LOU HIEB SENG : โปรเจกต์ปลุกตึกเก่าในซอยประตูนกยูงให้ตื่น
Brand Story

LOU HIEB SENG : โปรเจกต์ปลุกตึกเก่าในซอยประตูนกยูงให้ตื่น

Focus
  • LOU HIEB SENG (โล้วเฮียบเส็ง) กำลังก้าวสู่พื้นที่สร้างสรรค์มุ่งประโยชน์เชิงสาธารณะ จากแรงกาย ใจ ทุน และมันสมองของสถาปนิกภายในผู้เป็นลูกหลานชาวชุมชน
  • ตามประวัติเดิมอาคารโล้วเฮียบเส็งหลังนี้คือ อาคารพาณิชย์ที่เคยเป็นร้านขายส่งน้ำตาลปี๊บสำคัญประจำย่านมาก่อน

ในบรรดาพื้นที่สร้างสรรค์นับร้อย ในสัปดาห์แห่งการออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2023 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ ใน ซอยประตูนกยูง อันแสนเก่าแก่ ใกล้ศูนย์กลางการค้าขายเขตพระนครชั้นในอย่างท่าเตียน มีพื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากที่เคยเป็นอาคารพาณิชย์อายุเกือบ 1 ศตวรรษที่หลับใหลนานหลายปี LOU HIEB SENG (โล้วเฮียบเส็ง) ในทศวรรษใหม่กำลังก้าวสู่พื้นที่สร้างสรรค์มุ่งประโยชน์เชิงสาธารณะ จากแรงกาย ใจ ทุน และมันสมองของสถาปนิกภายในผู้เป็นลูกหลานชาวชุมชน โดยใช้ชื่อสะกดภาษาอังกฤษที่ตั้งเลียนเสียงชื่อกิจการในภาษาจีนของอาคารพาณิชย์ที่เคยเป็นร้านขายส่งน้ำตาลปี๊บสำคัญประจำย่านมาก่อน

LOU HIEB SENG แอบเปิดตัวทางหน้าแฟนเพจอย่างเงียบๆ ในวันสุดท้ายของเดือนกันยายนปี 2565 ด้วยภาพที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชื่อที่ใช้ฟอนต์ตัวอักษรสีแดงเลือดนกกลางพื้นขาว และค่อยทยอยส่งข่าวคราวชวนคนในแวดวงเล็กๆ มาร่วมกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆพร้อมกับค่อยๆ เผยโฉมมุมนั้นจุดนี้ของตัวพื้นที่ แต่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสุดท้ายของปี 2565 ภาพโปสเตอร์ที่โดดเด่นด้วยบันไดโลหะสีเงินใหม่เอี่ยมขัดวาวกลางผนังห้องที่เต็มไปด้วยร่องรอยของกาลเวลาได้ดึงความสนใจของใครหลายคน ต่างฉงนว่าโปรเจกต์ที่น่าจะดูแสนเท่ห์แห่งนี้มีไว้ทำอะไรกันแน่

สิ่งที่ จูน-ยลภัทร รุจิธรรมกุล กำลังสร้างบริบทใหม่ให้กับอาคารเก่า ตามศัพท์ที่มักใช้ในหมู่นักอนุรักษ์เมืองว่า regenerate ไม่ใช่ความพยายามที่แปลกใหม่ มีทั้งที่ยังมีลมหายใจต่อและที่ปิดประตูแบบแนบสนิทไป Sarakadee Lite ชวนให้มาลองฟังว่า LOU HIEB SENG มีอะไรที่กรณีอื่นไม่มี รวมถึงในฐานะเป็นตัวแทนใหม่ล่าสุดอันหนึ่งของกระแสธารการพัฒนาเมืองโดยอาศัยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของยุคต้นทศวรรษ 2020

จูน-ยลภัทร รุจิธรรมกุล และคุณพ่อในบ้าน โล้วเฮียบเส็ง

จากเด็กวิ่งในซอย สู่คนคอยร่วมผลักดัน

“จูนเองเคยอาศัยอยู่ช่วงหนึ่งหลังเกิดที่ตึกแถวนี้พอหลังจากย้ายไปอาศัยข้างนอก เนื่องจากครอบครัวขยับขยาย ก็ได้แวะมาเยี่ยมอากงช่วงวันหยุดบ้าง มานอนเล่นยาวหลายวันบ้างช่วงปิดเทอม พอคุ้นเคยในระดับหนึ่ง มีห่างหายไปบ้างช่วงเข้าสู่วัยคนทำงาน”

