เจน 2 โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 “ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล” เมื่อโควิด-19 คือบทพิสูจน์
- โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ก่อตั้งโดย นายแพทย์ประจักษ์ บุญจิตต์พิมล และกำลังส่งไม้ต่อสู่ผู้บริหารเจเนอเรชันที่ 2 คือ ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล
- การรับไม้ต่อในฐานะทายาทไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสร้างการยอมรับ การเรียนรู้พื้นฐานของงานแต่ละส่วน รวมทั้งการปรับทัพรับมือกับโควิด-19
ท่ามกลางมรสุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ถือเป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและรูปการทำงานให้ทันสถานการณ์ ทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคลากรในองค์กรเอง รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่มารับการรักษา โดยเฉพาะในรอยต่อของโรงพยาบาลที่กำลังผลัดใบเปลี่ยนจากผู้บริหารรุ่นบุกเบิก สู่ผู้บริหารในเจเนอเรชันที่ 2 เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลนวมินทร์ 9
“สิ่งที่ได้จากพ่อคือความละเอียด ทุกวันนี้พ่อยังทำงาน 7 วัน โดยไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะเขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ การเป็นผู้บริหารไม่ใช่นั่งเซ็นเอกสารอย่างเดียว แต่ต้องผ่านงานทุกอย่างตั้งแต่งานข้างล่าง ถึงงานข้างบน”
ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล ผู้บริหารเจเนอเรชันที่ 2 ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 และ ผู้บริหาร ศูนย์สุขภาพความงาม Vital Glow Skin & Aesthetic เปิดประเด็นถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก นายแพทย์ประจักษ์ บุญจิตต์พิมล ผู้เป็นพ่อซึ่งได้ก่อตั้ง โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ในย่านมีนบุรีมากว่า 26 ปี
แน่นอนว่าการรับไม้ต่อในฐานะทายาทไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสร้างการยอมรับ การเรียนรู้พื้นฐานของงานแต่ละส่วน ซึ่ง ดร.พิมพ์ขวัญ เล่าว่า คุณพ่อเริ่มให้เข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาลตั้งแต่เธออายุ 25 ปี ค่อยๆ ให้ซึมซับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในทุกแผนก ซึ่งตอนนั้นเป็นเหมือนการฝึกงานมากกว่า เริ่มจากอยู่แผนกบัญชี 2-3 เดือน แล้วย้ายไปช่วยแผนกอื่น ถือเป็นการเรียนรู้พื้นฐานในเชิงธุรกิจ ก่อนที่เธอจะเดินทางไปศึกษาปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ และกลับมาช่วยบริหารงานอย่างเต็มตัว
แม้ ดร.พิมพ์ขวัญ ไม่ได้จบมาด้านการแพทย์โดยตรงเหมือนรุ่นพ่อ แต่เธอก็พยายามปรับตัวด้วยการหาความรู้ผ่านการอบรบด้านการแพทย์ต่างๆ เพื่อที่จะนำมาผสมผสานกับหลักการบริหาร
ทั้งนี้ตอนที่เข้ามาช่วยบริหารงานในโรงพยาบาลเมื่อ 6 ปีก่อน ดร.พิมพ์ขวัญ พยายามหาตลาดใหม่ๆ จากเดิมที่รุ่นบุกเบิกได้วางรากฐานด้านการรักษาจนเป็นที่ยอมรับ และเธอได้มองเห็นตลาดคนรุ่นใหม่ที่สนใจสุขภาพความงามมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปิดศูนย์สุขภาพความงาม Vital Glow Skin & Aesthetic บนชั้น 3 ของโรงพยาบาล เพื่อเติมเต็มช่องว่างของตลาดกลุ่มนี้ที่ยังคงต้องการแพทย์ผู้ชำนาญและสถานที่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยครบครัน
“ผลตอบรับจากผู้มาใช้บริการถือว่าดีมากๆ โดยเราจะเน้นไปที่แพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะด้านจริงๆ เช่น ด้านการปลูกผม ที่นี่เรามีแพทย์เชี่ยวชาญ มีการส่งทีมแพทย์ไปเรียนเทคนิคการปลูกผมเพิ่มเติม เพื่อมาช่วยเสริมศักยภาพทางด้านการแพทย์ของศูนย์ สำหรับ 6 ปีที่เข้ามาช่วยบริหารอย่างเต็มตัว ได้เรียนรู้จากการลงมือมือทำซึ่งตอนนี้สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ การนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ให้บุคลากรที่ทำงานมาตั้งแต่รุ่นแรกๆ โดยต้องทำให้เขารู้สึกอิน และอยากเปลี่ยนแปลงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำไปตามที่บอก เพราะพนักงานหลายคนที่เก่งๆ ก็เห็นเรามาตั้งแต่เด็ก การไปสั่งให้เขาทำตามไอเดียทั้งหมดในทันที อาจยังไม่เหมาะสม แต่ต้องค่อยๆ ให้เขาเห็นถึงประสิทธิภาพ จนเกิดความเชื่อมั่น สิ่งนี้จึงต้องใช้เวลาและความอดทนในการเรียนรู้ ”
โควิด-19 ตัวเร่งในการสร้างบริการใหม่
ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายโรงพยาบาลประสบปัญหาความยากลำบากในการจัดการ ก็เป็นอีกประสบการณ์ที่ท้าทายโดยเฉพาะสำหรับผู้บริหารเจเนอเรชันที่ 2 ที่เพิ่งเข้ามาบริหารได้ไม่นานก็เจอกับความท้าทายของงานบริหารโรงพยาบาลเลย โดย ดร.พิมพ์ขวัญ เล่าถึงการเตรียมความพร้อมและการตัดสินใจปรับเปลี่ยนการทำงานที่เธอต้องทำอย่างทันที เช่น ก่อนหน้านั้นมีการจัดการแบ่งบุคลากรทำงานเป็น 2 ส่วน เพื่อรองรับทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือมีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
ส่วนโรงแรมด้านหลังโรงพยาบาล ระยะแรกมีการปรับจากโรงแรมเป็นศูนย์กักตัวเพื่อดูอาการในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แต่พอมีคนไข้มากขึ้น ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็น ฮอสพิเทล (Hospitel) นอกจากนี้การทำงานจะต้องแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างคนไข้ปกติกับคนไข้โควิด-19 โดยจะแบ่งโซนให้อยู่คนละตึก บุคลากรที่ทำงานก็คนละกลุ่ม เช่นเดียวกับเครื่องมือที่ใช้กับคนไข้ก็ต้องคนละแบบ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการ ซึ่งเธอยอมรับว่าทุกอย่างต้องคิดอย่างรวดเร็วและรอบคอบ
“นอกจากการปรับตัวของทีมบริหารแล้ว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไป มีการตื่นตัวกับการดูแลสุขภาพมาก โดยเฉพาะเทรนด์การดูแลสุขภาพความงามที่เดิมมักดูแลแค่ภายนอก แต่ตอนนี้หลายคนสนใจการดูแลสุขภาพที่มาจากภายใน ศึกษาว่าต้องทำอย่างไรให้ร่างกายแข็งแรงจากภายใน เช่น กินอาหารให้ครบหมู่ สุขภาพจิตดี รวมถึงการให้วิตามินแบบ Immune Booster
“ลูกค้าจะสนใจสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น และโรงพยาบาลก็ต้องก้าวให้ทัน เช่น คอร์สเรื่องวิตามินแบบ Immune Booster ที่ลูกค้าจะเจ็บตัวครั้งเดียวในการเจาะเลือด นำเลือดเข้าไปวิเคราะห์ในห้องแล็บ เพื่อดูว่าร่างกายคนนั้นต้องการวิตามินอะไรเพิ่มเติม หรือมีวิตามินอะไรที่เยอะเกินไป เพื่อที่เขาจะได้รู้ตัวเองว่า ร่างกายเหมาะกับวิตามินประเภทไหน และเมื่อวิเคราะห์มาแล้วหากลูกค้าสนใจจะฉีดวิตามินที่ตนเองขาดก็สามารถทำได้ โดยวิตามินที่เสริมเข้าไปจะเป็นคนละแบบกับที่เราไปซื้อกินกันเอง เพราะคุณหมอจะทำการวิเคราะห์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างความแข็งแรงจากภายใน ในสภาวะที่มีโรคระบาดอยู่ตอนนี้”
นอกจากการสร้างภูมิสู้โควิด-19 แล้ว อีกโปรแกรมที่คนส่วนใหญ่สนใจก็คือการตรวจภูมิต้านทานเพื่อวางแผนในเรื่องวัคซีน ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ต้องจับความสนใจเหล่านี้ให้ได้และให้ทัน เช่น มีบริการตรวจภูมิ มีแพทย์คอยให้คำแนะนำว่า มีแนวทางไหนบ้างสำหรับสร้างภูมิต้านทานให้เพิ่มขึ้น หรือจะเรียกได้ว่า โควิด-19 คือบททดสอบข้อใหญ่ของผู้บริหารเจน 2 คนนี้เลยก็ว่าได้
ด้านเป้าหมายของผู้บริหารเจเนอเรชันที่ 2 โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 นั้น ดร.พิมพ์ขวัญ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้เธอจะพุ่งเป้าไปที่การขยายธุรกิจให้เติบโต แต่ก็ต้องทำควบคู่ไปกับปณิธานของคุณพ่อผู้ก่อตั้ง ที่เน้นการดูแลอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียดของผู้ใช้บริการและก็ต้องไม่ลืมพนักงานภายใน