7 เบื้องหลังการเดินทางของ สตูดิโอจิบลิ ที่ถูกซ่อนไว้ใน The World of Studio Ghibli’s Animation
Brand Story

7 เบื้องหลังการเดินทางของ สตูดิโอจิบลิ ที่ถูกซ่อนไว้ใน The World of Studio Ghibli’s Animation

Focus
  • นิทรรศการ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 จำลองฉากประทับใจต่างๆ จากแอนิเมชัน 10 เรื่องของสตูดิโอจิบลิในรูปแบบที่ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมได้
  • ฉากใหม่ที่จัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ไทยคือปราสาทของอาณาจักรลาพิวต้าในเรื่อง Castle in the Sky ที่ติดตั้งแบบกลับหัวเพื่อให้สะท้อนบนกระจกและผู้ชมเห็นภาพในมุมมองคล้ายกับตัวเอกของเรื่อง
  • อุปกรณ์ทั้งหมดสร้างและส่งตรงจากสตูดิโอจิบลิที่ญี่ปุ่นและมาพร้อมกับ Easter Egg ที่ซ่อนอยู่ในหลายฉากให้ผู้ชมได้ร่วมค้นหา

ฉากในความทรงจำจากแอนิเมชัน 10 เรื่องของ สตูดิโอจิบลิ เช่น ปราสาทเวทมนตร์เคลื่อนที่ท่ามกลางทุ่งกว้างเขียวขจีใน Howl’s Moving Castle โทโทโร่ยืนกางร่มท่ามกลางสายฝนกับเด็กสาวสองพี่น้องใน My Neighbor Totoro แม่มดน้อยกิกิขี่ไม้กวาดไปช่วยเพื่อนชายขณะกำลังตกลงมาจากเครื่องบินใน Kiki’s Delivery Service หรือฉากที่คาโอนาชิภูตไร้หน้านั่งบนขบวนรถไฟวิญญาณใน Spirited Away ได้โลดแล่นออกมาจากหนังสองมิติสู่นิทรรศการที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมได้ใน The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023  ที่เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2566

สตูดิโอจิบลิ
ปราสาทเวทมนตร์เคลื่อนที่ในเรื่อง Howl’s Moving Castle

อุปกรณ์ประกอบฉาก 10 เรื่องในนิทรรศการส่งตรงจากสตูดิโอจิบลิในญี่ปุ่นด้วยตู้ขนส่งถึง 10 ตู้และใช้เวลาในการติดตั้งร่วม 1 เดือนบนพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตรของเซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่ได้จัดนิทรรศการนี้หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายและนับเป็นนิทรรศการจากจิบลิที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ภารกิจหลักของสตูดิโอคือการสร้างหนัง แต่ในระยะหลังมานี้เราคิดถึงการทำนิทรรศการต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินกับหนังของเราในอีกรูปแบบหนึ่งรวมไปถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์จิบลิ และล่าสุดคือจิบลิพาร์กที่เพิ่งเปิดตัวไป ในนิทรรศการนี้เราได้รวบรวมฉากที่น่าจดจำและจากที่เคยดูแบบ 2D เราทำเป็น 3D เพื่อให้แฟนๆ ได้ immerse เข้าไปในโลกแอนิเมชันและได้ประสบการณ์แบบเต็มอิ่ม” ชินสุเกะ โนนากะ (Shinsuke Nonaka) Vice President, Business & Legal Affairs ของสตูดิโอจิบลิ กล่าว

สตูดิโอจิบลิ
ฉากปราสาทของอาณาจักรลาพิวต้าในเรื่อง Castle in the Sky
สตูดิโอจิบลิ

นิทรรศการนี้เคยจัดแสดงมาแล้วในเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น แต่ในไทยที่พิเศษคือการสร้างฉากใหม่เป็นปราสาทของอาณาจักรลาพิวต้าในเรื่อง Castle in the Sky ที่ติดตั้งแบบกลับหัวเพื่อให้สะท้อนบนกระจกและผู้ชมเห็นภาพในมุมมองแบบ top view คล้ายกับที่ตัวเอกของเรื่องคือเด็กสาวชีต้าและเด็กหนุ่มปาซูตกตะลึงเมื่อพวกเขาเข้ามาสู่อาณาจักรลอยฟ้าลาพิวต้าที่ในอดีตมีวิทยาการล้ำยุคและอารยธรรมสูงส่ง แต่ได้ล่มสลายไป