อดีตเด็กท่าเตียนย้อนความผูกพันของเธอกับสถานที่ให้ฟังพร้อมย้อนเล่ารากของครอบครัวที่เป็นเหมือนรากของอาคารเก่าหลังนี้“หลังจากที่อากง ซึ่งอาศัยและใช้ตึกแถวแห่งนี้ทำค้าขายส่งน้ำตาลปี๊บมาอย่างยาวนานและถือเป็นเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่งของท่าเตียน เพิ่งจะจากไปเมื่อปีกว่าๆ ในวัยเกือบ 96 ปี ทำให้ห้องนี้ว่างลงหลังจากเลิกใช้ห้องนี้ค้าขายมาหลายปีเพื่อใช้เพียงการอยู่อาศัยเป็นหลัก ทำให้คุณพ่อของจูนเอง (คุณยืนยง รุจิธรรมกุล) ได้รับแบ่งกรรมสิทธิ์การเช่าแนวอาคารทั้งหมดจากกงสีมาส่วนหนึ่งเป็นห้องหัวมุมที่มีลานกลางบ้านพอสมควร

และด้วยความที่ใฝ่ฝันอยากย้ายมาอยู่กลางเขตเมืองเก่าถิ่นย่านที่เคยวิ่งไปมาในวัยเยาว์ ประกอบกับเงื่อนไขที่มีงบประมาณจำกัดและความสนใจในการออกแบบควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ในเมือง หลายต่อหลายโจทย์ก็เข้ามาในสมองของคนที่เคยร่วมจัดกิจกรรมพัฒนาพื้นที่เมืองมาก่อนอย่างยลภัทร แน่นอนว่าสถาปนิกสาขาการออกแบบภายในอย่างยลภัทรก็ฝันที่จะมีพื้นที่ที่ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ หลังจากตัดตัวเลือกอย่างการทำร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ค้าขายทำกำไร และให้เช่าออกไป ความคิดที่จะทำเป็น creative space ก็กระโดดเข้ามา ด้วยข้อแม้ที่ว่าจะไม่ออกจากงานประจำ และไม่ต้องลงทุนมากจนเกินไป

จากอดีตเด็กท่าเตียน และผันตัวไปเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงไปในฐานะกึ่งคนนอกมานาน ยลภัทรก็อยากทำอะไรให้ชุมชนบ้างโดยวางเอาไว้ว่านอกจากเป็นพื้นที่ให้ร่วมจัดกิจกรรมสร้างสรรค์แบบอเนกประสงค์แล้วLOU HIEB SENG ยุคใหม่ จะทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชน คอยเชื่อมต่อระหว่างคนท่าเตียนกับคนภายนอก

เพื่อนบ้านที่เคยรู้จัก และรอรู้จัก

หลังจากได้ขอทางครอบครัวลุยกับโปรเจกต์นี้และได้เริ่มย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในทุกช่วงสุดสัปดาห์เพื่อออกแบบและคิดแผนธุรกิจบนห้องนอนชั้น 2 พร้อมกับการดูแลการซ่อมแซมอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปี 2565 ยลภัทรยังได้ทำการสำรวจและเข้าหาชุมชน ทั้งเพื่อแนะนำตัวเองและเพื่อหาไอเดียในการรังสรรค์พื้นที่ต่อไปในอนาคต โดยอาศัยอัธยาศัยและความนบนอบเป็นสำคัญ เพื่อนร่วมชุมชนรุ่นก่อนหลายคนพอจะจำเธอได้บ้าง หรือไม่ก็อาศัยประสบการณ์วัยเด็กมาอ้างอิงบ้าง ตัวช่วยที่ดีที่สุดก็คือคุณพ่อของเธอเองรวมถึงอากงที่นับว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือของประชาคมท่าเตียนคนสำคัญผู้หนึ่ง ซึ่งอากงเองก็มักแวะไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่ทำการชุมชนซึ่งอยู่ไม่ห่างไปนักจากตัวร้านประหนึ่งเป็นบ้านหลังที่ 2 มานับเป็นเวลาหลายสิบปี

