เยือนบ้านป่า พาตัวลื่นไหลไปกับธรรมชาติที่ Forest Forest Farm & Stay
- Forest Forest Farm & Stay ฟาร์มสเตย์ที่เกิดจากความฝันอยากอยู่กับป่าและวิถีธรรมชาติของบัณฑิตคณะวิจิตรศิลป์ ลาดกระบัง ที่ผันตัวเองจากเด็กกรุงมาทำฟาร์มกลางดอยจังหวัดน่าน
- ฟาร์มสเตย์แห่งนี้ไม่ได้สร้างจุดเด่นอะไรมากนักนอกจาก ธรรมชาติ ทางฟาร์มมีเวิร์กช็อปเน้นวิถีการอยู่ร่วมกับป่าและการแปรรูปของกินของใช้จากสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน
บ้านพักบนเนินเขาติดลำธาร ดีไซน์บ้านไม้ท้องถิ่นผสมแนวลอฟต์ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจ นาข้าวอินทรีย์ แปลงเลมอนเหลือง ผักสมุนไพรในสวน ลำธารน้ำใส และดอกไม้ป่า ทั้งหมดที่ว่ามาคือเสน่ห์ของ ฟอเรสต์ ฟอเรสต์ ฟาร์ม แอนด์ สเตย์ Forest Forest Farm & Stay ฟาร์มสเตย์บนดอยสูงของจังหวัดน่าน อีกหนึ่งหมุดหมายปลายทางสำหรับนักเดินทางสายโลว์คาร์บอนอิงแอบธรรมชาติ อยากลองใช้ชีวิตในบ้านฟาร์มริมลำธารและเชิงเขา หรือบางคนก็อาจจะเลือกที่นี่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากความวุ่นวายในเมืองมาลองรีเฟรชตัวเองด้วยธรรมชาติสักครั้ง
บ้านเล็กในชายป่าเมืองน่าน
จากตัวเมืองจังหวัดน่านผ่านโค้งหมายเลข 3 ในเขตอำเภอปัว คือสัญญาณให้เรารู้ว่า Forest Forest Farm & Stay อยู่ไม่ไกล จากถนนสายใหญ่ค่อยๆ เหลือตรอกซอยเล็กๆ ซอกแซกผ่านหมู่บ้าน เบื้องหน้าคือลำธารน้อยๆ แต่น้ำแรงมาก แรงจนมีเสียงซู่และไอเย็นรอต้อนรับผู้มาเยือน การผจญภัยด่านแรกเริ่มต้นขึ้นที่สะพานเหล็กลวดสลิงข้ามลำธารที่ทอดสู่เขตที่พักซึ่งซ่อนอยู่ในความร่มครึ้มของผืนป่าอีกชั้น บ้านพักสามหลัง รออยู่ข้างหน้า…ใช่แล้วนั่นคือ Forest Forest Farm & Stay
ที่นี่มีบ้านพัก 3 หลังเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงแบบพื้นถิ่นผสมผสานดีไซน์ลอฟต์ หลังหนึ่งติดเนินเขาและแปลงเลมอน ที่กิ่งก้านใบและลูกเลมอนทอดตัวเกยชานบ้านที่มีแคมป์ไฟอยู่ด้านหน้าให้ได้ปิ้งย่างล้อมวงเฮฮาในยามค่ำคืนของฤดูหนาว
ส่วนบ้านอีกหนึ่งหลังอยู่ติดลำธาร ขนาบข้างด้วยแปลงนาข้าว มีเสียงน้ำไหลเบาๆ จากลำธารเป็นซาวนด์แทร็กประจำฟาร์มที่เปิดคลอตลอดวัน บ้านหลังสุดท้ายเป็นบ้านสไตล์โรงนา ตัวบ้านตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขา มีห้องพักเตียงดับเบิลสำหรับคนที่อยากชมวิวจากมุมสูงและอยากได้พื้นที่โรแมนติกในเวลาที่เป็นส่วนตัว ซึ่งงานออกแบบทั้งหมดเป็นผลงานที่ค่อยๆ สร้างของเจ้าของบ้าน ลูน–จันทร์ ธรรมพักตรกุล และครอบครัว
จากเด็กเมืองสู่เกษตรกร
แม้ Forest Forest Farm & Stay จะมีบ้านพักเพียง 3 หลัง แต่พื้นที่ที่เหลือคือฟาร์ม กว่าครึ่งไร่เป็นแปลงปลูกมะนาวเลมอนราว 50 ต้น อีก 2 ไร่ เป็นนาข้าวอินทรีย์ที่หลังเก็บเกี่ยวจะปรับพื้นที่ปลูกถั่วลิสงและถั่วเหลือง ฟังดูนี่เหมือนการจัดการฟาร์มโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร แต่จริงๆ แล้ว Forest Forest Farm & Stay คือฟาร์มที่มาพร้อมแรงบันดาลใจล้วนๆ ของ จันทร์ ธรรมพักตรกุล หรือ ลูน (Lune) บัณฑิตวิจิตรศิลป์ในวัย 20 ตอนปลายผู้ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นชาวฟาร์ม เธอเกิดและเติบโตที่ย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ มาตลอด เรียนประถมศึกษาหลักสูตรการศึกษาทางเลือกวิถีพุทธที่โรงเรียนทอสี จบชั้นมัธยมฯ ปลาย สาขาวิชาเอกออกแบบ จากโรงเรียนสาธิตประสานมิตร และจบปริญญาตรี สาขาวิชาเอกภาพพิมพ์ จากคณะวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่สุดท้ายอาชีพที่เธอเลือกคือ เกษตรกร ซึ่งเป็นไม่ใช่สิ่งใหม่แต่เป็นความคิดฝันที่อยู่ในใจลึกว่า โตขึ้นจะไปอยู่กับป่า บวกด้วยพื้นฐานกับมุมมองทางศิลปะที่ใช้ชีวิตอยู่กับความงามธรรมชาติ เธอจึงลงมือตามความฝันนั้นจริงจังตั้งแต่เรียนปีสุดท้ายในมหาลัย
“ตอนเด็กลูนอยากอยู่ในป่า แบบมีต้นไม้เยอะๆ ลูนคิดๆ ไว้ตั้งแต่ ม. 6 ว่าอยากทำบ้านฟาร์มกลางป่าแบบนี้แหละ พอช่วงใกล้เรียนจบประมาณปี 3 ปี 4 ก็เลยขอที่บ้านมาเริ่มทำเลยซึ่งจริงๆ มันก็เป็นความฝันของแม่กับพ่ออยู่แล้วด้วยที่จะมาอยู่ที่นี่” ลูน เล่าถึงจุดเริ่มต้นการตัดสินใจผันตัวเองเป็นชาวสวนเต็มตัวบนที่ดินเล็กๆ มีแปลงนา เนินเขาเล็กๆ ในหมู่บ้านหลักลาย อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยเริ่มต้นจากไอเดียการทำสวนเพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้ โดยเน้นผลผลิตปลอดสารเคมี การลองปรับตัวตามฤดูกาลและธรรมชาติซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเกษตรมือใหมที่เริ่มเรียนรู้เกษตรกรรมและธรรมชาติจากศูนย์ด้วยตัวเอง
“เริ่มแรกไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย เริ่มทำแปลงผักสวนครัว เพราะอยากมีอะไรกินตลอดทั้งปี แต่มันก็เป็นตามฤดูกาล เพราะเราไม่ใช้สารเคมีเลย แต่เราก็ไม่ฝืนธรรมชาติ ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ แล้วก็ลองปลูกอาโวคาโด 100 ต้น ตอนนี้ผ่านไป 4 ปี เหลืออยู่ไม่กี่ต้น เพราะสภาพดินฟ้าอากาศ นาข้าวที่เป็นที่นากลางป่ากลางดอยแบบนี้โดนนก หนู สัตว์ป่ามารุมกินพืชผล และอีกหลายอย่างที่เราได้เรียนรู้ว่า พอเข้ามาอยู่ในป่าจริงๆ เราจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ได้ เราต้องไหล คือโฟลว์ (flow) ตามธรรมชาติจริงๆ” ลูนเล่าถึงบทเรียนเกษตร 101 ที่เธอเขียนมันด้วยประสบการณ์ตัวเอง