“เป็นครั้งแรกสำหรับผมเหมือนกันที่ได้มาเห็นฉากนี้ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีมากทำให้รู้สึกว่าเราเหมือนยืนอยู่ในจุดที่คาแรกเตอร์ในเรื่องยืนอยู่จริงๆ ส่วนที่ถามว่าชอบฉากไหนเป็นพิเศษก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะเราเลือกฉากที่เด่นๆ มานำเสนอ แต่ส่วนตัวถ้าให้เลือกคิดว่าฉากที่ดูตื่นเต้นและดรามาคือฉากหุ่นยนต์ท่ามกลางไฟลุกและหอคอยกำลังถล่มลงมาในเรื่อง Castle in the Sky” โนนากะ กล่าว

สตูดิโอจิบลิ
ฉากสำคัญในเรื่อง Castle in the Sky

นอกจากนี้ยังมี Easter Egg ที่ซ่อนอยู่ในฉากต่างๆ ให้ผู้ชมได้ร่วมค้นหา ขอสปอยเล็กน้อยว่าระหว่างเดินเข้าไปในอุโมงค์ต้นไม้ของโทโทโร่ลองสังเกตดีๆ ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ หรือในโรงอาบน้ำที่คาโอนาชิภูตไร้หน้ากำลังสวาปามอาหารนั้น มีสิ่งที่สร้างเป็นพิเศษสำหรับนิทรรศการในไทยโดยเฉพาะ

“ตอนแรกที่เริ่มทำสตูดิโอจิบลิต้องบอกตรงๆ ว่าพวกเราไม่ได้คิดถึงอนาคตสักเท่าไร แค่มีจิตใจที่มุ่งมั่นเเละอยากจะทำหนังทุกเรื่องให้เต็มที่ แต่อาจโชคดีที่ว่าหนังของพวกเราได้รับการยอมรับจากผู้คนมากมาย  สตูดิโอจิบลิก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1985 ก็ผ่านมาเกือบ 40 ปี และมีหนังมา 24 เรื่องแล้ว  ในขณะที่พวกเราตั้งหน้าตั้งตาทำหนังอย่างเต็มที่ รู้ตัวอีกทีกลุ่มคนดูก็ไม่ได้มีเพียงคนญี่ปุ่นเเล้ว แต่ผู้คนทั่วโลกสามารถดูหนังของพวกเราได้”

สตูดิโอจิบลิ
ตามหา Easter Egg ในฉากคาโอนาชิสวาปามอาหารในเรื่อง Spirited Away

แอนิเมชันเรื่องยาวของจิบลิมักสอดแทรกความหมายลึกซึ้งเกี่ยวกับจิตวิญญาณและคาแรกเตอร์ในหลายเรื่องมักเกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้า ภูต และวิญญาณ  โนนากะกล่าวว่าในการสร้างหนังทางจิบลิคิดเเต่ว่าจะทำหนังที่ดีและมีความหมายลึกซึ้งออกมาอย่างไร บวกกับต้องแฝงความสนุกเพลิดเพลินและเหมาะกับทุกเจเนอเรชัน

“หัวใจหลักในการสร้างหนังของจิบลิคือ อิคิรุ ที่แปลว่าการมีชีวิต  หนังแต่ละเรื่องมีเรื่องราวแตกต่างกัน บางเรื่องก็เป็นแฟนตาซี หรือบางเรื่องเป็นชีวิตจริงผสมกับแฟนตาซี  คนดูสามารถเข้าถึงโลกสองแบบนี้ที่ทับซ้อนกันได้ แต่ต้องบอกว่าเราตั้งใจทำหนังทุกเรื่องให้ดีที่สุดและมีคุณภาพซึ่งเป็นความภูมิใจของผู้สร้าง  เราไม่ได้คิดเลยว่าอะไรกำลังอินเทรนด์ หรือหนังจะได้รับความนิยมและขายได้ไหม”

