5 เบื้องหลังงานดีไชน์ เหรียญแห่งชัยชนะ Paris 2024 จากเหล็กหอไอเฟล สู่รูปทรงหกเหลี่ยมของฝรั่งเศส
- หอไอเฟล เป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับการออกแบบเหรียญรางวัลสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024
- ชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลที่ถูกเก็บรักษาไว้เมื่อครั้งมีการบูรณะได้นำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญประดับอยู่ตรงกลางด้านหลังของเหรียญรางวัลทั้งสำหรับกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก
- โชเมต์ (Chaumet) แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงของฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลที่ใช้เทคนิคแบบเดียวกับจิวเวลรี่หรู
เหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความสามารถและความสำเร็จของนักกีฬาแล้ว การออกแบบ เหรียญโอลิมปิก สำหรับเจ้าภาพจัดการแข่งขันในแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในการใส่รายละเอียดทั้งรูปแบบของเหรียญ วัสดุที่ใช้ และขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่ง “งานดีไซน์แห่งชัยชนะ” ที่น่าจดจำทั้งสำหรับนักกีฬาและผู้ชมทั่วโลก
หากยังจำกันได้ในการแข่งขัน Olympic Games Tokyo 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การออกแบบเหรียญรางวัลในครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เพราะเป็น “เหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่รวบรวมจากชุมชนต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นกว่า 79,000 ตันและนำมารีไซเคิลจนได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลกว่า 5,000 เหรียญ
สำหรับ โอลิมปิก ปารีส 2024 หรือ Paris 2024 ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 26 กรกฎาคม-11สิงหาคม 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เหรียญรางวัลในครั้งนี้ย่อมเป็นที่จับตามองในฐานะที่ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านดีไซน์และแฟชั่นของโลก ในครั้งนี้ผู้ออกแบบเหรียญรางวัลคือ โชเมต์ (Chaumet) แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงที่มีชื่อเสียงมายาวนานของฝรั่งเศส ปัจจุบันอยู่ในเครือ LVMH Group โดยความพิเศษสุดในการออกแบบเหรียญรางวัลคือการใช้เศษชิ้นส่วนเหล็กของ หอไอเฟล มาเป็นองค์ประกอบหลักผสานกับการสร้างสรรค์อย่างประณีตของช่างฝีมือจิวเวลรี่
Sarakadee Lite พาไปถอดรหัสห้าเรื่องเบื้องหลังงานดีไซน์เหรียญรางวัล Paris 2024 ที่สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นการก่อกำเนิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ความทันสมัยในปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ ตัวตนของฝรั่งเศส
01 จากเหล็กพิเศษของ “หอไอเฟล” สู่เหรียญรางวัล Paris 2024
หอไอเฟล มีฉายาว่า La dame de fer หรือ สตรีเหล็ก เพราะเป็นหอคอยที่สร้างจากเหล็ก ออกแบบโดยวิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ ไอเฟล (Gustave Eiffel) สำหรับเป็นซุ้มทางเข้างานมหกรรมนานาชาติ (Exposition Universelle) ในปี ค.ศ. 1889 ณ กรุงปารีส และกลายมาเป็นแลนด์มาร์กของประเทศฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
เหล็กที่ใช้ในการสร้างเป็นเหล็กดัดชนิดพิเศษที่เรียกว่า “puddle iron” ซึ่งในกระบวนการหล่อนั้นมีการกำจัดคาร์บอนส่วนเกินออกจนได้เหล็กบริสุทธิ์และมีความแข็งแกร่งคงทน เหล็กชนิดนี้ผลิตในโรงหลอมและเตาถลุงเหล็กที่เมืองปอมเปย์ในแคว้นลอแรนของฝรั่งเศส
จากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โครงสร้างของหอไอเฟลได้มีการบูรณะปรับปรุงครั้งใหญ่ทำให้มีชิ้นส่วนเหล็กบางส่วนถูกถอดออกและถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และทาง Societe d’Exploitation de la Tour Eiffel (SETE) ซึ่งเป็นผู้ดูแลหอไอเฟลได้อนุญาตให้นำชิ้นส่วนเหล็กเหล่านั้นมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ประดับอยู่ ตรงกลาง ด้านหลังเหรียญรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 5,084 เหรียญ ทั้งสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 เพื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์สำคัญของปารีสและเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้กับชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์
“หอไอเฟลเปรียบเสมือนลูกสาวของปารีสและเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับการจัดงานสำคัญๆ ระดับโลก ดังนั้นเหรียญรางวัลที่มีชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลจะเป็นของที่ระลึกที่น่าจดจำสำหรับเหล่านักกีฬา เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นการแสดงความเคารพแด่ ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง (Pierre de Coubertin: ผู้ก่อตั้งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล) ในฐานะบุคคลร่วมสมัยกับ กุสตาฟว์ ไอเฟล และเป็นหนึ่งในคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้เยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างของหอไอเฟลก่อนมีการเปิด” ฌ็อง-ฟร็องซัว มาร์แต็งส์ (Jean-François Martins) ประธาน ของ SETE กล่าว
02 จาก อะโครโพลิสแห่งเอเธนส์ 1896 ถึงหอไอเฟลแห่งปารีส 2024
เนื่องจากประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกมีความแตกต่างกัน ด้านหน้าของเหรียญรางวัลของการแข่งขันทั้งสองประเภทจึงได้รับการออกแบบให้ต่างกันด้วย สำหรับเหรียญของโอลิมปิกนั้น ด้านหน้าเป็น รูปเทพีไนกี้ (Nike) เทพีแห่งชัยชนะตามตำนานเทพปกรณัมโรมัน ฉากหลังของเทพีเป็นป้อมปราการ อะโครโพลิสแห่งเอเธนส์ (Acropolis of Athens) และ สนามกีฬาพานาธิเนอิก (Panathenaic Stadium) ซึ่งเป็นสนามกีฬารูปตัว U และเป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ อีกทั้งยังเป็นสนามกีฬาหลักของการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ใน ค.ศ.1896 นอกจากนี้ทางด้านขวาของฉากหลังยังมี หอไอเฟล เพื่อเชื่อมประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยใหม่ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน
ส่วนเหรียญของพาราลิมปิกนั้น ด้านหน้าของเหรียญได้แรงบันดาลใจมาจาก มุมมองข้างใต้หอไอเฟล อีกทั้งบนเหรียญยังมีคำว่า “Paris” และ “2024” เป็นอักษรเบรลล์สากลสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นและยังเป็นการรำลึกถึง หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ชาวฝรั่งเศสผู้ประดิษฐ์อักษรเบรลล์ นอกจากนี้ตรงขอบของเหรียญยังปั๊มนูนด้วยสัญลักษณ์คือ ‘I’ สำหรับเหรียญทอง ‘II’ สำหรับเหรียญเงิน และ ‘III’ สำหรับเหรียญทองแดง
03 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กับการออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกโดยช่างจิวเวลรี่
“นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ช่างจิวเวลรี่ได้ออกแบบเหรียญรางวัล ทีมครีเอทิฟของ Maison Chaumet ร่วมกันสร้างสรรค์เหรียญรางวัลแต่ละเหรียญดั่งจิวเวลรี่เลอค่าและหวังว่านักกีฬาจะชื่นชมและยินดีเหมือนดั่งที่พวกเราภาคภูมิใจ” อ็องตวน อาร์โนลต์ (Antoine Arnault) ผู้บริหารฝ่าย Image & Environment ของ LVMH กล่าว
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และมรดกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส คณะกรรมการจัดงาน Paris 2024 จึงมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจิวเวลรี่และเครื่องประดับชั้นสูงของแบรนด์ Chaumet เป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลของโอลิมปิกและพาราลิมปิกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง Chaumet เป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1780 และปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ LVMH Group โดยมีชื่อเสียงมายาวนานในการออกแบบเครื่องประดับชั้นสูงและมีเวิร์กช็อปอยู่ที่ ปลาส ว็องโดม (Place Vendôme) เหรียญรางวัลจึงเปรียบเสมือนเครื่องประดับหรูหราและได้รับการออกแบบภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ “รูปทรงหกเหลี่ยม” “เปล่งประกาย” และ “การประดับด้วยเทคนิคจิวเวลรี่”
04 หกเหลี่ยม เปล่งประกาย หรูหรา ดั่งเครื่องประดับชั้นสูง
หกเหลี่ยม คืออีกองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบเหรียญโอลิมปิก อย่างแรกคือการใช้เหล็กดั้งเดิมของหอไอเฟลมาตัดเป็น รูปทรงหกเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิตตามลักษณะรูปทรงของประเทศ ซึ่งฝรั่งเศสนอกจากจะได้รับฉายาว่า นครแห่งแสงไฟ (La Ville-lumière) แล้วก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ หกเหลี่ยม (L’Hexagone) นอกจากนี้บนเหล็กแต่ละชิ้นขนาด 18 กรัมในสีดั้งเดิมยังมีสัญลักษณ์โอลิมปิก Paris 2024 ปรากฏด้วย
รอบเหล็กไอเฟลทรงหกเหลี่ยมยังออกแบบให้มีลายเส้นที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบและไม่ได้ถูกแกะลงบนพื้นผิวของเหรียญ แต่นำมาประดับให้มีลักษณะเป็นสามมิติและรัศมีเปล่งประกายเพื่อสื่อถึงความสามารถของนักกีฬาที่ส่องแสงสู่สายตาของคนทั้งโลก
สำหรับชิ้นส่วนเหล็กไอเฟลทรงหกเหลี่ยมนำมาประกอบลงตรงกลางด้านหลังของเหรียญรางวัลด้วยเทคนิค claw setting ซึ่งนิยมใช้ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูง ทั้ง 6 มุมของเหล็กหอไอเฟลยึดติดด้วยกรงเล็บ (claw) ในลวดลายที่เรียกว่า คลู เดอ ปาครี (Clous de Paris) มีลักษณะเหมือนพีระมิดปลายแหลมและมี 3 สี คือ ทอง เงิน และทองแดง ตามชนิดของเหรียญรางวัล
คลู เดอ ปารี เป็นหนึ่งในลายแบบกิโยเช่ (Guilloche) ที่ต้องใช้ทักษะและความละเอียดขั้นสูงในการผลิตและเป็นลวดลายที่นิยมใช้สำหรับการออกแบบหน้าปัดหรือขอบเรือนของนาฬิกาแบรนด์หรูเพื่อความหรูหรา สวยงาม และลดความลื่นมือขณะหยิบเพื่อดูเวลา นอกจากนี้กรงเล็บในรูปแบบของลาย คลู เดอ ปาครี ยังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงหมุดที่ใช้ยึดเหล็กของหอไอเฟลอีกด้วย
05 โอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ : ความเหมือนและแตกต่าง
การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 จะถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันและใช้สนามแข่งขันเดียวกันซึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งที่เป็นไอโคนิกของปารีสได้ปรับเปลี่ยนเป็นสนามกีฬาเฉพาะกิจ เช่น พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) จัตุรัสปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) และ ช็อง เดอ มาร์ส (Champ de Mars) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟล
ทั้งนี้ด้านหลังของเหรียญรางวัลของทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกยังออกแบบเหมือนกันคือประดับด้วยชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟล ส่วนลวดลายของสายห้อยเหรียญรางวัลของโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงเหล็กดัดของหอไอเฟล แต่สีของสายมีความแตกต่างกัน คือ สีฟ้าเข้ม สำหรับโอลิมปิก และ สีแดงเข้ม สำหรับพาราลิมปิกซึ่งชวนให้นึกถึงสองเฉดสีแรกที่ใช้ทาหอไอเฟลคือสี Venice red และ red brown
เครดิตภาพ: ©Paris 2024
อ้างอิง: www.paris2024.org/en/