ขนมไหว้พระจันทร์ : มากกว่าตำนาน คือขนมสร้างชาติและกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์ มีทั้งตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ และตำนานการเมือง การสู้รบ สอดไส้ข้อความร่วมขับไล่ศัตรูที่มารุกรานดินแดนจีนไว้ในขนมไหว้พระจันทร์
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทหดตัวร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี
“ตงชิว” ในภาษาจีนหมายถึงกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงที่อากาศในเมืองจีนเริ่มเย็นลง พระจันทร์สวยที่สุดในรอบปี เป็นฤดูกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว และเป็นค่ำคืนแห่ง เทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งมี ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของเทศกาลที่โด่งดังไปทั่วโลก
ขนมไหว้พระจันทร์ไม่ได้มาพร้อมตำนานการสร้างชาติจีน หรือ เทพนิยายเรื่อง เทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่สู่ดวงจันทร์ เพียงเท่านั้น แต่ปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์ยังสร้างเศรษฐกิจช่วงกลางปีให้คึกคัก โดยเฉพาะในประเทศไทย หลายร้านอาหาร หลายโรงแรม ต่างแข่งกันออกแบบขนมไหว้พระจันทร์ให้เป็นไอเท็มท็อปต้องซื้อประจำเทศกาล แข่งขันกันตั้งแต่ดีไซน์แพ็คเกจ รสชาติ แม้แต่แบรนด์กาแฟจากฟากอเมริกาอย่างสตาร์บัคส์ หรือร้านชาสัญชาติอังกฤษ Harrods ที่ไม่เกี่ยวข้องกับครัวจีนใดๆ ก็ยังต้องส่งขนมไว้พระจันทร์ประจำฤดูกาลส่งประกวด
ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมแห่งความรักและความชัง
หนึ่งในตำนานเทศกาลไหว้พระจันทร์เกี่ยวพันกับสตรีที่ชื่อ ฉางเอ๋อ ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตบนท้องฟ้ามีพระอาทิตย์ถึง 10 ดวง ทำให้โลกร้อนจนเป็นเพลิง แต่ก็ได้นักแม่นธนูนาม โฮ่วอี้ ยิงพระอาทิตย์ตกไป 9 ดวงด้วยธนูดอกเดียว เหลือพระอาทิตย์ดวงเดียวมาถึงทุกวันนี้
โฮ่วอี้ กลายเป็นวีรบุรุษและเป็นพระราชา แต่เขากลับกลายเป็นราชาที่โหดร้าย ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ ลุ่มหลงสุรานารี เขาไปขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่แห่งสวรรค์ แต่ ราชินีฉางเอ๋อ ซึ่งมีจิตใจเมตตาอ่อนโยน เห็นว่าถ้าสามีของนางเป็นอมตะ บ้านเมืองคงประสบแต่ความเดือดร้อน ไม่สิ้นสุด จึงแอบขโมยกินยาอายุวัฒนะนั้นเสียเอง เมื่อกินเข้าไปร่างของนางกลับเบาหวิว และลอยสูงขึ้นจนไปถึงดวงจันทร์
บางตำนานก็กล่าวว่าแท้จริง โฮ่วอี้ไม่ได้เป็นราชาโหดร้าย เมื่อเขาได้ยาอายุวัฒนะมาแล้ว ก็ไม่อยากจากฉางเอ๋อไปเป็นเซียนบนสวรรค์ เขาจึงฝากยาเก็บไว้กับฉางเอ๋อ ต่อมาเกิดมีคนร้ายมาบังคับฉางเอ๋อให้มอบยาอายุวัฒนะนั้นให้ ฉางเอ๋อจึงต้องกินยานั้นเข้าไปทำให้ลอยขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ ห่างจากสามีอันเป็นที่รัก
ภายหลังเธอมาเข้าฝันโฮ่วอี้ให้ทำขนมก้อนกลมเหมือนดวงจันทร์ในคืน 15 ค่ำเดือน 8 (ตามปฏิทินจีน) เพื่อให้เธอมีโอกาสเหาะจากดวงจันทร์ลงมาพบเขาได้ในคืนนั้น อีกมุมหนึ่งขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นขนมของความรัก ความกลมเกลียว สื่อถึงการกลับมาพบกันพร้อมหน้าของครอบครัว
ขนมไหว้พระจันทร์ขับไล่ผู้รุกราน
อีกตำนานขนมไหว้พระจันทร์ที่ต่างออกไปคือ การใช้ขนมเป็นเครื่องมือทางการเมืองการต่อสู้ เรื่องนี้เริ่มต้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในดินแดนที่ราบมองโกเลีย ซึ่งเป็นยุคที่ชาวมองโกลเข้ามายึดครองแผ่นดินจีน และชาวจีนทั้งหลายต่างพยายามต่อต้านขับไล่ชาวมองโกลออกไป โดยมี “จูหยวนจาง” และพรรคพวกเป็นผู้นำขบวนการต่อต้าน และเพื่อเป็นการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ จูหยวนจางได้ทำขนมไหว้พระจันทร์และสอดกระดาษเขียนข้อความปลุกระดมให้ชาวจีนทุกชนเผ่าลุกมาต่อต้านมองโกล กระดาษน้อยที่สอดไส้ในขนมไหว้พระจันทร์ระบุวันนัดหมายให้เหล่าพันธมิตรผู้ร่วมอุดมการณ์เป็น “ชาวจีนผู้รักชาติ” ออกมารวมตัวประท้วงขับไล่อย่างพร้อมเพรียง
