ใบชาตรากระต่าย ร้านชาจีนเก่าแก่แห่งย่านพระนคร กับโลโก้กระต่ายชมจันทร์ที่คุ้นตาในเครื่องสังฆทาน
- จุดเริ่มของใบชาตรากระต่ายมาจากครอบครัวชาวจีนฮกเกี้ยน “แซ่อ๋อง” ที่อพยพจากมณฑลฝูเจี้ยนเข้ามาทำมาหากินตั้งรกรากในประเทศไทย และอากงผู้คุ้นเคยกับการปลูกชาก็ได้เริ่มกิจการค้าขายใบชา
- ลูกค้าหลักของใบชาตรากระต่ายคือกลุ่มพระสงฆ์ เพราะราคาที่ไม่แพงมากแต่ยังคงรสชาติชาจีนดั้งเดิม คนจึงนิยมบรรจุชาตรากระต่ายอยู่ในชุดสังฆทาน
เมื่อเอ่ยถึงร้านชาจีน ร้านขายใบชา หลายคนอาจจะคิดว่าต้องมาที่ย่านจีนใจกลางเมืองอย่างเยาวราช แต่ทราบหรือไม่ว่าอีกย่านที่มีร้านชาจีนเก่าแก่เรียงรายคือฝั่งพระนครบริเวณถนนมหรรณพเรื่อยไปจนถึงเสาชิงช้า และหนึ่งในร้านชาเก่าแก่ประจำย่านที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ ใบชาตรากระต่าย (อ๋องหลีชุน) ซึ่งสืบทอดกิจการค้าขายใบชาจีนมาตั้งแต่รุ่นอากงเมื่อกว่า 80 ปีก่อน นำ “กระต่าย” สัญลักษณ์แห่งความมงคลมาเชื่อมโยงกับ “ปีกระต่าย” ปีเกิดของลูกคนโตในครอบครัวมาเป็นโลโกร้านขายใบชาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องอัฒบริขารได้รับความนิยมอย่างมากในชุดเครื่องสังฆทานถวายพระสงฆ์
จุดเริ่มของ ใบชาตรากระต่าย มาจากครอบครัวชาวจีนฮกเกี้ยน “แซ่อ๋อง” ที่อพยพจากมณฑลฝูเจี้ยนเข้ามาทำมาหากินตั้งรกรากในประเทศไทย และอากงผู้คุ้นเคยกับการปลูกชาก็ได้เริ่มกิจการค้าขาย “ใบชา” ซึ่งเป็นทั้งภูมิปัญญาและวัตถุดิบอันโดดเด่นจากภูมิลำเนาเดิมในมณฑลฝูเจี้ยนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยมณฑลนี้เป็นพื้นที่ภูเขาสูงในเขตภูมิอากาศอบอุ่นและเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกใบชาที่สำคัญของจีน
“อากงเป็นชาวจีนอพยพ สกุลเดิมแซ่อ๋อง มาจากมณฑลฝูเจี้ยน มาเมืองไทยมาแบบเสื่อผืนหมอนใบ ตอนแรกอากงเป็นคนจีนต่างด้าวแบบที่ยังไม่มีที่ดินอยู่ ใช้ชีวิตกินอยู่ในเรือ ไปกับเรือ จะไปปักถ่อนอนที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่บนที่ดินใคร สมัยอากงยังหนุ่มก็เริ่มขายชาแบบไม่มียี่ห้อ ขายเป็นใบชาจีนห่อกระดาษสีขาวธรรมดา ขายทั้งคนทั่วไปแล้วก็วิ่งขายตามยี่ปั๊วต่างจังหวัด จนพอเริ่มมีชื่อเสียง ลูกค้าประจำเริ่มรู้แล้วว่าชาอากงคุณภาพดี อร่อย เพราะเราเอาชามาจากฝูเจี้ยนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองใบชาอยู่แล้ว”
ศรินทิพย์ หัตถาพรสวรรค์ ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้สืบทอดกิจการขายใบชาจีนตรากระต่าย (อ๋องหลีชุน) เล่าถึงยุคแรกของใบชาตรากระต่าย จากใบชาห่อกระดาษง่ายๆ เร่ขายปลีกในชุมชนชาวจีนกรุงเทพฯ ก็เริ่มขยายวงไปยังลูกค้าต่างจังหวัด พร้อมการพัฒนาห่อกระดาษขาวเป็นห่อกระดาษวาดรูป “กระต่ายชมจันทร์” ในแบบศิลปะภาพวาดทิวทัศน์ของจีน จนเมื่ออากงแซ่อ๋องเปลี่ยนสถานะจากชาวจีนต่างด้าวมาเป็นต้นตระกูล “หัตถาพรสวรรค์” ลงหลักฐานมีลูกหลานเติบโตในเมืองไทย จึงได้ทำการจดทะเบียนการค้าขายใบชาใน พ.ศ.2518 และล่าสุดในชื่อกิจการ บริษัทใบชาตรากระต่าย (อ๋องหลีชุน) จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายใบชาทั้งนำเข้าจากจีน ทิเบต และไต้หวัน จากหน้าร้านเดิมเริ่มแรกอยู่แถวปากคลองตลาด ก็ขยายย้ายมาปักหลักที่ตึกแถวหนึ่งคูหาบนถนนมหรรณพ ย่านเสาชิงช้า เขตพระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลเพราะทำเลย่านเสาชิงช้านี้มีทั้งศาลเจ้า โบสถ์พราหมณ์ วัด ที่ไม่ว่าจะศาสนาไหนก็มีการใช้ใบชา อีกทั้งยังใกล้บรรดาร้านค้าสังฆภัณฑ์ซึ่งนิยมนำชาบรรจุเป็นหนึ่งในเครื่องสังฆทานถวายพระสงฆ์ นี่จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นร้านชาจีนรุ่นก่อนนิยมปักหลักอยู่ในย่านพระนครแห่งนี้
สำหรับสินค้าหลักของใบชาตรากระต่าย ได้แก่ ชาดำ (ชาอู่หลง) เบอร์ 027 ชาทิกวนอิม (เถี่ยกวนอิม) และชาอู่หลงกลิ่นมะลิ รวมถึงใบชาดำหรือชาสดที่เก็บจากต้นเก็บไว้เพียง 5-10 วัน อบแห้งเพื่อต้มชงขายเป็นใบชาราคาถูกสำหรับน้ำชาบริการฟรีตามร้านอาหารตามสั่งด้วย
ด้านชื่อจีน อ๋องหลีชุน นั้น คำว่า อ๋อง มาจาก แซ่อ๋อง ส่วน หลีชุน แปลว่า ความโชคดี และถ้าเอ่ยถึงคนแซ่อ๋องส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้กันว่ามาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ชาวจีนฮกเกี้ยน) โดยศรินทิพย์เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ชาเสริมว่า ตามประวัติบรรพบุรุษมีการเล่าต่อๆ กันมาว่า คนแซ่อ๋องเท่านั้นที่ได้สิทธิ์ปลูกชาในฝูเจี้ยน การปลูกชาถือเป็นอาชีพชั้นสูง เพราะใบชาในสมัยก่อนเป็นสินค้าสำหรับคนชั้นสูง แต่พอยุคหลังๆ ใครมีที่ดินก็สามารถปลูกชาได้ ไม่จำกัดเฉพาะบางตระกูลอีกต่อไป และอีกเอกลักษณ์ของชาตรากระต่ายคือโลโกที่เป็นภาพวาด “กระต่ายชมจันทร์ ” ซึ่งทายาทรุ่นที่ 2 กล่าวว่า ภาพวาดบนห่อชาใช้มาตั้งแต่รุ่นอากง สื่อถึงความเพลิดเพลินในการดื่มชา
“มันสื่อถึงความเพลิดเพลินในการนั่งดื่มน้ำชา นั่งดูธรรมชาติดื่มน้ำชา ดูน้ำตก ยอดไม้ ดูพระจันทร์” ศรินทิพย์ กล่าวเสริมพร้อมบอกว่าเมื่อก่อนที่หน้าร้านตั้งรูปกระต่ายปูนปั้นสูงตัวใหญ่เกือบ 2 เมตรวางเป็นสัญลักษณ์บนฟุตปาธถนนมหรรณพ แต่ปัจจุบันมีการปรับกฎหมายทางเท้าใหม่ รูปปั้นกระต่ายที่เป็นแลนด์มาร์กจึงถูกยกไป
ในส่วนของใบชานั้นศรินทิพย์ย้ำจุดเด่นเรื่องกลิ่นรสจากธรรมชาติและราคาที่เข้าถึงได้ “ชาที่ร้านเราไม่เน้นราคาแพง (เริ่มต้นราคาหลักร้อยบาท) แต่ก็ถือเป็นใบชาคุณภาพดีมาจากฝูเจี้ยนกับยูนนาน สินค้าที่ร้านเน้นจะเป็นชาที่เป็นธรรมชาติ มีกลิ่นจากการอบชา เบลนด์ชากับดอกไม้จริง อย่างชามะลิ ก็คือใบชาอบดอกมะลิ และใบชาดำก็มีกลิ่นคั่วกลิ่นไฟตามธรรมชาติ ไม่ได้ฉีดน้ำหอมแต่งกลิ่น”
เมื่อถามต่อว่าแล้วลูกค้าหลักของ ใบชาตรากระต่าย คือใคร ศรินทิพย์ตอบชัดเจนว่า “กลุ่มพระสงฆ์” ซึ่งคนส่วนหนึ่งซื้อไปถวายคู่กับสังฆทานซึ่งมีร้านอยู่มากในย่านถนนเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็ได้ขยายภาพวงการค้าใบชาในสมัยอากงให้ฟังว่า
“จากยุคแรกสมัยอากงเรานำเข้าใบชามาจากฝูเจี้ยน มีชาอู่หลง ชาทิกวนอิม ชาดำ และชาสุ่ยเซียน แต่ตามกฎหมายสยามประเทศสมัยต่อมามีข้อบังคับว่า พ่อค้านำเข้าชาจากจีนเข้ามาเท่าไรก็ต้องซื้อชาจากไทยในปริมาณเท่ากันด้วย ชาไทยที่ว่าคือชาที่ปลูกทางภาคเหนือ ซึ่งเริ่มปลูกกันบนเขาสูงแบบภูเขาทั้งลูกเป็นไร่ชา รัฐบาลก็ส่งเสริมการปลูกชา เพราะถ้าใครทำการค้านำเข้าชาจีนแล้วจำเป็นต้องซื้อชาไทยด้วย อากงก็เลือกเอาชาไทยที่คุณภาพดีๆ มาห่อขาย ขายห่อละ 3 บาท เป็นชาดับกลิ่นต้มดื่มแทนน้ำเปล่า เมื่อตอนที่เราเริ่มขายชาเป็นยุคที่จีนยังไม่เปิดประเทศเต็มตัว การนำเข้าใบชามีน้อย ตอนนั้นทางเหนือของไทยยังไม่ได้ปลูกชามาก ชาตรากระต่ายก็ถือเป็นของนำเข้า เหมือนเป็นแบรนด์เนมเมืองนอกจากเมืองจีนน่ะ และก็มีชื่อเสียงว่าหอมอร่อย และชาจีนแบบนี้หาซื้อยากมีไม่กี่เจ้า ธุรกิจใบชารุ่นๆ เดียวกันก็มี ชาตราละคร ชาตราสับปะรด อ๋องอิวกี่ ก็ใช่”
อย่างที่เกริ่นไปว่าเมื่อก่อนนั้นย่านเสาชิงช้ามีร้านชาคึกคักไม่แพ้เยาวราช แต่ปัจจุบันหลายร้านกำลังบอกลา ปิดกิจการจนเหลือเพื่อนบ้านร้านชาเก่าแก่อยู่ไม่กี่ร้านด้วยกัน ซึ่งทายาทอ๋องหลีชุนให้คำตอบของการคงอยู่ของ ใบชาตรากระต่าย ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ธุรกิจชา คือ ความจริงของชีวิตที่มีคุณค่า เราก็จะทำไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นชีวิต มรดกที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ อยู่ในสายเลือด ในจิตวิญญาณ ตั้งแต่อากงมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน มันคือความจริงของชีวิตที่เราสัมผัสได้ เราจะทิ้งความจริงของชีวิตไปไม่ได้ แม้จะทำธุรกิจอะไรอย่างอื่น แต่ก็ต้องทำชาด้วย เพราะมันคือความจริงของชีวิตที่มีคุณค่า”