จากวันนั้นถึงวันนี้ (2024) 4 ปีผ่านไป ผลประกอบการของลูนกับพนักงานประจำที่เป็นคนในหมู่บ้านสองคน และสมาชิกในครอบครัวจากกรุงเทพฯ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยกัน เริ่มเห็นผลผลิตงอกเงย มีผัก มีถั่วเหลือง มีเลมอน มีนาข้าว และล่าสุดสามารถเปิดเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวฟาร์มสเตย์ที่ต้อนรับนักเที่ยวผู้แสวงหาบรรยากาศการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่ซ้ำตลอดทั้งปี
“บางคนอาจจะไม่มีฟาร์มแบบนี้ ความเจริญมันทำลายความเป็นอยู่ที่เป็นตามธรรมชาติ มันหายไปจากสังคมเมือง ลูนอยากให้คนเห็นว่ามันยังมีอยู่ มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวป่าธรรมชาติอยู่ แต่มันแค่อาจจะเลือนหายไปจากชีวิตประจำวัน” ลูนเล่าที่มาในการเปิดฟาร์มสเตย์ที่เริ่มเมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันทางฟาร์มพร้อมเปิดบริการตลอดปี โดยมีเงื่อนไขคือ “ใช้ชีวิตตามฤดูกาล” ที่สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่และดินฟ้าอากาศ เช่น ในฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) อากาศเย็นสบาย แมลงน้อยและพืชผักงอกงาม มีสายหมอก ได้ใส่เสื้อหนาว นั่งรอบกองไฟ ส่วนฤดูร้อนมีใบไม้ผลิออกมา และมีเสียงแมลง จักจั่น ได้ชีวิตชีวาจากการไปเล่นน้ำที่ลำธารสดชื่น ช่วงฤดูฝน บางปีน้ำลำธารไหลแรง แต่ได้บรรยากาศของการทำสวนทำนาทำไร่กันจริงจัง
อาหารการกินและชีวิตในฟาร์ม
ในช่วงปลายฝนจนถึงฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน ที่ Forest Forest Farm & Stay ก็คึกคักไม่แพ้ที่ใด ฟีลบ้านป่าที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและอลเวง ทั้งเสียงน้ำไหลจากลำธาร เสียงแมลงจิ้งหรีด ความขี้อ้อนและชอบสังสรรค์ของลูกสมุนขนฟูทั้งแมวสองตัว ชื่อ หมีคน และ หมีควาย และเจ้าตูบขาจร ที่มาเป็นสมาชิกขาประจำ นอกจากลูนแล้ว สมาชิกประจำการในฟาร์มยังมี พี่จรัลและพี่จม ผู้เป็นเสาหลักในครัวและงานซ่อมแซมต่างๆ ภายใน
