เปิดเช็กลิสต์ 6 ร้านอาหารนานาชาติ ระดับตำนานในกรุงเทพฯ
Brand Story

เปิดเช็กลิสต์ 6 ร้านอาหารนานาชาติ ระดับตำนานในกรุงเทพฯ

Focus
  • ออกตามหาร้านอาหารนานาชาติเจ้าแรกๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อิตาลี จีน อินเดีย เวียดนาม
  • ถ้าไม่นับอาหารญวณ ลาว จีน ที่เข้ามาพร้อมผู้คนในยุคการสร้างเมืองตอนต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ไทยเปิดประเทศอย่างเต็มตัว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์อาหารที่ทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมของอาหารการกินระหว่างตะวันตกกับไทยอย่างชัดเจน

ในฐานะเมืองหลวง กรุงเทพฯ ไม่ได้มีเพียงร้านอาหารไทยจากท้องถิ่นทั่วประเทศให้ได้เลือกลิ้มรสเท่านั้น เสน่ห์อาหารการกินที่บ่งบอกประวัติศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดีคือ ร้านอาหารนานาชาติ ที่นักกินสามารถเลือกลิ้มรสดั้งเดิมของอาหารจากประเทศต่าง ๆ ได้หลากหลายตั้งแต่อาหารแถบหิมาลัย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ไปจนถึงอาหารของประเทศเมืองหนาวแถบสแกนดิเนเวีย

รสความหลากหลายของ ร้านอาหารนานาชาติ ไม่ได้เพิ่งมีพร้อมยุคโลกไร้พรมแดน ถ้าไม่นับอาหารญวณ ลาว จีน ที่เข้ามาพร้อมผู้คนในยุคการสร้างเมืองตอนต้นรัตนโกสินทร์แล้ว หากย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ไทยเปิดประเทศอย่างเต็มตัว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์อาหารที่ทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมของอาหารการกินระหว่างตะวันตกกับไทยอย่างชัดเจนและเกิด ร้านอาหารนานาชาติ มากมาย สำหรับใครที่ต้องการตามรอยประวัติศาสตร์ร้านอาหารนานาชาติเจ้าแรก ๆ ในไทยที่เสิร์ฟรสดั้งเดิมพร้อมประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ อย่ารอช้าที่จะออกเดินทางไปลิ้มลอง #สำรับแรกรส ซึ่งได้ปักหมุดเช็กลิสต์ 6 ร้านอาหารนานาชาติ ที่ติดลิสต์ระดับตำนานในกรุงเทพฯ ไว้ให้ไปตามรอยความอร่อยกัน

ร้านอาหารนานาชาติ

01 “เลอ นอร์มังดี บาย อลัง รูซ์” ตำนานอาหารฝรั่งเศสที่มาพร้อมโรงแรมหรูแห่งแรกในไทย

Story Behind: ว่ากันว่าถ้าอยากเห็นย่านธุรกิจการค้าที่ทันสมัยที่สุดในเมืองบางกอกยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ให้มาที่โรงแรมโอเรียนเต็ล หรือชื่อในปัจจุบันคือ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมหรูแห่งแรกของกรุงเทพฯ และของประเทศไทยย้อนประวัติศาสตร์โรงแรมได้กว่า 145 ปี ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มมีการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายอย่างเต็มตัวและมีการเปิดสถานกงสุลในไทยอย่างเป็นทางการ

ร้านอาหารนานาชาติ
บรรยากาศร้านสมัยก่อน

ในขณะนั้นมีกัปตันเรือชาวเดนมาร์ก 2 คนที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเมืองบางกอกนี้มีนักเผชิญโชค พ่อค้า นักเดินเรือเข้ามามากมาย แต่กลับไม่มีสถานที่ให้พักแรมที่ได้มาตรฐาน ทั้งสองจึงได้สร้างโรงแรมแห่งแรกในเมืองบางกอกขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรก พร้อมสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นอันหมายถึงดินแดนตะวันออก ซึ่งการเกิดขึ้นของโรงแรมโอเรียนเต็ลไม่ใช่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการโรงแรมในไทยเท่านั้น ในส่วนของร้านอาหารเองยังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแจ๊สบาร์แห่งแรกในไทยในชื่อ Bamboo Bar รวมทั้งการเปิดร้านอาหารฝรั่งเศสไฟน์ไดน์นิง “Normandie Grill” ในปี พ.ศ. 2501 ก่อนจะเปลี่ยนโฉมเป็น Le Normandie ใน พ.ศ.2512 และสู่ประสบการณ์ใหม่ “เลอ นอร์มังดี บาย อลัง รูซ์” (Le Normandie by Alain Roux) ซึ่งห้องอาหารแห่งนี้ไม่ใช่เพียงเป็นตำนานอาหารฝรั่งเศสรสต้นตำรับ  ทว่าในเรื่องมาตรฐานของรสชาติยังการันตีด้วยรางวัลมิชลินสตาร์ระดับ 2 ดาวตั้งแต่ปีแรกที่มีการเปิดตัวมิชลินไกด์ประจำประเทศไทย