ในส่วนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แม้ยลภัทรจะพบว่าส่วนมากไม่ใช่คนท่าเตียนดั้งเดิม และยังไม่มีภาคีระหว่างกลุ่มธุรกิจใหม่เหล่านี้ แต่เธอก็ค่อยๆ เสาะหา และค่อยๆ พบคนรุ่นเดียวกัน กลุ่มธุรกิจที่ลักษณะคล้ายกัน และร่วมเส้นทางสายอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่เมืองอย่างเธออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ Ports เพื่อนบ้านร่วมย่าน และกลุ่มของชาวสถาปัตย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณปากคลองตลาด และเริ่มจับมือกันเป็นภาคีจริงจังในช่วง Bangkok Design Week2023 นี้

รอยกะเทาะไหนไป รอยสนิมไหนคงอยู่

“ยิ่งรื้อฝ้าเพดานออก หรือสกัดผิวผนังมากเท่าไรก็ยิ่งพบประวัติศาสตร์และเสน่ห์ของการใช้สอยอาคารพาณิชย์กลางเก่ากลางใหม่ที่ดูธรรมดาๆ จากภายนอกหลังนี้”

เป็นคำบอกเล่าของยลภัทรผู้เคยคิดอยากเรียนต่อปริญญาโททางด้านอนุรักษ์อาคารและการพัฒนาเมืองแต่สอบไม่ติด แต่กลับได้ลุยลงเรียนปฏิบัติภาคสนามกับโครงการตัวเองหลักการที่เธอถือไว้ตลอดมาก็คือพยายามเก็บร่องรอยกลิ่นอายของความเป็นตึกแถวเก่าท่าเตียนให้ได้มากที่สุดและซ่อมแซมแบบไม่สิ้นเปลืองจนเกินไป โดยยึดหลักการออกแบบจากบริบทที่ตั้งของสถาปัตยกรรมและความปลอดภัยในเชิงโครงสร้างอาคาร โชคดีที่มีอาจารย์และเพื่อนฝูงในแวดวงสถาปนิกและวิศวกรมาช่วยตรวจสอบและแนะนำ

ท่ามกลางสิ่งใหม่ที่ดูโดดเด่นที่ยังมีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น ที่สะดุดตาผู้มาเยือนมากที่สุดคงไม่พ้นตัวบันได ที่ออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจากกิจการการขายน้ำตาลปี๊บของอากงสั่งทำขึ้นมาใหม่ เนื่องจากแบ่งห้องกับญาติแบบกั้นผนังไปแล้วทำให้ขาดบันไดที่จะใช้ไต่ไปชั้น 2เพื่อความสะดวกให้ขึ้นได้ง่ายและปลอดภัยจึงทำเป็น stand alone มาประกบกับโครงสร้างเดิม โดยวัดขนาดให้เข้ากับแนวช่องบันไดเดิมด้านริมติดผนังอาคารที่เจอระหว่างการสำรวจอาคารกับ ผศ.ดร. พีรยา บุญประสงค์ ที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมของโปรเจกต์นี้ และไม่ลืมออกแบบเหลี่ยมมุมให้สามารถก้าวขึ้นทีละขั้นได้ตามหลัก ergonomics ซึ่งพอเลาะฝ้าเพดานออกกลับพบว่าพื้นไม้ชั้น 2 นั้นมีลักษณะเนื้อไม้และแนวเรียงต่างจากช่องอื่นๆ สันนิษฐานได้ว่าคงเป็นช่องไว้เปิดส่งของขึ้นไปเก็บชั้นบนตามขนบการใช้สอยอาคารพาณิชย์ยุคก่อนที่มักมีชั้นลอยที่เรียกว่าเหล่าเต๊งไว้เป็นคลังสินค้าย่อมๆ

LOU HIEB SENG

“ที่ผ่านมาไม่เคยทำงานอนุรักษ์เลยค่ะจับแต่งานตกแต่งภายในแนวพื้นที่ commercial อย่างโรงแรม ร้านอาหารในส่วนการตกแต่งคงเอาเท่าที่มีไปก่อน น่าเสียดายที่ปี๊บสังกะสีเดิมที่เคยมีอยู่ทุกมุมบ้านแทบไม่เหลือแล้ว แต่ก็พยายามหยิบจับสิ่งที่เท่าที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของ บานเหล็กที่ใช้ขัดประตู โต๊ะเก้าอี้เดิม แม้กระทั่งพื้นชั้นล่างที่เป็นปูนขัดแบบโบราณสีแดง มาก่อให้เกิดหน้าที่ใหม่ และแอบเล่าเรื่องราวเก่าไปด้วยพร้อมๆ กันโดยจะเปิดชั้นล่างให้เป็นพื้นที่เปิดทั้งหมด เริ่มทำหน้าที่ในช่วงดีไซน์วีคเลย และมีห้องน้ำกับห้องครัวด้านหลังที่พอใช้ได้ด้านหลัง ที่รอปรับปรุงให้สมบูรณ์พร้อมกับระบบไฟเต็มชุด และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกประกอบกิจกรรม ที่จะลุยเต็มที่ช่วงถัดไป”

