ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพเก่าแก่ที่สุดในสยาม โรงหนังติดแอร์แห่งแรกในเอเชีย
Brand Story

ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพเก่าแก่ที่สุดในสยาม โรงหนังติดแอร์แห่งแรกในเอเชีย

Focus
  • 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ตรงกับวันเปิดโรงมหรสพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสยามในยุคเกือบ 100 ปีก่อน นั่นก็คือ ศาลาเฉลิมกรุง หรือ รงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง
  • ศาลาเฉลิมกรุง สร้างขึ้นในวาระฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดย หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในไทยและเอเชียที่มีการติดเครื่องปรับอากาศ

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ตรงกับวันเปิดโรงมหรสพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสยามในยุคเกือบ 100 ปีก่อน นั่นก็คือ ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์แห่งแรกในไทยและเอเชียที่ทันสมัยถึงขนาดมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ (โรงหนังติดเครื่องปรับอากาศแห่งแรกของเอเชีย) และถือเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศสยาม โดย ศาลาเฉลิมกรุง หรือ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง สร้างขึ้นในวาระฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2476  (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475)  ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดย หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร  เป็นโรงมหรสพที่รองรับทั้งการฉายภาพยนตร์ การแสดงละครเวที การแสดงดนตรี รวมทั้งนาฏศิลป์ มหรสพไทย และศิลปะการแสดงแขนงอื่นๆ

ศาลาเฉลิมกรุง
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 วันเปิดโรงภาพยนตร์

ความทันสมัยของ ศาลาเฉลิมกรุง ที่คนพระนครฮือฮาอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของยุคนั้น  ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องปรับอากาศจากโรงภาพยนตร์ยุคเก่าที่มีแค่พัดลม ระบบเปิดม่านอัตโนมัติ การออกแบบที่นั่งชมภาพยนตร์แบ่งเป็นชั้นๆ และมีชั้นลอยแบบโรงละครในตะวันตกที่เรียกว่า “ชั้นบ๊อกซ์ (Box)” รวมทั้งมีระบบการเก็บบัตรชมภาพยนตร์ในราคาที่แตกต่างกันตามชั้นของที่นั่ง และมากกว่าเรื่องงานออกแบบคือการจัดรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์ และการฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มจากฮอลลีวู้ดซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีด้านภาพยนตร์ที่ทันสมัยมากในยุคนั้น

ศาลาเฉลิมกรุง
ทำบุญเลี้ยงพระวันเปิดศาลาเฉลิมกรุงครั้งแรก

แม้ศาลาเฉลิมกรุงจะเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุค แต่ไม่ใช่โรงภาพยนตร์แห่งแรกในประเทศไทย โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงเกิดขึ้น 35ปี หลังการสร้าง โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ  สถานที่ฉายภาพยนตร์แห่งแรกและถือว่าโรงภาพยนตร์แห่งแรกในสยาม ซึ่งเดิมทีโรงละครหม่อมเจ้าอลังการเป็นเพียงสถานที่จัดแสดงมหรสพ แต่เมื่อเริ่มมีมหรสพที่เรียกว่าภาพยนตร์โรงละครหม่อมเจ้าอลังการจึงเริ่มเปิดฉายภาพยนตร์ให้สาธารณชนได้ชมเป็นครั้งแรก ในระบบซีเนมาโตกราฟีใน พ.ศ.2440โดย นายเอสจี มาร์คอฟสกี้

ศาลาเฉลิมกรุง
ม.ร.ว. มูล ดารากร เป็นผู้แทนพระองค์ไปเปิดโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง

รอบปฐมฤกษ์เปิดโรง 2 กรกฎาคม 2476 

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายในศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันเปิดโรงภาพยนตร์ 2 กรกฎาคม  พ.ศ. 2476  คือ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมีชื่อไทยว่า มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ ระบบเสียงในฟิล์ม (ไม่ต้องใช้คนพากย์สด) และถือเป็นรอบการกุศลโดยรายได้จากการขายบัตรทั้งหมดมอบให้กับสภากาชาดสยาม โดยในค่ำวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่อง Tarzan the Apeman ฉบับหนังขาวดำ (ออกฉายครั้งแรกในอเมริกาปี พ.ศ.2475)

ในยุคแรกของ ศาลาเฉลิมกรุง เปิดรอบฉายหนังวันละ 2 รอบ ต่อมาเพิ่มเป็น 4 รอบ และวันหยุดเพิ่มรอบอีกหนึ่งรอบ โดยภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์ม มีภาพยนตร์ไทยบ้างแต่น้อย  ส่วนราคาบัตรชมภาพยนตร์ยุคเริ่มแรกของ ศาลาเฉลิมกรุง นั้นราคาต่ำสุดอยู่ที่ 7 สตางค์ และราคาสูงสุดสำหรับชั้นบ๊อกซ์คือ  40 สตางค์ บางครั้งก็มีโปรโมชันบัตรสมนาคุณลดราคา 1 ที่นั่ง สำหรับนักเรียนที่ซื้อบัตรเข้าชมเป็นหมู่คณะพร้อมกัน 10 ที่นั่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการทำการตลาดสำหรับโรงภาพยนตร์ที่แตกต่างจากการฉายหนังแบบเดิมๆ

ศาลาเฉลิมกรุง
รัชกาลที่ 7 และพระราชินี เสด็จตลาดมิ่งเมืองทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุง

อีกซีนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นพร้อมศาลาเฉลิมกรุงคือการจัดฉายภาพยนตร์ไทย รอบปฐมทัศน์ หรือ “กาลา พรีเมียร์” ตามอย่างโรงภาพยนตร์เมืองนอกโดยมี สามเสือสมุทร เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่จัดฉายรอบปฐมทัศน์หรือ กาลา พรีเมียร์ ใน พ.ศ. 2496  ครั้งนั้นมีดาราและแขกผู้มีเกียรติมาชมภาพยนตร์เป็นรอบแรก ก่อนรอบขายบัตรทั่วไป พร้อมการแสดงดนตรีและศิลปบันเทิงที่โด่งดังในยุคนั้น เช่นการการแสดงดนตรีสดให้ชมบนเวทีก่อนการฉายหนัง วงดนตรีที่ได้รับความนิยมรอบ กาลา พรีเมียร์ ก็เช่นวงดนตรีคณะสุนทราภรณ์ วงดนตรีทหารอากาศ เป็นต้น 

ปัจจุบันศาลาเฉลิมกรุงดำเนินกิจการมาถึง 90 ปี และยังเปิดดำเนินการภายใต้การดูแลของ มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง  มีการจัดแสดงและเปิดพื้นที่บริการงานด้านศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น การแสดงโขน ละครเวที คอนเสิร์ต

การแสดงในศาลาเฉลิมกรุงปัจจุบัน

ระบำโบราณคดี-ระบำสี่ภาค เป็นต้น  รวมทั้งมีการจัดโปรแกรมทัวร์สำหรับชาวต่างชาติ เช่น การจัดรถรางจากสยามหลวงเชื่อมมาดูโขนยังศาลาเฉลิมกรุง

นอกจากเวทีการแสดงแล้ว ในอาคารศาลาเฉลิมกรุงยังมี ห้องสมัยเฉลิม เปิดใช้ครั้งแรกใน พ.ศ. 2547 เดิมถูกใช้เป็น ห้องฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ต่อมาปรับปรุงเป็นห้องรับรองโดยใช้ชื่อ “สมัยเฉลิม” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ผู้ออกแบบศาลาเฉลิมกรุง ปัจจุบันเปิดบริการให้เช่าเพื่อจัดงานต่างๆ จุคน 200-300 คน

การแสดงในศาลาเฉลิมกรุงปัจจุบัน

อีกห้องคือ หอประวัติศาลาเฉลิมกรุง ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เป็นพื้นที่เก็บหลักฐานและรวบรวมข้อมูล  เป็นแหล่งค้นคว้าและศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพลงไทย นาฏศิลป์ไทย และละครไทย แขนงต่างๆ  และประวัติร่วมร้อยปีของ ศาลาเฉลิมกรุง 

Fact File

  • ศาลาเฉลิมกรุง เปิดทำการจันทร์-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-18.00 น.
  • www.salachalermkrung.com
  • ศาลาเฉลิมกรุงเปิดการแสดง “ชุดระบำโบราณคดี-ระบำสี่ภาค” และการแสดงโขน “ชุดหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา”  ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ วันละ 3 รอบ เวลา 13.00 น. 14.30 น. และรอบ 16.00 น.

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป