Urban Ally พื้นที่เรียนรู้เมือง ที่ชวนสร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นมิตรและยั่งยืน
- Urban Ally คือแพลตฟอร์มของ ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (ASEAN Connection centre for Urban Design and Creativity) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2564 โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- Urban Ally มุ่งสร้างนิเวศการเรียนรู้เมืองแบบใหม่ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงองค์กรและบุคคลภายนอก ทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สอดคล้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม
เมื่อการศึกษาในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอและเท่าทันการศึกษานอกห้องเรียน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเปิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ในนาม Urban Ally ที่ไม่ใช่เพียงพื้นที่ของนักศึกษาและบุคลากรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ยังมุ่งเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ภายนอกเพื่อให้เกิดบทสนทนาในประเด็นใหม่ ๆ ไปพร้อมกับการศึกษาที่เชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาอย่างตรงจุด นำไปสู่การออกแบบเมืองหรือพื้นที่ทางสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น
Urban Ally คือแพลตฟอร์มของ ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (ASEAN Connection centre for Urban Design and Creativity) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2564 หนึ่งในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ภายใต้หมวดโครงการยกระดับมหาวิทยาลัยศิลปากร สู่อันดับโลกด้านศิลปะและการออกแบบ เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นศูนย์กลางทางวิชาการของประเทศ ภูมิภาค อาเซียน เอเชีย และระดับนานาชาติ
ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง ได้กล่าวถึง “การพลิกโฉม” การเรียนรู้ออกเป็นสองประเด็นหลัก นั่นคือ การแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการแก้ปัญหาการศึกษาเมือง จากการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดหรือการตอบสนองที่ไม่เพียงพอ จึงผลักดันให้เกิดนิเวศการเรียนรู้ใหม่ทั้งในแง่ของพื้นที่ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในทางกายภาพ ระบบนิเวศทางด้านสังคมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน และระบบนิเวศในเชิงวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อสร้างวงจรการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ
Urban Ally มีการปฏิบัติการหลักใน 2 ด้าน คือ ด้านการคิด (Think Tank) และ การทำ (Do Tank)
ด้านการคิด Urban Ally จะเน้นไปที่ทำการวิจัยและเปิดบทสนทนาในหัวข้อใหม่ ๆ ทั้งจากนักวิจัย ผู้ที่สนใจเรื่องเมือง รวมถึงการร่วมมือกับคณะวิชาอื่น ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิชาการจากสถาบันองค์กรอื่นเพื่อต่อยอดความคิด โดยปฏิบัติการด้านการคิดจะแบ่งหน่วยวิจัย (Lively Research Labs) ออกเป็น 5 กลุ่มย่อยนั่นคือ
1. กลุ่มวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม (Art and Culture Lab) ที่มุ่งศึกษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีคุณค่าในตัวเองและมีคุณค่ากับเมืองในฐานะต้นทุนวัฒนธรรมที่สำคัญ
2. กลุ่มวิจัยด้านการคิดเชิงข้อมูล (Data Thinking Lab) เน้นการมองข้อมูลในมุมที่แตกต่าง โดยมองเมืองให้ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เพื่อหยิบเรื่องเล็กน้อยที่พบเห็นมาต่อยอดสู่ความเข้าใจเมืองได้ดีมากขึ้น
3.กลุ่มวิจัยด้านพลิกโฉมเมือง (City Reinventing Lab) ส่วนนี้มุ่งหวังการมองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากเทรนด์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการพลิกมุมมองและเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้แก่เมือง
4. กลุ่มวิจัยด้านการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design Lab) เน้นการมองความยั่งยืนผ่านการออกแบบและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน
5. กลุ่มวิจัยด้านการแปลงเมือง (Make It Happen Lab) เป็นการสร้างความร่วมมือกับชุมชนหรือการทดลองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในชุมชน
ในส่วนของการทำ หรือ Do Tank จะมีหน่วยปฏิบัติการที่แยกย่อยออกมาเป็น 4 หน่วยอีกเช่นกัน นั่นคือ
1. Open Data การจัดทำฐานข้อมูลเปิด เพื่อสร้างฐานและแบ่งปันข้อมูลที่หลากหลายกับเครือข่ายมิตรเมืองไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ที่สุด ฐานข้อมูลส่วนนี้จะมีทั้งข้อมูลระดับอาเซียน กรุงเทพมหานคร และพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ในประเด็นร่วมสมัย เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมสามารถหยิบไปใช้ นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หรือประกอบการออกแบบเมืองที่ดีในอนาคตได้
2. Local Actions เป็นกิจกรรมการขับเคลื่อนเมือง ผ่านการเปิดพื้นที่ในการลงมือทำกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ การมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงการทดลองปรับเปลี่ยนพื้นที่เมือง ความมุ่งหวังในส่วนนี้คือการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่สนใจ รวมทั้งคนภายนอกและนักวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้มีโครงการใหญ่อยู่ 2 โครงการแล้ว คือการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารตึกแถว (Re-frontage Shophouse Makeover) และกิจกรรมการมีส่วนร่วมในชุมชนย่านเมืองเก่า (Old Town Community Engagement) ที่กำลังตามหาผู้ที่สนใจในการเรียนรู้และลงมือทำร่วมกัน
3. Collaboration การสร้างพื้นที่เชิงเครือข่าย ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการเปิดรับการสร้างความร่วมมือและการทำข้อตกลงกับภาคีหน่วยงานสถาบันและกลุ่มสังคมต่าง ๆ ซึ่งจะไม่ใช่แค่การแบ่งปันฐานข้อมูลเท่านั้น แต่ก้าวไปสู่การพูดคุย แลกเปลี่ยนจนถึงการดำเนินงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในโครงการศึกษาวิจัยการออกแบบและโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสามารถตอบสนองคนทุกกลุ่มในเมืองได้
4. Conference การจัดประชุมวิชาการนานาชาติในรูปแบบใหม่ รวมถึงการเปิดรับผลงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะรูปแบบบทความ วิดีโอ แอนิเมชัน สื่อข้อมูลเชิงศิลปะต่าง ๆ เพื่อให้นักวิชาการรุ่นใหม่ ทั้งคนยุคใหม่เองและอาจารย์ที่มีประสบการณ์ สามารถร่วมกันนำเสนองานวิจัยทางวิชาการในรูปแบบใหม่ได้เช่น การจัด Round Table Conference หรือ Urban Ally Festival นิทรรศการจัดแสดงผลงานการขับเคลื่อนเมือง ซึ่งสำหรับตัวนิทรรศการมีกำหนดการที่คาดว่าจะจัดขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
Fact File
- เว็บไซต์ urbanally.org
- Facebook : www.facebook.com/UrbanAlly.SU
- Instagram : www.instagram.com/urbanally