LOU HIEB SENG

หลังแง้มเปิดประตูเหล็ก

คงพอสังเกตกันบ้างว่าท่าเตียนกำลังรอวันปรุงโฉม ทั้งท่าเรือใหม่ ทั้งเจ้าของกิจการใหม่ๆ รวมถึงบริเวณใกล้เคียงอย่างโซนท่าช้างโฉมใหม่ที่ทำเสร็จมาพักใหญ่เพียงแต่รอให้มีผู้ประกอบการมาเติมเต็มพื้นที่ หรือท่าราชินีที่ทำอาคารใหม่พร้อมจุดชมวิวเสร็จแล้ว รวมถึงการสัญจรรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นบริเวณท้องสนามหลวงหลังเปิดประเทศเต็มที่ อย่างไรก็ตามนอกเหนือไปจาก Museum Siam ที่เป็นเสาหลักของความเป็นพื้นที่สร้างสรรค์มาครบทศวรรษ เขตพระนครยังขาดสีสันกิจกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ให้มีบทบาทมากกว่าจุดรวมของการมากินดื่มเที่ยว โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน บทบาทของ LOU HIEB SENG จึงดูท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

LOU HIEB SENG

“ทางครอบครัวมีไอเดียเยอะมากในการดูแลบ้านหลังนี้ แต่จูนขอโอกาสจากครอบครัวเพื่อนำไอเดียมาดูแลบ้านอากงในรูปแบบใหม่ซึ่งพัฒนาพื้นที่และออกแบบจากคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ชุมชนด้วยโมเดลธุรกิจที่ยืดหยุ่น โดยยังคงเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวด้วยบางส่วนซึ่งนอกจากที่นี่จะเป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงงานออกแบบแล้ว ก็สามารถใช้สอยพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อปศิลปะงานฝีมือต่างๆ การอบรมเสวนา ประชุมกลุ่มย่อย หรือแม้แต่ที่ต้องยืดเส้นสายเป็นกลุ่มอย่างโยคะ โดยจะจัดเตรียมโต๊ะเก้าอี้ไว้

สำหรับในช่วง Bangkok Design Week 2023 แกนหลักคือการแสดงงานออกแบบจากนักออกแบบเชิงทดลองห้าท่าน ​ในแนวคิด old merges new ที่ชั้นล่างเป็นหลักซึ่งไม่ได้เน้น product design ที่เนี้ยบเฉี่ยว แต่เลือกที่จะบ่งบอกเรื่องราว โชว์รอยตะเข็บของการเย็บของความเก่าและความใหม่เข้าไว้ด้วยกัน

“โจทย์ในการจัดวางคือเหมือนให้คนมาดูบ้านเรา ดูสิ่งของที่ออกแบบใหม่จากของเก่าที่เรามีและอาจจะเป็นแรงบันดาลให้หลายๆ บ้านกลับไปค้นเรื่องราวของครอบครัวมาต่อยอดได้ อีกทั้งผลงานของนักออกแบบที่จัดแสดงบางชิ้นเปิดขายในงานด้วย ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถคุยกับดีไซเนอร์ตัวต่อตัวในงานได้เลย”

ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก: ธรณิศ ปรีชาเกรียงไกร

LOU HIEB SENG

Fact File

ในช่วง Bangkok Design Week2023 ทาง LOU HIEB SENG ได้จับมือกับภาคีร่วมย่านและใกล้เคียงในเขตพระนคร อย่าง Ports, Sunflower/f และ Flower Market Goonies จัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยได้เปิดทำการทุกวันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเทศกาลนี้ในเวลา 11.00-20.00น. สำหรับวันเสาร์และอาทิตย์ และในเวลา 13.00-22.00น. สำหรับวันธรรมดา ซึ่งหลังจากนี้ก็คอยรอฟังข่าวดีว่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้างในพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ของท่าเตียนแห่งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจจะใช้สอยพื้นที่สามารถติดต่อและติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/louhiebseng


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