อาหารการกินสำหรับผู้มาเยือน มีทั้งอาหารพื้นบ้านจากครัวประจำบ้านและอาหารเมนูทำเองในครัวกลาง ครัวประจำบ้านของ Forest Forest Farm & Stay จัดอาหารเช้าและอาหารค่ำตามความต้องการของผู้เข้าพัก โดยมีไฮไลต์เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านแบบบ้านๆ ฝีมือแม่ครัวท้องถิ่นอย่าง “แกงไก่ใส่มะแขว่น” รสชาติเฉพาะตัวของมะแขว่นลูกไม้สมุนไพรที่ใช้ประกอบเครื่องแกง เพิ่มความเผ็ดที่ปลายลิ้นเล็กๆ ให้คนกินรู้ตัวว่า “ฉันได้กินแล้วนะ อาหารเหนือ” และยังมี “เซตอาหารค่ำพื้นบ้านมื้อใหญ่” ไฮไลต์คือ “น้ำพริกหนุ่ม” รสจัด เครื่องเคียงเป็นผักลวกวัตถุดิบมาจากในสวนและผักป่าริมลำธาร รวมถึง “ผักกูด” ที่รสชาติมาจากดินน้ำป่าแท้
สำหรับอาหารเมนูทำเองในครัวกลาง หมายถึงครัวเปิดอยู่ชั้นล่างบ้านพักริมลำธาร พร้อมโต๊ะอาหารใต้ชายคาใต้ถุนเปิดโล่งขนาบข้างด้วยนาข้าวและลำธาร ผู้มาพักเป็นกลุ่มเหมาบ้านทั้งหลัง หรือการมาเที่ยวเดี่ยวๆ สามารถมาใช้ครัวทำอาหารกันเองได้
“ลูนอยากให้คนมาพักรู้สึกเหมือนย้ายที่นอนมาพักบ้านเพื่อนและลงมือทำอาหารกันเองตามวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาได้ เรามีวัตถุดิบบางอย่างให้คนมาพักสามารถครีเอตเมนูได้เอง หรือจะลองไปสำรวจร้านชำในหมู่บ้าน หรือเตรียมอาหารมาจากตลาดที่น่าน หรือที่ตัวอำเภอสันติสุข ที่เป็นทางผ่านขึ้นดอยมาก็ได้ค่ะ และลูนตั้งใจว่าจะทำสมุดบันทึกเป็น DIY cook book ให้คนที่มาพักได้จดสูตรเมนูอาหารของแต่ละคนทิ้งไว้ให้คนอื่นๆ ที่มาพักต่อได้ลองทำด้วย เหมือนเป็นการแบ่งปันกันสนุกๆ ค่ะ”
ใช้ชีวิตให้ไหลไปกับธรรมชาติ
สิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนคาดหวังได้ใน Forest Forest คือ “การใช้ชีวิตที่ไหลไปกับธรรมชาติ” ดังที่ลูนเจ้าของฟาร์มบอกและย้ำกับแขกตลอด โดยทางฟาร์มมีกิจกรรมสีเขียวสองแนว คือ กิจกรรมตามอัธยาศัยและเวิร์กช็อปซึ่งทางฟาร์มจัดคอร์สซึ่งเน้นการเรียนรู้การแปรรูปวัตถุดิบง่ายๆ
กิจกรรมตามอัธยาศัยนอกจากทำอาหารรับประทานเองแล้วยังมีเก็บผักในสวนไม่ว่าจะเป็นเก็บเลมอนในช่วงฤดูออกผล เก็บดอกเก๊กฮวยที่บานเต็มที่สำหรับอบแห้งทำชาเก๊กฮวย หรือลงสวนกล้วยซึ่งก้านกล้วย ใบตอง นำมาใช้ในโต๊ะอาหารทดแทนผ้าปูโต๊ะ ภาชนะ และวัตถุดิบงานปิ้งย่าง ใบตองใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เป็นขยะอินทรีย์ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเผาหรือขนออกไปกำจัดนอกพื้นที่
และที่ไม่ควรพลาดคือ กิจกรรมเดินป่าริมลำธาร ซึ่งเจ้าของฟาร์มและผู้ช่วยเจ้าถิ่นจะนำทางเดินเลาะริมลำธารหลังบ้านไปจนถึงหาดทรายเล็กๆ ที่มีแอ่งลำธารให้ลงเล่นน้ำได้ ได้ธรรมชาติบำบัดกันเต็มปอดและมีจุดแวะเซลฟีกับดงดอกหญ้าริมลำธารในแสงฟรุ้งฟริ้งช่วงใกล้ตะวันตกดินอีกต่างหาก และในคืนฟ้าโปร่งยังแถมด้วยดูดาวพร้อมก่อกองไฟในฤดูหนาว
“เรามีดาวเต็มฟ้าในคืนเดือนมืด มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ดูฟ้า ดูดาว ดูแมลง ดูสีเขียวของต้นไม้ การมอง natural form หรือธรรมชาติเหล่านี้ มันคือการเปิดตาให้กว้างขึ้น และก็เปิดใจเรามากขึ้นด้วย ส่วนแคมป์ไฟหน้าบ้านก็เหมือนได้กลับมานั่งคุยกัน เริ่มตั้งแต่ทำความรู้จักกิ่งไม้ หาไม้ การจุดไฟ แล้วก็นั่งล้อมวงรอบกองไฟ”
สำหรับกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ได้เรียนรู้และผลงานกลับบ้านไปด้วยนั้น ทางฟาร์มมีจัดให้ตามฤดูกาล สายเรียนรู้การกินอยู่กับธรรมชาติมี กิจกรรมทำนาข้าว ที่จัดตามฤดูกาลการทำนาข้าวของจังหวัดน่านซึ่งมีรอบการทำนาที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ”หมายถึงเริ่มเพาะปลูกเดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม มีทั้งช่วงหว่านและปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เวิร์กช็อปแปรรูปถั่วเหลือง จากถั่วเหลืองปลอดสารเคมีในฟาร์มที่นำมาแปรรูปเป็นเต้าหู้ ถั่วหมักนัตโตะ และ เวิร์กช็อป กับข้าวป่า เป็นการทำความรู้จักเมนูอาหารเหนือวัตถุดิบในท้องถิ่น ขั้นตอนมีทั้งรู้จักและเก็บผักป่า ของป่าที่กินได้ เครื่องแกงสูตรท้องถิ่น และวิธีปรุงแบบป่าๆ ตั้งแต่การก่อไฟเลยทีเดียว การทำอาหารพื้นบ้านจากในป่า การก่อไฟ ส่วนสายศิลปะกับธรรมชาติทางฟาร์มมี เวิร์กช็อปจัดช่อดอกไม้ป่า Forest Foral เก็บดอกไม้ป่าหลังบ้านมาจัดรูปฟอร์มตกแต่งบนโต๊ะอาหาร ห้องพัและตกแต่งบ้านในแบบต่างๆ
ใครอยากสัมผัสธรรมชาติที่เป็นไปตามธรรมชาติของฤดูกาลแบบไม่ต้องปรุงแต่งมากนัก บ้านน้อยกลางชายป่าแห่งนี้คือหนึ่งในจุดหมายที่จะทำให้เราปล่อยจอยกับธรรมชาติแบบลืมเมืองกรุงไปได้ชั่วขณะเลยจริงๆ
Fact File
ฟอเรสต์ ฟอเรสต์ ฟาร์ม แอนด์ สเตย์ (Forest Forest Farm & Stay)
Location : หมู่บ้านหลักลาย อยู่ใกล้จุดชมวิวโค้งหมายเลข 3 ทางขึ้นดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน
Contact : FB forestforest.nan, โทรศัพท์ 082-919-9465
Price : เริ่มต้นที่คนละ 800 บาทต่อคืน รวมอาหารเช้า
Stay : ที่พักในฟาร์มพักได้ทั้งห้องเดี่ยวและเหมาบ้านพักทั้งหลัง บ้าน 1หลังพักได้สูงสุด 9 คน แบ่งเป็น3ห้องนอน พักได้ห้องละ2-3คน โดยมีพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และห้องครัว ซึ่งทางฟาร์มเปิดครัวพร้อมเตรียมวัตถุดิบจากแปลงผักรอบบ้านและเนื้อไก่บ้านในชุมชนให้ผู้มาพักเข้าครัวปรุงอาหารเอง รวมถึงการลองปรุงตามสูตรในสมุดเขียนสูตรอาหาร (handmade cook book) หรือถ้าไม่สะดวกสามารถสั่งอาหารจากครัวตามสั่งในท้องถิ่นได้เช่นกัน