Spaceth.co สำนักข่าวอวกาศแฟนคลับนับล้าน ที่มีแพสชันของเยาวชนไทยเป็นตัวขับเคลื่อน
- Spaceth.co คือสื่อที่มีเป้าหมายในการนำเรื่องราวข่าวสารด้านอวกาศมาถ่ายทอดให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าใจง่าย ให้สิ่งที่ดูเหมือนห่างไกลเข้าไปในชีวิตประจำวันของทุกคนได้ง่ายขึ้น
- ปัจจุบันก่อตั้งมาได้กว่า 2 ปี ขับเคลื่อนด้วยสมาชิกวัยมัธยมศึกษา–มหาวิทยาลัยที่ชื่นชอบในอวกาศเหมือนกันและหมายมั่นว่าอีกไม่เกิน 2 ปีอาจได้เห็นโลโก้ Spaceth.co ลอยอยู่ในอวกาศ
เราว่าแทบทุกคนมองเห็นความสวยงามของดวงดาวระยิบบนผืนฟ้าสีดำยามค่ำคืน แต่น้อยคนที่จะนึกสงสัยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนนั้น หรือสงสัยแต่กลับรู้สึกว่าแสนไกล หากได้รู้จัก Spaceth.co เว็บไซต์ที่หยิบยกเรื่องราวอวกาศมาบอกเล่าเชื่อมโยงกับข่าวสารในชีวิตประจำวัน เรื่องราวศิลปะ การเมือง สังคมแล้ว คำว่า “ไกล” อาจจะค่อยๆ ย่นระยะเข้ามาใกล้ ราวกับกำลังพูดคุยเรื่องในชีวิตประจำวันอย่างนั้นเลย
เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ Spaceth.co เริ่มต้นขึ้นจากสองหนุ่ม เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ กร-กรทอง วิริยะเศวตกุล และขับเคลื่อนเรื่อยมาด้วยกองกำลังที่มีอายุระหว่าง 14-21 ปีเท่านั้น กับการทำงานด้านสื่อวิทยาศาสตร์ที่มียอดผู้ชมเว็บไซต์นับล้าน คนถูกใจเพจหลักแสน บ่ายวันหนึ่ง Sarakadee Lite จึงชวนสองสมาชิก มายด์-กัลยรัตน์ ปวนกาศ (บรรณาธิการ) และ นานุ-ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์ (Content Creator) มาพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่
เริ่มต้นจากความหลงใหลและแรงบันดาลใจ
มายด์ : ในส่วนของมายด์ ที่มาทำตรงนี้ ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่ทั้งสองคือพี่เติ้ลกับพี่กร อย่างพี่เติ้ลก็จะเป็นคนที่พูดและศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว คือหนูรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์กับดาราศาสตร์มันมีความน่าหลงใหลมากๆ พี่กรเขาก็แข่งแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะมาแล้ว รู้สึกว่าพี่สองคนนี้เขาเก่งมาก เป็นแรงบันดาลใจให้หนูรู้สึกว่าอยากทำแบบนี้ เราก็เลยเริ่มมาทำอะไรแบบนี้ดูบ้าง
นานุ : ของผมก็เป็นน้องใหม่ล่าสุดในทีมเลย ถามว่าเข้ามาได้ยังไงก็คล้ายๆ กันคือชอบวิทยาศาสตร์ ส่วนตัวผมชอบเครื่องยนต์กลไกด้วย เราเลยสนุกสนานที่ได้เห็นจรวด ดาวเทียม เป็นอะไรที่เหมือนกับเป็นแพสชันของเรา ทีนี้ก็ตามหามาตลอดว่าจะเอาแพสชันตรงนี้ไปลงที่ไหน จะเอาแพสชันไปทำงานกับคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันได้ยังไง ก็มาเจอ Spaceth.co เอาเป็นว่าเริ่มจากการเป็นแฟนคลับก่อน
