ย้อนไทม์ไลน์ ประวัติศาสตร์การเคาท์ดาวน์ ธรรมเนียม Ball Drop ไอโคนิคไทม์สแควร์
Brand Story

ย้อนไทม์ไลน์ ประวัติศาสตร์การเคาท์ดาวน์ ธรรมเนียม Ball Drop ไอโคนิคไทม์สแควร์

Focus
  • ลูกบอลเคาท์ดาวน์ถูกออกแบบใหม่เป็นครั้งที่ 7 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 37 เมตรน้ำหนักราว 5,386 กิโลกรัม ประกอบด้วยแผ่นแก้วคริสตัลรูปสามเหลี่ยมทั้งหมด 2,688 ชิ้น และสามารถเปลี่ยนเฉดสี
  • ค.ศ. 1904 ย่านลองเอเคอร์ สแควร์ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ไทม์ สแควร์ และมีการจัดงานเคาท์ดาวน์จุดพลุเหนือยอดตึกเป็นครั้งแรก
  • ค.ศ. 1907 การเคาท์ดาวน์ด้วย Ball Drop เริ่มต้นครั้งแรกที่ย่านไทม์สแควร์

ไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์ก เป็นอีกหนึ่งแลนมาร์คระดับโลกสำหรับการฉลองเคาท์ดาวน์ นับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไฮไลต์ไม่ใช่แค่ความบันเทิงที่อัดแน่น แต่สิ่งที่ผู้คนรอคอยคือธรรมเนียม Ball Drop การปล่อยลูกบอลยักษ์ (Times Square Ball) จากยอดตึกวันไทม์สแควร์ (One Times Square) ในค่ำคืนนับถอยหลังก้าวสู่ปีใหม่ ซึ่งการปล่อยลูกบอลยักษ์นี้เป็นธรรมเนียมการฉลองที่ทำต่อเนื่องมานานกว่า 114 ปี

ไทม์สแควร์
Times Square Ball ในปี 2021 (ภาพ : timessquareball)
ไทม์สแควร์
Waterford Crystal ที่ใช้ทำลูกบอลแบบใหม่ (ภาพ : timessquareball)

ไทม์สแควร์  (Time Square) เป็นชื่อย่านดังในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เริ่มจากเป็นย่านค้าขายธุรกิจรถม้าลากของมหาเศรษฐีอเมริกันยุคบุกเบิกประเทศอย่าง วิลเลียม เอช. แวนเดอร์บิลต์ (William H. Vanderbilt)  อันที่จริงชื่อดั้งเดิมของไทม์สแควร์  คือ ลองเอเคอร์ สแควร์  (Long Acre Square หรือ Longacre Square) ซึ่งไม่ใช่แค่จัตุรัสกลางเมืองที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ แต่ยังได้รวมอาคารสูงรายรอบที่เป็นทั้งอาคารศูนย์ธุรกิจการค้า และอาคารอพาร์ตเมนท์ที่อยู่อาศัยของชาวนิวยอร์กผู้มีฐานะดี เรียกได้ว่าไทม์สแควร์ ถือเป็นย่านธุรกิจสำคัญของเมืองนิวยอร์กและเป็นย่านที่อยู่อาศัยอันหรูหรา ต่อมาในช่วงคริสตทศวรรษ 1890-1900 ตรงกับ 10 ปีสุดท้ายก่อนข้ามผ่านสู่ศตวรรษที่ 20  ย่านไทม์สแควร์กลายเป็นแหล่งกิจกรรมความรื่นเริงบันเทิงสุดเหวี่ยง ก่อนจะกลายเป็นย่านเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าของชาวนิวยอร์ก และต้นแบบของงานเคาท์ดาวน์ติดอันดับโลกในปัจจุบัน

