Van Gogh Café by After You แรงบันดาลใจจากภาพวาดแวนโก๊ะ สู่ของหวาน เครื่องดื่ม และการแต่งร้าน
Brand Story

Van Gogh Café by After You แรงบันดาลใจจากภาพวาดแวนโก๊ะ สู่ของหวาน เครื่องดื่ม และการแต่งร้าน

Focus
  • นิทรรศการ Van Gogh Alive Bangkok นำเสนอผลงานกว่า 3,000 ภาพของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟแบบพาโนรามา 360 องศา
  • ภายในนิทรรศการยังมีป๊อปอัพคาเฟ่ Van Gogh Café by After You เสิร์ฟเครื่องดื่มและของหวานที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนชื่อดังของแวนโก๊ะ
  • ไฮไลต์อีกอย่างคือการสร้างฉากต่างๆ จำลองให้เป็นสถานที่ตามในภาพวาดของแวนโก๊ะ เช่น The Yellow House และ The Bedroom

นิทรรศการ Van Gogh Alive Bangkok นอกจากจะนำเสนอชีวิต ผลงาน และปริศนาการตายของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh, ค.ศ.1853–1890) ในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟแบบพาโนรามา 360 องศากับผลงานกว่า 3,000 ภาพ โดยบริษัท Grande Experiences จากประเทศออสเตรเลีย ไฮไลต์อีกอย่างคือการสร้างฉากต่างๆ จำลองให้เป็นสถานที่ตามในภาพวาดชื่อดังของแวนโก๊ะ เช่น The Yellow House (1888) และ The Bedroom (1888) สำหรับสายถ่ายรูป รวมไปถึงป๊อปอัพคาเฟ่ Van Gogh Café by After You ซึ่งไม่เพียงแค่ตกแต่งคล้ายกับภาพ The Night Cafe (1888) แต่เมนูของหวานและเครื่องดื่มยังได้แรงบันดาลใจจากผลงานอื่นๆของแวนโก๊ะ

Van Gogh Café by After You
เครื่องดื่มและของหวานได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนชื่อดังของแวนโก๊ะ

Van Gogh Alive จัดแสดงมาแล้วกว่า 80 เมืองทั่วโลกนับตั้งแต่ ค.ศ.2011 และมีผู้เข้าชมกว่า 9 ล้านคน แต่ในประเทศไทยถือเป็นนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ขนาดกว่า 4,000 ตารางเมตรของ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยามและจัดแสดงเป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2566

แวนโก๊ะเป็นจิตรกรชาวดัชต์ผู้สร้างสรรค์ผลงานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กับศิลปะแบบโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) เขาเริ่มวาดรูปจริงจังในวัย 27 ปี ตลอดเวลาเพียง 10 ปี (ค.ศ.1880-1890) เขาสร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีใครเห็นคุณค่า ในขณะที่มีชีวิตอยู่เขาขายงานได้เพียงรูปเดียวแต่ก็ยังมุ่งมั่นเดินบนเส้นทางศิลปะด้วยการสนับสนุนจาก เธโอ (Theo Van Gogh) ผู้เป็นน้องชาย

Van Gogh Café by After You
นิทรรศการดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟ  Van Gogh Alive Bangkok

ชีวิตของแวนโก๊ะเป็นภาพจำของศิลปินไส้แห้งผู้อาภัพรัก ผู้มีอารมณ์รุนแรงราวกับฝีแปรงพู่กันที่เขาวาด ผู้มีอาการทางจิตจนตัดหูซ้ายของตัวเองจนต้องเข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวช และในท้ายที่สุดเขาจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปี โดยทิ้งปริศนาไว้ว่าเขาฆ่าตัวตายเพื่ออยากจบความทุกข์ทรมานจากอาการป่วย หรือถูกฆาตกรรมโดยเด็กวัยรุ่นที่มองว่าเขาเป็นศิลปินวิกลจริต

แวนโก๊ะวาดภาพ The Night Café ที่เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจของการตกแต่งร้าน Van Gogh Café by After You ในปี ค.ศ.1888 ขณะที่เขาพำนักอยู่ที่เมืองอาร์ล (Arles) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส หลังจากเดินทางออกจากปารีสเพื่อหาสถานที่ฟื้นฟูสุขภาพที่ย่ำแย่จากยาสูบและเหล้า ประกอบกับความเบื่อหน่ายความวุ่นวายของมหานคร ขณะอยู่ที่เมืองอาร์ล (ค.ศ.1888-1889) เป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงต่อมามากมาย เช่น Sunflowers, Café Terrace at Night, The Langlois Bridge, The Bedroom และ The Yellow House

Van Gogh Café by After You
ภาพ The Night Café (ภาพจาก www.VincentVanGogh.org)
การตกแต่งร้าน Van Gogh Café by After You ได้แรงบันดาลใจจากภาพ The Night Café

ภาพ The Night Café แสดงบรรยากาศของคาเฟ่แห่งหนึ่งในเมืองอาร์ลด้วยการใช้สีที่ตัดกันอันเป็นเอกลักษณ์ของแวนโก๊ะ เช่น ฝ้าเพดานสีเขียว ผนังครึ่งบนทาสีแดง โคมไฟส่องสว่างให้แสงเหลืองส้ม พื้นสีเหลือง และจุดโฟกัสที่โต๊ะบิลเลียดสีเขียวซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่ตรงกลางร้านโดยมีลูกค้า 3 คนท่าทางเมามายนั่งอยู่ที่โต๊ะทั้งด้านซ้ายและขวา  ในบรรดาจดหมายกว่า 800 ฉบับที่แวนโก๊ะเขียนไปถึงเธโอ น้องชายผู้สนับสนุนและอุปถัมภ์ด้านการเงินให้เขามาโดยตลอด แวนโก๊ะกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้ในจดหมายฉบับเดือนเมษายน ค.ศ.1888 ว่า

“บางทีวันนี้พี่อาจจะเริ่มต้นแต้มแต่งภายในคาเฟ่ที่ซึ่งพี่ไปกินอาหารท่ามกลางแสงไฟจากตะเกียงแก๊สในตอนเย็น มันเป็นสถานที่พวกเขาเรียกว่า คาเฟ่ เดอ นุย (cafe de nuit) ซึ่งเปิดตลอดคืน (พวกเขาจ่อมอยู่แถวนี้ออกจะบ่อยครั้ง) พวกท่องราตรีสามารถจะสิงสู่อยู่ที่นี่เมื่อพวกเขาอาจจะไม่มีเงินหรืออาจจะมีไม่พอที่จะเช่าห้องพัก…พี่มักจะคิดว่าตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่งซึ่งกำลังออกเดินทางไปยังจุดหมายที่ไหนสักแห่ง…” (ถอดความภาษาไทยโดย จิตติ พัวสุทธิ จากหนังสือ “ธีโอ น้องรัก: จดหมายจากวินเซนต์ แวน โกะ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา ในพ.ศ.2555)

ที่จริงแล้วแวนโก๊ะคิดว่าภาพนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่น่าเกลียดที่สุดเท่าที่เขาเคยทำมาตามจดหมายในฉบับวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1888 และเขาได้ให้ภาพนี้แก่เจ้าของบ้านที่เขาเช่าแทนค่าห้องโดยบรรยายในจดหมายว่า

“พี่พยายามจะแสดงออกถึงกิเลสความปรารถนาของความเป็นมนุษย์ด้วยความหมายของสีแดงและสีเขียว ห้องหับเป็นสีแดงเลือดและเหลืองทึบพร้อมด้วยสีเขียว มีโต๊ะบิลเลียดตั้งอยู่ตรงกลาง นอกจากนั้นยังมีตะเกียงสี่ดวงสีเหลืองมะนาวพร้อมเปลวไฟสีส้มกับเขียว สีแดงกับเขียวแปลกประหลาดตัดกันทั่วไปทุกที่…”

Van Gogh Café by After You
ภาพ Café Terrace at Night (ภาพจาก www.VincentVanGogh.org)
Van Gogh Café by After You
Van Gogh Café by After You ตกแต่งที่นั่งด้านนอกด้วยโทนสีเหลืองตามภาพ Café Terrace at Night

ที่นั่งด้านนอกของ Van Gogh Café by After You ยังตกแต่งคล้ายกับเทอเรซทาสีเหลืองของคาเฟ่ในภาพเขียน Café Terrace at Night (1888) ที่เขาเขียนในเมืองอาร์ลเช่นกัน และกลายเป็นหนึ่งในภาพเขียนที่โด่งดังภายหลังเขาเสียชีวิตนับ 100 ปี ในจดหมายถึงน้องชายเขาเขียนว่า “เวลาในยามค่ำคืน มีสีสันมากกว่าตอนกลางวัน” ภาพนี้จึงโดดเด่นในการถ่ายทอดบรรยากาศยามค่ำกับสีที่ตัดกันของคาเฟ่สีเหลืองที่สว่างไสว พื้นสีส้มกับบ้านเรือน และท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มประดับด้วยดวงดาวสุกสกาว

