
Pastel สำนักพิมพ์หลากเฉดสี ที่อยากเห็นความหลากหลายในนวนิยายไทย
- สำนักพิมพ์ Pastel เป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ภายใต้เครือ บันลือกรุ๊ป โฟกัสไปที่นวนิยายไทยที่มีมุมมองการเดินเรื่องที่แตกต่างคือ ต้องเดินให้สุดในทางที่นักเขียนจะมุ่งไป
- Pastel เปิดตัวพร้อมนวนิยาย 2 เล่มแรกคือ เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ และชีวิตดีขึ้นง่ายๆ แค่รักเธอครั้งเดียว โดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร สองนักเขียนเบอร์ท็อปของวงการวรรณกรรมไทย
ในยุคที่ใครๆ ก็ว่า Digital Disruption สื่อสิ่งพิมพ์กำลังถูกท้าทายด้วยโลกโซเชียลและดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ยุครุ่งเรืองของสำนักพิมพ์อีกต่อไป แต่ในความริบหรี่ก็ยังมีสีพาสเทลวิบวับออกมา ใช่แล้ว…เรากำลังพูดถึงสำนักพิมพ์น้องใหม่ Pastel ภายใต้เครือบันลือกรุ๊ป ซึ่งได้เปิดตัวสำนักพิมพ์ด้วยหนังสือเฉดสีสดใสจาก 2 นักเขียนเบอร์ต้นของไทย เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ และ ชีวิตดีขึ้นง่ายๆ แค่รักเธอครั้งเดียวโดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร และเพียง 2 เล่มเดบิวต์ก็เพียงพอที่จะทำให้สปอตไลต์ในวงการวรรณกรรมไทยฉายลงมาที่สีPastel

Sarakadee Lite ชวน อาทิตย์ ธรรมชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์Pastel มาถามตอบถึงที่มาของการผสมสีพาสเทลพร้อมการละเลงสีที่ถาโถมด้วยอารมณ์ของ Digital Disruptionในยุคสมัยนี้

ทำไมต้องเป็นสี Pastel
Pastel เป็นสำนักพิมพ์เปิดใหม่ภายในเครือ บันลือกรุ๊ป ซึ่งภายใต้เครือบันลือกรุ๊ปเองก็มีสำนักพิมพ์ BANLUE BOOKS ที่ตีพิมพ์หนังสือหลากหลายแนว ตั้งแต่ผลงานสนุกๆ ของนักเขียนขายหัวเราะไปจนถึงเล่มล่าสุดอย่าง Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร (ของ พริษฐ์ วัชรสินธุ) ที่เป็นงานความรู้การเมือง นอกจากนั้นก็มี BUNBOOKS เป็นเชิงท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ SALMON BOOKS สำนักพิมพ์งานเขียนฮิปๆ เจาะกลุ่มวัยรุ่นมีทั้งเรื่องสั้น ความรู้ทั่วไป จนถึงหนังสือรวมภาพถ่าย และ Make a Wit เป็นอีกหนึ่งสำนักพิมพ์ที่เปิดใหม่ในเครือบันลือกรุ๊ป เน้นไปที่หนังสือเด็ก และล่าสุดคือ Pastelเน้นงานวรรณกรรมจริงจัง เริ่มต้นจากการที่ผมคุยกับ คุณนก-โชติกา อุตสาหจิต หนึ่งในกรรมการผู้จัดการในเครือบันลือกรุ๊ป ซึ่งชอบอ่านหนังสือประเภทนวนิยายเหมือนกันและมีรสนิยมที่ใกล้เคียงกัน จึงตัดสินใจมาเปิดเป็นสำนักพิมพ์Pastel ที่ต่างจากสำนักพิมพ์อื่นในเครือจากการที่จะมุ่งเน้นตีพิมพ์งานนวนิยายเข้มข้น
ส่วนชื่อ ผมมองว่าสีPastel เป็นโทนของสีที่อยู่ในฐานะสีที่สามารถจะเป็นสีโทนร้อนหรือสีโทนเย็นก็ได้ พาสเทลมีระยะของสีที่กว้างสามารถเข้มขึ้นหรืออ่อนลงเพียงเติมสีต่างๆ เข้าไปก็สามารถไต่ไปได้ในหลายความรู้สึกหลายอารมณ์ เปรียบได้กับแนวทางของสำนักพิมพ์ที่อยากได้ความเข้มข้นทางเนื้อหาและความกลมกล่อมเชิงวรรณกรรมที่หลากหลายแนวทาง เราจึงเปิดรับต้นฉบับไม่จำกัดแนวเรื่อง

นิยามของนวนิยายในแบบฉบับ Pastel
หากจินตนาการว่า Pastelเป็นคนคนหนึ่งเขาจะเป็นคนที่เปิดกว้างน่าคบหา เป็นคนที่อยากเข้าไปคุยด้วยมีความเข้มข้นในมิติความคิดและมุมมอง อารมณ์ถึงใจถ้าจะให้เล่าเรื่องโรแมนติกก็ต้องจับใจ ถ้าจะต้องเศร้าก็ต้องเศร้าแบบน้ำตาซึม ไปให้สุดในแต่ละทาง ไม่กั๊กไว้กลางทาง อ่านจบแล้วต้องจุกอกและนอกเหนือจากด้านอารมณ์Pastel ยังคงต้องการนวนิยายที่มีมิติของเนื้อหาสาระด้านต่างๆ ที่จะมาผสมกับอารมณ์เข้มข้นจนเป็นงานที่กลมกล่อม อ่านจบแล้วจะอยากส่งต่อให้เพื่อนได้อ่าน เกิดการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กัน
ส่วนตัวผมชอบนวนิยายที่มีความหลากหลายผมคิดถึงยุคสมัยที่วรรณกรรมไทยมีความหลากหลายของแนวการเขียนยุคที่มีงานนวนิยายอย่าง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของ วินทร์ เลียววาริณ ความน่าจะเป็น ของ ปราบดา หยุ่น ความสุขของกะทิ ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ลับแลแก่งคอย ของ อุทิศ เหมะมูล ในยุคนั้นหนังสือเหล่านี้โด่งดังจนคนพูดถึงกันทั่วไปโดยที่แต่ละเล่มมีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนแสดงถึงตลาดวรรณกรรมที่กว้างหลากหลายและผมคิดถึงการที่เวลาเราอ่านอะไรแล้วอยากคุยกับวงเพื่อนที่อ่านเล่มเดียวกันเกิดการพูดคุยแสดงความคิดเห็นว่าชอบไม่ชอบตรงไหน

ทำไมถึงเลือก “เมื่อฟ้ารอพบจันทร์” และ “ชีวิตดีขึ้นง่ายๆ แค่รักเธอครั้งเดียว” เป็นนวนิยายเดบิวต์สำนักพิมพ์
เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ เป็นงานของงามพรรณ เวชชาชีวะส่วน ชีวิตดีขึ้นง่ายๆ แค่รักเธอครั้งเดียว เป็นงานของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร ส่วนตัวผมรู้จักกับทั้งสองอย่างดี อย่างงามพรรณเราก็ไม่ได้เห็นนวนิยายเรื่องใหม่มานาน ในส่วนของนักอ่านเองหลายคนก็คุ้นเคยกับฝีไม้ลายมือของทั้งสองเป็นอย่างดีเมื่อเปิดสำนักพิมพ์ผมก็มองว่าทั้งสองสามารถทำนวนิยายที่จะมาเป็นภาพแทนสำนักพิมพ์ของเราได้โดยตอนคุยกันเราบอกโจทย์ของคอนเซ็ปต์นวนิยายเพียงคำเดียวสั้นๆ ว่า “Pastel” ทั้งสองก็สามารถตีความสร้างสรรค์นวนิยายที่มีกลิ่นอายของความเป็นPastel ออกมาได้ เป็นนวนิยายที่สุดในแนวทางของทั้งสองคน ถือเป็นการทำงานต้นฉบับสำหรับการเปิดตัวที่ราบรื่นมาก

Digital Disruption มีผลกับการทำสำนักพิมพ์ไหม
มองว่าดิจิทัลเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำสำนักพิมพ์มากกว่า จากการที่เราสามารถมองเห็นฟีดแบ็กของผู้อ่านได้ มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติไว้เป็นฐานการวิเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่น การทำความรู้จักคนอ่านและนำมาพัฒนาทิศทางของสำนักพิมพ์ในเชิงการตลาด อย่างทำ Facebook Live หรือเก็บข้อมูลเพื่อมาโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าในเชิงการแข่งขัน ดิจิทัลมีผลต่อสื่อสิ่งพิมพ์ชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ เกมในโทรศัพท์มือถือ นิยายแชตหรือสื่อในออนไลน์ต่างๆ มีผลเชิงพฤติกรรมการรับสื่อของผู้คนด้วย เวลาของแต่ละคนยังคงเท่าเดิมแต่กิจกรรมบันเทิงต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลมีเพิ่มเข้ามา ทำให้ผู้คนต้องคัดเลือกสื่อที่จะใช้เวลาด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมเองมองว่า ในที่สุดแล้ว เนื้อหา หรือคอนเทนต์ สำคัญกว่ารูปแบบของสื่อ อย่างการที่เรานั่งดูซีรีส์ทั้งวัน ดูติดต่อกันหลายชั่วโมง นั่นเพราะเรา “ติด” ติดซีรีส์ที่เนื้อเรื่อง ตามติดเนื้อหาที่ชวนให้ติดตาม นี่คือพลังของเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่แข็งแรงพอ หรืออย่างนิยายแชตที่กำลังมีกระแส โดยส่วนตัวคิดว่าคนอ่านติดความสนุกของเนื้อหาด้วยไม่ใช่สนใจในรูปแบบสนทนาแชตอย่างเดียว ดังนั้นผมเชื่อว่า พลังทางเนื้อหายังคงสำคัญที่สุด
สำหรับเรื่องนี้ เรามองว่าจะไม่แข่งขันกับความรวดเร็วของสื่อออนไลน์ที่ฉับพลันรวดเร็ว เพราะอย่างไรหนังสือก็ไม่สามารถแข่งความเร็วได้ แต่ยึดถือการผลิตเนื้อหาที่จะสร้างความประทับใจ ติดอยู่ในใจ ชวนให้คิดถึงประเด็นต่างๆ อย่างมีมิติและก้าวข้ามเวลาโดยไม่ได้ทำตามกระแส เราเชื่อว่าถ้าเราผลิตเนื้อหาที่ดีในแนวทางของเราออกมาและหากมีผู้อ่านที่กำลังตามหาเนื้อหาแบบเดียวกันเมื่อทั้งผู้เขียนและผู้อ่านที่มีแนวทางเดียวกันมาเจอกันเราก็จะก้าวไปพร้อมกันได้ สำนักพิมพ์เราก็จะอยู่ได้เช่นกัน

คิดอย่างไรกับวงการ วรรณกรรมไทย ในปัจจุบัน
รู้สึกว่ากระแสมันมาไวไปไวมาก เวลาที่เกิดกระแสหลักขึ้นมา ทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์ก็พร้อมจะกระโดดลงไปเล่า เล่นกับกระแสนั้นจนทำให้งานกระแสหลักมันล้น และทำให้ตลาดวายเร็วมาก ผมคิดว่างานหนังสือไม่ควรอายุสั้น หนังสือควรเป็นงานที่ไร้กาลเวลาต้องไปไกลกว่าข้อจำกัดของกระแสที่มาไวไปไวให้ได้ หนังสือที่ผมอยากเห็นต้องก้าวข้ามเวลามากกว่าถูกเวลาพัดไป
อีกอย่างจากการที่กระแสรวดเร็วและแตกแยกย่อยทางรสนิยม จะทำให้สำนักพิมพ์ที่มีโครงสร้างใหญ่ปรับตัวยากขึ้นด้วยทั้งโครงสร้างเดิมที่ใหญ่และค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ของขั้นตอนการผลิต ทุกวันนี้จึงเกิดสำนักพิมพ์เล็กแตกกระจายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับรสนิยมที่หลากหลาย สังเกตว่าทุกวันนี้นวนิยายที่จะเรียกตัวเองว่ากระแสหลักแล้วถูกอ่านในวงกว้างจริงๆ หายากขึ้นมาก ตอนนี้ตลาดที่หลากหลายเลยท้าทายกับการทำสำนักพิมพ์ที่จำเป็นต้องปรับตัวหากระแสของตน ต้องหากระแส หาตลาดของตัวเองให้เจอ

จากสองเล่มเดบิวต์ Pastel เจอกลุ่มคนอ่านของตัวเองหรือยัง
ตอบตรงๆ ว่ายัง จากการออกงานหนังสือที่ผ่านมาอาจยังไม่ชัดเท่าไร แต่พอคาดการณ์แนวโน้มว่าคนอ่านPastel หลักๆ จะเป็นวัยรุ่นจนถึงวัยเข้าสู่การทำงาน เป็น First Jobber เรื่องนี้สำคัญมากเราต้องการเจอคนอ่านที่มีรสนิยมตรงกันและในเชิงธุรกิจสำนักพิมพ์จำเป็นต้องมีกลุ่มนักอ่านขาประจำของตัวเองก่อนจึงจะค่อยๆ ขยายความนิยมจากกลุ่มขาประจำไปเป็นกระแสหลัก ตอนนี้เราหวังเพียงเจอกลุ่มผู้อ่านขาประจำก่อน แต่ถ้าหากโตได้จนเป็นกระแสหลักเราถือว่าเป็นโบนัส

อยากให้ฝากถึงนักเขียนที่สนใจจะเข้ามาช่วยผสมสี Pastel
หลังจากที่โพสต์เปิดรับต้นฉบับไป ปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะมาก มากกว่าโพสต์ขายหนังสืออีก ตอนนี้เรากำลังมองหาต้นฉบับอย่างเปิดกว้างหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนที่เคยมีผลงานมาแล้วหรือนักเขียนหน้าใหม่เอี่ยมเราไม่สนใจว่าเก่าหรือใหม่ สิ่งที่สนใจคือต้นฉบับที่มีเนื้อหาสาระเข้มข้นพร้อมไปในแนวทางเดียวกับเราหรือไม่ การส่งงานมาให้พิจารณาจึงควรเคารพในแนวทางของสำนักพิมพ์ด้วย ซึ่งสามารถศึกษาสไตล์สำนักพิมพ์ได้จากหนังสือทั้งสองเล่มที่ตีพิมพ์
อีกส่วนที่ขอฝากคือนอกจากการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพแล้วทางสำนักพิมพ์อยากให้ช่วยคำนึงถึงการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์มองว่าเป็นการทำงานร่วมกันไม่ใช่เพียงส่งงานมาแล้วทางเราพิมพ์ขาย…จบสำนักพิมพ์ไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร การผลิตหนังสือมีกลไกมากกว่านั้นเช่นขั้นตอนบรรณาธิการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การตลาด ซึ่งนักเขียนควรคำนึงถึงการทำงานร่วมกันตรงนี้ด้วยเพราะในการผลิตหนังสือสำนักพิมพ์คือผู้รับความเสี่ยงในการที่จะทำให้ผลงานของนักเขียน รวมทั้งสำนักพิมพ์เองเดินทางไปพร้อมผู้อ่านได้ราบรื่น
มองอนาคตของสี Pastel นี้อย่างไร
Pastelจะผลิตงานวรรณกรรมที่หลากหลาย โดยในอนาคตเราอาจไม่ได้พิมพ์เพียงนวนิยายไทยแต่ยังมองไปถึงการทำหนังสือแปลอีกด้วย แต่ถ้าหมายถึงอนาคตอันใกล้เราหวังว่าจะพบคนอ่านที่พร้อมเป็นแฟนสำนักพิมพ์เรา พบคนที่มีรสนิยมไปในแนวทางเดียวกันเพราะเราเชื่ออยู่เสมอว่าสำนักพิมพ์และหนังสือสักเล่มจะอยู่ได้ก็ด้วยการมีคนเปิดอ่าน

Fact File
- สามารถติดตามข่าวสารของสำนักพิมพ์และสั่งซื้อหนังสือได้ที่
www.facebook.com/thepastelhouses
