ศศิธร คำฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งขบวนการคน “ปากดี” และ รถชำเปลี่ยนโลก
Brand Story

ศศิธร คำฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งขบวนการคน “ปากดี” และ รถชำเปลี่ยนโลก

Focus
  • ศศิธร คำฤทธิ์ คัดสรรเครื่องปรุงรสปลอดสารเคมีกว่า 100 ชนิดจากแหล่งผลิตทั่วประเทศเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภคผ่านรถกระบะสี่ล้อในนามรถชำเปลี่ยนโลก 
  • ผลิตภัณฑ์เด่นประจำรถชำ ได้แก่ น้ำตาลอ้อยเคี่ยวแบบโบราณ น้ำมันงาขี้ม่อนบริสุทธิ์ น้ำปลาที่ผ่านกระบวนการหมักแบบไร้สารเคมีเป็นเวลา 2 ปี และพริกกะเหรี่ยงจากไร่หมุนเวียนปลูกแบบออร์แกนิก
  • ปัจจุบันรถชำฯ ยังขยายไปสู่การจัดทริป food journey เพื่อให้ผู้บริโภคได้เจอกับผู้ผลิตโดยตรงและเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตแบบไร้สารเคมีจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ

คุณเป็นคนปากแบบไหน “ปากจัด” “ปากไว” “ปากมัน” หรือ “ปากดี” สำหรับ แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ เจ้าของรถกระบะขายของชำในชื่อ รถชำเปลี่ยนโลก เธอยอมรับเต็มปากว่าเธอเป็น “คนปากดี” เพราะปากเธอชอบบอกเล่าเกี่ยวกับอาหารปลอดสารพิษและความเป็นมาของวัตถุดิบแต่ละชนิดก่อนจะเดินทางเข้าปากของเรา

ปากยอดฮิตของคนไทยคือ “ปากจัด” เพราะเติมสารพัดเครื่องปรุงให้รสชาติจัดจ้านส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคไตหรือเบาหวาน ส่วนพวก “ปากไว” เน้นความเร็วเป็นหลัก  อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปจับใส่ไมโครเวฟเป็นอันเสร็จโดยไม่สนใจว่ากำลังเอาอะไรเข้าปาก ประเภท “ปากมัน” คือเห็นของทอดของมันเป็นไม่ได้ต้องหยิบใส่ปากโดยไม่คำนึงว่าจะส่งผลร้ายต่อหัวใจหรือน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 

ทุกวันพฤหัสบดีแรกของเดือนที่ข่วงเกษตรอินทรีย์ ถนนริมคลองชลประทาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แอนจะพาความ “ปากดี” ของเธอเดินทางไปพร้อมกับพาหนะคู่ใจเป็นรถกระบะสีขาวมุงหลังคาเหล็กสูงราว 2 เมตร คล้ายรถเปิดท้ายขายอาหาร (foodtruck) มีดีไซน์โดดเด่น ข้างตัวรถเป็นตัวการ์ตูนเต่าน้อยติดล้อและในมือโอบอุ้มตะกร้าผักสารพัดชนิด นอกจากชื่อ รถชำเปลี่ยนโลก แล้ว ด้านข้างและด้านหลังรถยังเขียนประโยคเดียวกันว่า “กินเปลี่ยนโลกทุกวัน”

รถชำเปลี่ยนโลก
รถชำเคลื่อนที่ที่พร้อมจะออกไปเปลี่ยนโลก

ภายในรถชำฯ อัดแน่นด้วยเครื่องปรุงรสปราศจากสารเคมีจากหลากแหล่งที่มาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลอ้อยบ้านไร่ที่ใช้วิธีเคี่ยวแบบโบราณ น้ำมันงาขี้ม่อนบริสุทธิ์ผ่านการตำหรือบดเมล็ดงาในครกดินเผาและสกัดน้ำมันงาโดยใช้เครื่องหีบน้ำมันแบบโบราณ น้ำปลาที่ผ่านกระบวนการหมักแบบไร้สารเคมีเป็นเวลา 2 ปี หรือพริกกะเหรี่ยงจากไร่หมุนเวียนปลูกแบบออร์แกนิก

“ความหลากหลายพวกนี้ยังต้องการพื้นที่ในการส่งต่อ” แอน สาวเชียงใหม่วัย 45 ปีกล่าว

ในรถชำคันนี้ผู้บริโภคต้องรู้ที่มาของวัตถุดิบเสมอ

รถขายของชำที่ตั้งใจจะวิ่งบนถนนไปเคลื่อนโลก

เครื่องปรุงทุกชนิดในรถชำฯ ได้คัดสรรมาเป็นอย่างดี เพราะแอนเห็นกระบวนการผลิตมาแล้วด้วยตัวเองว่าไม่ใช้สารเคมีในการผลิตจริงจึงกล้ารับประกันนำมาส่งต่อยังผู้บริโภค เธอรวบรวมเครื่องปรุงกว่า 100 ชนิดและจดจำรายละเอียดว่าแต่ละชนิดผลิตจากที่ไหนได้อย่างแม่นยำ  เครื่องปรุงเหล่านี้ถูกนำมาบรรจงใส่บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว บางอย่างนำมาแปรรูปใหม่เอง เปลี่ยนโฉมสร้างตราสินค้าให้ดูทันสมัยน่าเข้าถึงภายใต้โลโกรูปเต่าแบรนด์ “กินเปลี่ยนโลก” พร้อมระบุส่วนผสมและแหล่งที่มาไว้ที่ฉลากอย่างชัดเจน