ทีนี้เราก็ได้เข้าค่าย JWC คือ Junior Webmaster Camp (ค่ายที่จัดขึ้นโดยชมรมเยาวชนผู้ดูแลเว็บไทยในความดูแลของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จัดขึ้นทุกปีราวเดือนมี.ค. – พ.ค.) เป็นค่ายสำหรับเด็กที่อยากเป็น Developer Web หรือ อยากจะทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับเว็บ เกี่ยวกับนวัตกรรม เข้ามาฝึกทักษะจำเป็นในโลกดิจิทัล แล้วเผอิญทุกคนในนี้ก็เป็นเด็กค่ายนี้กันหมดเลย
นานุเล่าถึงที่มาของการเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมที่ยาวนาน ก่อนที่เขาจะผ่านช่วงมรสุมของเด็ก ม.6 ที่ต้องเผชิญกับ GAT PAT เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย จนกระทั่งตัดสินใจเข้าทีม ก่อนที่ทั้งคู่จะเล่าเสริมถึงการทำงาน
นานุ : พอเข้ามาปุ๊ปก็โดนให้ทำงานเลย จริงๆ ผมเข้ามาในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เราก็กลายเป็นมีเดีย กลายเป็นอาร์ตได แล้วตอนนี้ก็ทำเกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์ให้กับทีมเป็นหลัก จริงๆ ก็ทำกราฟิกดีไซน์กันได้หมด ทำได้ทุกหน้าที่เป็น Multi Role แต่จะเหมือนกับเป็น Priority ไปบางส่วน
มายด์ : อย่างมายด์จะเป็น Editor ให้กับเฟซบุ๊กกับไอจีเป็นหลักก็คือจะดูให้ว่ามีบทความอะไรบ้าง
นานุ : หน้าที่ที่ทุกคนทำได้คือเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สามารถเขียนบทความได้ทุกคนอยู่แล้ว แต่อาจจะมีสเปซิฟิกว่าอัปเดตแพลตฟอร์มนี้ๆ เพื่อให้มันมีการลงคอนเทนต์ตลอด ทุกแพลตฟอร์มของเราควรที่จะแอ็กทีฟตลอด ผมก็จะดูในด้านกราฟิกดีไซน์ งานอาร์ต สิ่งพิมพ์ พับลิชชิ่ง จนถึงตอนนี้ก็ทำงานมาประมาน 4 เดือน
เราถามถึงการแบ่งเวลาเพราะต้องฝ่าฟันกับการเรียนกันอยู่ทั้งคู่รวมถึงคนในทีมด้วย นานุตอบสั้นๆ ว่า “จัดสรรเวลาเป็นไมโครแมเนจเมนต์ของแต่ละคน”
มายด์ : หนูเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ที่จุฬาฯ ก็จะมีตารางที่แน่นมาก เราเรียนแปดโมงเช้า เลิกสี่โมงเย็นทุกวัน บางวันก็จะมีแลป เราเรียนก็คือเรียน แต่มันจะมีช่วงว่างแบบตอนเย็นเป็นต้นไป เราก็จะคุยกันว่าวันไหนเราจะมีงานอะไรบ้าง วันนี้เราจะลงอะไรบ้าง อาจจะคุยกับกรหรือนานุ ก็คุยกันในทีมว่ายังไง
ในการทำคอนเทนต์หาข้อมูลจากที่ไหนกันบ้าง
นานุ : ศึกษาเองด้วยส่วนหนึ่ง คือข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์เรายอมรับว่าต่างประเทศเขาอัปเดตก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคอนเทนต์มันเกิดจากการลงมือทำของต่างชาติ แต่ถ้าไม่มีใครเอามาย่อยเลย คนไทยก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ แค่ภาษาอังกฤษก็ทำให้ผู้อ่านในไทยหายไปเกินครึ่งแล้ว บางทีเขาไม่เข้าใจศัพท์เทคนิคจริงๆ