ไทม์สแควร์
ทีมงานกำลังเร่งสร้างบอลคริสตัลในงานเคาท์ดาวน์ปี 2021

ไทม์ไลน์งานเคาท์ดาวน์ Ball Drop ที่ ไทม์ สแควร์

ค.ศ. 1904 ย่านลองเอเคอร์ สแควร์ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ไทม์สแควร์ เมื่อ อดอล์ฟ ออคช์ (Adolph S. Ochs) เจ้าของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างเดอะนิวยอร์กไทม์ส ได้เล็งเห็นโอกาสในย่านธุรกิจนี้ เขาตัดสินใจสร้างตึกไทม์สทาวเวอร์  (Times Tower) ซึ่งเป็นตึกที่สูงเป็นอันดับสองของเมืองในเวลานั้น พร้อมย้ายสำนักงานใหญ่ของ เดอะนิวยอร์กไทม์ส มาอยู่ในไทม์สทาวเวอร์ อีกทั้ง อดอล์ฟ ออคช์ ยังได้ได้ล็อบบี้ให้รัฐบาลท้องถิ่นนิวยอร์กเปลี่ยนชื่อ ลองเอเคอร์ สแควร์ มาเป็น ไทม์สแควร์ และจัดงานฉลองส่งท้ายปีเก่าครั้งแรกที่ไทม์สแควร์ขึ้น.ในค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1904 ซึ่งถือได้ว่าเป็นทั้งงานฉลองส่งท้ายปีเก่าครั้งแรกที่ไทม์สแควร์ และถือเป็นการเฉลิมฉลองการเปิดสำนักงานใหม่ของเดอะนิวยอร์กไทม์สอย่างอลังการ มีการประดับไฟทั้งตึกและจุดพลุอลังการเหนือยอดตึกไทม์สทาวเวอร์ ผู้คนทั้งเมืองหลั่งไหลกันมาชมพลุมารวมตัวกันฉลองปีใหม่กันในย่านนี้ และทำให้ย่านไทม์สแควร์กลายเป็นแลนด์มาร์คงานฉลองส่งท้ายปีใหม่ของชาวนิวยอร์ก

ไทม์สแควร์
งานเคาท์ดาวน์ครั้งแรกที่ไทม์สแควร์ (ภาพ : The New York Times)

ค.ศ. 1905  สถานีรถไฟใต้ดิน หรือ ไออาร์ที ( IRT ย่อมาจาก Interborough Rapid Transit Company ) สถานีไทม์สแควร์ (IRT  Times Square station)  เปิดบริการครั้งแรก ผู้คนกว่า 5 ล้านคน หลั่งไหลใช้บริการ และทำให้ย่านไทม์สแควร์กลายเป็นชุมทางเชื่อมต่อกับย่านถนนบรอดเวย์ (Broadway) และ ถนนหมายเลข 42 (42nd Street)

Times Square Ball ยุคแรก (ภาพ : timessquareball)

ค.ศ. 1907 อดอล์ฟ ออคช์ เจ้าของนิวยอร์กไทม์ส ได้มีไอเดียสร้างลูกบอลยักษ์บอกเวลาเป็นโลหะเหล็กผสมไม้ประดับหลอดไฟเล็กๆ ขนาด 25 วัตต์จำนวน 100 ดวง หนัก 700 ปอนด์ (ราว 317 กิโลกรัม) ติดตั้งไว้บนเสาธงของยอดตึกวันไทม์สแควร์ ลูกบอลยักษ์นี้ออกแบบโดย เจคอป สตาร์ (Jacob Starr) ลักษณะการจัดกิจกรรม Ball Drop คือการปล่อยลูกบอลยักษ์บอกเวลาเพื่อนับถอยหลังสู่วันขึ้นปีใหม่ เป็นการเคาท์ดาวน์ด้วยการปล่อยลูกบอลขนาดมหึมาลงจากเสาธงยอดตึก เริ่มนับถอยหลังจากเวลา 23.59 น. ของคืนวันที่ 31 ธันวาคม (ตามเวลาท้องถิ่นนิวยอร์ก) และปล่อยลงมาในเวลาเที่ยงคืนอย่างพอดิบพอดี และจากนั้นกิจกรรม Ball Drop เคาท์ดาวน์ปล่อยลูกบอลยักษ์ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการฉลองปีใหม่ของนิวยอร์คและเป็นหมุดหมายการฉลองปีใหม่ระดับโลกในยุคปัจจุบัน

โรงแรมหรูในไทม์สแควร์ (ภาพ : Museum of the City of New York)

ค.ศ.1914-1918 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โรงละคร การแสดง และสถานบันเทิงต่างๆ ย้ายมาอยู่ในย่านไทม์สแควร์ รวมถึงมีการเปิดภัตตาคารหรูและโรงแรมระดับ 5-6 ดาว อย่าง Astor และ Knickerbocker ทำให้ไทม์สแควร์กลายเป็นแหล่งรวมความบันเทิงและไลฟ์สไตล์หรูหรา อีกทั้งการมาเที่ยวชมสถาปัตยกรรมของอาคาร ตึกสูง ป้ายไฟสว่างไสวก็ได้กลายเป็นประสบการณ์พิเศษที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเยือน

ไทม์สแควร์ในยุคที่ยังเป็นชื่อ Longacre Square (ภาพ : Museum of the City of New York)

ค.ศ.1914 หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์สขยายองค์กรและย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ถนนหมายเลข 3 ( 3rd Street)