การประท้วงครั้งนั้นสามารถขับไล่กองทัพมองโกลออกไปได้ ส่งผลให้ จูหยวนจาง ผู้นำขบวนนักสู้ขนมไหว้พระจันทร์ ได้รับการสถาปนาเป็น ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง และตั้ง นานกิง เป็นเหมืองหลวงของอาณาจักรจีน ส่งผลให้ขนมไหว้พระจันทร์ มีความหมายมากกว่าเรื่องการขอพรจากดวงจันทร์ แต่ยังเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการต่อต้านต่างชาติที่หวังมายึดครองแผ่นดินจีน
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในคืน 15 ค่ำ เดือน 8
สูตรดั้งเดิมของขนม มี 3 ไส้ คือ ถั่ว งา และ เม็ดบัว แต่ปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์ถือได้ว่าเป็นขนมที่มีการพัฒนาและการแข่งขันที่สูงมาก แม้แต่คนที่ไม่ได้ตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์ก็ยังอดไม่ได้ที่จะซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทนั้นขนมไหว้พระจันทร์คือของขวัญสำหรับลูกค้าที่จะขาดไม่ได้ และนั่นก็ส่งให้ขนมไหว้พระจันทร์ไม่ได้พัฒนาแค่รสชาติ แต่ยังต่อยอดไปถึงการออกแบบแพ็คเกจ จากกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาก็กลายมาเป็นคอลเล็คชันสะสม บางแบรนด์ถึงขั้นร่วมงานกับศิลปินดังออกแบบกล่องลิมิเต็ดเอดิชันเลยทีเดียว
ความครึกครื้นของวงการขนมไหว้พระจันทร์ในไทยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เมื่อภัตตาคารอาหารจีนเก่าแก่ แชงกรีลา ได้สร้างสถิติ ทำขนมไหว้พระจันทร์ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร โดยเริ่มกระบวนการทำตั้งแต่เวลา 21.00 น.ของวันที่ 31 สิงหาคม จนเสร็จตอนรุ่งเช้าวันที่ 1 กันยายน ต้องทิ้งไว้ 2 วันจึงสามารถอบขนมจนแห้ง และเริ่มตัดแบ่ง ขาย 1 หมื่นชิ้น ในราคาชิ้นละ 88 บาท รายได้จากการขายมอบให้มูลนิธิสายใจไทย
อีกแบรนด์ขนมไหว้พระจันทร์ในตำนานที่สร้างความต่างให้วงการขนมไหว้พระจันทร์คือ The Peninsula ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมจากเกาะฮ่งกง ผู้คิดค้นสูตรขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ดไข่แดง เป็นต้นตำรับเจ้าแรกของเกาะ โดยคิดค้นขึ้นใน พ.ศ.2529 ณ ห้องอาหารระดับดาวมิชลิน Spring Moon เป็นการผสมผสานระหว่างขนมไหว้พระจันทร์แบบโบราณกับเทคนิคการครัวเบเกอรีของตะวันตก ผลลัพธ์คือขนมไหว้พระจันทร์เนื้อนิ่ม หอมหวานคัสตาร์ด สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการขนมไหว้ต้นตำรับในยุคนั้น
จากนั้น The Peninsula Bangkok พิกัดประเทศไทยก็เริ่มเปิดขายขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ดไข่แดงในปี พ.ศ. 2543 กระทั่งไปใน พ.ศ. 2562 The Peninsula Bangkok ขายขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ดไข่แดงไปแล้วกว่า 4 ล้านชิ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการจับมือกับศิลปินไทยออกแบบกล่องขนมที่ลงทุนไปถึงสร้างระบบ AR ดึงตำนานฉางเอ๋อให้กลับมามีชีวิตในรูปแบบดิจิทัลอาร์ตอีกครั้ง
สำหรับขนมพระจันทร์ในประเทศไทยถือว่ามีการแข่งขันที่ดุเดือดมาก ในเทศกาลหนึ่งๆ มีแบรนด์ขนมไหว้พระจันทร์ออกมาสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 30 แบรนด์ เปิดขาย เปิดให้จองก่อนล่วงหน้าวันเทศกาลนานนับเดือน ไฮไลต์ของปี 2563 อาทิ ไชน่า เฮ้าส์ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ซึ่งปีนี้ข้ามวัฒนธรรมด้วย ขนมไหว้พระจันทร์ไส้อิตาเลี่ยนทิรามิสุ เชื่อมโยงประเพณีและวัฒนธรรมการกินอยู่ของโลกตะวันออกและตะวันตก ระหว่างเชฟแอนดี้ เหลียง จากห้องอาหารจีน เดอะไชน่า เฮ้าส์ และ เชฟดาริโอ บุสเนลลี่ ห้องอาหาร เชาว์ เทอร์เรซซ่า บรรจจุมาในดีไซน์กล่องลายดอกโบตั๋น นกยูง และกล่องโอเรียนเต็ลคลาสสิก