ฉะนั้นแหล่งข่าวของเรา แน่นอนครับ องค์การอวกาศเลยก็จะมี NASA ซึ่งเป็นของสหรัฐฯ ESA ของยุโรป Roscosmos ของรัสเซีย อันนี้ยากนิดหนึ่งเพราะเขาเขียนเป็นภาษารัสเซีย JAXA ก็เป็นภาษาญี่ปุ่น อย่างรีพอร์ตล่าสุดที่ทำอยู่ก็เป็นญี่ปุ่นหมดเลย น้อยมากที่จะเป็นอังกฤษ แต่ก็พยายามดึงออกมาให้ได้ ฐานข้อมูลที่เรามีอยู่เนี่ยแม่นยำมาก
ล่าสุดก็เริ่มมีแหล่งข่าวในไทยแล้ว เพราะว่าคนไทยเริ่มที่จะทำทางด้านอวกาศมากขึ้น เริ่มมีเอกชนแล้ว Spaceth.co เรารายงานทุกอย่างหมดอยู่แล้วทั้งจากต่างประเทศและในไทยด้วย และถ้าอนาคตเราลงมือทำได้ด้วยผมว่ามันจะเป็นความฝันที่เป็นจริงมากเลย เราส่งดาวเทียมขึ้นไปเองได้ บิวต์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้มีมหาวิทยาลัยในไทยทำเหมือนกัน มีเอกชนทำแล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอวกาศไม่ใช่เรื่องของต่างประเทศอีกต่อไปแล้ว มันเป็นเรื่องของประเทศไทยนะครับ ล่าสุดสวทช. ก็มีการส่งงานวิจัยขึ้นไปแล้ว และตอนนี้มันเป็นยุคที่เริ่มเข้าสู่การปฏิวัติด้านวงการอวกาศไทยแล้ว แต่ว่ามันจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือโฉบเฉี่ยวรวดเร็วอันนี้ก็ต้องคอยดูกันไป
รีเช็กข้อมูลกันอย่างไร
มายด์ : เราเอาข้อมูลมาก่อนแล้วก็รอดูว่าหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น NASA หรือหน่วยงานที่พูดไป เขาลงข้อมูลยืนยันแค่ไหน อันนี้เรารีเช็กกันอยู่แล้ว แล้วก็มีรีเช็กในกลุ่มคนที่ชอบ ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้อีกรอบหนึ่ง
นานุ : การเทียบเปเปอร์ บางทีเราอาจต้องหาค่าเฉลี่ยด้วย อย่างเช่นเขียนเรื่องดาวเทียม แต่ละเปเปอร์บอกข้อมูลไม่เหมือนกันเลย จนบางทีเราต้อง Deep Search วิจัยลงไปมากขึ้นว่ามีแบบบลูปรินต์ไหม มีแบบแปลนไหมในเมื่อคุณอธิบายน้ำหนักดาวเทียมไม่เท่ากัน อาจต้องหาจากไดเมนชันหรือเปล่า ก็ต้องลองดูว่ามันจะสามารถเชื่อมโยงอะไรอย่างนี้ได้ไหม ซึ่งบางทีหาได้และบางทีก็หาไม่ได้เหมือนกัน คือถ้าหาได้ก็โอเคจบ ได้ข้อมูลที่น่าจะแม่นยำที่สุด ก็จะเลือกใช้ตัวนี้
แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็จะต้องมีการเฉลี่ยหรือพยายามทำยังไงก็ได้ให้มันไม่ไบแอสไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เพราะบางทีเปเปอร์มันพลาดได้เป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนี้แหละครับ ดีลกับข้อเท็จจริงตลอดเวลา ข้อเท็จจริงคุณผิดเมื่อไร คุณโดนแล้ว จริงๆ ผมว่าก็ไม่ใช่ข้อเสียนะ มันฝึกให้เราได้วิเคราะห์ Critical Thinking มากๆ ต้องพยายามเช็กตลอดเวลา บางทีมีผู้เชี่ยวชาญมาคอมเมนต์เหมือนกันนะ ก็คุยกันว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้ ถ้าเราผิดก็แก้ไข
