เมืองทองรามา โรงหนังรุ่นพ่อในจังหวัดพะเยา ที่กำลังฟื้นคืนชีวิตในรุ่นลูก
- เมืองทองรามา โรงภายนตร์ Stand Alone ในจังหวัดพะเยา ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อพ.ศ. 2518 ก่อนถูกโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์และธุรกิจ Home Entertainment รุกเข้ามาชิงตลาดความบันเทิง จนต้องยุติการกิจการและปิดตัวลงเมื่อ พ.ศ.2543
- ขณะที่โรงภาพยนตร์ Stand Alone ในไทยค่อย ๆ ล้มหายตายจากเหลือทิ้งไว้เพียงตำนาน เมืองทองรามากลับถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีวิต ด้วยความตั้งใจของ คงศักดิ์ธรานิศร ผู้เป็นเจ้าของ และปวินท์ ระมิงค์วงศ์ ผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญ
เมื่อประโยคคุ้นหูของผู้คนในยุคสตรีมมิง “ไปดู Netflix ห้องเราไหม” ได้เข้ามาแทนที่คำชวนออกเดตสุดหวานของคนยุคโรงภาพยนตร์เฟื่องฟู “ไปดูหนังด้วยกันไหม” ผู้คนร่วมสมัยในยุคดิจิทัลอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าก่อนหน้านี้โรงภาพยนตร์ Stand Alone ที่เคยโดดเด่นกลางเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยนั้นฮ็อตฮิตขนาดไหน…ก็ถึงขนาดที่ทำให้เมืองแสนเงียบเชียบอย่าง พะเยา มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอออยู่หน้าโรงภาพยนตร์ที่ชื่อ เมืองทองรามา มากถึง 2,000 คนต่อรอบ
“ตอนนั้น เมืองทองรามา มีเก้าอี้ 800 ที่นั่ง แต่สามารถเสริมได้อีก จะนั่งเก้าอี้ไม้ ยืนดู หรือนั่งพื้นดู ก็แล้วแต่ผู้ชมสะดวก ถ้าวันไหนมีหนังดีหนังดังเข้า คนจะแห่มาดูถึงรอบละ 2,000 คน วันหนึ่งฉาย 5 รอบ คนก็แน่นทุกรอบ”
คงศักดิ์ ธรานิศร หรือ เฮียหมู ผู้รับช่วงต่อ เมืองทองรามา อดีตโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่กลางเมือง พะเยา ถ่ายทอดภาพจำเมื่อหวนคิดถึงบรรยากาศแห่งความสุขในวันวานและความรุ่งเรืองของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดที่ยังคงฉายชัดอยู่ในความทรงจำ ไม่ใช่โรงภาพยนตร์แฟรนไชส์แบรนด์ใหญ่อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นโรงภาพยนตร์ที่ผู้ประกอบการรายย่อย ๆ ในท้องถิ่นเป็นคนปลุกปั้นขึ้นมาพร้อมกระแสภาพยนตร์ฟีเวอร์ในเมืองไทย
ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุกคืบอย่างหนักทำให้แหล่งมอบความบันเทิงของยุคก่อนถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ โรงภาพยนตร์ Stand Alone ในไทยจึงถูกลดบทบาทไปจนถึงปิดตำนาน และค่อย ๆ ผันเปลี่ยนอาคารเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างอื่น เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นกับลิโดและสกาลา ทว่า เมืองทองรามากลับเป็นโรงหนัง Stand Alone ในเมืองเล็ก ๆ ที่ยังคงหน้าตาและโครงสร้างของความเป็นโรงหนังเอาไว้ได้ แม้จะถูกลดทอนความสำคัญลง รวมทั้งเคยลองผันตัวเองไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ฉายภาพยนตร์มาก่อนหน้า แต่ด้วยความตั้งใจของผู้เป็นเจ้าของที่อยาก “เก็บไว้” ทำให้โรงหนังเก่าแก่แห่งนี้มีโอกาสได้กลับมาทำหน้าที่เดิมของมันอีกครั้ง