สตูดิโอจิบลิก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1985 โดยสองผู้กำกับภาพยนตร์ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) และ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) ร่วมด้วยผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ โทชิโอะ ซูซูกิ (Toshio Suzuki) และ ยาสุโยชิ โทคุมะ (Yasuyoshi Tokuma) อดีตประธานบริษัทโทคุมะ โชเต็น (Tokuma Shoten) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสตูดิโอ ในนิทรรศการมีการฉายวิดีโอบทสัมภาษณ์ของ โทชิโอะ ซูซูกิ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ และเขาได้กล่าวไว้ว่า

“ถ้าถามว่าทำไมถึงสร้างจิบลิขึ้นมา คำตอบคือก็เพื่อคุณมิยาซากินั่นแหละ  ในขณะที่พูดคุยกัน บางอย่าง 1+1 จะกลายเป็น 3 หรือกลายเป็น 5 ในบางทีก็เป็น 10”

การเติบโตของสตูดิโอจิบลิจนประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักทั่วโลกสามารถบอกเล่าผ่านแอนิเมชันเรื่องยาว 7 เรื่องที่ฉากสำคัญๆ ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

สตูดิโอจิบลิ

01 Nausicaä of the Valley of the Wind : แอนิเมชันเรื่องแรกและนำไปสู่การสร้างสตูดิโอจิบลิ

Nausicaä of the Valley of the Wind (มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม) เป็นแอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องแรกของจิบลิที่กำกับ โดย ฮายาโอะ มิยาซากิ  ในทางเข้านิทรรศการนอกจากจะจัดแสดงโปสเตอร์ของหนังแต่ละเรื่องแล้วยังติดตั้งประติมากรรมรูป เจ้าหญิงนาชิกะ บนเครื่องร่อนซึ่งเป็นคาแรกเตอร์หลักของเรื่องนี้ไว้เหนือบริเวณทางเข้า  แอนิเมชันเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง 1,000 ปีหลังจากเหตุการณ์ “Seven Days of Fire” ซึ่งระบบนิเวศของโลกกำลังถูกทำลายจนเกิดเป็นทะเลเน่าซึ่งมนุษย์ต้องเอาชีวิตรอดจากมลพิษ เชื้อรา หนอน และแมลงยักษ์  “หุบเขาแห่งสายลม” พื้นที่เล็กๆ ที่ยังอุดมสมบูรณ์กำลังถูกรุกรานจากภาวะดังกล่าวและเจ้าหญิงนาชิกะ ผู้ปกครองหุบเขาแห่งนี้จึงพยายามหาสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นและต่อสู้เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติท่ามกลางการสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองของกลุ่มต่างๆ

มิยาซากิและทาคาฮาตะต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากสร้างแอนิเมชันเรื่องยาวอย่างมีคุณภาพและมีเนื้อหาที่หยั่งรากถึงก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์  Nausicaä of the Valley of the Wind มีเค้าโครงเรื่องมาจากมังงะที่เขียนโดยมิยาซากิซึ่งตีพิมพ์ตอนแรกในนิตยสาร Animage ของ โทคุมะ โชเต็น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 หนังฉายครั้งแรกใน ค.ศ. 1984 และประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายโดยมีผู้ชมราว 1 ล้านคน และนำไปสู่การก่อตั้ง สตูดิโอจิบลิ ในปีต่อมาโดยพวกเขาได้เช่าพื้นที่หนึ่งชั้นของอาคารในย่านคิชิโจจิ ชานเมืองของโตเกียว เพื่อเป็นสถานที่ทำงานและไม่มีพนักงานประจำ เพราะไม่แน่ใจว่าผลงานของพวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในตอนนั้นทั้งคู่คิดแค่ว่า “ทำหนังเรื่องหนึ่งถ้าประสบความสำเร็จก็ทำต่อ ถ้าล้มเหลวก็ปิดไป” และแอนิเมชันเรื่องที่ 2 Castle in the Sky เข้าฉายใน ค.ศ. 1986 และมีผู้ชมเกือบ 1 ล้านคนเช่นกัน