ร้านอาหารนานาชาติ
จานชามสมัยแรกๆ ที่ยังคงเก็บไว้

Signature Dish: การเปิดตัวของร้านอาหารฝรั่งเศสแห่งแรกในไทย Normandie Grill เป็นเหมือนการตอกย้ำความสำคัญของเมืองบางกอกในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจ สามารถดึงดูดผู้คนจากต่างชาติให้เดินทางเข้ามา อีกทั้งยังมีโรงแรมที่โด่งดังกลายเป็นจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก มีการคมนาคมที่สามารถขนส่งวัตถุดิบจากซีกโลกตะวันตกมายังตะวันออก และสำหรับตำนานบทใหม่ในทศวรรษที่ 6 ของ เลอ นอร์มังดี บาย อลัง รูซ์ นี้มี เชฟอลัง รูซ์ (Alain Roux) เชฟดังระดับโลกจากห้องอาหาร The Waterside Inn ซึ่งเป็นห้องอาหารฝรั่งเศสนอกประเทศฝรั่งเศสที่ครองรางวัลมิชลินสตาร์ระดับ 3 ดาว ต่อเนื่องถึง 38 ปี มาเป็นแม่ทัพใหญ่ในการสร้างสรรค์รสฝรั่งเศสตำรับคลาสสิกที่ดูเหมือนเป็นเมนูเรียบง่าย หากแต่เชฟใช้เทคนิคและศิลปะการปรุงอาหารอย่างประณีต เน้นการเลือกใช้แต่วัตถุดิบคุณภาพดีเยี่ยมและเทคนิคการปรุงที่ช่วยชูรสชาติวัตถุดิบของอาหารจานนั้น ๆ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

ร้านอาหารนานาชาติ

เลอ นอร์มังดี บาย อลัง รูซ์ มีให้เลือกทั้ง Tasting Menu ลิ้มรสครบทุกสูตรอาหารที่ตกทอดมาเป็นตำรับตระกูลรูซ์ หรือจะเป็นอาหารจานเดียวก็มีไฮไลต์เป็น ผัดแคนาเดียนล็อบสเตอร์ในซอสไวท์พอร์ตเสิร์ฟพร้อมผักที่มีรสขิงซ่อนอยู่ ซึ่งนี่เป็นเมนูสุดคลาสสิกโดย มิเชล รูซ์ ผู้เป็นพ่อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทางมายังเอเชีย นอกจากนี้ยังมีเมนูเนื้อกระต่ายย่างเสิร์ฟในซอสเหล้าอาร์มาญัก เป็ดย่างด้วยสมุนไพรเครื่องเทศพร้อมด้วยชัทนีย์ลูกพลัม และที่พลาดไม่ได้เลยคือขนมหวานฝรั่งเศสแท้อย่าง ซูเฟล่ที่นำไปอบพร้อมผลลูกพลัมสด

ที่ตั้ง: โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 12.00-14.30 น.และ 19.00-22.00 น. โทร. 02-659-9000

02 “Royal India” กว่า 62 ปีของตำนานร้านอาหารอินเดียเจ้าแรกในไทย

Story Behind: นึกถึงย่านอินเดียในไทย แน่นอนว่า Little India หรือ พาหุรัด คือชื่อแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง แต่ทราบหรือไม่ว่าเดิมทีย่านนี้คือที่อยู่อาศัยของชาวญวณมาก่อน ครั้นมีการตัดถนนพาหุรัดในรัชกาลที่ 5 ชาวอินเดียที่ค้าขายผ้าอยู่แถบบ้านหม้อและวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) จึงได้ย้ายถิ่นการค้ามาย่านนี้กันมากขึ้น เพราะถนนได้กลายมาเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ และนั่นจึงทำให้เกิดกิจการร้านอาหารอินเดียแห่งแรกในกรุงเทพฯ และประเทศไทยขึ้นในชื่อ Royal India ซึ่งเปิดประตูทำกิจการร้านอาหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 โดยมีเจ้าของร้านเป็นชาวอินเดียที่อพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศอินเดียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ตัวร้าน Royal India ตั้งอยู่ในตรอกเล็ก ๆ ใจกลางพาหุรัด ทั้งยังใกล้กับย่านค้าขายทางน้ำที่ครึกครื้นที่สุดในยุคนั้นอย่างคลองโอ่งอ่าง สะพานหัน หน้าร้านมีตู้ใส่ขนมหวานอินเดียหลากสีสันที่นิยมนำไปไหว้บูชาเทพตามความเชื่อของฮินดู ส่วนด้านในมีโต๊ะให้นั่งราว 10 ตัว ในช่วงกลางวันลูกค้าทั้งชาวอินเดียและไทยแน่นขนัดจนต้องยืนต่อคิวล้นมาด้านหน้าร้าน ซึ่งมีครัวแบบเปิดอยู่ด้านข้าง ให้คนยืนรอคิวได้เรียกน้ำย่อยกับกลิ่นหอมของไก่ทันดูรีย่างในเตาทันดูร์แบบดั้งเดิม พร้อมเพลิดเพลินไปกับจังหวะนวดแป้งของเชฟซึ่งยังใช้เตาโอ่งดั้งเดิมของอินเดียย่างแป้งโรตีนาน

Signature Dish: Royal India มีทั้งอาหารอินเดียแบบจานเดียว เช่น ไก่ย่าง แพะย่าง รวมทั้งปลา กุ้ง นำมาแกงกับเครื่องเทศ หรือหากเป็นมังสวิรัติก็มีแกงถั่วประเภทต่าง ๆ ให้เลือกกินคู่แป้งนานหรือโรตี แต่ถ้าใครเพิ่งเคยมาร้านนี้และอยากลิ้มลองหลายเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน แนะนำให้สั่งชุดอาหารถาดที่เรียก Thali มีทั้งแบบเซตเนื้อสัตว์และไม่มีเนื้อสัตว์ให้ได้เลือก ใครที่เพิ่งเริ่มต้นกินอาหารอินเดียแนะนำให้เริ่มที่ Non Vegetarian Thali ซึ่งมีให้เลือกระหว่างไก่ย่างทันดูรี หรือประเภทแกงคือ แกงกระหรี่ไก่ แกงกะหรี่แพะ แกงเจ ส่วนแป้งก็เลือกได้ว่าจะเป็นโรตี นาน หรือปาปาดัมที่ลักษณะคล้ายข้าวเกรียบ และที่หอมอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อคือ “ข้าวผัดยี่หร่า” ก่อนจะตบท้ายสำรับอินเดียแบบชาวอินเดียแท้ ๆ ด้วยขนมหวานรสชาติดั้งเดิมที่มีขั้นตอนการทำแสนยุ่งยากอย่าง “ราสมาไล” ชีสโฮมเมดเสิร์ฟเย็นกินคู่กับนมสดโรยหน้าด้วยพิสตาชิโอ เป็นอันครบรสครัวอินเดียในย่าน Little India แห่งเมืองกรุงเทพฯ

ที่ตั้ง: ถนนจักรเพชร (เดินเชื่อมมาจากคลองโอ่งอ่างได้) กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 10.00-22.00 น. โทร.02-221-6565

03 Hanayaอาหารญี่ปุ่นที่เปิดตำนานพร้อมย่านเศรษฐกิจสี่พระยา

Story Behind: ฮานาย่า (Hanaya) ร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่ยังคงตั้งอยู่ในทำเลเดิมคือย่านสี่พระยามากว่า 83 ปี ประวัติศาสตร์ของร้านเริ่มจากรุ่นตายายของครอบครัว วาตานุกิ (Watanuki) ที่อพยพมาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเกิดสงครามก็ได้มีทหารและพลเรือนญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านเจริญกรุง บางรัก และสี่พระยา ซึ่งกลายเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญในยุคนั้น

คุณตาคุณยายแห่งตระกูลวาตานุกิได้ริเริ่มเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเจ้าแรกในกรุงเทพฯ ขึ้น เป็นรสชาติอาหารญี่ปุ่นแบบชาวเมืองอาโอชิมะ (Aoshima) ทางภาคใต้ ซึ่งมีรสเค็มและหวานชัดเจน บวกกับรสชาติอูมามิที่ความกลมกล่อมได้มาจากวัตถุดิบอย่างปลาแห้ง สาหร่ายคอมบุ และเห็ดหอมแห้ง นั่นจึงทำให้อาหารญี่ปุ่นยุคแรกในไทยถูกปากคนกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน โดยตำรับอาหารของฮานาย่าเน้นไปที่ความสดของวัตถุดิบ มีทั้งนำเข้าจากญี่ปุ่นและวัตถุดิบในไทย โดยเฉพาะเมนูประเภทปลาดิบนั้นส่งตรงจากญี่ปุ่นมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โยชิโอะ วาตานุกิ