ส่วนเมนูของหวานและเครื่องดื่ม เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ เจ้าของร้าน After You กล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาด 4 ภาพคือ Sunflowers, Wheatfield with Crows, Potato Eaters และ The Starry Night มารังสรรค์เป็นเมนูประกอบด้วยเครื่องดื่ม 2 ชนิดและของหวานอีก 2 ชนิด

“โจทย์มาจากผลงานของแวนโก๊ะ ทางนิทรรศการบอกว่าไม่อยากได้เมนูเดิม อยากได้อะไรใหม่ๆ เมย์ชอบเดินพิพิธภัณฑ์และชอบไปยืนดูงานลายเส้น รู้สึกว่าอะเมซิ่งก็เลยชอบดูเป็นพิเศษ ภาพของแวนโก๊ะเมย์เคยไปดูที่อัมสเตอร์ดัม เป็นภาพเล็ก ๆ แต่คนยืนดูกันเป็นแถวเลยนะ” เมย์กล่าว

Sunflowers: Mango and Passion Fruit Frappe

เครื่องดื่ม Sunflowers: Mango and Passion Fruit Frappe (ราคา 155 บาท) เป็นเครื่องดื่มที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพชุด Sunflowers ของแวนโก๊ะโดยทาง After You เลือกใช้ผลไม้ที่มีสีเหลืองคือมะม่วงสุกและเสาวรสเป็นวัตถุดิบหลักมาปั่นให้เนียนนุ่ม

“เข้าหน้าร้อนพอดี เมย์คิดว่าแก้วนี้เหมาะกับบรรยากาศมาก เราใช้มะม่วงสุกที่รสชาติหวานมาผสมกับเสาวรสที่รสชาติออกเปรี้ยวลงตัวพอดี ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่เป็นไอคอนของไทยได้เลย”

ภาพดอกทานตะวันเป็นอีกหนึ่งผลงานเลื่องชื่อของแวนโก๊ะที่วาดขณะอยู่ในเมืองอาร์ลโดยเขาวาดภาพดอกทานตะวันด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่จำนวน 5 ภาพที่มีการใช้โทนสีเหลืองที่แตกต่างกัน ในขณะที่อยู่เมืองอาร์ลแวนโก๊ะได้เช่าห้องในบ้านสีเหลืองตามภาพที่เขาวาดชื่อ The Yellow House (1888) และตั้งใจให้เป็นสตูดิโอและแหล่งพำนักของเพื่อนศิลปินโดยชวนศิลปินคือพอล โกแกง (Paul Gauguin)ให้มาอยู่ด้วยกัน เขายังตกแต่งห้องเพื่อต้อนรับโกแกงด้วยภาพดอกทานตะวันจำนวน 2 ภาพ

ภาพ Sunflowers ในปี 1888 (ภาพจาก www.VincentVanGogh.org )

ในจดหมายฉบับปลายเดือนกันยายน 1888 แวนโก๊ะเขียนว่า “ในตอนนี้พี่หวังว่าตัวเองจะใช้ชีวิตอยู่กับโกแกงในสตูดิโอของพวกเรา พี่อยากจะตกแต่งสตูดิโออีกสักเล็กน้อย ไม่ใช่อะไรอื่นก็แค่ดอกทานตะวันขนาดใหญ่ ภายในภัตตาคารถัดไปจากร้านของเธอ เธอคงจะรู้ว่ามีการตกแต่งอย่างงดงามด้วยดอกไม้หลากหลาย พี่ยังจำดอกทานตะวันดอกใหญ่แถวหน้าต่างที่นั่นได้เป็นอย่างดี…”

ภาพ The Yellow House (ภาพจาก www.VincentVanGogh.org)

อย่างไรก็ตามทั้งคู่อาศัยอยู่ในบ้านสีเหลืองด้วยกันได้เพียงแค่ 2 เดือนและมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงด้วยทัศนคติที่แตกต่างกัน โกแกงหนีกลับไปปารีสและแวนโก๊ะเสียสติจนตัดหูข้างซ้ายของตัวเองซึ่งสะท้อนในภาพชื่อ Self-portrait with Bandaged Ear (1889) หลังจากเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้นแวนโก๊ะเขียนจดหมายด้วยเนื้อความที่ยาวมากในเดือนมกราคม 1889 โดยเล่าให้น้องชายฟังว่าเขามอบภาพดอกทานตะวันให้โกแกงไปหนึ่งชิ้นเพราะโกแกงชอบภาพนั้นมาก

“โกแกงยินดีที่จะรับเอาไปหนึ่งชิ้นและตัวพี่ก็รู้สึกแช่มชื่นเป็นอันมากที่ได้ให้เขาไป ดังนั้นหากเขาต้องการหนึ่งในสองชิ้นนั้นนั่นก็ไม่เป็นไร พี่จะทำมันเพิ่มอีกชิ้นหนึ่งหากว่าเขาชอบมัน…ดอกทานตะวันคือบางสิ่งบางอย่างที่เป็นของตัวพี่เอง…”

ภาพ The Painter of Sunflowers โดยโกแกง (ภาพจาก www.Gauguin.org)

นอกจากนี้โกแกงยังได้วาดภาพเหมือนของแวนโก๊ะกำลังวาดภาพดอกทานตะวันในผลงานชื่อว่า The Painter of Sunflowers (1888) และถึงแม้จะมีข้อขัดแย้งกันแต่ในจดหมายฉบับต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1889 ที่แวนโก๊ะเขียนขณะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็งต์-เรมี (Saint-Rémy) เขาแสดงความปรารถนาว่าอยากร่วมงานกับโกแกงอีกครั้งและกล่าวถึงภาพเหมือนของเขาที่โกแกงวาดว่า

“พี่รู้ดีว่าโกแกงมีความสามารถในการทำอะไรที่ดีกว่าที่เขาได้เคยทำมา ทว่าจะต้องทำให้เขารู้สึกเบาสบาย พี่ยังคงวาดหวังว่าตัวเองจะได้วาดภาพเหมือนของเขา เธอเคยเห็นภาพเหมือนที่เขาวาดให้พี่บ้างไหม ขณะกำลังเพนติ้งภาพดอกทานตะวัน ถึงใบหน้าของพี่จะสดใสเกินควร ทว่ามันก็ยังดูเป็นตัวพี่ ทั้งเหนื่อยล้าหากยังเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นเหมือนเช่นที่พี่เป็นในตอนนั้น…”

Wheat Fields: Iced Horlicks

เครื่องดื่มอีกหนึ่งชนิดคือWheat Fields: Iced Horlicks (ราคา 135 บาท) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดชื่อ Wheatfield with Crows โดยทางร้านได้นำข้าวสาลี นม และ ฮอร์ลิคส์ (horlicks) ที่มีลักษณะเป็นนมผงมอลต์สกัดจากเมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่คิดค้นโดย เจมส์ และ วิลเลียม ฮอร์ลิค มาผสมรวมกันให้เป็นเครื่องดื่มที่เข้มข้นเหมือนนมและอุดมด้วยแร่สังกะสี วิตามินซี และวิตามินดี

Wheatfield with Crows (1890) คาดว่าเป็นรูปสุดท้ายของแวนโก๊ะที่วาดภาพฝูงนกอีกาบินว่อนเหนือทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัวหลังจากที่เขาออกจากโรงพยาบาลจิตเวชและย้ายไปอยู่ที่เมืองโอเวร์-ซูร์-อัวส์ (Auvers-sur-Oise) ซึ่งใกล้กับปารีสที่น้องชายอยู่ ช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่อยู่ในเมืองนี้แวนโก๊ะวาดภาพราว 70 ภาพและส่วนใหญ่เป็นภาพบ้านเรือน ผู้คน ทิวทัศน์และโบสถ์

ภาพ Wheatfield with Crows ถ่ายทอดในรูปแบบดิจิทัลเทคโนโลยีใน Van Gogh Alive Bangkok

แวนโก๊ะจบชีวิตในวัยเพียง 37 ปีตามที่เชื่อกันว่าเขายิงตัวเองในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 บริเวณทุ่งข้าวโดยกระสุนเข้าบริเวณช่องท้องก่อนจะพาตัวเองกลับมาที่พักและเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา อย่างไรก็ตามการตายของเขายังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้

The Chocolate Eaters: Chocolate Trifle (ขวา)
ภาพ The Potato Eaters (ภาพจาก www.VincentVanGogh.org)

