ประวัติศาสตร์ รถเมล์ไทย จากรถเทียมม้า รถอ้ายโกร่ง สู่ ขสมก.
Brand Story

ประวัติศาสตร์ รถเมล์ไทย จากรถเทียมม้า รถอ้ายโกร่ง สู่ ขสมก.

Focus
  • รถเมล์ไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 136 ปี
  • รถเทียมม้า คือรถเมล์ยุคแรกของไทย ก่อนพัฒนามาเป็นรถเมล์ถ่าน รถสองแถว และสร้างเป็นระบบการเดินรถประจำทาง จนนำมาสู่การก่อตั้ง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

ย้อนประวัติศาสตร์กว่า 136 ปีของการกำเนิด รถเมล์ไทย จากเดิมที่เป็นเพียงรถเทียมม้ามีคนเก็บเงินค่าโดยสาร ก็ค่อย ๆ พัฒนามาเป็นรถเมล์ถ่าน รถสองแถว และสร้างเป็นระบบการเดินรถประจำทาง จนนำมาสู่การก่อตั้ง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

  • พ.ศ. 2428 ระบบ รถเมล์ไทย เริ่มจากการใช้ รถเทียมม้า ใช้แรงของม้าลาก ไม่ใช่เครื่องยนต์แรงม้าใด ๆ รถเทียมม้า เริ่มมีในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2428 เป็นรถเทียมม้า 1คู่ มีคนขับ1 คนทำหน้าที่เป็นคนเก็บเงินค่าโดยสารด้วยเลยข้อเสียของรถเมล์เทียมม้ายุคแรกคือ เป็นรถโดยสารที่ให้บริการแบบไม่มีตารางเวลาแน่นอน แต่จะหยุดตามสถานที่สำคัญ บางครั้งจอดรอผู้โดยสารนานเป็นชั่วโมง อีกทั้งระหว่างผู้โดยสารอาจจะแวะลงไปหาอะไรกิน กว่าจะถึงปลายทางก็อาจจะใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมง ก็เป็นได้
รถเมล์ไทย
  • พ.ศ. 2430 หลังจากรถเทียมม้าบริการได้เพียง 2 ปีกรุงเทพฯ ก็เริ่มมีบริการ รถราง ซึ่งกลายเป็นรถโดยสารประจำทางยอดฮิตของคนหนุ่มสาว และทำให้รถเทียมม้าถูกยกเลิกไป
  • พ.ศ. 2452 รถเมล์เทียมม้า หรือรถเทียมม้าแบบดั้งเดิมได้กลับมาเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารอีกครั้ง โดยเจ้าของกิจการคือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)โดยครั้งนี้มี “ป้าย” หรือจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารชัดเจนให้บริการระหว่างสะพานกษัตริย์ศึก(สะพานยศเส) ไปถึงประตูน้ำ เขตปทุมวัน 
รถเมล์ไทย
ตั๋วและพนักงานประจำรถเมล์นายเลิศ
รถเมล์ไทย
รถเมล์ขาวนายเลิศ
  • พ.ศ. 2456 รถเมล์เทียมม้าสายสะพานยศเส-ประตูน้ำให้บริการมา 4 ปีก็พัฒนาเปลี่ยนมาเป็นรถเมล์สองแถว โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด จากสหรัฐอเมริกา ติดหลังคา และทำที่นั่งเป็น 2 แถวชาวบ้านเรียกติดปากว่า รถนายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว ลักษณะของรถเมล์นายเลิศคือ ทาสีขาว มีกากบาทสีแดง นั่งได้ประมาณ 10 คน หลายคนเรียกติดปากว่าว่า อ้ายโกร่ง เพราะวิ่งไปตามถนนมีเสียงดังโกร่งกร่างจากนั้นก็มีรถเมล์ที่เป็นรถออสติน สาย 101 เส้นทางพระโขนง-กษัตริย์ศึก
  • พ.ศ. 2476 กิจการรถเมล์เริ่มเป็นปึกแผ่น เศรษฐีชาวจีนเริ่มเล็งเห็นว่า การประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางเป็นอาชีพที่มั่นคงและทำรายได้ดีอย่างหนึ่ง จึงได้ก่อตั้ง บริษัทเดินรถโดยสารประจำทางขึ้นชื่อ บริษัท ธนนครขนส่ง จำกัด ให้บริการเดินรถจากตลาดบางลำพู ถึงวงเวียนใหญ่ หลังจากนั้นได้มีผู้ลงทุน ตั้งบริษัทรถโดยสารประจำทาง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจและราชการก็ทำการเดินรถด้วย คือ เทศบาลนครกรุงเทพฯ เทศบาลนนทบุรี บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ และยังมีบริษัทเอกชนอีก 24 บริษัท รวม ๆ แล้วผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ มีมากถึง 28 ราย
  • พ.ศ. 2490 รัฐเปิดสัมปทานการเดินรถประจำทางให้แก่รถเมล์นายเลิศ พร้อมกันนั้นก็มีคู่แข่งคือ รถเมล์บุญผ่อง โดย นายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ เป็นบริษัทเอกชนอีกแห่งที่ได้รับสัมปทานจากรัฐให้ดำเนินกิจการรถเมล์หรือรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครที่มาของรถเมล์บุญผ่องนั้นทายาทของเขาเล่าเกร็ดไว้ว่าเป็นรถเมล์ที่ดัดแปลงจากรถยนต์ที่ยึดมาจากกองทัพญี่ปุ่นกว่า 200 คัน ช่วงหลังจบสงครามมหาเอเชียบูรพาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรยึดรถยนต์เหล่านั้นและยกให้เป็นของตอบแทนบุญคุณที่นายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรีขณะนั้นและเป็นเจ้าของร้านสิริโอสถ ซึ่งได้ช่วยเหลือเชลยศึกระหว่างที่พวกเขาเหล่านั้นถูกกองทัพญี่ปุ่นกวาดต้อนมาอยู่ในค่ายกักกันกาญจนบุรี เพื่อเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟไปยังเมียนมา
  • พ.ศ.2497 มีการออกพระราชบัญญัติการขนส่งเพื่อควบคุมกิจการรถเมล์ที่เริ่มมีการวิ่งทับเส้น แย่งลูกค้า และแข่งขันเรื่องราคา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
  • พ.ศ.2502 รถรางไฟฟ้าถูกยกเลิกเพราะความเชื่องช้า และด้วยการขยายตัวของรถเมล์ทำให้ระบบรางกลายเป็นสิ่งกีดขวางการจราจรบนท้องถนน
  • พ.ศ.2518 ในสมัยรัฐบาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติของคณะรัฐมนตรีให้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครเป็นบริษัทเดียว เรียกว่า “บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด” เป็นรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัท จำกัด มีรัฐถือหุ้นอยู่ 51% และเอกชนถือหุ้น 49%
  • พ.ศ. 2519 ในสมัยรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้ง “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

ภาพ : nailertgroup.com/th

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี เมษายน 2529, พฤษภาคม 2556, สิงหาคม 2558 กันยายน 2560 และสิงหาคม 2558