ปัจจุบันฮานาย่าได้รับการสืบทอดสู่ทายาทรุ่นที่ 3 คือ โยชิโอะ วาตานุกิ ผู้เป็นทั้งเชฟและผู้บริหาร ภายในร้านให้บริการที่นั่งแบบสากลเป็นโต๊ะ เก้าอี้ และห้องส่วนตัวสไตล์ญี่ปุ่นแบบนั่งพื้นบนเสื่อทาทามิ พร้อมบรรยากาศวิวนอกหน้าต่างให้ได้ชมสวนหินสไตล์เซน รวมถึงที่นั่งหน้าเคาน์เตอร์แบบครัวเปิดที่ให้ได้เห็นเชฟกำลังปรุงอาหารญี่ปุ่นกันชัด ๆ นอกจากนี้ทางร้านยังทำพื้นที่ทางเข้าเป็นทางลาดเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ใช้รถเข็นสามารถเข้ามาใช้บริการในร้านได้อย่างสะดวกอีกด้วย

Signature Dish: ฮานาย่ามีอาหารหลากหลายกว่า 300 เมนู มีทั้งเมนูดั้งเดิมและเมนูร่วมสมัยที่ยังคงรสชาติแบบดั้งเดิมของครอบครัว ครบทั้งซาชิมิ ซูชิ เมนูเส้นอุด้ง โซบะ ราเมน เมนูชาบูหม้อไฟ และปลาทะเลตามฤดูกาลที่เป็นไฮไลต์ เมนูแนะนำเริ่มจาก มากุโนะอุจิ เบนโตะ” เซตเบนโตะที่มีครบทั้งข้าว ซุป เนื้อปลา และผักดอง ตามวัฒนธรรมการกินพื้นฐานของชาวญี่ปุ่น แต่สำหรับ มากุโนะอุจิ เบนโตะ มีทั้งแบบธรรมดาไม่มีปลาดิบและแบบพิเศษเสิร์ฟเนื้อปลากะพงขาว

ส่วนเมนูปลาดิบรวมมีทั้งเซตปลานำเข้าจากทะเลญี่ปุ่นและเซตโลคัล (Local) ที่ใช้วัตถุดิบปลาสดจากท้องทะเลไทยอย่างปลาโอ ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาช่อนทะเล และหมึก นอกจากนั้นยังมีเมนูในหมวดอาหารทะเลดองซีอิ๊ว แนะนำหมึกหิ่งห้อยดองซีอิ๊วซึ่งเป็นหมึกตัวเล็กเรืองแสงสีฟ้าจากทะเลในจังหวัดโทยามา

หากถามหาเมนูดั้งเดิมตั้งแต่ยุคบุกเบิก ต้องสั่ง แคลิฟอร์เนียโรล ซึ่งเป็นสูตรเดิมของฮานาย่า สอดไส้ด้วยแอปเปิลแดง ที่สืบเนื่องจากสมัยเกือบร้อยปีก่อนที่เมืองไทยยังไม่มีอะโวคาโดอย่างที่นิยมใช้ในเมนูแคลิฟอร์เนียโรลยุคปัจจุบัน ส่วนเมนูที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นแต่อยากแนะนำคือ ตับปลาอังโก หรือ ตับปลามังก์ฟิช ที่นี่มีเสิร์ฟทั้งตับปลานึ่งสุกกินคู่กับซีอิ๊วญี่ปุ่น และซูชิตับปลาอังโกที่ให้เนื้อเนียนแน่นคล้ายตับห่าน ทว่าเป็นผลผลิตตามธรรมชาติจากท้องทะเล

ด้านของหวานปิดท้ายต้องลิ้มลองเมนูญี่ปุ่นดั้งเดิมอย่าง “โมจิถั่วแดง” ซึ่งเป็นแป้งโมจิย่างเสิร์ฟกับถั่วแดงต้มน้ำตาล หรือจะเป็นพุดดิ้งชาเขียว และเมนูที่เพิ่มใหม่อย่าง “ซาซาคัสตาร์ด” เนื้อแป้งโมจิใสไส้คัสตาร์ดห่อด้วยใบไผ่ญี่ปุ่น เป็นอันปิดท้ายรสญี่ปุ่นในร้านญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เสิร์ฟประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ยุคความรุ่งเรืองของย่านเศรษฐกิจย่านสี่พระยาไปพร้อมกัน

ที่ตั้ง: ถนนสี่พระยา กรุงเทพฯ (เดินจากไปรษณีย์กลางบางรักได้)

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 11.30-14.00 น. และ 17.30-22.00 น. โทร.02-233-3080

