร้องในประเด็นหลักๆ  4 ประเด็นด้วยกัน คือ ด้านสิทธิและศักดิ์ศรีของนักโทษหรือผู้ถูกคุมขัง ด้านสิทธิสตรีและเสรีภาพในการยุติการตั้งครรภ์โดยความสมัครใจ การต่อสู้เพื่อมิให้ความทรงจำในการเนรเทศและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวยิวในยุโรปเลือนหายไปหรือที่เรียกว่า ลา เมมัวร เดอ ลา โชอา (La mémoire de la Shoah) และการสร้างยุโรปเป็นหนึ่งเดียว

ซิโมน ไวล เสียชีวิตที่ปารีส ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2017 และใน ค.ศ. 2018 ทางรัฐบาลได้มีมติให้นำโลงศพของเธอเข้าไปเก็บไว้ที่ ปองเต-อง (Panthéon) ซึ่งเป็นที่เก็บโลงศพของรัฐบุรุษและบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศฝรั่งเศส

อนุสรณ์จากปารีส :

  • ตั้งชื่อจัตุรัสว่าเลอครอป-ซิโมน ไวล (Place de l’Europe-Simone Veil) 75008 ในปารีส เขต 8
  • ตั้งชื่อสถานีรถไฟใต้ดินหรือเมโทร สาย 3 ว่า สถานีเออครอป ซิโมน ไวล (Station Europe-Simone Veil)

09 Paulette Nardal : นักต่อสู้เพื่อเชื้อชาติและสีผิวกับประโยค “สีดำคือความงดงาม”

โปแลตต์ นาร์คดาล (Paulette Nardal : 1896-1985) เกิดที่เมืองฟร็องซัว (François) เกาะมาร์ตีนิก (Martinique) เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันทางด้านเชื้อชาติและสีผิว รวมถึงเป็นนักเขียนและนักสื่อสารมวลชน ในวัย 24 ปีโปแล็ตต์เป็นนักศึกษาผิวสีคนแรกที่สามารถผ่านเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) ในด้านวรรณกรรม และเธอมักจะใช้เวลาว่างไปกับการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ นักเขียนและนักกิจกรรม หรือนักเคลื่อนไหวผิวสีในสโมสรวรรณกรรมที่ตั้งขึ้นมาที่เรียกกันติดปากว่าซาลง ลิตเตแคร์ (Salon littéraire) และใน ค.ศ. 1931 ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวารสาร ลา มงด์ นัวร์ (La Revue du Monde Noir) ที่นำเสนอข่าวสารและเผยแพร่เรื่องราวของคนผิวสี แต่ด้วยปัญหาทางการเงินจึงทำให้สามารถตีพิมพ์ได้เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น

ใน ค.ศ. 1939 เธอเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง และในระหว่างเดินทางเรือที่เธอโดยสารไปนั้นถูกโจมตีด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำเยอรมนีและตัวเธอเองได้รับบาดเจ็บคือกระดูกสะบ้าหักทั้งสองข้างจนกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ณ ที่บ้านเกิดโปแล็ตได้ก่อตั้งกลุ่มพลังสตรีขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชากรเพศหญิงของเกาะมาร์ตีนิก อีกทั้งยังรวมกลุ่มนักร้องประสานเสียงเพื่อส่งเสริมและโปรโมตประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกาะ จนถือได้ว่าเป็นนักเคลื่อนไหวและผู้บุกเบิกให้มีการยอมรับในเกียรติยศและศักดิ์ศรีของชนพื้นเมืองผิวสี และเธอก็มักจะแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในความที่เป็นคนผิวสีของเธออยู่ตลอดเวลาด้วยประโยคที่ว่า “Black is beautiful.” (สีดำคือความงดงาม) เธอเสียชีวิตที่เมืองฟอร์ เดอ ฟร็องส์ (Fort-de-France) ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1985

อนุสรณ์จากปารีส : ตั้งชื่อสวนหย่อมขนาดเล็กว่า Promenade Jane et Paulette Nardal ที่ตั้งอยู่บริเวณ Rue Didot Rue Raymond Losserand 75014 ในปารีสเขต 14 พร้อมแผ่นป้ายที่จารึกว่า “Promenade Jane (1902-1993) et Paulette NARDAL (1896-1985) พี่น้องสองสาว ผู้หญิงแห่งตัวอักษรชาวมาร์ตีนิก ดาวเด่นของวรรณกรรมและการเมืองของปัญญาชนคนผิวสีดำ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี”

10. Gisèle Halimi : ทนายความด้านเฟมินิสต์และนักกิจกรรมเพื่อสังคม

จีแซล อาลีมี (Gisèle Halimi : 1927-2020) ทนายความด้านเฟมินิสต์ เกิดที่เมืองตูนิส ประเทศตูนิเซีย เมื่อ ค.ศ. 1927 และเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า Zeiza Gisèle Elise Taib แต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 29 ปี กับ ปอล อาลีมี (Paul Halimi) และเธอได้ใช้นามสกุลนี้ตลอดมาแม้ว่าจะหย่ากับสามีไปแล้วก็ตาม จากนั้นก็แต่งงานอีกครั้งกับ โกลด โฟ (Cluade Faux) ซึ่งเป็นเลขาของ ฌ็อง ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาและนักเขียนผู้ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของ ซิโมน เดอ โบวัวร์ และด้วยเหตุนี้ทำให้ จีแซล อาลีมี ได้ร่วมงานกับ ซิมอน เดอ โบวัวร์ ในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีและร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งโดยเฉพาะในกรณีที่ถูกข่มขืน

เธอยังเป็นผู้สนับสนุนของอดีตประธานาธิบดี ฟร็องซัว มีแตร็อง (François Mitterrand) และเป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อมาเธอได้อุทิศตนให้กับการเขียนและได้ตีพิมพ์ผลงานที่บอกเล่าถึงที่มาของชีวิตทางครอบครัวของเธอที่มีส่วนผลักดันให้เธอเข้าสู่เส้นทางของการเป็นเฟมินิสต์และดำเนินกิจกรรมทางสังคม

อนุสรณ์จากปารีส :  ตั้งชื่อสวนหย่อมขนาดเล็กว่า La Promenade Gisèle Halimi ณ บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน (Rive Gauche) ระหว่างสะพานเดส์ แซ็งวาลิดส์ (Le pont des Invalides) และสะพานอัลมา (Le pont d’Alma) พร้อมแผ่นป้ายที่จารึกว่า “Promenade Gisèle HALAMI 1927-2020 ทนายความ นักการเมืองหญิง นักเคลื่อนไหวเพื่อการปลดแอกประชาชน และสิทธิสตรี”

อ้างอิง :                

https://www.gqmagazine.fr/article/statues-femmes-ceremonie-ouverture-jeux-olympiques

www.lalibre.be/sports/omnisports/jeux-olympiques/2024/07/27/jo-2024-qui-sont-les-10-femmes-qui-ont-ete-mises-a-lhonneur-lors-de-la-ceremonie-douverture-M4GSWLDOFZEFLEZDAOPCQN62QU/

https://www.sortiraparis.com/actualites/jeux-olympiques-paris-2024/articles/317893-statues-de-la-ceremonie-d-ouverture-qui-sont-les-10-femmes-mises-a-l-honneur-sur-la-seine


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง