OMEGA ยืนหนึ่งผู้บันทึกเวลาประวัติศาสตร์โอลิมปิก ยาวนานร่วมศตวรรษ
Brand Story

OMEGA ยืนหนึ่งผู้บันทึกเวลาประวัติศาสตร์โอลิมปิก ยาวนานร่วมศตวรรษ

Focus
  • OMEGA เป็นบริษัทผลิตนาฬิกาสวิสเพียงรายเดียวที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการตั้งแต่โอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส ค.ศ. 1932 จนมาถึงปัจจุบันในโอลิมปิก Paris 2024 รวมระยะเวลา 92 ปี
  • ก่อนมหกรรมโอลิมปิก ค.ศ. 1932 กรรมการโอลิมปิกจะใช้นาฬิกาจับเวลาแบบพกพาของตนเอง โดยมีที่มาจากหลากหลายบริษัท ซึ่งนี่หมายความว่าระดับความเที่ยงตรงของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน

ถ้าให้นึกถึงจุดเด่นของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสัก 3 อย่าง รับรองว่าคำตอบต้องมี OMEGA ด้วยแน่นอน เพราะนี่เป็นบริษัทผลิตนาฬิกาสวิสเพียงรายเดียวที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บอกเวลาอย่างเป็นทางการตั้งแต่โอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส ค.ศ. 1932 จนมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงมีประสบการณ์ด้านการบอกเวลาแข่งขันและนวัตกรรมจับเวลาที่น่าทึ่งชนิดเฉือนกันเพียงเสี้ยววินาทีก็สามารถระบุได้ว่า ใครคือผู้ชนะตัวจริง ถึงตรงนี้หลายคนชักอยากรู้แล้วว่า OMEGA คิดค้นสุดยอดนวัตกรรมบอกเวลาตลอด 92 ปีอะไรออกมาบ้าง Sarakadee Lite พาไปเปิดไทม์ไลน์เทคโนโลยีบันทึกเวลาที่ถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กับมหกรรมกีฬาระดับโลกโอลิมปิก

OMEGA

ลอสแอนเจลิส 1932 : จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การบันทึกเวลาในโอลิมปิก

ว่ากันว่ามหกรรมโอลิมปิกก่อน ค.ศ. 1932 กรรมการจะใช้นาฬิกาจับเวลาแบบพกพาของตนเอง โดยมีที่มาจากหลากหลายบริษัท ซึ่งนี่หมายความว่าระดับความเที่ยงตรงของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ซ้ำร้ายนาฬิกาเหล่านั้นยังประมวลผลได้ละเอียดเพียง 1/5 ของวินาทีเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกเชื้อเชิญผู้ผลิตนาฬิกาสวิสอย่าง OMEGA ซึ่งได้รับรางวัลด้านเที่ยงตรงแม่นยำมากมายมาเป็นผู้บอกเวลาการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

OMEGA
นาฬิกาจับเวลาแบบพกพาที่ใช้ในการแข่งขัน

หลังจากทางแบรนด์ตกปากรับคำแล้ว ในการแข่งขันโอลิมปิกลอสแอนเจลิส 1932 แบรนด์ส่งช่างนาฬิกาออกเดินทางจากเมืองเบียนน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปยังเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับนาฬิกาจับเวลาแบบพกพา 30 เรือนสำหรับกรรมการ โดยนาฬิกาแต่ละเรือนได้รับการรับรองระดับโครโนมิเตอร์โดยหอดูดาวที่เมืองเนอชาแตล และมีระดับความเที่ยงตรงใกล้เคียงถึง 1/10 ของวินาที ยิ่งไปกว่านั้นนาฬิกายังมาพร้อมฟังก์ชันสปลิท-เซคกันด์ที่ทำให้สามารถจับเวลาแยกกันได้

OMEGA

ลอนดอน 1948 : การมาถึงของกล้องจับภาพสุดไฮเทค

นอกเหนือจากนาฬิกาจับเวลาอันแม่นยำแล้ว ในโอลิมปิกครั้งนี้ทางแบรนด์ยังเปิดตัวกล้องสลิตโฟโตฟินิชรุ่นแรกของโลกชื่อว่า Racend Timer ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “OMEGA Racend Timer” พัฒนาโดยบริษัทอังกฤษชื่อ Race Finish Recording Company ลักษณะเป็นกล้องถ่ายภาพนิ่งมาตรฐานขนาด 35 มม. ที่ติดตั้งอยู่บนกล่อง ทำงานด้วยการปิดเลนส์กล้องไว้และเปิดแสดงแค่เสี้ยววินาทีเดียว ส่วนฟิล์มจะเลื่อนผ่านเลนส์ในอัตราที่เกือบเท่าการเคลื่อนไหวของนักกีฬาดังนั้นจึงสามารถบันทึกภาพด้วยอัตราที่เท่ากัน ทำให้ได้ภาพช็อตต่อช็อตเรียงไปเรื่อยๆ เมื่อนำภาพมาประกอบเข้าด้วยกันจะได้ภาพนักกีฬากำลังเข้าเส้นชัยแบบเรียงลำดับอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้นทางแบรนด์ยังพัฒนานาฬิกาจับเวลาโครโนกราฟที่เชื่อมโยงกับปืนส่งสัญญาณเพื่อให้การออกตัวของนักกรีฑากับการจับเวลามีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

OMEGA

เฮลซิงกิ 1952 : การปฏิวัตินวัตกรรมการจับเวลาไปอีกขั้น

OMEGA ได้รับเลือกให้เป็นผู้บอกเวลาอีกครั้งและกลับมาพร้อมกับอุปกรณ์มากมาย จากนาฬิกาจับเวลาแบบพกพาไม่กี่เรือนกลายเป็นอุปกรณ์อันทันสมัยมากถึง 2 ตัน หนึ่งในนั้นคือ “OMEGA Time Recorder” รุ่นใหม่ที่ต่อยอดจากรุ่นแรกตรงที่ขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบควอตซ์พร้อมเครื่องพิมพ์ความเร็วสูงซึ่งช่วยให้สามารถจับเวลาเหตุการณ์ต่างๆ และพิมพ์ผลลัพธ์ได้ละเอียดใกล้เคียงถึง 1/100 วินาทีในทันที การเปลี่ยนมาใช้ระบบควอตซ์ยังทำให้เครื่องมีน้ำหนักเบาลง เคลื่อนย้ายได้ง่าย และทำงานเป็นเอกเทศจากระบบไฟฟ้าทั้งปวง นับเป็นการปฏิวัติวงการครั้งสำคัญสำหรับการบอกเวลาแบบอิเล็กทรอนิกส์

OMEGA

เมลเบิร์น 1956 : ก้าวกระโดดของการจับเวลากีฬาว่ายน้ำ

ว่ายน้ำเป็นหนึ่งในกีฬาที่ท้าทายผู้บอกเวลาเป็นอย่างมาก เพราะการเข้าเส้นชัยมักจะสูสีกันมากเกินไป และไม่สามารถรับประกันความแม่นยำได้ ด้วยปัญหานี้ทางทีมพัฒนาของแบรนด์จึงคิดค้นและพัฒนาเครื่องบอกเวลา Swim-Eight-O-Matic แบบกึ่งอัตโนมัติรุ่นแรกของโลก โดยเครื่องจะมีระบบนับแบบกลกึ่งไฟฟ้า 8 ตัว ตัวนับหนึ่งตัวสำหรับหนึ่งเลน และมีหน้าจอดิจิทัลแสดงผลแยก เวลาจะเริ่มโดยอัตโนมัติโดยเสียงปืนพก ในขณะที่การจับเวลาจะถูกหยุดด้วยกรรมการเวลาที่เส้นชัยซึ่งมีอุปกรณ์จับเวลาไฟฟ้าแบบมือถือ ส่วนอันดับของนักว่ายน้ำแต่ละคนจะปรากฏที่หน้าต่างบนแถวล่าง เทคโนโลยีนี้ช่วยให้กรรมการแยกแยะนักว่ายน้ำที่ดูเหมือนเข้าเส้นชัยในเวลาเดียวกันได้สำหรับผลการแข่งที่ดูมีความสูสี

OMEGA

โรม 1960 : อุปกรณ์ใหม่สุดล้ำ          

หลังจากกรรมการใช้กล้อง “OMEGA Racend Timer” ไปสักพัก พวกเขาพบปัญหาว่า กล้องมีน้ำหนักมากและควบคุมได้ยาก นอกจากนี้ยังต้องติดตั้งในห้องมืดเพื่อให้สามารถสร้างภาพลงบนแผ่นฟิล์มได้ ว่าแล้วแบรนด์จึงคิดค้นอุปกรณ์ใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “OMEGA Integrated Photofinish Camera” โดยผสานรวมนาฬิกาจับเวลาเข้ากับกล้องจนได้อุปกรณ์ที่มีความคล่องตัวและมีขนาดเล็ก การขนส่งและใช้งานก็ทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบโดยรวมมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้กล้องยังติดตั้งด้วยแท็งก์ล้างฟิล์มเพื่อให้ได้ภาพเนกาทิฟอย่างรวดเร็วใน 90 วินาที เริ่มใช้ครั้งแรกกีฬาแข่งพายเรือในโอลิมปิกที่โรมนั่นเอง

เม็กซิโกซิตี 1968 : จับเวลากีฬาว่ายน้ำที่แม่นยำกว่าเดิม

ผลพวงจากนักกีฬาว่ายน้ำประท้วงการตัดสินของกรรมการจนกลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ทางแบรนด์จึงคิดค้นอุปกรณ์จับเวลาสำหรับกีฬาว่ายน้ำขึ้นมาที่เรียกว่า “Touch Pad” มีลักษณะเป็นแผ่นสีเหลืองสดสูง 90 เซนติเมตร กว้าง 240 เซนติเมตร และติดตั้งอยู่ในน้ำสองในสามส่วน อุปกรณ์นี้สามารถตอบสนองต่อการสัมผัสแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อที่ว่าเมื่อนักกีฬาถึงเส้นชัย พวกเขาสามารถหยุดเวลาได้ด้วยมือของตนเอง นี่จึงถือเป็นการปิดฉากข้อโต้แย้งถึงความแม่นยำของผลลัพธ์จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อเครื่องขยายเสียงกับปืนส่งสัญญาณออกตัวและถูกติดตั้งไว้ด้านหลังทุกแท่นกระโดดเพื่อให้นักว่ายน้ำทุกคนได้ยินสัญญาณในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญยังเปิดตัวอุปกรณ์จับเวลา Swim-O-Matic ที่พัฒนามาจาก Swim Eight-O-Matic แต่ความแม่นยำใกล้เคียงถึงระดับ 1/1000 ของวินาทีอีกด้วย

ลอสแอนเจลิส 1984 : นวัตกรรมเพื่อความเท่าเทียม

โอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิสมีการเปิดตัวระบบตรวจจับการออกตัวสำหรับกีฬากรีฑาที่ตอบสนองได้รวดเร็วว่องไว ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ด้านในบล็อกออกตัวซึ่งจะประมวลผลแรงที่นักกีฬากดลงบนที่พักเท้าถึง 4,000 ครั้งต่อวินาที ระบบจะส่งสัญญาณการออกตัวที่ผิดกติกาหากอุปกรณ์ตรวจพบว่าเวลาปฏิกิริยาต่ำกว่า 100 มิลลิวินาทีหลังสัญญาณออกตัวดังให้กรรมการทันที นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องขยายเสียงไว้ด้านหลังทุกบล็อกออกตัวเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้ยินสัญญาณออกตัวในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดนี้ทำให้มั่นใจได้ว่า นักกีฬาจะได้แข่งขันอย่างเท่าเทียม ระบบตรวจจับการออกตัวที่ผิดกติกาที่คล้ายกันนี้ยังถูกติดตั้งให้กับการแข่งว่ายน้ำ และความแม่นยำของมันสามารถตัดสิทธิ์ทีมว่ายน้ำได้อย่างยุติธรรม

รีโอ 2016 : ก้าวสู่ขีดความสามารถใหม่

ถือเป็นอีกปีที่นวัตกรรมด้านการจับเวลาพัฒนาไปอีกขั้น กับการเปิดตัวกล้องโฟโตฟินิชรุ่นใหม่ “OMEGA Scan ‘O’ Vision MYRIA” สามารถบันทึกภาพดิจิทัลได้สูงสุดถึง 10,000 ภาพต่อวินาทีระหว่างที่นักกีฬาแต่ละคนเข้าเส้นชัย ผู้ตัดสินจึงสามารถตัดสินได้ว่าใครเป็นผู้ชนะของการแข่งขันได้อย่างเป็นทางการ ความไวต่อแสงที่ผ่านการปรับปรุงยังทำให้ภาพมีคุณภาพสูงกว่าอุปกรณ์รุ่นก่อนๆ นอกจากนั้นยังติดตั้งเทคโนโลยีโฟโตเซลล์เจเนอเรชันใหม่จาก 2 ตัวเป็น 4 ตัวในเครื่องเดียว จึงตรวจจับรูปแบบของร่างกายได้มากขึ้นในขณะที่นักกีฬาเข้าเส้นชัย การประมวลเวลาเข้าเส้นชัยจึงทำได้อย่างแม่นยำโดยแท้จริง

โตเกียว 2020 : ยกระดับความแม่นยำไปอีกขั้น

แม้ว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้จะเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ ทางทีมพัฒนายังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบจับเวลาใหม่ๆ ออกมา หนึ่งในนั้นคือติดตั้งเซนเซอร์ทั้งหมวก เกราะ กระทั่งถุงมือกับถุงเท้าของนักกีฬาเทควันโด เพื่อรวบรวมข้อมูลแรงกด แรงปะทะ และติดตามฟุตเวิร์กอย่างแม่นยำ แล้วข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังโต๊ะอุปกรณ์ของทีมOMEGAเพื่อให้กรรมการใช้ประกอบการตัดสินใจและแสดงผลผ่านสกอร์บอร์ดอีกที

ส่วนกีฬาบาสเกตบอล 3×3 เป็นอีกการแข่งขันที่สนุกและทำแต้มไวมากๆ ทางแบรนด์จึงคิดค้นแป้นที่ติดตั้งด้วย shot clock เพื่อนับถอยหลังห้วงเวลา 12 วินาทีสำคัญที่นักกีฬาจะต้องทำแต้มให้ได้หรือเสียการครองบอลให้กับฝ่ายตรงข้าม รวมถึงสกอร์บอร์ดในสนามและสกอร์บอร์ดกลางสำหรับผู้ชมซึ่งแขวนอยู่เหนือสนาม ทั้งหมดควบคุมโดยทีมงานของทางOMEGAซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการควบคุมเครื่องมือและแสดงผลได้ถูกต้องแม่นยำ

ปารีส 2024 : จัดเต็มอุปกรณ์สุดล้ำ

ส่วนโอลิมปิก Paris 2024 ที่จะมาถึง ไม่เพียงแต่ทางแบรนด์จะขนอุปกรณ์จับเวลาสุดทันสมัยแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นปืนสัญญาณออกตัวอิเล็กทรอนิกส์, บล็อกออกตัวของกีฬากรีฑา, เทคโนโลยีโฟโตเซลล์, ทัชแพด, สกอร์บอร์ดความละเอียดสูง, เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและระบบระบุตำแหน่ง และนวัตกรรมอื่นๆ มากมายแล้ว พวกเขายังเปิดตัวกล้องโฟโตฟินิชรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อว่า “Scan ‘O’ Vision Ultimate” พร้อมความสามารถจับภาพดิจิทัลได้มากถึง 40,000 ภาพต่อวินาที ณ เส้นชัย หรือ 4 เท่าจากรุ่นก่อนหน้า กล้องตัวนี้จะทำให้กรรมการเห็นลำดับการเข้าเส้นชัยชัดเจน ตัดสินใจได้รวดเร็วและถูกต้องยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกีฬากรีฑาและจักรยานประเภทลู่ที่ผลการแข่งขันมักจะสูสีกันเสมอ

นอกจากนี้พวกเขายังใช้ “เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชัน” ซึ่งเป็นการประยุกต์การทำงานของกล้องหนึ่งตัวหรือมากกว่าโดยกล้องแต่ละตัวจะคอยป้อนข้อมูลสำคัญแบบเรียลไทม์ เช่น การเคลื่อนไหวของนักกีฬา อุปกรณ์ สนามแข่ง รวมถึงการทำคะแนนให้กับปัญญาประดิษฐ์ที่ผ่านการฝึกมาสำหรับแต่ละชนิดกีฬาโดยเฉพาะ ดังนั้นนักกีฬาไม่จำเป็นต้องติดเซนเซอร์ในชุดนักกีฬาอีกต่อไป ส่วนกรรมการก็จะได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินที่ถูกต้องแม่นยำ เทคโนโลยีนี้จะถูกใช้ในกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด กระโดดน้ำ เทนนิส กระโดดค้ำถ่อ และยิมนาสติก ทิ้งท้ายด้วยเปิดตัวเทคโนโลยีด้านกราฟิกรุ่นใหม่อย่าง Vionardo ที่จะแสดงกราฟิกความละเอียดสูงในระดับ 4K UHD อันคมชัดและสะกดสายตาแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันยังสามารถนำเสนอเนื้อหากราฟิกสำหรับโทรทัศน์ในภาษาต่างๆ ตามความต้องการได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางแห่งนวัตกรรมของ OMEGA ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการบอกเวลาอันแม่นยำตลอด 92 ปีที่ผ่านมา แล้วเชื่อได้เลยว่าโอลิมปิกฤดูหนาว Milano Cortina 2026 และโอลิมปิกฤดูร้อน Los Angeles 2028 จะมีเทคโนโลยีบอกเวลาที่ทันสมัยยิ่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน

Fact File

ติดตามนวัตกรรมเรือนเวลาและคอลเล็คชันพิเศษสำหรับโอลิมปิก www.omegawatches.com/suggestions/omega-olympic-watches


Author

ปัญญา ลีลาสุนทรกุล
คลุกคลีกอยู่ในวงการนิตยสารหลายปี ก่อนผันตัวไปเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แต่ยังหลงใหลเรื่องราวนาฬิกา เทคโนโลยีล้ำสมัย และแก็ดเจ็ตสุดไฮเทค