04 “เลี่ยวเลี่ยงเซ้ง” ครัวพื้นบ้านอาหารแต้จิ๋ว ไอศกรีมเจ้าแรกแห่งราชวงศ์ 

Story Behind: เลี่ยวเลี่ยงเซ้ง ชื่อนี้เสิร์ฟตำรับอาหารสูตรดั้งเดิมของครอบครัว แซ่เลี่ยว ชาวจีนแต้จิ๋วที่ลงเรือโล้สำเภาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน มาตั้งถิ่นฐานในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เลี่ยวเลี่ยงเซ้งก่อตั้งโดย นายกวางสูง แซ่เลี่ยว หนุ่มวัย 16 ปีโดยใน พ.ศ. 2435 นายกวางสูงได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์และพระราชทานตึกแถวย่านราชวงศ์จาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้เปิดร้านอาหารเริ่มจากการทำ “ไอศกรีม” และกลายเป็นตำนานร้านไอศกรีมแห่งแรกในสยาม ซึ่งในยุคนั้นน้ำแข็งที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำไอศกรีมกินสู้อากาศร้อนยังต้องนำลงเรือมาจากประเทศสิงคโปร์ 

เลี่ยวเลี่ยงเซ้งสร้างชื่อและกลายเป็นตำนาน “ไอศกรีมราชวงศ์” ทั้งยังได้ปรากฏชื่อในนิยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต โดยเอกลักษณ์ของเลี่ยวเลี่ยงเซ้งคืออาหารจีนรสดั้งเดิม สืบทอดสูตร รสชาติ และวิธีการปรุงมาจากรุ่นอาม่าอากง  โดยเฉพาะเรื่องการใช้ไฟเตาถ่าน การอบหม้อดิน และการนึ่ง ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของครัวอาหารจีนแต้จิ๋ว นอกจากนี้ทางร้านยังให้ความสำคัญด้านวัตถุดิบโดยการใช้ “บะหมี่ไข่” ทำเอง ซึ่งได้สืบทอดสูตรและรสชาติจากรุ่นอากงคือ นายกวางสูง มาถึงรุ่นปัจจุบันที่สืบทอดโดยทายาทรุ่นที่ 4 วัย 20 ต้น ๆ ที่ได้ฝึกฝนเทคนิคการครัวฉบับจีนแต้จิ๋วจากที่บ้าน พร้อมยึดคติการทำร้านอาหารของเลี่ยวเลี่ยงเซ้งที่บอกต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานว่า “อะไรที่กินได้ มันถึงจะขายได้ อะไรที่ไม่กล้ากินอย่าขาย” 

ปัจจุบันร้านเลี่ยวเลี่ยงเซ้ง ย้ายจากทำเลเดิมย่านราชวงศ์ มาตั้งอยู่บนถนนพระราม 4 ใกล้วงเวียน 22 กรกฎา แต่ยังคงเสิร์ฟตำรับอาหารและเมนูอาหารจีนพื้นบ้านที่เปรียบได้กับ “เมนูข้าวแกง” ของชาวจีนแต้จิ๋วดั้งเดิม 

Signature Dish: เมนูอาหารของที่นี่เป็นเมนูแบบครัวจีนแต้จิ๋วรสดั้งเดิมที่มีการปรุงอย่างพิถีพิถันและใช้วัตถุดิบทำเอง เมนูไฮไลต์ที่ลูกค้าบอกต่อกันรุ่นต่อรุ่น ได้แก่ อีหมี่ หรือ ผัดบะหมี่ไข่กรอบราดแฮมสับ ขาห่านอบหม้อดิน ออส่วน ข้าวอบเผือกแบบแต้จิ๋ว บ๊ะซง หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อสับสูตรแต้จิ๋ว ตาก๋วย หรือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่หน้าเนื้อหรือหมู ผัดผงกะหรี่ ขนมจีบไส้โบราณสูตรแต้จิ๋ว ไปจนถึง “เมนูระดับพรีเมียม” อย่าง ซัมเซียน หรือ ซุปเป๋าฮื้อ ซึ่งเป็นเมนูที่ลูกค้าต้องสอบถามและสั่งจองล่วงหน้า เพราะทางร้านใช้เป๋าฮื้อนำเข้าจากต่างประเทศ และแน่นอนว่ามาร้านนี้ต้องไม่พลาดกินอาหารหวานตบท้ายเป็นเมนูไอศกรีมราชวงศ์มีให้เลือกทั้งรสดั้งเดิมอย่างวานิลลา ช็อกโกแลต และรสชาติร่วมสมัยอย่างชาเขียว ชาไทย และทุเรียน ที่เนื้อเนียนและได้รสชาติวัตถุดิบเต็มปากเต็มคำ 

ที่ตั้ง: ถนนพระราม 4 (ใกล้วงเวียน 22 กรกฎา) กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 10.30-15.00 น. และ 17.00-23.00 น.โทร.02-221-6025 