สตูดิโอจิบลิ

02 My Neighbor Totoro : รายได้ไม่ตามเป้า แต่กลายมาเป็นโลโกของจิบลิ

ใน ค.ศ. 1988 สตูดิโอจิบลิสร้างหนังสองเรื่องพร้อมกัน คือ My Neighbor Totoro (โทโทโร่เพื่อนรัก) ซึ่งกำกับโดยมิยาซากิ และเรื่อง Grave of the Fireflies (สุสานหิ่งห้อย) กำกับโดยทาคาฮาตะ ทั้งสองเรื่องนั้นมีเนื้อหาต่างกัน โดยเรื่อง My Neighbor Totoro เป็นเรื่องราวการผจญภัยของสองพี่น้อง ซะสึกิ และ เม ที่เพิ่งย้ายบ้านตามพ่อไปในแถบชนบท เพราะอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลที่แม่รักษาตัวอยู่  สองพี่น้องพบว่าป่าสีเขียวขจีในบริเวณรอบบ้านนั้นมีสิ่งมีชีวิตสุดแปลกประหลาดอาศัยอยู่คือ โทโทโร่ ภูตตัวยักษ์แห่งผืนป่า ในขณะที่เรื่อง Grave of the Fireflies ชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของสงครามผ่านเรื่องราวของสองพี่น้อง เซตะ และ เซ็ตสึโกะ ที่ต้องพยายามเอาชีวิตรอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากและขาดสารอาหารจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เรียกน้ำตาจากผู้ชม

แม้หนังทั้งสองเรื่องจะได้รับการวิจารณ์ในแง่ดี แต่รายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะหนังไม่ได้เข้าฉายในช่วงฤดูร้อนที่ผู้คนนิยมไปโรงภาพยนตร์  อย่างไรก็ตามบริษัทผลิตของเล่นรายหนึ่งได้ติดต่อมาที่สตูดิโอจิบลิเพื่อผลิตคาแรกเตอร์โทโทโร่เป็นตุ๊กตาขนปุกปุยและปรากฏว่ากลายเป็นสินค้าขายดีและกลายเป็นขวัญใจเด็กญี่ปุ่นทำให้เรื่องโทโทโร่กลับมานิยมอีกครั้ง  นอกจากนี้ยังได้กลายมาเป็นโลโกของสตูดิโอจิบลิที่ออกแบบโดยมิยาซากิ  My Neighbors Totoro ยังได้ออกเดินทางไปฉายในอเมริกาใน ค.ศ. 1993 และครองใจคนในอีกซีกโลกได้ทันทีพร้อมสร้างปรากฏการณ์ความนิยมไปทั่วโลกมาถึงปัจจุบัน

ในนิทรรศการชวนผู้ชมแอบดูโทโทโร่ที่นอนหลับอยู่ในโพรงของต้นไม้ยักษ์ราวกับมีชีวิตจริง เพราะพุงมีการขยับขึ้นลงได้ด้วยพร้อมกับเพื่อนตัวจิ๋วอีกสองตัว และฉากที่ให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมได้คือฉากคลาสสิกที่สองพี่น้องกางร่มท่ามกลางสายฝนตรงป้ายรถเมล์ทางเข้าหมู่บ้านเพื่อรอพ่อกลับจากที่ทำงาน โดยโทโทโร่ได้มายืนกางร่มเป็นเพื่อนด้วย  แบ็กกราวนด์ทำเป็นภาพเคลื่อนไหวของฝนที่กำลังตกและมีพร็อปคือร่มคันสีแดงให้ผู้ชมใช้ประกอบการถ่ายรูปได้

สตูดิโอจิบลิ โดดเด่นในการสร้างแอนิเมชันจากการวาดมือที่ให้ความรู้สึกสมจริงดังเช่นที่ซูซูกิผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอกล่าวในวิดีโอที่ฉายในนิทรรศการว่า “จุดเด่นของมิยาซากิคือการสร้างพื้นฉากที่แปลกประหลาด เขาถนัดเรื่องคิดอะไรแปลกๆ ซึ่งไม่มีคนคิดได้แบบเขา เวลาแตะที่ท้อง (เช่นตอนที่เด็กหญิงเมแตะไปที่ท้องของโทโทโร่ที่กำลังนอนอยู่) ก็จะบุ๋มๆ ลง แทบไม่มีแอนิเมเตอร์คนไหนวาดได้เหมือนเขา  มิยาซากิมีวิธีการวาดรูปที่แสดงถึงการสัมผัสในรูปแบบที่เขาวาดได้คนเดียว ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้สัมผัสจริงๆ โดยทั่วไปประสาทสัมผัสที่ 5 ไม่มีทางแสดงออกในภาพยนตร์ได้ แต่เขาทำได้”

03 Kiki’s Delivery Service : กวาดรายได้และรางวัลมากมายจนนำไปสู่การจ้างพนักงานประจำ

Kiki’s Delivery Service (แม่มดน้อยกิกิ) เป็นหนังแนว coming of age เรื่องราวของแม่มดวัย 13 ปีชื่อ กิกิ ที่ต้องเดินทางไปกับ จิจิ แมวสีดำคู่หูของเธอเพื่อค้นหาตัวเองในเมืองที่ไม่มีแม่มดอื่นอาศัยอยู่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าแม่มด เธอเลือกเดินทางมายังเมืองใหญ่ริมทะเลและกลายเป็นพนักงานในร้านขายขนมปังพร้อมกับเปิดกิจการรับส่งสิ่งของต่างๆ ทำให้ได้เจอกับเรื่องราวมากมายที่ทำให้เธอได้เติบโต

ในนิทรรศการจำลองฉากต่างๆ เช่นร้านขนมปังและฉากที่กิกิขี่ไม้กวาดนำของไปส่งให้ลูกค้าและเด็กหนุ่ม ทอมโบะ กำลังปั่นจักรยานที่เขาประดิษฐ์โดยติดใบพัดด้านหน้า เพราะอยากเหาะบนอากาศได้เหมือนกิกิ และผู้ชมสามารถเล่นบทบาทสมมุติเป็นกิกิหรือทอมโบะในฉากที่แม่มดน้อยขี่ไม้กวาดไปช่วยทอมโบะขณะกำลังจะร่วงตกจากเครื่องบิน

แอนิเมชันเรื่องนี้ที่กำกับ โดยมิยาซากิเป็นหนังทำเงินสูงสุดแห่งปีในญี่ปุ่นเมื่อเข้าฉายใน ค.ศ. 1989 และกวาดรางวัลมากมาย เช่น รางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยม จาก Anime Grand Prix ครั้งที่ 12 ของนิตยสาร Animage และจาก Mainichi Film Award ครั้งที่ 44 รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับ ยอดเยี่ยม จาก Japan Cinema Association Award  ทางสตูดิโอเริ่มเติบโตขึ้นและมิยาซากิเสนอว่าควรมีพนักงานประจำเพื่อที่จะสามารถควบคุมและคำนวณค่าบริหารจัดการในแต่ละเดือนได้อย่างแน่นอนและจะได้มีการฝึกอบรมเรื่องการสร้างแอนิเมชันได้อย่างเต็มที่ ในปลาย ค.ศ. 1989 จึงมีการจ้างพนักงานประจำในขณะที่สตูดิโอกำลังผลิตเรื่อง Only Yesterday (ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง)