เปิดตำนานความบันเทิงแห่งยุคของ พะเยา
ย้อนไปกว่า 40 ปีก่อน เฮียหมูเล่าว่า เมืองทองรามาเปิดตัวเป็นโรงหนังแห่งที่ 2 ของจังหวัดพะเยาเมื่อพ.ศ. 2518 ตามหลังรุ่นพี่อย่าง พะเยารามา ที่ได้รับความนิยมอยู่ก่อนหน้า และกลายเป็นแหล่งมอบความบันเทิงผ่านภาพยนตร์ที่มาแรงอย่างมากในยุคนั้น
“พ่อผมเป็นคนกาญจนบุรีที่มาทำธุรกิจร้านอาหารในเชียงราย ชื่อว่าเมืองทองภัตตาคาร ด้วยความที่บ้านเราสนิทสนมกับครอบครัวของเสี่ยเล็ก-มงคล จงสุทธนามณีอดีต ส.ส.เชียงราย ที่รุ่นพ่อเขาบุกเบิกธุรกิจโรงหนังในพื้นที่มาก่อน เลยชวนให้ไปร่วมหุ้นและสนับสนุนให้เข้ามาทำตรงนี้ เมื่อเห็นว่ามีแนวโน้มดีทำแล้วรุ่ง พ่อผมจึงเปิดเมืองทองรามาที่เชียงราย ก่อนจะขยายมาที่พะเยา ซึ่งตอนนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของเชียงรายอยู่เลย”
เจ้าของโรงหนัง Stand Alone ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในพะเยาค่อย ๆ ฉายภาพอดีต เขาเล่าว่า ณ ช่วงเวลานั้น โรงหนังคือภาพสะท้อนของความทันสมัยและไลฟ์สไตล์อันศิวิไลซ์ เพราะเป็นเพียงพื้นที่เดียวที่ผู้คนสามารถเสพความบันเทิงได้ในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้
“สมัยก่อนถ้าพูดว่า ‘ไปดูหนังกัน’ จะเหมือนไปงานใหญ่ระดับไปอิมแพ็ค อารีน่าเลยนะ ทุกคนต้องแต่งตัวสวยหล่อ ใส่ทองจัดเต็มนัดกันเหมารถเข้าเมือง พื้นที่ตรงนี้เดิมทีเป็นลานดินกว้าง ๆ เวลามีหนังดีเข้าฉายบรรดารถเล็กสองแถวรอบเมืองพะเยาจะมาจอดกันเต็มไปหมด ที่เชียงรายก็เหมือนกัน พอได้ย้อนนึกถึงแล้วก็รู้สึกมีความสุขนะ เพราะสมัยนี้คงหาภาพแบบนั้นไม่ได้แล้ว” เฮียหมูเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย ก่อนร่ายยาวถึงความสนุกของคนทำโรงหนังยุคนั้นว่า นอกจากจะต้องแย่งชิงหนังดีมาฉายให้ได้ ยังต้องโปรโมตให้ดึงดูดความสนใจจากผู้คนมากที่สุดด้วย
“จำได้ว่าตอนนั้นเราดูแลสายหนังหรือคนวิ่งหนังดีมาก เพราะเราเป็นแค่จังหวัดเล็ก ๆ ต้องซื้อใจเขาให้หิ้วหนังดี ๆ มาให้ฉาย พอได้ค่าตั๋วแต่ละวันก็แบ่งให้เขาไป 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องโปรโมตก็ทำกันเต็มที่ มีรถแห่ไปรอบเมือง อย่างตอนที่หนังเรื่อง 18 มนุษย์ทองคำ ( The 18 Bronzemen ค.ศ.1976) เข้าฉาย ผมจ้างคนมาโกนหัว ถือกระบองลูกเสือ แต่งเป็นศิษย์เส้าหลิน แล้วทาตัวสีทองขึ้นรถแห่กันเลย ประกาศว่าวันนี้มีหนัง ชอว์บราเดอร์ส เรื่อง 18 มนุษย์ทองคำเข้าฉายที่เมืองทองรามานะพอเรื่องไอ้หนุ่มหมัดเมาก็จ้างคนมารำมวยจีนกันบนรถ เรียกคนไปดู ซึ่งคนก็แน่นทุกรอบบ้านผมมีโรงหนัง 2 โรงที่เชียงรายกับพะเยา ก็ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อดูแลทั้งสองที่”
รอยยิ้มของเฮียหมูเผยให้เห็นเมื่อเล่าถึงความเหน็ดเหนื่อยปนสนุกในยามนั้น ก่อนเสริมว่าหนังยอดฮิตที่ยอดขายตั๋วถล่มทลายในยุคนั้นมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น แม่นาค ซูเปอร์แมน แม่เบี้ย ฯลฯ หรือแม้แต่หนังดังยุค 90 อย่าง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว ก็สร้างปรากฏการณ์ทำเงินไม่น้อย และยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของแฟนหนัง ราวกับว่ายุคทองของโรงหนังเพิ่งจะผ่านพ้นไปไม่นานมานี้
