ดาหลาบาติก : จากโรงย้อมผ้าโสร่งคุณยายสู่การสืบทอดลายบาติกโบราณ
- ดาหลาบาติก ก่อตั้งโดยครูช่างศิลปหัตถกรรม ธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ผู้ตัดสินใจชุบชีวิตลายบาติกโบราณของคุณยายที่เคยทำโสร่ง
- การทำผ้าบาติกแบบโบราณที่ต้องใช้ความพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกชนิดของผ้าการวาดลวดลาย โดยผ้าบาติก 1 ผืนใช้ระยะเวลาทำทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นไม่ต่ำกว่า 15 วัน
เมื่อเอ่ยถึงผ้าบาติก คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความสดใสของบาติกลายดอกไม้ ปะการัง และสีสันของโลกใต้ท้องทะเลที่เป็นลายเส้นบาติกยอดนิยมบาติกที่เป็นมรดกหรือไม่ก็เป็นงานออกลายศิลปะโมเดิร์นไปเลย แต่ทราบหรือไม่ว่างานผ้าบาติกเป็นงานศิลปะโบราณที่มีลวดลายสืบทอดกันมา เช่นเดียวกับ ดาหลาบาติก โดยครูช่างศิลปหัตถกรรม ธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ผู้ตัดสินใจชุบชีวิตลายบาติกโบราณของคุณยายประมวล พูลภิญโญ(พี่สาวคุณตา) ซึ่งเคยทำโรงย้อมโสร่งยาวอที่จังหวัดนราธิวาสและเลิกกิจการไป ครูช่างธนินทร์ธรได้กลับไปเห็นเครื่องไม้เครื่องมือรวมทั้งลายผ้าโบราณที่คุณยายทิ้งไว้จึงตัดสินใจที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าชิ้นสำคัญของครอบครัวด้วยการเปิดกิจการโรงผ้าบาติกขึ้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่
ครูช่างบาติกธนินทร์ธรเล่าย้อนว่าตนเองคลุกคลีการทำผ้าบาติกมาตั้งแต่เด็กเพราะวิ่งเล่นอยู่ในโรงย้อมโสร่งปาเต๊ะของคุณยาย โดยลวดลายโสร่งดั้งเดิมของครอบครัวเป็นลายเปอรานากันที่ผสมผสานศิลปะจีนกับมลายู และแม้จะได้เรียนการวาดลวดลายบาติกมาจากคุณยายอยู่บ้างแต่เมื่อโตมาก็ไม่ได้เลือกทำอาชีพบาติกในทันที อีกทั้งรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ก็ไม่มีใครสืบต่อกิจการโรงงานโสร่งของยายทำให้ต้องปิดกิจการไป
กระทั่งวันหนึ่งรู้สึกว่าอาชีพที่ทำอยู่ไม่ใช่ จึงลองมองกลับมาที่ผ้าบาติกที่เป็นกิจการดั้งเดิมของครอบครัวซึ่งทางครูช่างบาติกธนินทร์ธรก็ได้ไปตามหาช่างรุ่นเก่า ๆ ที่เคยทำงานกับโรงโสร่งคุณยายก็พบว่ายังมีคนที่สามารถส่งต่อความรู้การทำบาติกโบราณได้อีกทั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ จากโรงโสร่งคุณยายก็ยังอยู่ จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงบาติกขึ้นเพื่อสืบทอดการทำผ้าบาติกแบบโบราณที่ต้องใช้ความพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกชนิดของผ้าการวาดลวดลาย โดยผ้าบาติก 1 ผืนใช้ระยะเวลาทำทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นไม่ต่ำกว่า 15 วันเลยทีเดียว
ด้วยความตั้งใจจะสืบทอดการทำบาติกโบราณจากโรงโสร่งของยาย ครูธนินทร์ธรจึงทำการรวบรวมแม่พิมพ์ผ้าโบราณ ซึ่งที่นี่มีโรงเก็บแม่พิมพ์ผ้าโบราณโดยเฉพาะจัดเก็บแม่พิมพ์เกือบ1,000 ลาย โดยแม่พิมพ์ทำมาจากทองแดงและทองเหลือง เช่น แม่พิมพ์ลายครุฑ ลายกาน้ำชา ลายประแจจีน เป็นต้น ข้อดีของแม่พิมพ์ทำมาจากโลหะคือจะได้ลวดลายที่คมชัด หากสนใจเข้าชมโรงเก็บแม่พิมพ์ต้องติดต่อล่วงหน้าเท่านั้น
นอจากการทำบาติกลายโบราณจากแม่พิมพ์โลหะแล้วอีกเอกลักษณ์ของที่นี่คือ เป็นงานพิมพ์มือนำลวดลายจากแม่พิมพ์มาต่อกันจนเต็มผืน ลวดลายที่โดดเด่นคือ ลายขอพระราชทาน ลายขิดพระราชทาน ลายครุฑ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีลายที่นิยมพิมพ์ เช่น ลายปะลางิง ลายประแจจีน ซึ่งเป็นลายมงคลของจีนให้ความหมายมงคลว่าเป็นตะขอเกี่ยวทรัพย์ลายกาน้ำชา สำหรับนำไปเป็นผ้าตัดชุดบ้าบ๋าย่าหยา นอกจากนี้ยังมีลายปลา ลายดอกไม้มงคล เช่น เฟื่องฟ้า ชบา เบญจมาศ หรือจะเป็นลายประจำจังหวัดกระบี่ ได้แก่ ลายสุริยเทพ ก็สามารถสร้างสรรค์ด้วยงานบาติกได้ และไม่เพียงผ้าโบราณทาง ครูธนินทร์ธรยังมีการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ เพื่อพัฒนาลวดลายของผ้าให้เกิดความร่วมสมัยและยังคงรักษารูปแบบลายผ้าเอาไว้
นอกจากเป็นโรงบาติก เป็นสตูดิโอด้านงานบาติก ที่นี่ยังมีกิจกรรมเวิร์กชอปทำลายผ้าบาติกของตัวเองโดยใช้เวลาในการทำประมาณ 3-4 ชั่วโมง รวมทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำผ้าบาติกแบบโบราณที่เหลือน้อยเต็มทีในพื้นที่ภาคใต้ของไทย
อ้างอิง :https://archive.sacit.or.th/center/8
Fact file
- ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โทรศัพท์ : 085-826-9895 หรือ facebook.com/dahlabatik
- ภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความละเอียดและงดงามอย่างหนึ่ง มีต้นกำเนิดการทำมาจากบริเวณแถบชวา มลายู และส่งมายังภาคใต้ของไทย ซึ่งคำว่าบาติก มาจากคำว่า “ตริติก” เป็นภาษาชวามีความหมาย “จุด” ดังนั้นผ้าบาติกจึงเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด ๆ นอกจากนี้ผ้าบาติกยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ ผ้าปาเต๊ะ โดยใช้เรียกผ้าที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี ใช้การแต้ม ระบายหรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี
- ภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ชวาในสมัยของรัชกาลที่5 เมื่อครั้นเสด็จประพาสที่ชวา ได้นำเอาศิลปะและภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกเข้ามาในประเทศไทย มีการซื้อผ้ากลับมาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังจ้างให้ครูช่างจากทางชวามาสอนขั้นตอนการทำให้ราชสำนัก