The World of Studio Ghibli’s Animation

04 Porco Rosso : หนังที่มิยาซากิฉายเดี่ยวและการสร้างสตูดิโอแห่งใหม่

Porco Rosso (สลัดอากาศประจัญบาน) เข้าฉายใน ค.ศ. 1992 เป็นเรื่องราวของทหารอากาศชาวอิตาลีที่รอดชีวิตจากการรบในช่วงสงครามโลกในขณะที่เพื่อนนักบินเสียชีวิตทั้งหมด พอร์โค กลายมาเป็นนักบินในร่างคน แต่หน้าเป็นหมูที่อาศัยอย่างสันโดษในเกาะเล็กๆ และบินเพื่อล่าเงินรางวัล  เขาได้ไปช่วยเด็กกลุ่มหนึ่งที่ถูกเหล่าโจรสลัดเครื่องบินน้ำจับไปเป็นตัวประกัน และต้องมาดวลกับคู่ปรับเก่าและเครื่องบินเสียหายจนต้องซ่อมแซมด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรสาว ฟิโอ

ในขณะที่เริ่มโปรเจกต์การสร้าง Porco Rosso ทีมงานของ สตูดิโอจิบลิ กำลังหัวปั่นกับขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างเรื่อง Only Yesterday ดังนั้นมิยาซากิจึงต้องรับบทหนักเพียงคนเดียวในการสร้างเรื่อง Porco Rosso อย่างไม่มีทางเลือก  เมื่อหนังเข้าฉายปรากฏว่าสามารถทำรายได้สูงสุดประจำปีเหนือหนังเรื่อง Hook ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก และเรื่อง Beauty and the Beast จากค่ายดิสนีย์

แต่ในขณะที่มิยาซากิน่าจะยุ่งวุ่นวายกับโปรเจกต์หนังเรื่องนี้ เขายังสามารถแบ่งร่างมาทำแบบแปลนสำหรับการสร้างสตูดิโอแห่งใหม่แทนที่เดิมซึ่งแออัดเกินไปสำหรับคนจำนวน 90 คนบนพื้นที่ขนาด 300 ตารางเมตร เขาเชื่อว่าถ้าสภาพแวดล้อมการทำงานดีจะก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ และพัฒนาศักยภาพของพนักงานได้เต็มที่

มิยาซากิปรึกษาช่างก่อสร้าง ลงมือวาดแปลนเองและถึงกับเลือกวัสดุในการก่อสร้างเองทั้งหมด  ภายหลังจากที่เรื่อง Porco Rosso เข้าฉายไม่นาน ทีมงานจิบลิได้ย้ายไปยังสตูดิโอแห่งใหม่ในแถบชานเมืองของเมืองโคงาเนอิ ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว  อาคารของสตูดิโอที่ปัจจุบันเรียกว่า สตูดิโอ 1 มีพื้นที่ขนาด 1,100 ตารางเมตร เป็นอาคาร 4 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน)  ต่อมาใน ค.ศ. 1999 มีการสร้างอาคารเพิ่มอีกหลังเรียกว่า สตูดิโอ 2 และสตูดิโอ 3 ใน ค.ศ. 2001 โดยทั้งสามอาคารล้วนออกแบบโดยมิยาซากิ

The World of Studio Ghibli’s Animation

05 Pom Poko: ครั้งแรกกับการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกช่วยในการถ่ายทำ

ในนิทรรศการจำลองที่อยู่อาศัยของเหล่า ทานูกิ คาแรกเตอร์หลักในเรื่องPom Poko ซึ่งสะท้อนเรื่องราวของสัตว์พื้นเมืองของญี่ปุ่นที่มีหน้าตาคล้ายกับแรกคูนที่อาศัยอยู่ในผืนป่า จนกระทั่งเมื่อบ้านเมืองเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นใหม่ ผืนป่าซึ่งเป็นบ้านของพวกเขาจึงถูกรุกรานขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อต้องเอาชีวิตรอดจากการบุกรุก เหล่าทานุกิจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมนุษย์ที่กำลังเข้ามาด้วยการฝึกฝนตัวเองให้กลายร่างเป็นผี มังกร และสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อหลอกหลอนให้เหล่ามนุษย์กลัวและยุติโครงการก่อสร้างนี้