05 “Biscotti”ร้านอาหารอิตาเลียนคลาสสิกปลายยุค 90

Behind Story: ก่อนที่อาหารอิตาเลียนจะกลายเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมที่หากินได้ง่ายมากในไทย ยุคแรกของร้านอาหารอิตาเลียนเริ่มต้นขึ้นจากโรงแรมซึ่งเริ่มมีการเสิร์ฟอาหารนานาชาติ ส่วนร้านอาหารอิตาเลียนแบบสแตนด์อโลนนอกโรงแรมก็ยังมีน้อยมากโดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารอิตาเลียนคลาสสิก โดยหนึ่งในร้านอาหารอิตาเลียนประจำโรงแรมยุคแรกเริ่มของกรุงเทพฯ ที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ถึงปัจจุบันได้แก่ บิสก็อตติ (Biscotti) ครัวอิตาเลียนคลาสสิกในโรงแรมระดับ 5 ดาว เปิดบริการมาตั้งแต่ปลายยุค 90 ตรงกับ ค.ศ.1998 ส่วนปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงแรมยุคแรก ๆ ที่ตั้งอยู่บนย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ของเมืองกรุงคือถนนราชดำริ

จุดเริ่มต้นของ บิสก็อตติ คือการเป็นร้านอาหารอิตาเลียนสำหรับแขกภายในโรงแรมและลูกค้าที่ต้องการลิ้มรสอาหารอิตาเลียนคลาสสิกแท้ ๆ ซึ่งถ้าย้อนไปในยุคนั้นก็ถือว่าไม่ง่ายเลยที่จะได้กินอาหารรสอิตาเลียนดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเกือบทั้งหมดเช่นนี้ ด้านบรรยากาศร้านในปัจจุบันนั้นตกแต่งด้วยสไตล์ Italian Trattoria หรูหราแบบไม่เป็นทางการเกินไปนัก เรียกว่ายังมีบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองที่มาพร้อมกับการบริการระดับติดดาว ตัวร้านมีครัวเปิดโชว์เตาอบพิซซาให้ได้เห็นทุกกระบวนการความอร่อยตั้งแต่นวดแป้งไปจนถึงเติมฟืนอบพิซซา

สำหรับชื่อร้านบิสก็อตตินั้นพ้องกับชื่อของขนมปังกรอบบิสก็อตติตำรับอิตาลีที่นำมากินได้กับทั้งเมนูคาวและหวาน แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านจริง ๆ คือกระบวนวัตถุดิบชั้นดีไม่ว่าจะเป็นชีสอิตาลี เนื้อสัตว์ อาหารทะเลที่มาจากทั่วโลก รวมทั้งวัตถุดิบตามฤดูกาลส่งตรงมาจากแคว้นต่าง ๆ ของอิตาลี และแม้ห้องอาหารแห่งนี้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแบรนด์โรงแรมจากยุคแรกสู่ อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมคือรสชาติที่ยังคงเน้นครัวอิตาเลียนคลาสสิกไว้ภายใต้การบริหารของเชฟใหญ่คนปัจจุบันคือ เชฟเควิน มอนเตอร์ฟาโน (Kevin Montorfano) ผู้ถือสัญชาติสวิส ที่เติบโตในเมืองตีชีโน (Ticino) ตอนใต้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ติดกับเขตแดนอิตาลี ซึ่งนั่นทำให้เชฟเรียนรู้การครัวอิตาเลียนมาตั้งแต่เยาว์วัย และหลงใหลในรสชาติอาหารอิตาเลียนฉบับคลาสสิกเช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ร้าน

ร้านอาหารนานาชาติ

Signature Dish: เมื่อเป็นร้านอิตาเลียนรุ่นแรก ๆ ของเมือง แน่นอนว่าย่อมมีเมนูดั้งเดิมที่ลูกค้าเก่าแก่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าห้ามถอดออกจากเมนูเด็ดขาดนั่นก็คือ พิซซา โฟคาเซีย มาสกาโปน (Focaccia Mascapone) พิซซาหน้าชีสมาสกาโปน เมนูที่มีมาตั้งแต่เริ่มเปิดร้านและก็ยังคงสูตรเดิมมาจนถึงปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนเชฟไปกี่รุ่นก็ตาม สำหรับพิซซา โฟคาเซีย มาสกาโปน อาจจะเป็นพิซซาที่หน้าตาเรียบง่าย ไม่ค่อยมีสีสัน ทว่ากลับชูคุณภาพของวัตถุดิบอย่างชีสมาสกาโปนได้เป็นอย่างดี แป้งพิซซาบางกรอบทำด้วยแป้งโฟคาเซีย แต่เนื้อแป้งมีความกรอบนอกนุ่มในผสมผสานกับชีสมาสคาโปน ซึ่งเป็นชีสตัวหลักให้เนื้อละมุนเพิ่มเติมด้วยมอสซาเรลล่าชีส หอมน้ำมันเห็ดทรัฟเฟิล บอกเลยว่าแทบทุกโต๊ะที่มาต้องไม่พลาดสั่งเมนูนี้

ร้านอาหารนานาชาติ
เชฟเควิน มอนเตอร์ฟาโน

นอกจากอาหารจานเดียวแบบ a la carte แล้ว ในช่วงกลางวันที่นี่ยังมีบุฟเฟต์อาหารเรียกน้ำย่อยสไตล์อิตาลี (Antipasti) เป็นสลัดบาร์มีผัก เนื้อสัตว์ปรุงสุก ชีส และเมนูประเภทโคลด์คัต ส่วนจานหลักของเมนู a la cart ที่มีเสิร์ฟทั้งมื้่อกลางวันและมื้อค่ำก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหอยเชลล์จากฮอกไกโดอบ (Hokkaido Sea Scallops) ปลาแฮลิบุตจากทะเลแอตแลนติกย่าง (Roasted Atlantic Halibut) เมนูสเต็กที่ขึ้นชื่อ Wagyu A5 Beef Tenderloin “Biscotti Roasted” ปิดท้ายด้วยขนมหวานเรียบง่ายอย่าง ทิรามิสุ ที่เข้มข้นด้วยรสกาแฟและช็อกโกแลต เพิ่มประสบการณ์ความว้าวด้วยการจัดเสิร์ฟที่ให้ความรู้สึกพิเศษกว่าทิรามิสุทั่วไป และสำหรับใครที่ต้องการความพิเศษยิ่งกว่า บิสก็อตติยังมีคอร์สเมนู 6 คอร์สในมื้อค่ำ จับคู่กับไวน์ ให้รสความคลาสสิกพาเราท่องไปยังอิตาลีโดยไม่ต้องขอวีซ่าเลยทีเดียว

ที่ตั้ง: โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 12.00-14.30 น. และ18.00-22.30 น. โทร. 02-431-9494

ร้านอาหารนานาชาติ

06 “Le Dalat” ร้านอาหารเวียดนามรุ่นบุกเบิกในกรุงเทพฯ

Story Behind: เลอ ดาลัด ชื่อนี้เสิร์ฟอาหารรสชาติเวียดนามแท้ในแบบฉบับของชาวเวียดนามใต้ สืบทอดสูตรและขั้นตอนการทำมาจากความฝันในรุ่นคุณยายที่ย้ายจากเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทยในช่วงบั้นปลายชีวิต เลอ ดาลัด เริ่มเปิดเตาต้อนรับนักกินเมื่อปี ค.ศ.1983 โดยลูก ๆ ได้ลงขันเปิดกิจการร้านอาหารเพื่อเป็นงานอดิเรกสำหรับคุณยาย โดยเช่าห้องแถวที่ใกล้บ้านพักของครอบครัวในซอยประสานมิตรหรือสุขุมวิท 23 เปิดห้องอาหารให้บริการอาหารเวียดนามมีที่นั่งเพียง 10 โต๊ะ ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อ 39 ปีก่อนกรุงเทพฯ ยังไม่มีร้านอาหารเวียดนามแพร่หลายมากนัก เลอ ดาลัด จึงถือเป็นร้านเวียดนามรุ่นบุกเบิกร้านแรก ๆ ที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จักอาหารเวียดนาม

ร้านอาหารนานาชาติ

ปัจจุบัน เลอ ดาลัด สืบทอดกิจการมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ จากครอบครัวผู้อพยพเชื้อสายเวียดนาม ฝรั่งเศส ลาว ไทย และจีน ที่นำเสนออาหารจากครัวในบ้านของชาวเวียดนามทางตอนใต้ ส่วนวิธีการปรุงและรสชาตินั้นมีเอกลักษณ์อยู่ที่การเน้นความสมดุลของเค็ม หวาน เปรี้ยว ขม ไม่มีรสใดนำหน้าเด่นชัด และไม่เน้นรสจัด และก็ไม่เผ็ดจัดแบบอาหารไทย ทำให้อาหารหนึ่งเมนูของ เลอ ดาลัด มีรสชาติผสมผสานหลายมิติ ทั้งยังได้รสชาติจากวัตถุดิบ รวมถึงแป้ง และเส้นก๋วยเตี๋ยวเฝอแบบเวียดนามแท้

เคล็ดลับคือที่นี่ยังคงใช้น้ำสต็อกอาหารทะเลที่มีส่วนผสมทั้งกุ้ง หอย ปลา ตามแบบดั้งเดิมของเวียดนามใต้ที่มีพื้นที่ติดทะเล และผักเครื่องเคียงที่จะขาดไม่ได้คือ โหระพา สะระแหน่ ผักชี และผักแพ้ว ซึ่งตำรับอาหารเวียดนามแท้เกือบทุกเมนูต้องมีและกินเคียงจึงจะได้รสชาติของวัตถุดิบธรรมชาติที่ระเบิดในปากตั้งแต่คำแรก นอกจากนี้ทางร้านยังคงใช้เตาถ่านในการประกอบอาหารเพื่อคงรสชาติแบบต้นตำรับ

ร้าน เลอ ดาลัด สาขาใหญ่อยู่ที่ซอยประสานมิตร จัดเป็นรูปแบบภัตตาคารเวียดนามไฟน์ไดน์นิงบนพื้นที่บ้านเดิมของครอบครัว เป็นอาคารรูปทรงสถาปัตยกรรมเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ยกเอายุ้งฉางใส่ข้าวแบบดั้งเดิมมาจากเวียดนาม ถอดสลักลิ่มและประกอบเข้าเป็นตัวอาคารใหม่ รวมทั้งยังมีงานศิลปะ งานปักผ้า งานไม้ฉลุและสลักลายแสดงอัตลักษณ์ของเวียดนามตกแต่งภายในร้าน ไม่นับรวมถ้วยจานชามภาชนะที่เป็นงานเซรามิกและกระเบื้องเคลือบโทนน้ำเงินขาว เขียนลายด้วยมือที่ทำให้รสเวียดนามมื้อนี้มีความละเมียดละไมยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับสวนต้นไม้ร่มรื่นที่โอบล้อมให้ความรู้สึกเหมือนโอเอซิสที่ซ่อนอยู่กลางเมืองอย่างไรอย่างนั้น

ร้านอาหารนานาชาติ

Signature Dish: นึกถึงร้านอาหารเวียดนามต้องนึกถึงเมนูเฝอ ที่นี่มี เฝอเนื้อ เป็นไฮไลต์ที่โดดเด่นด้วยกลิ่นเครื่องสมุนไพร ส่วนจานซิกเนเจอร์ถัดไปคือ ขนมเบื้องญวน ที่แป้งกรอบเหนียวนุ่มพอดี ใส่ไส้หมูสับและมันแกวตามแบบดั้งเดิม เช่นเดียวกับ ขนมจีนหมูย่าง ที่ใช้เส้นขนมจีนสดกินคู่กับหมูหมักสมุนไพร ด้านเมนูกุ้งพันอ้อยสูตรของ เลอ ดาลัด ใช้ความหวานนุ่มจากเนื้อกุ้งถึง 3 ชนิด

เมนูแนะนำยังมี “หมูหิน” เป็นหมูหมักย่างและเสิร์ฟบนหินดำจากแถบแม่น้ำโขง เพื่อรักษาความอุ่นของหมูย่างไว้กินคู่ข้าวสวยร้อน ๆ และน้ำจิ้ม 2 รส คือรสกะปิเวียดนามและน้ำจิ้มหวาน อีกจานที่ไม่อยากให้พลาดคือ “ปลาฮานอย” ปลากะพงขาวย่างสุกเสิร์ฟบนกระทะร้อน เคียงด้วยผักชีลาว แป้งเวียดนาม ขนมจีน และข้าวเกรียบงาย่างถ่าน ด้านเมนู “ยำมะกอก” เป็นเมนูยำผลมะกอกน้ำดิบ โรยถั่วลิสงคั่วบดและกุ้งแห้งฝอยให้รสเปรี้ยวหวาน กินคู่กับข้าวเกรียบกุ้ง เป็นเมนูเวียดนามที่หากินได้ไม่บ่อยนัก ปิดท้ายด้วยเมนูของหวาน คัสตาร์ดคาราเมล เป็นคัสตาร์ดเนื้อเนียนราดด้วยซอสคาราเมล ตัดรสความหวานอย่างลงตัวด้วยความขมนิด ๆ เหมือนน้ำตาลไหม้ กินคู่กับลูกเชอรีสุกฉ่ำและวิปครีมเข้ากันมาก

ที่ตั้ง: ถนนสุขุมวิท 23 (ซอยประสานมิตร ใกล้ BTS พร้อมพงษ์) กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังขยายสาขามาที่เอ็มควอเทียร์ชั้น 7 และ เอ็มโพเรียมชั้น 4

เปิดบริการ: ทุกวัน เวลา 11.00-14.30 น. โทร.02-259-9593


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