สำหรับของหวานชื่อ The Chocolate Eaters: Chocolate Trifle (ราคา 285 บาท) เป็นการเล่นกับโทนภาพสีหม่นของแวนโก๊ะในยุคแรกที่เรียกว่า Dutch Period ในขณะพำนักที่เมืองนือเน่น (Nuenun) ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่ 2 ปี ภาพส่วนใหญ่ในช่วงนี้แสดงถึงความยากจนขัดสนของผู้คน เช่น ภาพคนทอผ้าในงานชื่อ Weaver (1884) และภาพคนกินมันซึ่งเป็นอาหารหลักของคนยากไร้ในภาพ The Potato Eaters (1885) ที่แวนโก๊ะเขียนถึงน้องชายว่าผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของเขาแม้จะรู้ดีว่าคงไม่มีใครสนใจที่จะซื้อภาพแนวนี้

“จริง ๆ ตั้งต้นจากภาพ Potato Eaters แต่เมย์ขอปรับเป็นช็อคโกแลตแทน โดยทำเป็นไทรเฟิล (trifle) ที่มีหลาย ๆ ชั้น เบสเราใช้บราวนี่ แต่เป็นซอสแอปเปิ้ลบราวนี่คือนำแอปเปิ้ลทั้งลูกไปบ่มจนสุกแล้วบดละเอียดมาใส่ในเนื้อบราวนี่ มันจะนุ่มกว่าปกติ ใส่สลับกับช็อคโกแลตมูส ช็อคโกแลตกานาช” เมย์กล่าว

The Starry Night: Mango and Passion Fruit Trifle

สำหรับของหวานอีกหนึ่งเมนูชื่อ The Starry Night: Mango and Passion Fruit Trifle (ราคา 265 บาท) ได้แรงบันดาลใจมาจากดวงดาวและดวงจันทร์สีเหลืองท่ามกลางท้องฟ้าสีเข้มลากวนเป็นก้นหอยบิดเบี้ยวพร้อมกับต้นไซเปรสสีดำรูปร่างดั่งเปลวเพลิงในภาพชื่อดัง The Starry Night (1889)

“เนื้อขนมจะนุ่มนวลมีลักษณะคล้ายชีสเค้กซูเฟล่ เราใส่ซอสที่เป็นมะม่วงและเสาวรสปั่นให้เนียนและยังใส่มะยงชิดลงไปนิดหน่อยเพื่อสร้างกลิ่นที่มีอัตลักษณ์มากขึ้น” เมย์กล่าว

ภาพ The Starry Night (ภาพจาก www.VincentVanGogh.org)

แวนโก๊ะเริ่มมีอาการป่วยทางจิตและมีผู้แนะนำให้เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซ็งต์-เรมี (Saint-Rémy) ในช่วงกลางปี 1889 ขณะเข้ารับการบำบัดเป็นเวลา 1 ปี เขาเขียนภาพราว 150 ภาพโดยส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์จากหน้าต่างในโรงพยาบาลเช่นภาพ The Starry Night และบางครั้งได้รับอนุญาตให้ออกไปเขียนภาพข้างนอกได้บ้าง

ภาพ The Starry Night ในนิทรรศการแบบ 360 องศา

แม้หลายคนลงความเห็นว่าฝีแปรงพู่กันที่รุนแรงและลากวนเป็นก้นหอยในภาพนี้เกิดจากอาการประสาทหลอน แต่ อัลเบิร์ต บอยม์ (Albert Boime) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันเปิดเผยผลงานวิจัยของเขาในบทความเรื่อง “Van Gogh’s Starry Night: A History of Matter and A Matter of History” ใน ค.ศ.1984 ว่า

“…ตำแหน่งดวงดาวที่ปรากฏในภาพนั้นตรงกับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าจริงในคืนที่แวนโก๊ะวาดรูปจนไม่อาจเป็นงานของคนสติฟั่นเฟือนได้…”

Fact File

  • Van Gogh Alive Bangkok จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2566 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม
  • ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ Thai Ticket Major ราคาบัตร VIP 1,490 บาท (พร้อมของที่ระลึกที่ไม่มีจำหน่าย), บัตรทั่วไป 990 บาท, บัตร Early Bird 690 บาท (ใช้ได้ถึง 30 เม.ย. 2566) และบัตรนักเรียน/นักศึกษา 480 บาท
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.1338 หรือ Facebook: ICONSIAM

อ้างอิง

  • หนังสือ “ธีโอ น้องรัก: จดหมายจากวินเซนต์ แวน โกะ” ถอดความภาษาไทยโดย จิตติ พัวสุทธิ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา
  • https://www.vangoghmuseum.nl/
  • https://www.vincentvangogh.org/

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