สตูดิโอจิบลิมีชื่อเสียงจากการสร้างแอนิเมชันเรื่องยาวที่วาดด้วยมืออันเป็นเอกลักษณ์ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1993 ทางสตูดิโอได้ซื้อกล้องถ่ายภาพขนาดใหญ่สองตัวที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์และจัดตั้งแผนกภาพถ่ายขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นสตูดิโอที่มีทีมงานภายในที่ครอบคลุมการผลิตทุกขั้นตอนจึงไม่ต้องโอนถ่ายงานบางส่วนให้หน่วยงานข้างนอกเช่นในอดีต  แอนิเมชันเรื่อง Pom Poko (ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก) ที่กำกับ โดยทาคาฮาตะและเข้าฉายใน ค.ศ. 1994 จึงเป็นเรื่องแรกของสตูดิโอที่มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาช่วยในการถ่ายทำบางฉาก

The World of Studio Ghibli’s Animation

06 Princess Mononoke : ประสบความสำเร็จท่วมท้น แม้ฉายชนหนังฟอร์มยักษ์ Jurassic Park

Princess Mononoke (เจ้าหญิง จิตวิญญาณแห่งพงไพร) เป็นเรื่องที่มิยาซากิใช้เวลาร่วม 3 ปีในการสร้างและทางสตูดิโอได้จัดตั้งกลุ่มคอมพิวเตอร์กราฟิกขึ้นมาเพื่อร่วมสร้างสรรค์เรื่องนี้ แม้ส่วนใหญ่จะวาดด้วยมือก็ตาม มิยาซากิมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหนังย้อนยุคมาเป็นเวลานาน แต่โปรเจกต์นี้นับเป็นเรื่องท้าทาย เพราะในเวลานั้นหนังธีมย้อนยุคถือว่าล้าสมัยและไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งทุนในการสร้างมากกว่า 2 พันล้านเยนซึ่งสูงเป็นสองเท่าของหนังเรื่องก่อนๆ ของสตูดิโอ  นอกจากนี้โปรแกรมที่จะเข้าฉายในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1997 ยังต้องไปชนกับหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์อย่าง The Lost World: Jurassic Park

หนังเรื่องนี้ย้อนไปในปลายยุคมุโระมะจิของญี่ปุ่น (ราว ค.ศ. 1336-1573) เป็นเรื่องราวของ อะชิทากะ เจ้าชายองค์สุดท้ายของเผ่าอิมิชิที่ต้องคำสาปมรณะจากอสูรร้ายทำให้ต้องออกเดินทางเพื่อขอความช่วยเหลือจากเทพแห่งป่า เขาได้พบกับความขัดแย้งระหว่างหญิงสาวชื่อ เอโบชิ ผู้ทำลายป่าและสัตว์ป่าเพื่อขุดเอาแร่เหล็ก และ เจ้าหญิงโมโนโนเกะ หรือ ซาน เด็กสาวที่ถูกเทพหมาป่าเก็บมาเลี้ยงและพยายามปกป้องไม่ให้มนุษย์ทำลายบ้าน วิญญาณแห่งป่า และสัตว์เทพที่อาศัยอยู่ที่นั่น

The World of Studio Ghibli’s Animation

เมื่อเข้าฉาย Princess Mononoke ทำรายได้สูงสุดในปีนั้นถึง 11.3 พันล้านเยน แซงเรื่อง The Lost World: Jurassic Park และสามารถทำลายสถิติที่เรื่องE.T โดย สตีเวน สปีลเบิร์ก เคยทำไว้สูงสุดในญี่ปุ่นในค.ศ. 1983  นอกจากรายได้ที่ท่วมท้นแล้วยังได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัล Japan Academy Awards ครั้งที่ 21 สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกวาดไปถึงสามสาขา ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม, รางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ญี่ปุ่นขวัญใจผู้ชม ในงาน Mainichi Film Awards ครั้งที่ 52 และยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 70 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย

ในระหว่างการถ่ายทำเรื่องนี้ ทางบริษัทดิสนีย์ได้ยื่นข้อเสนอกับทาง สตูดิโอจิบลิ เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังของจิบลิในต่างประเทศ ทั้งสองบริษัทกลายเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจและเริ่มจัดจำหน่ายเรื่อง Kiki’s Delivery Service ในรูปแบบแผ่นวิดีโอในแถบอเมริกาเหนือใน ค.ศ. 1998 และได้นำเรื่อง Princess Mononoke เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือและในโซนยุโรปในปีถัดมา

The World of Studio Ghibli’s Animation

07 Spirited Away : ผลงานมาสเตอร์พีซที่ควบกับโปรเจกต์สร้างพิพิธภัณฑ์จิบลิ

Spirited Away (มิติวิญญาณมหัศจรรย์) ที่กำกับ โดยมิยาซากิและเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ใน ค.ศ. 2001 นับเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของสตูดิโอจิบลิที่ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในงานออสการ์ครั้งที่ 75 และรางวัลหมีทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 52 และรางวัลในประเทศอีกมากมาย อีกทั้งกวาดรายได้แบบถล่มทลายทำลายสถิติหนังทำเงินอย่าง Titanic ในญี่ปุ่นอีกด้วย

เรื่องราวของเด็กสาว จิฮิโระ และครอบครัวที่กำลังเดินทางไปยังบ้านหลังใหม่ แต่กลับหลงทางและถูกดึงเข้าไปสู่โลกแห่งวิญญาณซึ่งปกครองด้วย แม่มดยูบาบะ จิฮิโระต้องทำงานในโรงอาบน้ำที่เต็มไปด้วยวิญญาณ ภูตผี ปีศาจ ซึ่งเธอต้องเอาชีวิตรอดในสถานที่สุดแสนประหลาดนี้เพื่อหาทางปลดปล่อยพ่อแม่ของเธอและกลับสู่โลกปกติ  ในนิทรรศการได้จำลองฉากสำคัญ เช่น ตอนที่จิฮิโระกำลังจะเดินข้ามสะพานวิญญาณไปสู่โรงอาบน้ำของแม่มดยูบาบะ ฉากในห้องทำงานของยูบาบะ ตอนที่ คาโอนาชิภูตไร้หน้า กำลังสวาปามอาหารจนตัวสูงใหญ่ในโรงอาบน้ำ และฉากที่ภูตไร้หน้าติดตามจิฮิโระขึ้นรถไฟวิญญาณเพื่อไปยังบ้านของฝาแฝดแม่มดยูบาบะเพื่อถอนคำสาปให้ ฮากุ เทพแห่งแม่น้ำโคฮากุที่ช่วยเธอไว้ตั้งแต่ในวัยเด็ก

The World of Studio Ghibli’s Animation

ในระหว่างการถ่ายทำเรื่องนี้ มิยาซากิก็ได้เริ่มโปรเจกต์ที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์จิบลิในเมืองมิตากะไปพร้อมๆ กันด้วยโดยเขาได้ออกแบบอาคารของพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเองและสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001

หลังจากเรื่อง Spirited Away ทางสตูดิโอได้เริ่มโปรเจกต์หนัง 2 เรื่องโดยผู้กำกับ รุ่นใหม่ คือเรื่อง The Cat Returns (เจ้าแมวยอดนักสืบ) โดย ฮิโระยุกิ โมะริตะ (Hiroyuki Morita) ซึ่งเข้าฉายใน ค.ศ. 2002 และเรื่อง Tales from Earthsea (ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร) ใน ค.ศ. 2006 โดย โกโร มิยาซากิ (Goro Miyazaki) บุตรชายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ

Fact File

  • นิทรรศการ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2566 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
  • บัตรราคา 650 บาท จำหน่ายทางเคาน์เตอร์ไทยทิกเก็ตเมเจอร์และเว็บไซต์ หรือบริเวณหน้างาน

อ้างอิง

  • สุนทรพจน์เรื่อง “ประวัติของสตูดิโอ” โดย โทชิโอะ ซูซูกิ ประธานสตูดิโอจิบลิในงาน 1995 Annecy International Animation Film Festival (และอัปเดตข้อมูลเพิ่มในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001)

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์