เมื่อทุกสิ่งเปลี่ยนไป เหลือทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่า
ช่วงยุคทองของโรงหนัง Stand Alone ผู้คนยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วหนังในราคา 15-20 บาท หากเทียบกับราคาทองคำที่ขายกันบาทละ 400 บาท นับว่าสร้างรายได้ให้คนทำหนังและเจ้าของโรงหนังไม่น้อย และหากช่วงไหนว่างเว้นจากการฉายภาพยนตร์ โรงหนังก็ยังทำเงินด้วยการเปิดให้เช่าจัดคอนเสิร์ตหรืองานโชว์ตัวของศิลปินดัง ทว่าโลกของธุรกิจมีขึ้นก็ต้องมีลง เมื่อโลกของความบันเทิงเริ่มเปลี่ยนไป เกิดโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์สุดทันสมัยเข้ามาแทนที่ พร้อมกับเทคโนโลยีด้าน Home Entertainment ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงความบันเทิงได้ง่ายขึ้น บทบาทของโรงหนังStand Aloneอย่างเมืองทองรามาก็ค่อย ๆ ถูกลดลงจนต้องปิดตำนานไปในที่สุด
“หนังเรื่องสุดท้ายที่เข้าฉายในเมืองทองรามาคือ บางระจัน เมื่อ พ.ศ.2543 ฉายอยู่ประมาณ 10 กว่าวัน ทำรายได้ค่อนข้างดีเลย แต่เมื่อกลับมาพิจารณาแล้วก็เห็นว่าคงไปต่อไม่ไหว เพราะถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยี Home Entertainment ต่าง ๆ และเราก็เพิ่งเปิดโรงแรมพะเยานอร์เทิร์นเลค เมื่อ พ.ศ.2541 จึงตัดสินใจปิดตัวธุรกิจโรงหนังไป แต่ไม่คิดจะทุบทิ้ง เพียงแค่รื้อเก้าอี้ออก ขายเครื่องฉายหนังไป แล้วเปลี่ยนข้างในเป็นโกดังเก็บของ ส่วนข้างนอกทำเป็นโรงเรียนสอนศิลปะแทน”
หลังปิดตัวเมืองทองรามา เฮียหมูตัดสินใจคงโครงสร้างของโรงภาพยนตร์ไว้เช่นเดิม โดยแบ่งพื้นที่ให้เช่าเป็นฟาร์มนกนางแอ่น และสนามบีบีกัน ในขณะที่คิดหาทางปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่ไปด้วย ทั้งเคยมองว่าอาจจะเปลี่ยนเป็นโรงละคร หอประชุม หรือห้องประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งในจังหวัดยังไม่มี ทว่ายังมองภาพไม่ชัดว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน กระทั่งวันหนึ่งมีไอเดียจากฝากฝั่งศิลปะเข้ามาทำให้ฉุกคิด เมื่อ อาจารย์โป้ง-ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ อาจารย์ประจำสาขาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้ามาเสนอว่า อยากจัดนิทรรศการศิลปะของนักศึกษาในพื้นที่โรงหนังเดิม
“บอกตามตรงว่าพอเราเห็นภาพโรงหนังกลายเป็นสนามบีบีกันแล้วรู้สึกเสียดายมาก เพราะสภาพเละเทะไปหมด ข้าวของวางระเกะระกะ กระสุนยางเต็มพื้น จนแทบจะไม่เหลือเค้าของความเป็นโรงหนังอยู่เลย จนเมื่อคนทำย้ายออก ผมเลยส่ง Proposal งาน ‘พะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔’ ที่เคยจัดขึ้นให้เฮียหมูดู เพื่อขอใช้พื้นที่เมืองทองรามาให้เป็นเวทีปล่อยของสำหรับนักศึกษา ซึ่งพอเราเคลียร์ภายในให้กลับสู่สภาพเดิมอีกครั้ง ก็สามารถจัดนิทรรศการได้อย่างน่าสนใจทีเดียว” อาจารย์โป้ง ต้นคิดในการฟื้นชีวิตให้โรงหนังเก่าแห่งเมืองพะเยาเอ่ยถึงจุดเริ่มต้นของลมหายใจครั้งใหม่ของเมืองทองรามา ที่ทำให้ตำนานจากรุ่นปู่รุ่นพ่อกลับมาเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงอีกครั้งในฐานะพื้นที่ของคนรุ่นใหม่