ค.ศ.1961 เดอะนิวยอร์กไทม์ส ขายตึกให้ ดักลาส ลีห์ (Douglas Leigh) นักลงทุนด้านอสังหาฯ และนักออกแบบที่เป็นเจ้าของงานออกแบบป้ายโฆษณาติดไฟตระการตาในย่านไทม์สแควร์หลายชิ้น ลีห์ได้รื้อโครงสร้างตึกให้เหลือเพียงโครงเหล็กและใช้วัสดุหินอ่อนสีขาวมาห่อหุ้มเพื่อเป็นสำนักงานของบริษัท  Allied Chemical Corporation

Times Square Ball ดีไซน์ใหม่ยุคมิลเลนเนียม (ภาพ : timessquareball)

ค.ศ. 1999 คืนส่งท้ายศตวรรษที่ 20 เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ลูกบอลยักษ์ได้ถูกออกแบบใหม่ในดีไซน์ต้อนรับยุคมิลเลนเนียม จากโครงสร้างไม้และเหล็กก็กลายมาเป็นลูกบอลหุ้มด้วยแก้วคริสตัลจาก Waterford Crystal และประดับไฟจาก Philips Lighting

Ball Drop

ค.ศ.2008 เป็นปีแรกที่ ลูกบอลยักษ์คริสตัลประดับไฟแอลอีดีถูกติดตั้งถาวรบนยอดตึกให้ผู้ชมได้เห็นตลอดปี และใช้สำหรับจัดงานเคาท์ดาวน์ที่จัดเป็นประจำทุกค่ำคืนวันสิ้นปี นอกจากนี้ลูกบอลคริสตัลก็ได้รับการออกแบบใหม่เรื่อยมา

Ball Drop
การติดตั้งตัวเลขบอกปีบนยอดตึก

ค.ศ. 2019 วันที่ 31 ธันวาคม ในปีนี้ถือเป็นอีกวันที่ประวัติศาสตร์ไทม์สแควร์ต้องบันทึกไว้ ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่งจะเริ่มมีการผลิตวัคซีนออกมา ทำให้มีนโยบายห้ามห้ามประชาชนเข้าไปร่วมเฉลิมฉลองชมการปล่อยลูกบอลคริสตัลในพื้นที่ แม้งานเคาท์ดาวน์และปล่อยลูกบอลยักษ์จะไม่ได้ถูกยกเลิกเช่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์แทน

Ball Drop
เฉดสีและดีไซน์ที่สามารถเปลี่ยนได้ของลูกบอลคริสตัล
Ball Drop

ค.ศ.2021 งานกิจกรรมเคาท์ดาวน์ต้อนรับปี 2022 ที่ไทม์สแควร์และงานปล่อยลูกบอลยักษ์จากยอดตึกวันไทม์สแควร์กลับมาสู่ความคึกคักอีกครั้งแม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายลงก็ตาม แต่ไทม์สแควร์ก็เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มารวมตัวกันเคาท์ดาวน์พร้อมจุดพลุยิ่งใหญ่อลังการ และมีการถ่ายทอดสดสตรีมมิงการปล่อยลูกบอลยักษ์แบบเรียลไทม์ผ่านหลายช่องทาง เช่น TimesSquareNYC.org และ TimesSquareBall.net ทั้งนี้ลูกบอลคริสตัลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นลูกบอลที่ถูกออกแบบใหม่มาเป็นเวอร์ชันที่ 7 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 37 เมตรน้ำหนักราว 5,386 กิโลกรัม ประกอบด้วยแผ่นแก้วคริสตัลรูปสามเหลี่ยม (Waterford Crystal) ทั้งหมด 2,688 ชิ้น และสามารถเปลี่ยนเฉดสีและสร้างสรรค์ดีไซน์ลงไปได้แบบไม่ซ้ำ

Fact File

ต้นกำเนิด กิจกรรมปล่อยลูกบอลบอกเวลาลักษณะแบบ Ball Drop ของไทม์สแควร์ นั้นคล้ายคลึงกับธรรมเนียมปฎิบัติการตั้งเวลาเพื่อการเดินเรือ แรกเริ่มของการปล่อยลูกบอลบอกเวลาจากยอดตึกในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นใน ค.ศ.1833 ที่ หอดูดาวหลวงกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) ตำบลกรีนนิช ตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดตั้งเวลามาตรฐานกรีนิช (GMT หรือ Greenwich Mean Time) หมายถึงค่าเวลาที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยเวลาที่ดวงอาทิตย์ข้ามผ่านเส้นเมริเดียนปฐม โดยจะมีการปล่อยลูกบอลบอกเวลาในเวลา 13.00 น. ทุกวัน เพื่อส่งสัญญาณให้กัปตันเรือจอดเทียบท่าแถวนั้นตั้งเข็มนาฬิกาให้ตรงกับเวลามาตรฐานกรีนนิช (GMT)

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป