
กว่า 187 ปี ของการเปลี่ยนมิวเซียมหลวง เป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ย้อนไปก่อนที่จะมีพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2396 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นลักษณะของห้องจัดแสดงของสะสมส่วนพระองค์
- รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสิ่งของจากมิวเซียมหลวง มาจัดแสดงที่ หอมิวเซียม ณ หอคองคอเดีย โดยว่าจ้างนายเฮนรี อลาบาสเตอร์ ชาวอังกฤษมาอำนวยการจัดแสดง
- หอมิวเซียมหลวงเปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417 ซึ่งก็คือ วันพิพิธภัณฑ์ไทย
19 กันยายน ของทุกปีถือเป็น วันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกขึ้นในไทย ตรงกับวันที่ 19 กันยายน 2417 โดยเริ่มจากหอมิวเซียมหลวง ในเขตพระราชวัง และพัฒนาปรับปรุงมาเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคต่างๆ ตามมา
ย้อนไปก่อนที่จะมีพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2396 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม เป็นลักษณะของห้องจัดแสดงของสะสมส่วนพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรวบรวมจากภูมิภาคต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งราชฤดี พระบรมมหาราชวัง โบราณวัตถุชิ้นสำคัญสุดคือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ต่อมาจึงได้เพิ่มการจัดแสดงเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศใน พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ หมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ซึ่งที่นี่เป็นเหมือน มิวเซียมหลวง สำหรับต้อนรับราชทูตและพระราชอาคันตุกะต่างแดน

พ.ศ. 2404 ได้มีการจัดพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่นำวัตถุจากประเทศไทยไปแสดงยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก ในงานพิพิธภัณฑ์นานาชาติ กรุงลอนดอน โดยนำงานหัตถกรรม งานช่างหลวง ไปจัดแสดง เพื่อให้ชาวยุโรปรู้จักราชอาณาจักรไทยมากขึ้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสิ่งของจากมิวเซียมหลวง มาจัดแสดงที่ หอมิวเซียม ณ หอคองคอเดีย โดยว่าจ้าง นายเฮนรี อลาบาสเตอร์ ชาวอังกฤษมาอำนวยการจัดแสดง มีหน้าที่คล้ายๆ ภัณฑารักษ์ และนั่นนับเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์แบบสากลของไทย และยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ โดยเปิดบริการวันแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417 ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 5 และผลตอบรับคือ มีประชาชนให้ควมสนใจหอมิวเซียมแห่งใหม่และเข้าชมมากถึง 80,000 คน

ถัดมาใน พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ย้าย หอมิวเซียมหลวง มาจัดแสดงใหม่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า พร้อมตั้ง กรมพิพิธภัณฑสถาน กระทรวงธรรมการ มี พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เป็นเจ้ากรมคนแรก ยุคนั้นเป็นยุคที่ส่งข้าราชการไทยไปดูงานพิพิธภัณฑ์ในยุโรป เพื่อกลับมาจัดการเรื่องพิพิธภัณฑ์ในไทย เช่น เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ็ง บุนนาค) จากนั้น หอมิวเซียมหลวง ในพื้นที่วังหน้าก็เปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2436

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการโอนงานพิพิธภัณฑ์ที่วังหน้าไปขึ้นกับ หอสมุดพระวชิรญาณ และจัดตั้ง ราชบัณฑิตยสภา ประกอบด้วยแผนกวรรณคดีดูแลงานหอพระสมุด แผนกโบราณคดีดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณวัตถุ โบราณสถาน และแผนกศิลปากร ดูแลวิชาช่าง โดยมีศูนย์กลางการทำงานอยู่ที่มิวเซียมหลวง วังหน้า

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกราชบัณฑิต ได้ระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงหมู่พระวิมาน ให้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ที่รวบรวมจากหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งวัตถุสิ่งของที่วังต่างๆ นำมามอบให้ กระทั่งสามารถเปิดเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2469 และเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเวลาต่อมา