ความหวังครั้งใหม่และกลับมาการฉายหนังอีกครั้งในรอบ 20 ปี
จาก “กรรมศิลป์” (KARMA SILP ART Thesis Exhibition) นิทรรศการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เมืองทองรามาเกือบจะได้มีส่วนร่วมในงานใหญ่ของแวดวงศิลปะพะเยาอย่าง Phayao Art & Creative Festival 2021 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โปรเจกต์เปลี่ยนโรงหนังเป็นพื้นที่ศิลปะต้องพับไปอย่างน่าเสียดาย ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเมืองทองรามาถูกใช้เป็นสถานที่ตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงของจังหวัด โดยจัดให้มีบรรยากาศเหมือนตีตั๋วเข้าโรงหนังเพื่อรำลึกถึงบรรยากาศแห่งความสุขในยามที่โรงภาพยนตร์ถูกระงับการให้บริการทั้งประเทศ
กระทั่งปลายปี พ.ศ.2564 หลังจากยุติการฉายหนังมานานกว่า 20 ปี ในที่สุด เมืองทองรามาก็มีโอกาสกลับมาทำหน้าที่ส่งมอบความสุขผ่านภาพยนตร์อีกครั้ง ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน : Taiwan Documentary Film Festival 2021ต่อด้วยเทศกาลภาพยนตร์สารคดีอเมริกัน: American Film Festivalภายใต้โครงการ American Film Showcase (AFS) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการกลับมาสร้างตำนานบทใหม่ในฐานะโรงหนัง Stand Alone ที่แม้จะไม่มีเครื่องฉายและจอขนาดใหญ่เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ยังคงเปี่ยมด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ที่หาไม่ได้ในโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์หรือการดูหนังผ่านจอที่บ้าน
มาถึงวันนี้ หากพิจารณาถึงทิศทางของเมืองทองรามาในอนาคต อาจาร์โป้งผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญในการฟื้นคืนชีวิตโรงหนังเก่าแห่งนี้ เผยว่า “ตั้งแต่ครั้ง Phayao Art & Creative Festival2021เราคิดอยากจะทำนิทรรศการถาวรเชิดชูเกียรติศิลปินสล่าเมืองพะเยาไว้ที่นี่ เพื่อให้คนทั่วไปได้ทำความรู้จักช่างฝีมือและช่างศิลป์ชาวพะเยา โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรงหนังและอีกส่วนเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ คือเป็นทั้งหอศิลป์เมืองพะเยาและพื้นที่สร้างสรรค์ในที่เดียวกัน ซึ่งด้วยทำเลที่ตั้งและขนาดของสถานที่ ผมมองว่าเมืองทองรามาเหมาะมากที่จะทำหน้าที่นี้” นั่นคือสิ่งที่นักสร้างสรรค์แห่งเมืองพะเยาวาดฝันไว้ ซึ่งไม่ต่างจากความต้องการของผู้เป็นเจ้าของที่ทิ้งท้ายว่า
“ผมจะภูมิใจมากถ้าในอนาคตมีหอศิลป์เกิดขึ้นที่นี่จริง ๆ และอาจจะเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉายหนัง จัดแสดงดนตรี จัดแสดงศิลปะจัดอีเวนต์ซึ่งก็คงต้องมองหาความเป็นไปได้กันต่อไป”