ด้าน Kyo Roll En ก็เป็นขนมไหว้พระจันทร์ที่ล้ำมาก ใส่ลูกเล่น Kyo Roll En X Sorn จับมือกับเชฟอาหารใต้ชื่อดัง เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ เจ้าของร้านอาหารใต้ 2 ดาวมิชิลิน Sorn ทำขนมไหว้พระจันทร์ 8 ไส้ที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าวใบเตย ช็อกโกแลตไทยรสเผ็ด ทั้งยังใช้กล่องจักสานแบบไทยๆ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนมาก
ใครที่อินกับงานดีไซน์กล่องขนมไหว้พระจันทร์ ในปี 2563 นี้ ห้องอาหารจีนแชงพาเลซ แห่งโรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งทำขนมไหว้พระจันทร์มามากกว่า 30 ปี พาไปย้อนไอเดียดีไซน์และการพัฒนางานออกแบบกล่องขนมไหว้พระจันทร์แต่ พ.ศ. 2557- พ.ศ. 2562 พร้อมชื่ออันเป็นมงคลตามธรรมเนียมนิยมของจีน เช่น ชุดทวีสุข ชุดสุขสันต์ยิ่งทวีคูณ และ ชุดสุขสำราญเปี่ยมวาสนา เช่นเดียวกับ โรงแรมดิแอทธินี ที่โดดเด่นด้วยกล่องคอลเล็กชันสุดพิเศษลวดลายดอกไม้ออกแบบโดย อาเรียนนา คาโรลี (Arianna Caroli) ศิลปินชาวอิตาเลียน
อีกงานข้ามวัฒนธรรมที่น่าสนใจของขนมไหว้พระจันทร์คือ โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมของญี่ปุ่น แต่ก็นำเสนอขนมไหว้พระจันทร์อย่างต่อเนื่องในทุกปี แตกต่างด้วยการนำวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาใส่ไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ เช่น บรรจุในกล่องพิมพ์ลายใบแปะก๊วย ห่อด้วยวิธีการพับผ้าแบบญี่ปุ่น หรือ ที่เรียกกันว่า ฟุโรชิกิ (Furoshiki) รวมทั้งการใช้ชาเขียว และมันม่วงญี่ปุ่น ซิกเนเจอร์ครัวญี่ปุ่นมาทำเป็นไส้
อีกร้านที่ขายขนมไหว้พระจันทร์ในไทยสูตรต้นตำรับมาอย่างยาวนานคือ ภัตตาคารอาหารจีน กิเลน ซึ่งในปี 2563 นอกจากกิเลนจะส่งขนมไหว้พระจันทร์ไปทั่วประเทศแล้วก็ยังได้จับมือ “บิวตี้ เจมส์” ทำขนมไหว้พระจันทร์กิเลนชุบทองคำแท้ 99.99% จำนวน 100 ชิ้น มูลค่ารวม 10 กว่าล้านบาท ตอกย้ำระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษของการทำขนมไหว้พระจันทร์แบรนด์กิเลน
แม้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์จะคึกคักทุกปี ทว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ประเมินว่ามูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท หดตัว 15.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวรุนแรง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กระนั้นก็ยังถือได้ว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นกรณีศึกษาที่ยอดเยี่ยมในการต่อยอดจากตำนาน สู่การสร้างชาติ การเผยแพร่วัฒนธรรม การสร้างแบรนด์ที่มีเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ามาเป็นหัวใจหลักในการต่อยอดมูลค่าให้สูงขึ้น และสูงขึ้นในทุกปี
อ้างอิง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย https://bit.ly/30n0bvr
- นิตยสารสารคดี ฉบับ กันยายน 2536, ตุลาคม 2532 และ มกราคม 2560
Fact File
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 พบว่า แม้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ ยังคงให้ความสนใจเข้าร่วมเทศกาล แต่ก็มีสัดส่วนลดลงจากปีก่อน จาก 61.4% เหลือ 50.7% จากสภาพแวดล้อมการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า มูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 จะอยู่ที่ราว 800 ล้านบาท หดตัว 15.8% โดยน้ำหนักของการหดตัวมากสุด อยู่ที่จำนวนผู้ซื้อและจำนวนชิ้นที่ซื้อที่ลดลง