“เมื่อกินแล้วถ้ารู้ที่มาว่ามีแหล่งผลิตที่ไหนก็จะรู้สึกถึงคุณค่า” เธอเน้นย้ำ

โลโกเต่าแทนสัญลักษณ์ของการกินอาหารแบบสโลว์ฟู้ด (slowfood) ไม่ได้หมายถึงท่าทางเชื่องช้า หากแต่เป็นการกินอย่างตระหนักถึงที่มาของอาหารและกระบวนการผลิตที่บรรจงปรุงแต่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด

“เราอยู่บนถนนคนละฝั่งกับฟาสต์ฟู้ด (fastfood) ไม่ได้วิ่งแข่งกับเขา เหมือนเป็นคู่ขนานที่สวนทางกัน”

นอกจากเป็นคนปากดีแล้ว แอนยังมี “ปากคัดเลือก” คอยทำหน้าที่กรองสิ่งที่เหมาะสมต่อร่างกาย เธอได้รับการหล่อหลอมลิ้นให้ชินกับรสอาหารที่ใส่ใจด้วยฝีมือแม่มาตั้งแต่เด็ก ช่วง 6  ปีให้หลังนี้เธอบอกลาอาหารที่ผ่านกระบวนการสารเคมีอย่างสิ้นเชิง  แอนเคยอาเจียนออกมาไม่หยุดหลังจากได้รับอาหารปนเปื้อนสารเคมีเข้าไปเพราะร่างกายกำลังปฏิเสธสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตนเองอยู่มันรู้เลยนะว่ามันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกว่ายน้ำตอนแก่ยังได้เลย…ลิ้นฝึกตอนแก่ก็ต้องได้”

ก่อร่างสร้างขบวนการ “ปากดี”

รถชำเปลี่ยนโลก
งานแฮนด์เมดและโฮมเมดเบื้องหลังรถชำเปลี่ยนโลก

แอนอยากส่งต่อปากดีๆ ของเธอโดยเริ่มต้นจากการเป็นนักละครเพื่อการสอนเยาวชนให้เข้าใจถึงระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน บุกเข้าไปในครัวโรงเรียนเพื่อสื่อสารให้ความรู้ในแบบที่เข้าใจง่ายที่สุดผ่านการแสดงหุ่นมือ (puppet) เธอยังเคยเป็นพิธีกรรายการ เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอสในปี 2558 รายการนี้เปิดโอกาสให้เธอได้ชิมอาหารจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นทั่วประเทศไทยกับเหล่าเชฟตัวน้อยพร้อมได้เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนจากชาวบ้าน เกษตรกร ชาวประมงและเด็กๆ ในชุมชน 

รถชำเปลี่ยนโลก
เชฟน้อยและการกินเปลี่ยนโลก

สำหรับ รถชำเปลี่ยนโลก ที่เธอขับเคลื่อนมากว่า 2 ปีนั้นได้แรงบันดาลใจจากละครเร่ที่เปลี่ยนสถานที่แสดงไปเรื่อยๆ โดยมีคันเร่งเป็นการร่วมด้วยช่วยกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และชุมชนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้จะขับเคลื่อนไปได้ไกลแค่ไหนก็ต้องอาศัย พลังเครือข่ายของผู้บริโภค”

แอนซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคาที่ผู้ผลิตพึงพอใจขาย แล้วมาทำการตลาดต่อเพื่อไม่ให้เงินไปกระจุกตัวอยู่เพียงห้างสรรพสินค้าหรือพ่อค้าคนกลาง แต่กระจายรายได้ไปสู่ผู้ผลิตที่รักและใส่ใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่แอนนำเต้าเจี้ยวมาบรรจุขายบนรถชำฯ ก็เคยประสบปัญหาการเจ็บป่วยจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมีเมื่อ 30 ปีก่อน ถึงเวลาปฏิรูปรวมใจกันทำเต้าเจี้ยวออร์แกนิกที่ควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนแบบเกษตรอินทรีย์ล้วนและยังผลิตซีอิ๊วขาวได้ เวอร์จิน”สุดๆ เพราะทุกหยดจะค่อยๆ กลั่นโดยใช้ถุงผ้ากรองน้ำเต้าเจี้ยวที่ต้มแล้วหยดลงมาทีละหยดๆ ใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้ซีอิ๊วขาวบริสุทธิ์

อร่อยได้โดยการกลั่นออกมาอย่างตั้งใจ ไม่เห็นต้องใส่เคมีอะไรเลย”

เที่ยวแบบ Food Journey ตัวจริง

นอกจากรถชำฯ แล้วแอนยังริเริ่มจัดทริปเรียกว่า food ourney เพื่อให้ผู้บริโภคได้เจอกับผู้ผลิตโดยตรงและเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตแบบไร้สารเคมีจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ เธอจัดมาแล้วกว่า10 ครั้ง ส่วนมากจะเป็นเชฟทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  กลุ่มคนที่สนใจการกินอาหารแบบสโลว์ฟู้ด หรือนักวิชาการที่ทำงานวิจัย ธีมของแต่ละทริปแตกต่างไปตามความสนใจของผู้เข้าร่วม บางคนอยากรู้แหล่งที่มาของเกลือ น้ำตาล และกะปิ ในขณะที่บางกลุ่มสนใจเรื่องเครื่องปรุงของหลายชาติพันธุ์ในประเทศไทย หรือการทำประมงพื้นถิ่นในภาคใต้  ไม่ว่าจะสนใจเรื่องอะไรแอนสามารถจัดได้ตามความต้องการ เพราะเธอมีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศที่พร้อมส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์

รถชำเปลี่ยนโลก
ต่อยอดรถชำสู่โปรแกรมการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนโลก

“ทีมเชฟจากร้านส้มซ่าในลอนดอนสนใจเกี่ยวกับเครื่องลาบพื้นเมืองของภาคเหนือ เราก็พาไปดูป่ามะแขว่นที่อำเภอแม่แตงในเชียงใหม่ ล่าสุดคือเชฟหนุ่ม (เจ้าของร้านอาหารซาหมวยแอนด์ซันส์ในจังหวัดอุดรธานี) ให้จัดทริป 1 วัน เพื่อเรียนรู้เรื่องเครื่องปรุงอันเป็นอัตลักษณ์ของเผ่าอาข่าและเผ่าลาหู่ เราก็พาไปจังหวัดเชียงราย”

เธอยังเปิดเพจ รถชำเปลี่ยนโลก เพื่อกระจายผลผลิตตามฤดูกาลให้กว้างขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง ลูกค้าสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ไม่ว่าจะเป็นอะโวคาโดออร์แกนิกพันธุ์พื้นบ้านจากอ่างขาง สับปะรดออร์แกนิกพันธุ์ปัตตาเวีย หรือถั่วเหลืองออร์แกนิกพันธุ์พื้นเมืองจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ยาวในเชียงใหม่

ในการเปิดร้านแต่ละครั้งของจากเกษตรกรก็จะแน่นเต็มท้ายรถเสมอ

“เพจเฟซบุ๊กเป็นตัวกลางกระจายผลผลิตในลอตที่ใหญ่ขึ้นและเป็นช่องทางสำหรับแนะนำการแปรรูปหรือการเก็บ การเลือกวัตถุดิบอย่างไร  อย่างถ้าบ๊วยออกผลผลิตมากทำให้ราคาต่ำ เราก็แนะนำวิธีการเก็บบ๊วย แปรรูปเป็นบ๊วยหวาน ทำให้ช่วยกระจายบ๊วยไปยังลูกค้าได้หลายตัน  ปีนี้อะโวคาโดออกเยอะ ถึงแม้ราคาไม่ตก แต่เราก็ต้องช่วยเกษตรกรกระจายผลผลิตให้เร็วขึ้น เพราะอะโวคาโดสุกเร็ว คนส่วนใหญ่ยังกินไม่เป็น ร้านอาหารหลายร้านอยากเอามาใช้ แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกยังไง หรือซื้อมาแล้วต้องเก็บในตู้เย็นมั้ย”

สำหรับลูกค้ารายใหญ่เช่นโรงแรม หรือบริษัทที่อยากได้สินค้าปริมาณมาก แอนจะส่งต่อให้ติดต่อกับผู้ผลิตโดยตรงเอง

รถชำเปลี่ยนโลกของเธอทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์หวังจะเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้คนหันมากินดีเพื่อสุขภาพ ใส่ใจถึงแหล่งที่มารับรู้ถึงความหลากหลายและตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหาร

มากกว่าแค่คำว่าพอเพียงคือต้องทำให้ยั่งยืน เราอยากให้เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่ได้จริง” แอนกล่าวอย่างมุ่งมั่น

ต้นเรื่อง : เรียบเรียงจากนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 405 เดือนพฤศจิกายน 2561

FACT FILE

  • พบกับ “รถชำเปลี่ยนโลก” ได้ทุกวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์ ถนนริมคลองชลประทาน จังหวัดเชียงใหม่ 
  • Facebook: Shum4change