กดดันบ้างไหม
นานุ : จริงๆ ไม่ เพราะ Spaceth.co เป็นงานแพสชันไดร์ฟ เราไม่ใช่องค์กรประเภทที่ต้องมาตอกบัตร แล้วมานั่งเขียนบทความทุกๆ แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ทุกคนมีไมโครแมเนจเมนต์ของตัวเอง ทุกคนมีพลังงานของตัวเอง ข้อได้เปรียบของเราอย่างหนึ่งคือมันสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ใครจะอยู่ที่ไหนก็สามารถแก้งานกันได้ เพื่อที่จะทำเป็นคอนเทนต์ลงไป
แต่การที่จะมาเจอตัวกันเป็นระยะๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเหมือนกัน พอได้เจอตัวกันแล้วได้คุยกันจริงๆ ได้สื่อสารสองทางแบบเรียลไทม์ ก็เป็นอะไรที่ช่วยแบ่งเบาความเครียดของงานลงได้เพราะเราได้คุยกัน อาจจะแบ่งงานแก้ไขงานกันใหม่ได้ บางทีโปรเจกต์ใหญ่มาดรอป บู้ม มันก็ต้องมีความเครียดบ้างแหละ เพราะว่าหนึ่งเรียนไปด้วย แต่ก็ต้องทำให้สุดความสามารถ อย่างแรกพอมันเป็นแพสชันไดร์ฟแล้ว มันไม่มีการที่คุณจะมาอ้างว่าไม่อยากทำเลย เหนื่อย ขี้เกียจ คุณปฏิเสธความชอบไม่ได้อยู่แล้ว เราทำด้วยความรักในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว ก็พยายามทำให้มันดีที่สุด ความเครียดมันมีอยู่แล้วครับ ก็ต้องพยายามบริหารจัดการมันให้ได้
เป้าหมายของ Spaceth.co คืออะไร
นานุ : จริงๆ แล้วเราเป็นสื่อมวลชน จะพูดว่าเป็น News Agency ก็ได้ แต่ว่าเราโฟกัสทางด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศ ก็จะต้องดีลกับ Fact ตลอดเวลา เราต้องรีเช็ก Fact นั้นด้วยว่าข้อเท็จจริงที่เราได้มาเนี่ยมันจริงหรือเปล่า เป้าหมายหลักคือการเอาข้อเท็จจริงนี้มาให้ทุกคน ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ บางทีเราอ่าน อย่างคุณเติ้ลเขาอ่าน Nature (วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์) เหมือนเป็นแพลตฟอร์มลงงานวิจัย คนปกติทั่วไปคงไม่มีใครเปิด Nature อ่านเหมือนอ่านการ์ตูนใช่ไหมครับ ฉะนั้นเป้าหมายหลักของเราคือการเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้เข้าใจง่ายขึ้นจนเหมือนเป็นชีวิตประจำวันได้ พูดได้ว่าเราพยายามดันสิ่งนี้ ให้อวกาศเข้าไปในชีวิตประจำวันของทุกคนได้ง่ายขึ้น จากสิ่งที่ดูเหมือนห่างไกล
มายด์ : เอาข้อมูลที่คนไม่คิดว่าจะพูดได้ในชีวิตประจำวันมาพูดกันเป็นเรื่องง่ายๆ แบบเห้ยๆ วันนี้อ่านเรื่องหลุมดำยัง คือเราสามารถเอามาพูดแบบนี้ได้ อยากให้เกิดการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการพูดก็ตาม หรือการฟัง ไม่ได้แบบว่าเห้ยทำไมคนนี้เก่งจัง ทำไมคนนี้พูดเรื่องนี้ คือเราอยากจะสร้างสังคมแบบนี้ด้วย
นานุ : อยากให้ทุกคนเก่ง เป้าหมายต่อไปคือเกิดการ Engage คือสเปซเราให้ข้อมูลแล้ว แต่ทีนี้ต้องการจะ Engage ในเรื่องการศึกษาด้วย จะมีการไปร่วมกับเจ้าอื่นๆ ทำงานนู้นงานนี้ทำโปรเจกต์เพื่อที่จะไดร์ฟสังคมไปด้วยกันให้ได้ เพราะความรู้จริงๆ มันมีอยู่ทั่วไป แต่เมื่อเราเอามาให้เขาแล้วเนี่ย ต้องทำให้เขาสนใจที่จะค้นหาต่อไปด้วยตัวเองให้ได้ สังคมมันจะได้เป็นแบบวิชาการจริงๆ สักที ไม่ใช่ว่าอย่างที่มายด์บอกเมื่อกี้ คือไม่ใช่ว่าคนนี้พูดเรื่องวิชาการ เห้ยเก่งจังเลย มันควรจะเป็นทุกคนที่สามารถคุยเรื่องวิชาการด้วยกันได้ แล้วเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มันควรจะเป็นแบบนั้น
ตั้งแต่ทำมาคิดว่าทำให้วงการวิทยาศาสตร์คึกคักขึ้นไหม
นานุ : ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วมันคึกคักมาก่อนหน้านี้แล้ว อันนี้คือเราอยู่กันแค่ในอวกาศเป็นหลักใช่ไหมครับ แต่ว่าจริงๆ ข้างนอกมันมีเพจอื่นด้วยนะ เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ คือถามว่าคึกคักไหมคึกคัก แต่คึกคักแบบ Niche เหมือนศิลปะบางประเภทมันก็เฉพาะกลุ่มเหมือนกัน เหมือนกับการ์ตูนหรือซีรีส์ก็เฉพาะกลุ่มเหมือนกัน มันเป็นอย่างนี้มาตลอดในทุกๆ วงการอยู่แล้วครับ แต่ว่าเราพยายามที่จะดึงให้มันเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขึ้น ดึงให้มันหลุดจากคำว่า Niche เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แล้วก็จะยังคึกคักแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะคึกคักมากขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
ยากไหมที่จะทำให้คนรู้สึกว่าดาราศาสตร์เป็นเรื่องของคนทั่วไป
มายด์ : คือดาราศาสตร์มันใกล้ตัวเรามากอยู่แล้ว แต่การศึกษาทำให้ดาราศาสตร์กับอวกาศอยู่ไกลตัวเรามาก ทำไมเราต้องเรียนดาราศาสตร์ ต้องใช้สูตรแบบนี้ เทคโนโลยีคือตรงนี้ๆ มันทำให้ตอนที่เราเรียน เรารู้สึกว่าทำไมมันยากจัง มันไกลตัวจัง เรียนไปทำไมก็ไม่รู้ จริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในโลกเราล้วนมาจากเทคโนโลยีอวกาศทั้งหมด มันใกล้ตัวเรามาก สิ่งที่เราทำคือหยิบยกเรื่องราวในชีวิตประจำวันขึ้นมาพูดว่าอะไรมันคืออะไร มันเกี่ยวกับอวกาศยังไง
นานุ : เหมือนเราจะสร้างทางสายกลางขึ้นมา ในมุมมองผม ผมมองว่าอวกาศมันสุดขั้วสองอย่างอย่างแรกคือสุดขั้วในประเด็นที่มันเบลนด์ไปกับชีวิตประจำวันเราหมดแล้ว ปฏิทินที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นปฏิทินแบบสุริยคติ ก็มาจากดาราศาสตร์เหมือนกัน อะลูมิเนียมทุกอย่างที่เราใช้อยู่ก็มาจากอวกาศ มาจากการพัฒนาเหมือนกัน มันเบลนด์ไปจนเราลืมไปแล้วว่ามันคือดาราศาสตร์
กับสุดขั้วอีกอย่างคือมันแอดวานซ์เกินไป มันเลยกลายเป็นการสุดขั้วสองทาง เราหลงลืมไปแล้วว่าจริงๆ เราอยู่กับมันมาตลอด กับเรารู้ว่าเราอยู่กับมันแน่ๆ แต่เราไม่อยากอยู่กับมันเพราะมันยาก ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือเหมือนกับเป็นตรงกลางเชื่อมทั้งสองอย่างให้กลับเข้ามาให้ได้ คนจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันใกล้มากเลย
เราคุยกับสองสมาชิกไปช่วงหนึ่ง เติ้ล หนึ่งในผู้ก่อตั้งก็เข้ามาร่วมแจม เราพูดคุยกันต่อถึงช่อง Youtube ที่พวกเขาบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ส่วนพอดแคสต์ “อวกาศข้างบ้าน” ที่ทำมาได้เกือบหนึ่งปี ด้วยความที่ยังไม่มีประสบการณ์มาก่อนจึงเริ่มต้นจากการขอไปร่วมแจมกับ GetTalks ด้วยมองว่ามีสไตล์ที่ตรงกัน คือไม่ได้จริงจังมากแต่คือการเอาเรื่องความชอบมาพูดคุย ก่อนที่จะเขาเล่าถึงที่มาของการตั้งชื่อ
เติ้ล : เหมือนอวกาศไม่ได้ไกลอยู่แค่ข้างบ้าน ดูใกล้ชิด ฟีลแบบเพื่อนบ้าน อวกาศเป็นเพื่อนบ้านอยู่แค่นี้เองซึ่งมันก็อยู่แค่นี้เองจริงๆ มีคนบอกว่าอวกาศเป็นพรมแดนสุดท้ายใช่ไหม เป็น Final Frontier จริงๆ แล้ว Final Frontier ก็อีกแบบหนึ่ง แต่ที่มันอยู่ข้างบ้านคุณก็มี อย่างนี้ (ยกไอโฟนขึ้นมา) ก็มาจากเทคโนโลยีอวกาศ
รู้จัก Spaceth.co กันมากขึ้นแล้ว สิ่งที่เรายังสงสัยอยู่คือการรู้เรื่องของอวกาศ ดาราศาสตร์จำเป็นแค่ไหน มีส่วนในการสร้างชาติอย่างไร
เติ้ล : กลับไปดูที่อเมริกา Silicon Valley (ตอนใต้ของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก ถือเป็น Hub ของเทคโนโลยี) ที่เป็นที่มาของ Apple ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ มาจากอะพอลโล เพราะว่าตอนนั้นอเมริกาอินเวสต์ไปกับเทคโนโลยีเยอะมาก ในการที่จะทำเรื่องของคอมพิวเตอร์ เรื่องของไมโครโพรเซสเซอร์ เรื่องของไมโครชิป แผงวงจรต่างๆ เพื่อที่จะคอนโทรลยานอะพอลโลให้ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ เพราะมนุษย์ไม่สามารถตามไปแล้วควบคุมยานอวกาศได้ เขาก็เลยอินเวสต์ไปกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย
MIT (Massachusetts Institute of Technology) คือหนึ่งในนั้น พอเขาอินเวสต์ไปเสร็จ ไปดวงจันทร์สำเร็จ มันไม่จบแค่นั้น วิศวกรที่เขามีความรู้จากการทำยานอะพอลโลเนี่ย ไปเปิดบริษัทของตัวเอง ไปเป็นอาจารย์ ไปสร้างแรงบันดาลใจ ไปทำบริษัท ทำสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมต่างๆ มากมาย Silicon Valley เกิดขึ้นได้เพราะอันนี้ด้วยซ้ำ วิศวกรคอมในอะพอลโลเนี่ยไปรวมหัวกัน ก็ไปที่ซิลิคอน ไปตั้งบริษัทต่างๆ Intel, AMD, Cisco ทั้งหลายทั้งแหล่ ทุกอย่างไปอยู่ตรงนั้นแล้วถามว่ามันลีดดิ้งโลกไหม ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีอยู่อเมริกา พูดถึง Space ก็อเมริกา นี่แหละความคุ้มของมัน ตอนนั้นอเมริกามีดีแค่ฝั่งนิวยอร์ก ฝั่ง Capitalism มีนิวยอร์ก มีวอลสตรีต มีอะไรที่จะอยู่ฝั่งนิวยอร์ก แต่มันข้ามไปฝั่งซิลิคอนแวลลีย์ได้ ฝั่งซานฟรานซิสโกได้ เนี่ยการสร้างชาติของการทำงานด้านอวกาศ
ทำไมเราถึงต้องรู้เรื่องอวกาศ
นานุ : อนาคตอวกาศมันเป็นเรื่องที่คุณต้องรู้แล้ว มันจะกลายเป็นอะไรที่เป็นชีวิตประจำวันคุณไปแล้วเหมือนเราอ่านหนังสือสอบก่อนเพื่อนก็ได้เปรียบ การที่เราเดินหน้าไปหนึ่งสเต็ปยังไงมันก็ดีกว่า อนาคตก็คืออนาคตไม่สามารถที่จะกลายเป็นอย่างอื่นได้ แต่ถ้าเราดึงให้มันกลายเป็นปัจจุบันได้เร็วขึ้น ผมว่าได้เปรียบ
เติ้ล : คิดว่าอย่างที่นานุบอก แต่ขอขยายความว่าทำไมเราถึงควรรู้เรื่องอวกาศก่อนคนอื่น เพราะถ้าเรารู้หลังคนอื่น แม้กระทั่งเรื่องเดียวมันช้า จริงๆ ถ้าเรารู้ก่อนเราอาจจะยังไม่ต้อง Execute เลยแต่เราสามารถแพลนได้ 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น 20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วทุกวันนี้เราต้องตัดสินใจกัน สิ่งที่เราตัดสินใจกันวันนี้ มันไปส่งผล 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นการที่เรารู้ว่าสิบปีข้างหน้าแนวโน้มโลกจะเป็นยังไง ก็เลยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้ารอไปตัดสินใจอีก 4 วันข้างหน้าอาจจะไม่เหมือนเดิมแล้ว
ก่อนจะจบบทสนทนาเราขอปิดท้ายด้วยสิ่งที่พวกเขามองถึงอนาคตต่อไปของ Spaceth.co
นานุ : Spaceth.co ก็คงเป็นพับลิชเชอร์ในรูปแบบนี้ต่อไป แต่อาจจะต้องพัฒนามากขึ้น อาจจะต้องเข้าถึงคนมากขึ้น จะต้องทำคอนเทนต์ที่มันกว้างยิ่งขึ้น จริงๆ ของผมอนาคตอยากให้เป็นอะไรที่ Practical จริงๆ ที่เราสามารถสร้างดาวเทียมเอง เรากลายเป็นองค์การอวกาศขึ้นมาได้อะไรแบบนี้ คือจากสื่อไปเป็นองค์กรที่ทำจริงๆ ได้ นี่คืออนาคตของผม
เติ้ล : จริงๆ เราก็เริ่มแล้วแหละ แต่ว่ายังเล่าไม่ได้ ขอเก็บไว้ก่อน แต่เราบอกว่าน่าจะไม่เกิน 2 ปีน่าจะได้เห็นโลโก้ Spaceth.co อยู่บนอวกาศจริงๆ ซึ่งถามว่าเราทำกันมา 2 ปีตีว่า 3 ปีใช่ไหม ถ้าบวกไปอีก 1 ปีเท่ากับว่า 4 ปีเราเริ่มต้นจากศูนย์ไม่มีอะไรเลยจนเราสามารถมีโลโก้ของเราลอยอยู่บนอวกาศได้จริงๆ
ด้วยความอยากเก็บไว้ก่อน เราจึงไม่ได้ถามต่อ แต่ด้วยแพสชันที่ลอยออกมาจากบทสนทนาทำให้เราหมดข้อสงสัยถึงการเติบโตของ Spaceth.co และเชื่อสุดใจว่าเราจะได้เห็นโลโก้ของพวกเขาลอยอยู่บนอวกาศได้อย่างที่กล่าวจริงๆ
Fact File
- Website : spaceth.co
- Facebook : Spaceth.co
- Twitter : @spacethnews
- Instagram : spaceth.co
- Youtube : SPACETH Channel
- Podcast : อวกาศข้างบ้าน