เปลี่ยนอาคารโบราณ โรงภาษีร้อยชักสาม เป็นโรงแรมหรู Custom House Hotel
Brand Story

เปลี่ยนอาคารโบราณ โรงภาษีร้อยชักสาม เป็นโรงแรมหรู Custom House Hotel

Focus
  • บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และ บริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ รีสอร์ทส์ ลิมิเต็ด ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน เป็นโรงแรม 5 ดาว
  • Custom House Hotel มีมูลค่าการลงทุน 1,040.57 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568

โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ ศุลกสถาน ชื่อนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของชาวกรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อต้นปี  2563 กับการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ Bangkok Design Week 2020 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อาคารโบราณหลังนี้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม ก่อนที่จะปิดตัวพร้อมประกาศจากบริษัทด้านการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าใหญ่ บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน ที่เตรียมแผนพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน ซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานจำนวน 3 หลัง ให้กลับมามีชีวิตในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง ในรูปแบบของโรงแรมหรูจำนวน 80 ห้องพัก ในชื่อ Custom House Hotel โดยมีมูลค่าการลงทุน 1,040.57 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568

ศุลกสถาน
อาคารหลักที่ใช้เป็นที่จัดแสดงงาน Bangkok Design Week 2020

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย อรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร เจษฎา ชีวะวิชวาลกุล ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม และคณะทำงานผู้เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้ง โรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน ซึ่งทางกรมศิลปากรได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์ โดยกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และ บริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ รีสอร์ทส์ ลิมิเต็ด ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุ แปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน ตามที่ได้มีการเสนอรูปแบบรายการ เพื่อพัฒนากลุ่มอาคารศุลกสถานดังกล่าว ให้เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม Custom House Hotel ภายใต้คอนเซ็ปต์การออกแบบที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคารให้คงอยู่กับพื้นที่

ตัวอาคารโบราณสถานได้รับการยกให้สูงขึ้น
ศุลกสถาน

และด้วยสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เปลี่ยนไปในรอบร้อยกว่าปี ทำให้กลุ่มอาคารศุลกสถานซึ่งตั้งขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับต่ำ และต้องรับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่โดยรอบ ในเบื้องต้นกรมศิลปากรได้อนุญาตให้ กรมธนารักษ์โดยกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการด้านโบราณคดี เพื่อให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบในการออกแบบบูรณะกลุ่มอาคารโบราณสถาน พร้อมทั้งทำการเสริมความมั่นคง และยกระดับความสูงของอาคารทั้งสามหลังขึ้น ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามสภาพและข้อจำกัดของแต่ละอาคาร

ศุลกสถาน
ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า
โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้ง โรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณกลุ่มอาคารศุลกสถาน
โรงภาษีร้อยชักสาม

สำหรับ โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ อาคารศุลกสถานหลังนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ด้านประวัตินั้นกลุ่มอาคารนี้เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2427 เริ่มจากอาคารไปรษณียาคาร และอาคารภาษีขาเข้า-ขาออก ต่อมาเมื่อกิจการภาษีเจริญขึ้นจึงได้มีการกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลูกสร้างอาคาร ศุลกสถาน หรือ Customs House  โดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2429 มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2433 และเปิดทำการทำการเรื่อยมาจน พ.ศ. 2492 นับเป็นเวลากว่า 60 ปี กระทั่งมีการเปิดท่าเรือทันสมัยแบบสากลที่ท่าเรือคลองเตย กรมศุลกากรจึงย้ายที่ทำการไปอยู่ที่คลองเตยจนถึงปัจจุบัน

โรงภาษีร้อยชักสาม
ทางเข้าไปสู่ศุลกสถานถูกเรียกว่า ตรอกโรงภาษี

ศุลกสถานเป็นโบราณสถานสำคัญ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการคลังของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเหตุที่ชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า โรงภาษีร้อยชักสาม ก็มาจากอัตราจัดเก็บภาษีขาเข้าสมัยนั้นที่คิดเป็น ร้อยละสาม หรือก็คือ หนึ่งร้อยชักสาม นั่นเอง 

นอกจากจะเป็นอาคารที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแล้ว ในด้านสถาปัตยกรรมที่นี่ยังเป็นผลงานชิ้นเอกของ โยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกและผู้รับเหมาชาวต่างชาติซึ่งทำงานให้กับราชสำนักสยาม เขาผู้นี้อยู่เบื้องหลังงานก่อสร้างแบบตะวันตกมากที่สุดในบรรดาสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามาทำงานในยุคเดียวกันนั่นคือช่วงรัชกาลที่ 5

โยอาคิม แกรซี รับงานออกแบบในนามของบริษัทกราซีบราเธอร์แอนด์โก ไม่ว่าจะเป็น ศาลสถิตย์ยุติธรรม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สยามมีศาลสมัยใหม่ การสร้างโรงทหารหน้าแห่งแรก งานออกแบบโบสถ์วัดนิเวศธรรมประวัติให้มีรูปทรงคล้ายโบสถ์คริสต์ และมาสเตอร์พีซคือ ศุลกสถาน โรงภาษีแบบใหม่ที่จัดเก็บภาษีขาเข้า ขาออก ได้ในที่เดียว มีทั้งที่จอดเรือ มีรถรางขนาดเบาขนสินค้าและบรรทุกน้ำจากเจ้าพระยาไปยังเรือนพักของพนักงาน ที่สำคัญเป็นการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งาน ช่วยแก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีไม่ทั่วถึงที่สยามเคยประสบอีกด้วย

โรงภาษีร้อยชักสาม
อาคารประกอบด้านข้าง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเช่นกัน

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง สถาปัตยกรรมของโยอาคิม แกรซีในสยาม โดย พิริยา พิทยาวัฒนชัย ได้รวบรวมข้อมูลไว้ว่า หนังสือ Bangkok Times Guide Book ตีพิมพ์ ค.ศ. 1890 ได้ปรากฏบันทึกถึงอาคารศุลกสถานที่ทำให้คนยุคหลังได้เห็นถึงรายละเอียดการใช้งานอาคารหลังนี้ไว้ว่า

โรงภาษีร้อยชักสาม
ความสมบูรณ์ของตัวอาคาร (บันทึกก่อนปิดบูรณะ)

“เป็นสถานที่งดงามแห่งหนึ่งในบรรดาสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ ภายในระยะ 10 ปีที่ล่วงมานี้ และตั้งอยู่ริมแม่น้ำในที่สง่าผ่าเผย เนื้อที่ซึ่งใช้เป็นท่าเรือ โกดังสินค้า ตัวตึกที่ทำการ และที่อยู่พนักงานที่เกี่ยวข้องกับศุลกสถานโดยตรง มีขนาดกว่า 10 เอเคอร์ (3-4 ไร่) ท่าเรือมีความสะดวกสำหรับขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง แม้เรือกลไฟขนาดใหญ่กินน้ำ ก็สามารถเข้าเทียบขนส่งสินค้าได้ มีโรงพักสินค้า และที่พักพนักงาน ตัวตึกใหญ่นั้นรูปทรงงดงามมี 3 ชั้น”

นอกจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ความสวยงามทางสถาปัตยกรรมคลาสสิคแบบพัลลาเดียน (Palladian) แล้ว อีกความทรงจำของอาคารศุลกสถานอยู่บนชั้น 3 กับความรื่นรมย์ของฉากงานเต้นรำของชาวต่างชาติ ที่ไม่เคยร้างราจากอาคารหลังนี้ และในอีก 4 ปีข้างหน้า ความมีชีวิตชีวาเหล่านั้นกำลังจะกลับมาพร้อมแลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นมากกว่าโรงแรม

อ้างอิง

  • วิทยานิพนธ์เรื่อง สถาปัตยกรรมของโยอาคิม แกรซีในสยาม โดย พิริยา พิทยาวัฒนชัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ภาพบางส่วน : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

Fact File

  • โรงภาษีร้อยชักสาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ
  • หลังจากที่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาบาวริงกับรัฐบาลอังกฤษ ก็ส่งผลให้ประตูการค้าระหว่างไทยและประเทศในซีกโลกตะวันตกถูกเปิดอย่างเป็นทางการและเป็นการค้าสมัยใหม่ที่มีระบบระเบียบ เช่นในเรื่องภาษี ไทยจำเป็นต้องตั้งโรงภาษี หรือ ศุลกสถาน (Customs House) ขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าและขาออก

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"